1. แพ้ท้อง
อาการแพ้ท้องเกิดมาจาก ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน และ เอชซีจี ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อาจทำให้คุณแม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ บางคนรู้สึกใจหวิวๆ หน้ามืด เป็นลม อาการแพ้ท้องของคุณแม่แต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน และมีความรุนแรงไม่เท่ากัน แต่หลังจาก 3 เดือนไปแล้วฮอร์โมนนี้จะลดลง ทำให้คุณแม่คลื่นไส้อาเจียนน้อยลงหรือไม่มีอาการแพ้ท้องอีกเลย อีกสาเหตุหนึ่งของอาการแพ้ท้องอาจมาจากความกังวลของคุณแม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์และการคลอดบุตร จึงอาจแสดงออกโดยการคลื่นไส้อาเจียนค่ะ1
หากคุณแม่มีอาการแพ้ท้อง แนะนำให้ดื่มนมอุ่นๆ หรือเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยวหวาน แล้วนอนพักต่ออีกสักครู่ จนรู้สึกดีขึ้นค่ะ ควรเลือกรับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่ายๆ หลีกเลี่ยงของดอง อาหารที่มีไขมันมากหรืออาหารที่มีกลิ่น เพราะอาจทำให้คุณแม่อยากอาเจียนมากกว่าเดิม ทิปส์ที่ช่วยลดอาการผะอืดผะอมสำหรับคุณแม่ อาจจะแบ่งมื้ออาหาร โดยในแต่ละมื้อควรรับประทานครั้งละน้อยๆ แต่ให้ถี่ขึ้นวันละหลายๆ มื้อ1แทน
ในกรณีที่คุณแม่อาเจียนและอ่อนเพลียมาก ควรหลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง แต่ควรปรึกษาคุณหมอ แม้จะยังไม่ถึงกำหนดที่คุณหมอนัดก็ตามค่ะ
2. ปัสสาวะบ่อย
การปวดปัสสาวะบ่อยจึงถือเป็นอาการปกติของแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่จะสังเกตได้ว่า ตัวเองปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ โดยในช่วงไตรมาสแรกนั้น การปัสสาวะบ่อยเกิดจาก มดลูกซึ่งอยู่ติดกับกระเพาะปัสสาวะขยายใหญ่ขึ้น จนไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ เมื่อมีปัสสาวะปริมาณเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้คุณแม่รู้สึกปวดปัสสาวะได้ ซึ่งเป็นเหตุผลให้ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยยิ่งขึ้น นอกจากนี้การที่ขนาดของมดลูกขยายใหญ่ขึ้น ร่างกายของคนท้องต้องการเลือดไปเลี้ยงมดลูกเพิ่มขึ้น เลือดผ่านไตมากกว่าเดิม ไตจึงต้องกลั่นกรองปัสสาวะออกมามากขึ้นด้วย ในไตรมาสสุดท้ายใกล้คลอดคุณแม่จะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยอีกครั้ง เนื่องจากศีรษะของลูกน้อยเคลื่อนลงมากดกระเพราะปัสสาวะ4
เมื่อคุณแม่ทราบอาการอย่างนี้แล้ว คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการอั้นปัสสาวะ และสามารถดื่มน้ำได้ตามปกติ แต่ถ้าจะต้องออกไปข้างนอก ทางเฟซบุ๊ค Anmum Club Thailand มีทิปส์ที่จะช่วยคุณแม่เวลาออกไปข้างนอกได้ก็คือ อาจงดดื่มน้ำก่อนออกจากบ้านซักครึ่งชั่วโมง พอกลับถึงบ้านค่อยดื่มน้ำชดเชยก็ได้ค่ะ
3. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดอีกหนึ่งอย่างคือ การเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวของคุณแม่ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ประมาณ 10 – 15 กิโลกรัม โดยในช่วง 3 เดือนแรกที่คุณแม่มีอาการแพ้ท้อง น้ำหนักอาจไม่ขึ้นเลย หรือขึ้นเพียง 1 กิโลกรัม ช่วง 3 – 6 เดือน น้ำหนักเพิ่มอีก 5 กิโลกรัม ช่วง 6 เดือนถึงคลอด น้ำหนักเพิ่มขึ้นอีก 5 กิโลกรัม ทราบไหมคะว่าน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมานี้ ประกอบด้วยน้ำหนักตัวของทารก 3,300 กรัม รก 680 กรัม น้ำคร่ำ 900 กรัม มดลูก 900 กรัม เต้านม 900 กรัม ไขมันและโปรตีนในตัวคุณแม่ 4,000 กรัม เลือดและน้ำในร่างกายคุณแม่ 1,800 กรัม2
คุณแม่จึงควรรักษาน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม และรับประทานอาหารที่มีโฟเลทสูง เพราะมีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดงและธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง3 โดยคุณแม่สามารถบันทึกการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวผ่านตัวช่วยง่ายๆ สำหรับแม่ตั้งครรภ์อย่างแอนมัมแอพพลิเคชั่น พร้อมทั้งยังสามารถติดตามพัฒนาการตั้งครรภ์ สูตรอาหาร และแบบทดสอบโฟเลทสำหรับแม่ตั้งครรภ์ผ่านแอนมัมแอพพลิเคชั่น ได้ทุกที่ทุกเวลา เท่านี้คุณแม่ก็อุ่นใจเรื่องน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นแล้วค่ะ
4. ท้องผูก
หนึ่งในอาการที่พบบ่อยตั้งแต่อายุครรภ์อ่อนๆ ไปจนถึงใกล้คลอดก็คือ อาการท้องผูก ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน มดลูกที่โตขึ้นกดลำไส้ ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารไม่มีกากใยอาหาร หรือดื่มน้ำน้อย5 จึงทำให้คุณแม่อุจจาระแห้งและแข็งทำให้ถ่ายออกยากหรือไม่ถ่ายเลย ทั้งนี้เพราะ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นทำให้การหดรัดตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ลดลง อาหารจึงเคลื่อนผ่านไปได้ช้า น้ำที่อยู่ในอาหารถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจนหมด ทำให้เกิดอาการท้องผูก
จึงเป็นเหตุผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเพิ่มการรับประทานผักใบเขียว ผลไม้และอาหารที่มีใยอาหารหรือไฟเบอร์ เพื่อเพิ่มกากในระบบทางเดินอาหารกระตุ้นการขับถ่าย4 หรือหรือเลือกดื่มนมที่มีจุลินทรีย์มีชีวิตที่มีประโยชน์ (โพรไบโอติก)6 รวมทั้งควรดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ระบบขับถ่ายกลับมาเป็นปกติเท่านั้น ยังช่วยให้คุณแม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่าขึ้นด้วย
5. ปวดหลัง
เมื่อท้องของคุณแม่โตขึ้น อีกอาการหนึ่งที่คุณแม่ส่วนใหญ่จะเป็นกันมากในช่วงไตรมาสสุดท้าย คือ ปวดหลัง เนื่องจากต้องแบกรับน้ำหนักของมดลูกและน้ำหนักของลูกน้อยที่เพิ่มขึ้นทุกวันนั่นเองค่ะ แนะนำให้คุณแม่ท้องสวมรองเท้าส้นเตี้ย จะช่วยให้เดินสบาย ไม่ปวดหลัง และนอนในท่าสบาย ท่าไหนก็ได้ค่ะ นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถออกกำลังกายด้วยท่าที่ปลอดภัยสำหรับแม่ตั้งครรภ์ผ่านแอนมัมแอพพลิเคชั่น ที่จะช่วยให้คุณแม่บอกลาอาการปวดหลังไปได้เลย
6. ตะคริว
คุณแม่อาจเป็นตะคริวในช่วง 2-3 เดือนสุดท้าย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่คุณแม่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอหรือขาดแร่ธาตุที่สำคัญระหว่างตั้งครรภ์ โดยอาจมีอาการเกร็งอย่างฉับพลันที่ข้อเท้าและลามขึ้นมาที่ขาพร้อมกับความรู้สึกเจ็บ ในคุณแม่บางคนที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น อาจจะมีตะคริวกินมาถึงด้านหลังของต้นขาได้ด้วย แนะนำให้คุณแม่ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทานอาหารที่มีแร่ธาตุครบถ้วนที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น ดื่มนมที่มีแคลเซียมและแร่ธาตุสูง และรับประทานแคลเซียมที่คุณหมอให้มาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยบรรเทาอาการตะคริวได้ ส่วนเวลานอนให้คุณแม่หาหมอนมารองใต้เท้าและน่องให้สูงกว่าระดับตัวเล็กน้อย เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ดีขึ้น7
อาการที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์เหล่านี้เป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นแม่ที่ควรรู้ การดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ตามคำแนะนำข้างต้น รับประทานอาหารที่หลากหลายครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้สบาย พักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้คุณแม่มือใหม่ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตลอดระยะเวลา 9 เดือนได้อย่างเข้าใจและมีความสุขกับการได้เป็นคุณแม่คนใหม่ค่ะ
References
1รศ.นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ. คู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด. 2540 หน้า 119.
2รศ. นพ. วิทยา ถิฐาพันธ์. คู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอดสำหรับคุณแม่ยุคใหม่. หน้า 60.
3ข้อความการกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหารที่มีในบัญชี Thai RDI
4รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์. คู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอดสำหรับคุณแม่ยุคใหม่. 2553. หน้า 173.
5รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์. คู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอดสำหรับคุณแม่ยุคใหม่. 2553. หน้า 169.
6Philip AW, et al. Scandinavian Journal of Gastroenterology, 2011; 46: 1057–1064.
7รศ.นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ. คู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด. 2540. หน้า 148.
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!