ภูมิแพ้ในเด็ก ไม่ใช่แค่อาการที่เกิดจากสภาพอากาศไม่ดี หรือภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงเพียงอย่างเดียว แต่มีรายละเอียดมากกว่านั้น โดยจะเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองและไวต่อสิ่งแปลกปลอมซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ มักเป็นสารจำพวกโปรตีน ซึ่งโรคนี้สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมเป็นหลัก และยังสามารถเกิดได้จากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน นอกจากนี้ หลายคนอาจไม่ทราบว่า หากปล่อยให้ลูกมีอาการภูมิแพ้ต่อไปเรื่อย ๆ อาจก่อให้เกิด Allergic March หรือที่เรียกว่า อาการลูกโซ่ของภูมิแพ้ ได้อีกด้วย
ปัจจัยของการเกิด ภูมิแพ้ในเด็ก ได้แก่
เป็นปัจจัยหลักที่ส่งต่อโรคภูมิแพ้จากรุ่นสู่รุ่น เด็กแต่ละคนจะมีความเสี่ยงในการเป็นภูมิแพ้ต่างกัน เช่น หากพ่อหรือแม่เป็นภูมิแพ้เพียง 1 คน ลูกจะมีความเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณ 20 – 40% แต่หากพ่อและแม่เป็นภูมิแพ้ทั้งคู่ ลูกจะมีความเสี่ยงเป็นภูมิแพ้ประมาณ 60 – 80% ในขณะที่ถ้าหากพ่อแม่ไม่เป็นภูมิแพ้ทั้งคู่ ลูกจะมีความเสี่ยงเป็นภูมิแพ้ประมาณ 15% ถึงจะมีโอกาสน้อย แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่ดี ดังนั้น หากบอกว่าเด็กทุกคนมีความเสี่ยงเป็นภูมิแพ้ ก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริง
ประมาณ 15% ของเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ ไม่ได้มีพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้เลย แต่อาจเกิดจากการอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้เป็นจำนวนมาก เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ เกสรดอกไม้ เป็นต้น รวมถึงได้รับมลพิษทางอากาศ เช่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ควันบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งเด็กไทยเองก็มีความเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ ที่เกิดจากสภาพแวดล้อมเป็นพิษสูงถึงราว 50% และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกวัน
โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ทั้งสองอย่างนี้ คือ สาเหตุสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นภูมิแพ้ในเด็กให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยทางพันธุกรรม ซึ่งหากเลือกได้ พ่อแม่คงไม่อยากส่งต่อสาเหตุของโรคแก่ลูกรัก แต่บางครั้งหลายบ้านอาจคาดไม่ถึงว่า โรคที่ซ่อนอยู่ในรหัสทางพันธุกรรมนี้ จะส่งผลต่อชีวิตลูกในวันข้างหน้ามากแค่ไหน และถ้าหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ก็จะสามารถนำอาการภูมิแพ้แบบลูกโซ่ หรือ Allergic March มาให้ลูกได้อีกด้วย
ทำความรู้จักกับ Allergic March สาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกเป็นภูมิแพ้เรื้อรัง
อาการลูกโซ่ของภูมิแพ้ (Allergic March หรือ Atopic March) เป็นการดำเนินโรคตามธรรมชาติของโรคภูมิแพ้ โดยมักเริ่มต้นจากการแพ้อาหารในเด็กเล็ก ส่วนมากเกิดก่อนอายุ 1 ปี หรือมีอาการของโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ หรือผื่นขึ้นตามตัว หรือ ผื่นขึ้นหน้าทารก ซึ่งจะเกิดขึ้นก่อนหรือร่วมกับการแพ้อาหารก็ได้ และมีอุบัติการณ์ของโรคสูงสุดในช่วงอายุ 2 ปีแรก จากนั้นอาจเกิดอาการของโรคหืด และจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ตามมาภายหลัง
Allergic March ยังเป็นอาการโรคภูมิแพ้ ที่มีแนวโน้มพัฒนาต่อไปได้เรื่อย ๆ ตลอดช่วงวัยเด็ก จากเด็กเล็กสู่เด็กโต ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และในบางกรณี โรคภูมิแพ้อาจเกิดขึ้นซ้ำซ้อนกัน ส่งผลให้ลูกมีอาการภูมิแพ้มากกว่า 1 ชนิด ในช่วงเวลาหนึ่ง หรืออาจพบว่า เมื่อภูมิแพ้ชนิดแรกเริ่มหายไป กลับถูกแทนที่ด้วยภูมิแพ้อีกชนิดหนึ่ง
โดยสรุปแล้ว ภูมิแพ้ที่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม มีโอกาสส่งต่อให้ลูกได้สูง และเด็กบางคนก็มีโอกาสเกิด Allergic March ได้อีกด้วย ซึ่งมีผลระยะยาว หากเกิดการแพ้ต่อเนื่องกันจะทำให้ดูแลรักษาได้ยากมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นภูมิแพ้ในเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแล และป้องกันได้ตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิตลูก
วิธีป้องกันลูกเป็นภูมิแพ้ ทำได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์และระหว่างตั้งครรภ์
- คุณพ่อคุณแม่ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนวางแผนตั้งครรภ์ เพราะประวัติด้านสุขภาพของครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการกำหนดความเสี่ยงที่ลูกจะเป็นโรคภูมิแพ้ได้เป็นอย่างดี ทำให้แพทย์สามารถคาดการณ์แนวโน้มของทารกที่จะเกิดมาว่ามีความเสี่ยงเป็นภูมิแพ้ว่ามากหรือน้อยเพียงใด หรือเช็กความเสี่ยงภูมิแพ้ในเด็กด้วยตนเอง ได้ที่ แบบประเมินความเสี่ยงภูมิแพ้ในเด็ก | N-Sensitive Club (nestlemomandme.in.th)
- คุณแม่ควรงดสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่ทั้งทางตรง และทางอ้อม
- คุณแม่ไม่ควรรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากจนเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ไข่ ฯลฯ เพราะอาจกระตุ้นให้ทารกที่เกิดมาแพ้อาหารนั้น ๆ ได้ ควรเลือกรับประทานอาหารแต่ละชนิดในสัดส่วนที่พอดี และครบถ้วนทั้ง 5 หมู่
- ควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดโปร่ง ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และสารก่อภูมิแพ้ เช่น ควันบุหรี่ เขม่าควัน ไรฝุ่น หรือแมลงสาบ
วิธีป้องกัน และลดความเสี่ยงลูกเป็นภูมิแพ้ ในช่วงหลังคลอด
คุณแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน หรือนานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะนมแม่เป็นนมที่มีคุณสมบัติ H.A. (Hypoallergenic) ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภูมิแพ้ในเด็กได้ เพราะนอกจากนมแม่จะมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิดแล้ว โปรตีนในนมแม่บางส่วนยังถูกย่อยจากเอนไซม์ตามธรรมชาติในนมแม่ ทำให้มีขนาดเล็กลง เป็น โปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน (Partially hydrolyzed protein- PHP ) รวมทั้งมีโพรไบโอติกหลายชนิด เช่น Bifidus BL ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ โดยสังเกตได้จากทารกที่ได้รับนมแม่จะมีการเกิดภูมิแพ้น้อยกว่า และมีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ หรือมีน้ำนมไม่เพียงพอ ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ นอกจากนั้น กรณีที่คุณแม่มีความกังวลใจเกี่ยวกับสุขภาพของลูกน้อย โดยเฉพาะการดูแลอาการภูมิแพ้ในเด็ก สามารถเข้ามาพูดคุยกับเราได้ที่ N Sensitive Club คลับที่คุณแม่ไว้ใจ รวมความรู้ทุกเรื่องของอาการแพ้ในเด็ก
ตรวจทานความถูกต้องโดย ศ.พญ. จรุงจิตร์ งามไพบูลย์
ข้อมูลอ้างอิง ccpe.pharmacycouncil. chalonghospital
1.Bergmann RL, et al. Clin Exp Allergy 1997;27:752–760.
2.Chad Z. Paediatr Child Health 2001;6(8):555–566
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!