การให้นมแม่กับลูกนั้น นอกจากจะเหมือนกับวิทยาศาสตร์แล้ว ยังเป็นศิลปะสุดคลาสสิกที่มีแต่คุณแม่ให้นมลูกนั้นจะเข้าใจ และเมื่อใกล้ถึงเวลาให้นมแม่กับลูก คุณแม่มือใหม่ทุกคนก็ย่อมศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการให้นมแม่เป็นธรรมดา และนี่คือ 5 ข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการให้นมช่วงสามวันแรกที่คุณแม่มือใหม่ควรทราบ
1. นมแม่เปรียบเสมือนบ้านที่อบอุ่นของลูก เหมือนกับว่าสมองของลูกบันทึกไว้แล้วว่า แม่คือบ้าน ที่มีความรัก ความอบอุ่น และหากอยู่ใกล้ ๆ แม่ ลูกจะไม่มีวันอด จึงไม่แปลกหากลูกจะเรียกร้องหาแต่คุณ และไม่ว่าตอนไหนที่ลูกเห็นหน้าคุณ ลูกก็จะร้องขอแต่กินนมทุกครั้ง หรืออีกนัยหนึ่งที่คุณแม่ที่ผ่านประสบการณ์มักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แม่เปรียบเสมือนตู้นมเคลื่อนที่ของลูกนั่นเอง
2. อย่าลืมพักผ่อนบ้าง ไม่แปลกที่คุณจะมีญาติสนิทมิตรสหายมาเยี่ยมคุณที่โรงพยาบาลหรือที่บ้านหลังคลอดใหม่ ๆ แต่อย่าลืมนะคะว่า ตัวคุณแม่เองก็ต้องการการพักผ่อนมากที่สุด ยิ่งถ้ากลับมาถึงบ้านแล้ว ลูกหลับแม่ก็ควรที่จะหลับพักผ่อนบ้าง สักสิบหรือสิบห้านาทีก็ยังดี เพราะค่ำคืนของเราต้องรับมือนั้นยังอีกยาวไกล
3. ลืมนาฬิกาหรือตารางเวลาไปซะ ที่บอกให้ลืมนั่นก็เป็นเพราะว่า เราอาจเคยได้ยินว่า แม่ควรให้นมลูกวันละ 8 – 12 ครั้ง แต่พอมาถึงชีวิตจริง ให้นมลูกทุกครั้งที่ลูกต้องการเถอะค่ะ และการให้นมแม่นั้น ไม่จำเป็นต้องให้เฉพาะเวลาลูกหิวเท่านั้น เพราะนมแม่ให้ได้ทุกเวลา ไม่เชื่อคุณแม่ลองดูสิคะไม่ว่าลูกจะร้องไห้ เสียใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ แค่เพียงเขาได้ทานนมแม่อุ่น ๆ จากอก เพียงเท่านี้คุณก็จะได้เห็นรอยยิ้มที่แสนหวานของลูกเหมือนเดิมแล้ว เป็นไงคะกับความมหัศจรรย์ของนมแม่
4. ลูกน้ำหนักลงในช่วงแรกถือเป็นเรื่องปกติ หากคุณแม่มีความกังวลว่า ลูกผอมลงหรือมีน้ำหนักลงกว่าตอนแรกคลอดนั้น รู้เอาไว้เลยค่ะว่า เป็นเรื่องปกติมาก แต่ถ้าหากคุณแม่ยังมีความกังวลว่า ลูกทานนมอิ่มหรือเพียงพอต่อร่างกายหรือไม่ แนะนำให้คุณแม่ลองนับจากผ้าอ้อมของลูกดูนะคะ
5. เตรียมรับมือกับคืนที่สองได้เลย หากคุณรู้สึกว่าโชคดีจังที่คืนแรกลูกไม่ร้องกวนเลย อย่าเพิ่งดีใจไปก่อนหน้าค่ะ รอดูคืนที่สองดี ๆ แล้วคุณจะรู้ว่าเป็นอย่างไร และอีกสิ่งหนึ่งที่คุณควรเตรียมรับมือคือ ทารกจะไม่อยากที่จะอยู่กับใครนอกจากอยู่กับคุณแม่ของเขา ส่วนหนึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่า คุณคือคนที่เขาอยู่ด้วยมาตลอดเก้าเดือน หากลูกอยากให้อุ้ม ก็อุ้มเขาเถอะค่ะ ดูแลและให้นมเขา แค่นี้คุณก็สามารถควบคุมกับสถานการณ์ได้แล้ว
เป็นอย่างไรบ้างคะ ข้อมูลคร่าว ๆ ที่เราเอามาฝากกัน หวังว่าคงจะมีประโยชน์กับคุณแม่ทุกท่านไม่มากก็น้อยนะคะ ช่วงสามเดือนแรกอาจจะเหนื่อยกันหน่อย แต่พอลูกปรับตัวได้เมื่อไหร่ คุณก็จะรู้สึกเหนื่อยน้อยลงไปด้วยเอง นั่นเป็นเพราะคุณแม่รู้แล้วว่าต้องรับมืออย่างไรนั่นเอง
ที่มา: Thechicagodoulas
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ไขข้อข้องใจ “ไขทารกแรกเกิด”มีดีหรือไม่
ส่อง!! ทารกแรกเกิดเป็นอย่างไรนะ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!