ชมลูกแบบนี้สิดี สร้างทัศนคติที่ดีให้ลูกได้ ทำให้เด็กมีความพยายามและไม่ยอมแพ้ง่ายๆ
ชมลูกแบบนี้สิดี สร้างทัศนคติที่ดีให้ลูกได้ ทำให้เด็กมีความพยายามและไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ทั้งหมดทั้งมวลนี้มาจากสิ่งที่พ่อแม่ปลูกฝังให้ลูกทั้งนั้นเลยค่ะ
ทัศนคติมีแบบไหนบ้าง
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดในปี 1960 พบว่ามีทัศนคติต่อตัวเองเพียง 2 ประเภท ที่ทำให้คนเราแตกต่างกันนั่นคือ fixed mindset และ growth mindset ค่ะ
fixed mindset
คือ ทัศนคติที่เชื่อว่าความสำเร็จมาจากพรสวรรค์หรือความเก่งที่ติดตัวมา สร้างขึ้นไม่ได้ กล่าวคือเป็นการตีกรอบตัวเองนั่นเองค่ะ เด็กๆ ที่มีทัศนคติและเชื่อตามนี้ จะคิดว่า การพยายามและทำงานหนักไม่ได้มีผลต่อความสำเร็จ ถ้าไม่มีพรสวรรค์ก็ได้แค่นั้น ถ้ามีพรสวรรค์อะไรๆ ก็ดูง่ายไปหมด ประสบความสำเร็จไปเสียทุกอย่าง โดยไม่ต้องพยายามใดๆ เลย
ดังนั้นเด็กๆ ที่คิดแบบนี้จะรู้สึกว่าตัวเองก็ได้แค่นี้ มีดีแค่นี้แหละ ซึ่งสิ่งที่ทำให้เด็กๆ เริ่มมีทัศนคติแบบนี้นั่นคือ การถูกชมด้วยคำว่า มีพรสวรรค์จังเลย เก่งจังเลย ดังนั้นเด็กๆ เหล่านี้จะหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่เขาไม่คิดว่าจะชนะ ไม่กล้าท้าทายต่อสิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นผลทำให้ขาดความพยายามและการพัฒนาตัวเอง
growth mindset
คือ ทัศนคติที่เชื่อว่าความสำเร็จมากจากการความขยันและการทำงานหนัก ยิ่งเรียนรู้มากเท่าไหร่ ยิ่งรู้และทำได้มากแค่นั้น เด็กๆ เหล่านี้จะมองว่าแม้แต่คนที่เป็นอัจฉริยะยังต้องพยายามอย่างหนัก ดังนั้นพวกเขาจะมีความพยายามที่จะทำอะไรสักอย่างให้เสร็จ เพราะเชื่อว่า ยิ่งเรียนรู้เยอะๆ ยิ่งฉลาดมากขึ้น และจะแก้ไขสิ่งที่ยากมากขึ้นไปอีกได้สำเร็จ
คำชม สร้างความพยายาม
งานวิจัยหนึ่งแบ่งเด็กประถม 5 ออกเป็น 2 กลุ่ม ให้ทำโจทย์วัดไอคิว โดยใช้คำชมที่ต่างกัน กลุ่มที่หนึ่งจะได้รับคำชมว่า คะแนนสูงจัง เก่งจังเลยจ๊ะ ขณะที่กลุ่มที่สองจะได้รับคำชมว่า คะแนนสูงจัง พยายามได้ดีมากเลยจ๊ะ โดยการทำโจทย์นั้นจะสลับระหว่างโจทย์ที่ยากง่ายคละกันไป
ผลปรากฎว่าเด็กกลุ่มที่หนึ่งนั้น เวลาเจอโจทย์ที่ยาก พวกเขาจะสูญเสียความมั่นใจ ขณะที่เด็กกลุ่มที่สองมีความมั่นใจในการแก้โจทย์ยากๆ มากกว่า
ได้ผลแม้จะเป็นเด็กเล็ก
อีกหนึ่งงานวิจัยนั้นเป็นการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดและมหาวิทยาลัยชิคาโก พวกเขาเก็บข้อมูลจาก 53 ครอบครัว ที่มีเด็กๆ ที่มีวัยเฉลี่ยประมาณ 14 เดือน โดยใช้เวลาเก็บข้อมูลครอบครัวละ 90 นาที โดยทีมวิจัยจะเก็บข้อมูลเรื่องการชมและแบ่งประเภท เช่น การชมนิสัยของเด็ก การชมในความพยายาม และการชมอื่นๆ ที่มีผลเป็นกลางเช่น ดีมากจ๊ะ และ ว้าว
หลังจากนั้นอีก 5 ปี เมื่อเด็กๆ อายุ 7-8 ปี พบว่าเด็กๆ ที่มีชอบการท้าทายและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นเด็กที่มีทัศนคติแบบ growth mindset แล้วเด็กจะมีทัศนคติแบบ growth mindset ได้ยังไง คำตอบคือเด็กที่พ่อแม่และคนรอบข้างชื่นชมในความพยายามตั้งแต่วัยคลาน
แก้ไขทัศนคติยังทันไหม
แล้วสำหรับเด็กๆ ที่มีทัศนคติแบบตีกรอบไปแล้วละ จะแก้ไขได้ไหม ?
คำตอบคือแม้แต่เด็กประถมหรือเด็กมหาวิทยาลัยที่มีทัศนคติแบบตีกรอบตัวเอง ก็ยังสามารถแก้ไขทัศนคติได้ ไม่มีคำว่าสายเกินไปค่ะ แนวคิดคือสมองคนเรานั้นเหมือนกับกล้ามเนื้อ ยิ่งใช้ ยิ่งฉลาด ยิ่งคม วิธีออกกำลังของสมองคือ การถูกท้าทายด้วยสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งสมองจะยิ่งฉลาดยิ่งคม มาจากการที่เราทำผิด ตอบผิด พูดผิด ไม่ได้มากจากการทำถูกต้อง
นั่นหมายความว่า เวลาที่ลูกทำผิดพลาด สิ่งที่ควรทำคือ บอกลูกว่า อีกนิดเดียวจ๊ะ พยายามเข้า หรือ ลองอีกครั้งนะจ๊ะ แทนที่จะทำแทนลูก หรือบอกให้ลูกเลิกดีกว่า
ที่มา huffingtonpost
บทความที่น่าสนใจ
เลี้ยงลูกสาวอย่างไร ให้ปลอดภัยจากสังคม
กฎการเลี้ยงลูก 10 ข้อ ความลับการเป็นอัจฉริยะของชาวยิว
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!