“ความโกรธ” เป็นอารมณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน รวมถึงเด็กๆ ด้วยค่ะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ใหญ่อย่างเราๆ มักมีความสามารถในการจัดการความโกรธได้อยู่แล้ว แต่สำหรับลูกน้อยนั้น หากไม่ได้รับการฝึกฝนให้รู้วิธีจัดการอย่างถูกต้อง อาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้น การฝึกลูกให้เรียนรู้วิธีจัดการความโกรธอย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้สามารถเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีทักษะในการควบคุมอารมณ์โกรธของตนเองได้อย่างมีสติ เราจึงขอนำเสนอ 8 วิธีฝึกลูกจัดการความโกรธ อย่างสร้างสรรค์ ให้คุณพ่อคุณแม่นำไปใช้สอนลูกให้มีสติ สามารถระงับอารมณ์โกรธได้อย่างเหมาะสมค่ะ

การฝึกลูกจัดการความโกรธ สำคัญยังไง?
ก่อนไปดู วิธีฝึกลูกจัดการความโกรธ เรามาทำความเข้าใจความสำคัญของการปลูกฝังให้ลูกน้อยรู้จักจัดการความโกรธให้เป็นกันหน่อยค่ะ โดยการจัดการความโกรธนี้เป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิต เนื่องจากความโกรธเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ถ้าไม่สามารถจัดการได้อาจจะส่งผลเสียต่อทั้งตัวลูกน้อยเองและผู้อื่นได้หลายด้าน ดังนี้
|
ความโกรธ ส่งผลกระทบต่ออะไรบ้าง?
|
สุขภาพกายและใจ |
- กาย: ความโกรธเรื้อรังส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายได้ เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบย่อยอาหาร เสี่ยงต่อโรคโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคกระเพาะอาหาร
- ใจ: ความโกรธทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตในระยะยาว
|
ความสัมพันธ์และชีวิตประจำวัน |
- การควบคุมความโกรธไม่ได้ ทำให้เกิดความขัดแย้ง ทำลายความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทั้งในครอบครัว โรงเรียน และในสังคม
- ความโกรธส่งผลต่อสมาธิและประสิทธิภาพในการลงมือทำสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย
- ความโกรธที่รุนแรง อาจทำให้คนอื่นหวาดกลัว และหลีกเลี่ยงที่จะมีปฏิสัมพันธ์ด้วย
|
การตัดสินใจ |
- คนเรามักตัดสินใจโดยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลในเวลาโกรธ จึงมักตัดสินใจผิดพลาด และเกิดผลเสียตามมา
|
ความสงบสุขในสังคม |
- ความโกรธเป็นสาเหตุของความรุนแรงในสังคม ทั้งในระดับบุคคล และระดับกลุ่ม
- การจัดการความโกรธได้อย่างเหมาะสม จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างสังคมที่สงบสุข
|
8 วิธีฝึกลูกจัดการความโกรธ สยบอารมณ์ขุ่นมัวอย่างสร้างสรรค์
เมื่อเข้าใจความสำคัญของการจัดการอารมณ์โกรธแล้ว มาดูกันค่ะว่า 8 วิธีฝึกลูกจัดการความโกรธ ที่เรานำมาฝากมีอะไรบ้าง

-
พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดี
วิธีฝึกลูกจัดการความโกรธ ที่สำคัญที่สุดคือ เริ่มที่การเป็นแบบอย่างที่ดีในการจัดการอารมณ์โกรธของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ เช่น
- ถ้าคุณพ่อหรือคุณแม่กำลังโกรธ พยายามอย่าพูดหรือทำอะไรตอนนั้น ให้อยู่เงียบๆ นิ่งๆ อาจใช้วิธีหายใจเข้าออก จนรู้สึกว่าความโกรธของเราลดน้อยลง
- หากอารมณ์ความโกรธยังไม่ลดลง ยังไม่ดีขึ้น ควรปลีกตัวออกมาจากตรงนั้น แล้วไปทำอะไรที่รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น เช่น อาบน้ำ ล้างหน้า เดินเล่น
หาคุณพ่อคุณแม่สามารถจัดการกับความโกรธของตัวเองได้อย่างเหมาะสม ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็นว่า เวลาที่ลูกโกรธบ้าง ลูกควรจะทำอย่างไร เนื่องจากเด็กมักจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ ลูกจะสังเกตและจดจำพฤติกรรมการแสดงออกของคนรอบตัว หากคุณพ่อคุณแม่โกรธ อารมณ์ไม่ดี แล้วแสดงออกด้วยพฤติกรรมรุนแรง เช่น ทะเลาะกัน การตะโกน การดุด่าด้วยคำหยาบคายต่อกัน ลูกจะซึมซับและทำตามพฤติกรรมเหล่านั้นได้ค่ะ
-
สอนให้ลูกรู้ทันและเข้าใจอารมณ์โกรธ
คือการสอนให้ลูกรู้ว่าความโกรธคืออะไร เป็นอารมณ์ความรู้สึกแบบไหน ซึ่งอาจลองนำวิธีการต่อไปนี้ไปปรับใช้ค่ะ
- ใช้สื่อการเรียนรู้ เช่น หนังสือนิทาน รูปภาพ การ์ตูนสั้นที่แสดงสีหน้าชัดเจน แล้วชวนลูกพูดคุยเกี่ยวกับอารมณ์นั้น เช่น ตอนไหนที่หนูดีใจบ้าง อะไรทำให้หนูเสียใจ ภาพไหนทำให้รู้สึกโกรธ ฯลฯ
- ให้ลูกฝึกสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อโกรธ เช่น หัวใจเต้นเร็ว มือและหน้าร้อนผ่าวๆ รู้สึกหายใจถี่ขึ้นหรือมีเสียงดังขึ้น หรืออาจให้ลูกลองจับที่หัวใจตัวเองแล้วนับจังหวะเปรียบเทียบระหว่างอารมณ์ปกติ มีความสุข กับอารมณ์ตอนโกรธก็ได้ เพื่อให้รู้ว่าเมื่อเกิดความรู้สึกโกรธอาการเหล่านี้จะเป็นสัญญาณให้ลูกรู้ตัวและจัดการอารมณ์ได้เร็วขึ้น
- ชวนกันให้คะแนนความโกรธ เช่น 0 คือไม่โกรธเลย 5-6 คือโกรธระดับปานกลาง ไล่ระดับไปถึง 10 คือโกรธมากที่สุด ถ้าลูกอยู่ในช่วงวัยที่ยังไม่เข้าใจเรื่องจำนวน คุณพ่อคุณแม่อาจใช้สิ่งของอื่นเป็นตัวช่วย เช่น กระดาษขนาดต่างๆ แทนค่าความโกรธแต่ละระดับ หรือทำท่าทางด้วยมือ เช่น โกรธน้อย มือทั้งสองทิ้งระยะห่างเล็กน้อย โกรธมากก็เพิ่มระยะห่างระหว่างมือให้กว้างขึ้น เป็นต้น
- ฝึกให้ลูกรู้จักอารมณ์ตัวเองได้มากขึ้นผ่านคำถามง่ายๆ เช่น “วันนี้ไปโรงเรียนสนุกไหมลูก” “วันนี้หนูรู้สึกอะไรบ้าง”หรือให้ลูกทำสมุดบันทึกเพื่อสำรวจอารมณ์ตัวเองในแต่ละวัน โดยแทนค่าอารมณ์ด้วยสีหรือสัญลักษณ์ต่างกัน ตามที่ลูกกำหนดเอง วันเดียวกันอาจมีหลายอารมณ์ได้ เช่น ใช้สีชมพูแทนความสุข สีแดงแทนความโกรธสีส้มแทนความสนุก ฯลฯ

-
แยกพฤติกรรมให้ออก
สอนให้ลูกเข้าใจว่าการโกรธเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องแยกแยะว่าอารมณ์โกรธนั้นสามารถแสดงออกได้ในลักษณะใด การแสดงพฤติกรรมแบบใดเป็นปัญหา แบบใดไม่เป็นปัญหา เน้นย้ำว่าเราสามารถโกรธได้ สามารถบอกให้คนอื่นรู้ว่าเราโกรธได้ เช่น การพูดออกมาว่า “หนูโกรธนะ” หรือการขอเวลานอกเพื่อสงบจิตใจ แต่ต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมรุนแรง เช่น ทำร้ายผู้อื่น ทุบตีพ่อแม่ หรือทำลายข้าวของ
-
เรียนรู้วิธีรับมือกับความโกรธ
เมื่อเข้าใจและรู้เท่าทันอารมณ์โกรธแล้ว ลูกน้อยควรได้รับการฝึกฝนและปลูกฝังให้มีวิธีจัดการความโกรธอย่างสร้างสรรค์ด้วยค่ะ โดยอาจเป็นการทำจิตใจให้ผ่อนคลายเพื่อให้ความโกรธลดลง เช่น
- ให้ลูกบอกด้วยคำพูดว่าโกรธเรื่องอะไร เช่น “หนูรู้สึกไม่ดีที่แม่บ่น” “หนูโกรธเวลาน้องแย่งของเล่นหนูไป” หรือแม้กระทั่งการบอกสั้นๆ ว่า “หนูโกรธแล้วนะ” เป็นต้น
- ชวนกันฝึกกำหนดลมหายใจลึกๆ เพื่อผ่อนคลาย (Breathing Exercise) หรือนับเลขเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งที่ทำให้โกรธ เช่น นับแบบเรียงลำดับ 1, 1-2, 1-2-3, 1-2-3-4, … จนครบ 10 หากนับผิดหรือนับข้ามให้เริ่มนับใหม่อีกครั้ง
- เบี่ยงเบนจากความโกรธไปสู่การทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ฟังเพลง กระโดดเชือก วิ่งเล่น หรือสิ่งที่ลูกชอบ
-
ลองเป็นกระจกสะท้อนอารมณ์ให้ลูก
คุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นกระจกสะท้อนอารมณ์ให้ลูกได้นะคะ ด้วยการบอกความรู้สึกของตัวเองอย่างใจเย็น เช่น “แม่เสียใจที่หนูตะโกนใส่แม่นะ” “พ่อโกรธและรู้สึกแย่นะ ที่ลูกปาของใส่” วิธีฝึกลูกจัดการความโกรธ แบบนี้จะทำให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตัวเอง สามารถเชื่อมโยงอารมณ์กับสีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียงได้ เมื่อสงบลงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ค่อยสอนสิ่งที่ถูกต้องให้ลูก พร้อมชื่นชมที่ลูกจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดีด้วยค่ะ

-
แสดงการรับรู้และเข้าใจความโกรธของลูก
เวลาที่ลูกโกรธ ไม่พอใจ คุณพ่อคุณแม่ควรบอกให้ลูกรู้ว่าเรารับรู้และเข้าใจความโกรธของลูก เช่น “แม่รู้ว่าหนูโกรธที่น้องเอาสมุดเล่มโปรดไปวาดเล่น” ซึ่งหากลูกแสดงออกถึงความโกรธแบบไม่รุนแรงนัก เช่น หน้าบึ้ง ฮึดฮัด ร้องไห้ ลองปล่อยให้ลูกอยู่กับตัวเองสักครู่ ไม่ต้องบอกให้เงียบ หรือห้ามทำหน้าแบบนั้นแบบนี้ เพราะลูกจะเข้าใจว่าเราไม่ยอมรับและไม่เข้าใจตัวเขา ปล่อยไปเงียบๆ สักพักลูกจะเย็นลงเองค่ะ เมื่อลูกหายโกรธ จึงค่อยพูดคุย สอบถาม ให้ลูกเล่าความรู้สึกให้ฟังเมื่อพร้อม และพูดคุยถึงการจัดการกับอารมณ์โกรธของลูกด้วยวิธีต่างๆ เช่น ออกไปวิ่งเล่นกับสัตว์เลี้ยง ไปรดน้ำต้นไม้ให้ชุ่มฉ่ำ เป็นต้น
-
ชื่นชมเมื่อลูกจัดการความโกรธได้ดี และอารมณ์สงบลง
หากลูกสามารถจัดการความโกรธของตัวเองได้ พ่อแม่ควรชื่นชมและให้กำลังใจ เช่น “แม่ดีใจที่หนสงบสติอารมณ์เองได้” การชมเชยอย่างจริงใจจะทำให้ลูกรู้สึกมั่นใจและกระตือรือร้นที่จะใช้วิธีการนี้ในครั้งต่อๆ ไป
-
ปรึกษาจิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ
ในกรณีที่ลูกโกรธแล้วมีพฤติกรรมที่รุนแรงมาก เช่น ทำร้ายคนอื่น ทำร้ายตนเอง หรือทำลายข้าวของ คุณพ่อคุณแม่ต้องหยุดการกระทำนั้นไว้ก่อน เช่น ในเด็กเล็กอาจเข้าไปกอดลูกจากข้างหลังจนสงบ ถ้ารุนแรงและจัดการไม่ได้ อาจต้องปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นนะคะ ส่วนในเด็กโตที่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจกันได้ อาจใช้วิธีการพูดคุย หรือยกกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมที่มาจากความโกรธ เช่น ในข่าว ซีรีส์ โลกออนไลน์ ฯลฯ มาชวนลูกพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน เกี่ยวกับการจัดการความโกรธที่เหมาะสมค่ะ

นอกจาก 8 วิธีฝึกลูกจัดการความโกรธ ข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจและปฏิบัติให้ได้คือ การไม่ลงโทษลูกด้วยความโกรธค่ะ เช่น การตี การดุ ด่า หรือกระทำรุนแรงอื่นๆ ซึ่งแม้จะทำให้ลูกหยุดการกระทำในตอนนั้นได้ แต่ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ว่าควรจัดการกับอารมณ์หรือพฤติกรรมตัวเองอย่างไร บางกรณีลูกอาจโต้ตอบด้วยการแสดงพฤติกรรมที่เกรี้ยวกราดมากขึ้นกว่าเดิม หรือติดเป็นนิสัยจนไปทำกับคนอื่นแบบเดียวกัน รวมถึงอาจสร้างบาดแผลในใจให้ลูกอีกด้วย ดังนั้น หากลูกโกรธและทำพฤติกรรมที่ไม่ดี ทำสิ่งที่ผิด ควรสอนพฤติกรรมที่ถูกต้อง ไม่ใช่การลงโทษโดยใช้อารมณ์นะคะ
อะไรที่ดีก็ชื่นชม สิ่งที่ไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรมีเหตุผลให้กับลูก พร้อมทั้งเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของลูกไปด้วย แค่นี้ลูกน้อยก็จะได้รับการบ่มเพาะสิ่งที่ดี พร้อมเติบโตเป็นคนที่โกรธได้และกายโกรธเป็น และมีความสุขในการใช้ชีวิตด้วยนะคะ
ที่มา : เข็นเด็กขึ้นภูเขา , hdmall.co.th , manarom.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
5R เคล็ดลับสร้างลูกฉลาด บ่มเพาะทักษะและความฉลาดให้ลูกง่ายๆ เริ่มได้ที่บ้าน
7 วิธี สอนให้ลูกเรียนรู้จากความล้มเหลว พลาดเป็น ลุกขึ้นใหม่ได้
ข้อตกลงการใช้โทรศัพท์มือถือ ของลูก กฎแบบไหนให้เสรี และมีความปลอดภัย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!