อาการร้องไห้งอแง ที่แม่ได้ฟังแล้วก็เอาใจไม่ถูก เพราะป้อนนมลูกก็ไม่กิน พาเรอก็แล้ว พานอนก็แล้ว ทำตามที่ใคร ๆ บอก 108 อย่าง ก็ไม่หยุดร้องไห้เสียที ขอให้ใจเย็น ๆ อ่านบทความให้จบ บางทีคำตอบของปัญหาอาจอยู่ในบทความนี้ค่ะ
ปัญหาไม่สบายท้องที่พบได้บ่อย
กินนมแล้วแหวะ
แหวะนม เป็น อาการปกติของเด็กเล็กที่คุณแม่ต้องเจอ เพราะเป็นอาการที่เกิดจากระบบการย่อยอาหารของทารกที่ยังไม่สมบูรณ์ กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่เป็นลิ้นที่อยู่ระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารอาจยังปิดไม่สนิท เมื่อลูกกินอาหารมากเกินกว่าที่กระเพาะอาหารจะรับได้ น้ำนมจึงไหลย้อนกลับ
แม้ไม่ใช่อาการที่ร้ายแรงมาก แต่คุณแม่ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจบ่งบอกว่าระบบย่อยอาหารของลูกมีปัญหา ซึ่งอาจนำไปสู่อาการอื่นที่รุนแรงได้ และหากลูกแหวะนมบ่อยจนทำให้น้ำหนักไม่ขึ้น ลูกร้องไห้บ่อย ร้องกวนงอแง ไม่กินนมทั้งที่หิว ไอหรือสะอึกขณะดูดนม แหวะมีสีเหลือง น้ำดีหรือเลือดปน มีภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ สำลัก หายใจหอบ เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกรดไหลย้อน (GERD) ได้ค่ะ
ท้องอืด
การทำงานของระบบทางเดินอาหารของทารกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ว่ากันว่า ระบบทางเดินอาหารของทารกต้องใช้เวลาในการอุ่นเครื่องเหมือนเรื่องยนต์รถ ซึ่งกว่าที่ระบบย่อยอาหารของทารกจะสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เหมือนเครื่องยนต์ได้รอบ ก็ต้องใช้เวลาสักหน่อย
- ทารกกินนมแม่แต่มีอาการท้องอืด อาจเป็นไปได้เวลาเวลาที่ดูดนมแม่ ทารกใช้ปากดูดเพียงหลวม ๆ ทำให้มีอากาศเล็ดลอดเข้าไปได้มากขึ้น หรือหากทารกกินนมขวด ก็อาจเป็นไปได้ว่าในขวดนมมีฟองอากาศอยู่มาก
- ร้องไห้จากการเป็นโคลิก ที่เวลาทารกมีอาการจะร้องไห้หนักติดต่อกันเป็นชั่วโมง ๆ ลมจากภายนอกจำนวนมา เข้าไปในท้องลูก จึงเกิดอาการท้องอืด
- ในระบบทางเดินอาหารของทารกยังไม่มีแบคทีเรียชนิดดีเพียงพอในการย่อยอาหาร จึงทำให้เด็กเล็กมักจะมีอาการท้องอืดบ่อย เพราะอวัยวะเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงพบบ่อยว่ากินนมไปแล้วไม่ย่อย
- ทารกแพ้อาหาร เด็กที่เริ่มกินนมผง หรืออาหารบดนิ่ม อาจเริ่มมีปัญหาแพ้อาหารหรือไวต่ออาหารบางอย่าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร รวมถึงก่อให้เกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหารมากขึ้นด้วย
ท้องผูก
ปกติทารกจะถ่ายประมาณ 8-10 ครั้งต่อวัน แตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน โดยเด็กที่กินนมแม่จะถ่ายบ่อยกว่าเด็กที่กินนมผง และอุจจาระที่ถ่ายออกมาจะนิ่มหรือเหลว ขณะที่เด็กกินนมผงจะถ่ายน้อยครั้งกว่า ลักษณะของอุจจาระจะแข็งและเป็นรูปทรงมากกว่า เมื่อลูกอายุมากขึ้นจำนวนการถ่ายจะลดลง เนื่องจากร่างกายมีการดูดซึมเพิ่มมากขึ้น ทารกบางคน 2-3 วัน อุจจาระครั้ง ก็ยังไม่นับว่าท้องผูก สิ่งที่จะบอกว่า ลูกท้องผูกหรือไม่ต้องดูหลายอย่างประกอบกันค่ะ
- เวลาลูกถ่ายต้องเบ่งถ่าย เวลาลูกถ่ายต้องออกแรงเบ่งอุจจาระมากกว่าปกติ ลูกถ่ายยาก หรือมีอาการเจ็บขณะถ่ายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การเบ่งถ่ายอาจพบได้ในทารกปกติที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน โดยทารกอาจมีการเบ่งถ่าย หรือบางครั้งมีร้องหรือหน้าแดงร่วมด้วย แต่อุจจาระมีลักษณะนิ่มหรือเหลว โดยมักมีอาการเริ่มต้นในเดือนแรกและหายได้เอง ลักษณะแบบนี้ไม่ใช่อาการท้องผูก
- ลักษณะอุจจาระเป็นก้อนแข็ง อุจจาระดูแห้ง เป็นเม็ดกระสุน แม้ลูกจะถ่ายทุกวัน แต่ลักษณะอุจจาระเป็นแบบนี้ ก็เป็นสัญญาณว่าลูกกำลังท้องผูก ในทางกลับกัน หาก 2-3 วัน ถ่ายหนึ่งครั้งแต่อุจจาระนิ่มไม่แข็งก็ไม่เรียกว่าท้องผูกค่ะ
- มีเลือดปนอุจจาระ หากท้องผูก อาจทำให้มีเลือดปนมากับอุจจาระ เพราะผนังทวารหนักฉีกขาดจากการออกแรงเบ่ง เมื่อการเบ่งทำให้เจ็บ ลูกจึงไม่อยากเบ่ง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการท้องผูกเรื้อรังได้
อาการท้องผูกมักเกิดขึ้นหลังจากลูกมีอาการท้องอืด และส่งผลกับลูกน้อยรุนแรงกว่าอาการอื่น ๆ ดังนั้นหากลูกมีอาการท้องผูกแล้ว ก็เป็นได้ว่าลูกเริ่มมีอาการไม่สบายท้องที่รุนแรงขึ้นแล้ว
อาการที่บ่งบอกว่าลูกมีอาการไม่สบายท้อง
- ร้องไห้งอแงบ ร้องไห้นาน
- อาเจียน หรือ แหวะนมบ่อย
- ท้องลูกแน่น แข็งจากอาการท้องอืด
- อุจจาระแข็ง ถ่ายเป็นกระสุน
- ลูกอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดบ่อย
- นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย
- ทานนมได้ลดลง มาก
วิธีแก้อาการไม่สบายท้อง
- จับเรอ หากทารกมีอาการท้องอืด คุณพ่อคุณแม่ควรจับลูกเรอบ่อย ๆ การทำให้ทารกเรอจะเป็นกำจัดอากาศส่วนเกินที่กลืนเข้าไปออกมา ช่วยบรรเทาอาการไม่สบายท้องได้
- นวดตัว การนวดที่หน้าท้อง ขา หลัง และทั่วร่างกายของทารกจะช่วยให้เจ้าตัวเล็กรู้สึกสงบและผ่อนคลาย โดยกดไปที่ท้องเบา ๆ ให้เป็นลักษณะวงกลมเพื่อช่วยขจัดเอาอากาศส่วนเกินออก ท่านวดที่ทำได้ง่าย เช่น ท่าจักรยาน คุณพ่อคุณแม่สามารถทำท่าปั่นจักรยานให้ลูกได้ง่าย ๆ โดยวางลูกน้อยลงบนเบาะแล้วค่อย ๆ หมุนที่ขาลูกไปมาในท่วงท่าคล้ายกับว่าขาทั้งสองข้างกำลังปั่นจักรยาน ท่านี้จะช่วยดันอากาศที่ติดอยู่ออกมา หรือถ้าจะไม่ปั่นจักรยาน ก็แค่ค่อย ๆ ดันเข่าของทารกขึ้นไปที่ท้อง และค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นปล่อยขาของทารกให้เหยียดตรง ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ก็จะช่วยดันอากาศที่ติดอยู่ออกมาได้เช่นกัน ช่วยให้ลูกสบายท้องขึ้นค่ะ
- เปลี่ยนขวดนมและจุกนม ควรใช้ขวดนมขนาดเล็กสำหรับเด็กเพราะกระเพาะอาหารของทารกนั้นเล็กเกินกว่าจะรองรับปริมาณนมจากขวดนมขนาดใหญ่ได้ และควรใช้ขนาดจุกนมที่เหมาะสมเพื่อให้สูตรไหลช้า แต่ไหลสม่ำเสมอ รูจุกนมที่เล็กเกินไปอาจทำให้ลูกน้อยต้องดูดจุกนมแรงขึ้น ซึ่งจะเป็นการดูดอากาศเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น แต่รูจุกนมที่ใหญ่เกินไป ก็อาจทำให้ทารกกลืนอากาศมากขึ้น เพราะต้องอ้าปากกว้างมากขึ้น ควรเลือกขนาดจุกนมเหมาะกับสรีระของลูกนะคะ
- เปลี่ยนอาหารของคุณแม่ให้นมลูก คุณแม่ให้นมลูกอาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการกินอาหารบางประเภทที่เสี่ยงทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมากขึ้น และหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งอาจถูกส่งต่อผ่านน้ำนมไปยังทารก และมีผลทำให้เกิดอาการไม่สบายท้องตามมาด้วยได้ เช่น คุณแม่ให้นมลูกที่กินอาหารจำพวกที่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร อาจสามารถส่งต่อสารอาหารเหล่านั้นไปยังทารกผ่านทางน้ำนมและก่อให้เกิดอาการท้องอืดในทารกได้ หรือทารกอาจแพ้อาหารบางชนิดที่คุณแม่กินเข้าไป และได้รับผ่านทางน้ำนม ทำให้มีอาการไม่สบายท้องได้ค่ะ
- เปลี่ยนสูตรนมผงที่ลูกทานอยู่ ในกรณีที่ให้ทารกกินนมผง นมผงบางสูตรอาจทำให้ทารกเกิดอาการท้องอืด ควรเปลี่ยนเป็นสูตรอื่นที่เสริมการทำงานของระบบทางเดินอาหาร หรือสูตรที่มี PHP (Partially Hydrolyzed Protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน ทำให้มีโมเลกุลขนาดเล็กกว่าปกติ ทำให้สามารถย่อยได้ง่าย และดูดซึมได้ดี นมที่มีส่วนผสมของ PHP จึงมีส่วนช่วยลดอาการไม่สบายท้องของเจ้าตัวเล็กได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ
theAsianparent ก็ได้รวบรวมวิธีการรับมืออาการไม่สบายท้องให้เลือกใช้แล้วนะคะ และหากคุณแม่ลองทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว แต่อาการของลูกน้อยยังไม่ดีขึ้น ทานนมไม่ได้ น้ำหนักลด ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วนนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีจับลูกเรอ ให้ได้ผลชะงัด ทำไมต้องทำให้ลูกเรอ? มาดูกัน!
ภาวะแหวะนมในทารก อันตรายไหม อาการพบได้บ่อยที่พ่อแม่ต้องรู้
ทำไมทารกห้ามกินน้ำหลังกินนม และควรเริ่มให้ลูกเริ่มดื่มน้ำตอนไหน?