ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า พันธุกรรม หรือ กรรมพันธุ์กันอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นครั้งเมื่อตอนเรียนวิชาวิทยาศาสตร์สมัยเด็ก ๆ หรืออาจเคยได้ยินใครเขาพูดกัน กรรมพันธุ์เป็นแนวคิดพื้นฐานทางชีววิทยา พันธุศาสตร์ และศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายถึงการถ่ายทอดลักษณะทางร่างกายและพฤติกรรมจากรุ่นพ่อแม่ไปสู่รุ่นลูกหลาน วันนี้ TAP รวบรวม 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ พันธุกรรม มาฝาก ตามไปอ่านกันได้เลยค่ะ
10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ พันธุกรรม
1. ความหมายของกรรมพันธุ์
กรรมพันธุ์ หรือ พันธุกรรม (Heredity) หมายถึง การถ่ายทอดลักษณะทางกายภาพจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง เป็นกระบวนการที่ถ่ายทอดลักษณะต่าง ๆ ทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น สีตา สีผม ส่วนสูง หรือแม้กระทั่งโรคต่าง ๆ ถูกถ่ายทอดผ่านยีนจากพ่อแม่สู่ลูก แต่ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องมาจากรุ่นพ่อ–แม่อย่างเดียว พันธุกรรมสามารถถ่ายทอดมาจากรุ่นปู่–ย่า ตา–ยาย หรือบรรพบุรุษคนอื่น ๆ ได้อีกด้วย โดยเป็นลักษณะที่ได้รับมาจากพ่อและแม่ หรือคนในครอบครัว ผสมผสานกันจนกลายเป็น ลักษณะเฉพาะตัวของลูก เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เราสามารถศึกษาเรื่อง พันธุกรรม ได้โดยการใช้สายเลือด ซึ่งเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดผ่านครอบครัวของแต่ละคนนั่นเอง ดังนั้นทุกคนจึงจะมีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันออกไป
2. การทำงานของกรรมพันธุ์
อธิบายการทำงานของกรรมพันธุ์ง่าย ๆ เลย คือ กรรมพันธุ์ เปรียบเสมือนข้อมูลทางพันธุกรรม ที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งข้อมูลทางพันธุกรรมนี้ จะถูกเข้ารหัสไว้ให้เป็นลักษณะเฉพาะตัว อยู่ในรูปแบบของโครโมโซมที่สามารถพบได้ในทุกเซลล์ของร่างกายของทุก ๆ คน
การถ่ายทอดทางพันธุกรรม จะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่มีการปฏิสนธิภายในร่างกาย ข้อมูลทางพันธุกรรมดังกล่าวของคุณพ่อและคุณแม่ หรือบรรพบุรุษจะถูกรวมเข้าด้วยกันเพื่อสร้างข้อมูลทางพันธุกรรมชุดใหม่ของลูกหลาน ซึ่งจะกลายเป็นตัวที่กำหนดลักษณะต่าง ๆ ของคน ๆ นั้นอย่างเช่น สีตา สีผม หรือส่วนสูง ทำให้เรามักอาจจะได้ยินอยู่บ่อย ๆ ว่า สูงเหมือนคุณพ่อเลย ตาสวยเหมือนคุณแม่เลย เป็นต้น
ไม่ได้เพียงลักษณะภายนอกร่างกาย กรรมพันธุ์ยังมีอิทธิพลต่อโรค ความอ่อนแอ และความผิดปกติบางอย่างของบุคคลที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าหากได้รับพันธุกรรมของพ่อแม่ หรือ คนรุ่นก่อนหน้า ได้อีกด้วย
3. กรรมพันธุ์ vs พันธุศาสตร์
หลาย ๆ คนอาจจะสับสนระหว่างคำว่า กรรมพันธุ์ (Heredity) และ พันธุศาสตร์ (Genetics) ว่าแตกต่างกันอย่างไร อ่านผ่าน ๆ ก็ดูคล้ายกันเหลือเกิน แต่จริง ๆ แล้วสองสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่มีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่บางประการ
กรรมพันธุ์
กรรมพันธุ์คือการถ่ายทอดลักษณะและลักษณะเฉพาะจากพ่อแม่ไปสู่ลูกหลาน ลักษณะเหล่านี้จะถูกกำหนดโดยสารพันธุกรรมหรือที่เรียกว่า DNA ที่ส่งต่อจากพ่อแม่สู่ลูก กรรมพันธุ์สามารถถ่ายทอดลักษณะบางอย่างจากรุ่นสู่รุ่นได้ เช่น สีตา สีผม หรือแม้แต่โรคบางชนิด อีกทั้งกรรมพันธุ์ยังมีบทบาทในการกำหนดลักษณะทางกายภาพ และพฤติกรรมหลายอย่าง เช่น ส่วนสูง สติปัญญา และนิสัยใจคอได้อีกด้วย
พันธุศาสตร์
ในขณะที่พันธุศาสตร์นั้นเป็นสาขาของวิทยาศาสตร์ ที่ศึกษาเกี่ยวกับกรรมพันธุ์และอิทธิพลของมันที่มีต่อลักษณะนิสัย ตลอดจนลักษณะที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากการศึกษาเกี่ยวกับพันธุศาสตร์ เราสามารถเรียนรู้ว่ายีนรุ่นต่าง ๆ สามารถถ่ายทอดลงมาจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งได้อย่างไร ลักษณะนิสัยสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร มีปัจจัยอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นได้บ้าง และข้อควรระวังในเรื่องของสุขภาพของคนรุ่นต่อไปในอนาคต
5. การถ่ายทอดทางพันธุกรรม
การถ่ายทอดพันธุกรรมนั้น จะเกิดขึ้นได้ระหว่างบุคคลเท่านั้น เกิดมาจากการผสมผสาน และสะสมระหว่างรุ่นสู่รุ่น จนก่อให้เกิดวิวัฒนาการโดยธรรมชาติ ซึ่งเราไม่สามารถทราบได้เลยว่าเราจะได้รับลักษณะใดมาจากบรรพบุรุษบ้าง ยกตัวอย่าง เช่น สีตาของมนุษย์ เกิดจาก ความคล้ายคลึงที่ขึ้นในตัวบุคคล จะมาจากการถ่ายทอดพันธุกรรมของพ่อ หรือแม่ ซึ่งความเป็นไปได้ของสีที่จะได้รับก็ขึ้นอยู่กับว่า พ่อหรือแม่ หรือบรรพบุรุษของเรานั้น มีสีตาอะไร จะเกิดตามความแตกต่างและเปอเซ็นตของการถ่ายทอดที่เกิดขึ้น แต่จะไม่แตกต่างจนเกินไป เช่นถ้าหากบรรพบุรุษ หรือพ่อแม่ของเรามีตาสีน้ำตาล สีดำ สีตาของเราที่ได้รับมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมนั้น ก็จะเป็นสีน้ำตาล หรือดำ หรือโทนสีเข้ม แต่ไม่ใช่สีฟ้าอย่างแน่นอน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ เลี่ยงโรคทางพันธุกรรมที่จะเกิดขึ้น
6. กรรมพันธุ์และโรคทางพันธุกรรม
จากที่ได้กล่าวไปว่าพันธุกรรม มีบทบาทสำคัญในการกำหนดลักษณะทางกายภาพของบุคคล รวมถึงโรคต่าง ๆ ที่สามารถถ่ายทอดลงมาได้ด้วยเช่นกัน มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของรุ่นลูกรุ่นหลานเป็นอย่างมากเลยทีเดียว ดังนั้นการที่เราทราบถึงโรคต่าง ๆ ที่บรรพบุรุษ หรือพ่อแม่ของเราเป็น จะทำให้เราสามารถคาดเดาถึงสุขภาพร่างกายในอนาคต รวมถึงหาหนทางการป้องกัน และรักษาได้อย่างเหมาะสม
ยีน (Gene) คือ ส่วนหนึ่งของโครโมโซม เป็นหน่วยที่ควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมต่าง ๆ ในร่างกาย เช่นเดียวกัน ยีนมีหน้าที่ในการกำหนดสภาวะทางด้านร่างกายของแต่ละบุคคลซึ่งส่งผลต่อโรคบางอย่าง เราเรียกโรคดังกล่าวว่า โรคทางพันธุกรรม
7. โรคทางพันธุกรรม ที่น่าสนใจ
1. ดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) โรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมโดยมีคู่ที 21 เกินมา 1 แท่ง หรือเกินมาบางส่วน ผู้ที่มีความผิดปกติเหล่านี้จะมีลักษณะที่โดดเด่นอย่างเช่น หน้าแบน ตาเล็ก คอ แขน ขาสั้น มีขนาดตัวที่เตี้ยกว่าปกติ
2. เอ็ดเวิร์ดซินโดรม (Edwards syndrome) โรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมโดยมีคู่ที 18 เกินมา 1 แท่ง ผู้ที่มีความผิดปกตินี้จะมีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติ ศีรษะมีขนาดเล็กผิดรูป ปากเล็ก มือ เท้าผิดรูป มีความบกพร่องอื่น ๆ ทางร่างกาย
3. ตาบอดสี (Color blindness) สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติตาบอดสี มักจะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสีเขียวกับสีแดง หรือสีน้ำเงินกับสีเหลืองได้
4. โรคลูคีเมีย (Leukemia) ลูคีเมีย หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดจากการที่ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดขาวมามากผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ที่เป็นโรคลูคีเมียนั้น จะมีภาวะโลหิตจาง มีเลือดออกผิดปกติ หรือเป็นจ้ำเลือดตามร่างกาย เป็นต้น
5. โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เลือดจาง เป็นโรคที่ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ และมีแนวโน้มที่เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ร่างกายสร้างฮีโมโกลบินได้น้อยลง
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคทางพันธุกรรม คืออะไรอันรายหรือไม่ ป้องกันได้รึเปล่า?
8. การตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม
การตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม (Prenatal Genetic Test) หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า การตรวจยีนก่อนตั้งครรภ์ เป็นการตรวจคัดกรอง และตรวจวินิจฉัย ที่สามารถตรวจยีนด้อยได้มากกว่า 600 ยีน 300 กว่าโรค เลยทีเดียว ทำให้คุณพ่อและคุณแม่สามารถตระหนักถึงโรคร้ายแรง หรือโรคที่อาจส่งต่อทางพันธุกรรมให้ลูกน้อยได้ เป็นอีกหนึ่งข้อมูลให้คุณพ่อคุณแม่ได้ตัดสินใจถึงการมีบุตร เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งต่อทางพันธุกรรม หรือเพื่อให้คุณหมอสามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น
9. พันธุกรรม และการใช้ชีวิต
ในขณะที่พันธุกรรมเป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่ส่งต่อจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าพันธุกรรมจะเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของเราได้ 100% เพราะนอกจากนี้แล้ว สภาพแวดล้อมและวิถีชีวิต ก็สามารถมีอิทธิพลต่อการแสดงคุณลักษณะเหล่านี้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การพัฒนาในแต่ละบุคคลย่อมขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมภายนอกด้วย
10. ข้อดีของการศึกษาพันธุกรรม
พันธุศาสตร์ในการพัฒนามนุษย์ เป็นสิ่งที่น่าสนใจและค่อนข้างมีความซับซ้อน พันธุกรรมมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของแต่ละบุคคล ตลอดจนเป็นตัวแปรกำหนดสุขภาพโดยรวมและแข็งแรงของร่างกาย อีกทั้งพันธุศาสตร์ยังมีบทบาทในการพัฒนาโรคและความผิดปกติต่าง ๆ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของพันธุกรรมในการพัฒนามนุษย์เป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจถึงโรค ความผิดปกติ และสภาวะอื่น ๆ เพื่อเตรียมตัวในการรักษา หรือลดความเสี่ยงเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จบไปแล้วกับ 10 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ พันธุกรรม จะเห็นได้ว่า กรรมพันธุ์มีบทบาทสำคัญในชีวิตของเรา เราสืบทอดลักษณะนิสัยมาจากพ่อแม่ บรรพบุรุษรุ่นก่อน และสิ่งนี้อาจส่งผลอย่างมากต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของเรา สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ รู้ไว้ไม่เสียหายค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคดาวน์ซินโดรม โรคทางพันธุกรรมที่มักพบได้ในเด็ก ป้องกันและรักษาอย่างไร
โรคเอ็ดเวิร์ดซินโดรม โรคปากแหว่งเพดานโหว่ โรคทางพันธุกรรมที่พบในเด็ก
ตาบอดสีในเด็ก เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาหรือวิธีแก้อย่างไร
ที่มา : petcharavejhospital, samitivejhospitals