5 ความรู้สึกรับรู้เมื่อลูกแรกเกิด

5 ความรู้สึกรับรู้เมื่อลูกแรกเกิด
ลูกน้อยแรกเกิดมาพร้อมประสาทสัมผัสการรับรู้ที่น่ามหัศจรรย์พื้นฐาน 5 อย่างด้วยกันนั่นคือ การมองเห็น การได้ยิน การได้รับรู้รส การได้กลิ่น และการได้สัมผัส ทีนี้มาดูว่าลูกน้อยแรกเกิดจะมีระบบรับรู้ในด้านต่างๆ นี้ อย่างไรกันบ้างค่ะ

การมองเห็น
เด็กทารกแรกคลอดจะสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ แต่ยังไม่ชัดเจนมากนัก ทั้งนี้การมองเห็นของทารกน้อยเริ่มที่จะแยกแยะแสงสว่าง และความมืดได้ตั้งแต่ประมาณสัปดาห์ที่ 29 ขณะอยู่ในท้องของคุณแม่ โดยในตอนแรกคลอดทารกน้อยสามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวได้ในระยะ 8-10 นิ้ว ซึ่งนั่นทำให้ลูกตัวน้อยสามารถที่จะจำหน้าคุณพ่อคุณแม่ หรือคนที่อุ้มเขาอยู่เป็นประจำได้แม่น

การได้ยิน
เด็กทารกจะมีระบบการรับรู้เรื่องเสียงที่เร็ว และไว โดยลูกตัวน้อยจะจำเสียงพูดของคุณแม่ เสียงดนตรี เสียงเพลงที่คุณพ่อร้องให้ฟังเป็นประจำตั้งแต่ที่อยู่ในท้องคุณแม่ และเมื่อทุกครั้งที่ลูกร้องไห้ หากได้ยินเสียงที่คุ้นเคยลูกจะหยุดฟัง และงียบลง เมื่อลูกอายุได้ 6 เดือน จะเริ่มหันไปมองตามเสียงที่ได้ยิน และเสียงที่ลูกชอบมาก คือ เสียงสูงแหลมที่มีท่วงทำนองมากกว่าเสียงทุ้มต่ำโมโนโทน

การได้กลิ่น
เคยมีผลการวิจัยว่าทารกที่เพิ่งคลอดได้เพียงห้าวัน พบว่าจะหันไปตามทิศทางที่มีกลิ่นของน้ำนมแม่ และเมื่อมีอายุได้ประมาณสิบวัน ทารกน้อยจะเริ่มจำกลิ่นน้ำนมแม่ของตัวเองได้

การรับรส
เมื่อครั้งที่ทารกน้อยยังอยู่ในท้องของคุณแม่ จะมีการกลืนน้ำคร่ำอยู่ตลอดเวลา ซึ่งน้ำคร่ำจะเป็นตัวกระตุ้นให้ปุ่มรับรสในลิ้นเกิดการพัฒนาขึ้น ประมาณเดือนที่ 6 ขณะอยู่ในท้อง ทารกจะเริ่มรับรู้ถึงความแตกต่างของรสชาติจากน้ำคร่ำ รสชาติของน้ำคร่ำที่บางครั้งหวาน บางครั้งเผ็ด ซึ่งก็มาจากอาหารที่คุณแม่ทานเข้าไปนั่นเอง ส่งผลให้เมื่อลูกน้อยแรกคลอด จะสามารถรับรู้รสชาติ และแยกแยะรสชาติต่างๆ ได้ทันที

การสัมผัส
ร่างกายของทารกน้อยจะตอบสนองต่อการกระตุ้นทุกรูปแบบตั้งแต่สัปดาห์ที่ 32 ขณะที่อยู่ในท้องคุณแม่ และเมื่อคลอดออกมาลูกน้อยจะมีความรู้สึกที่ไวต่อการสัมผัส นั่นเพราะบนร่างกายจะมีปลายประสาทที่รับความรู้สึกถึง 320 จุดต่อตารางนิ้ว ทำให้ลูกน้อยสามารถตอบสนองต่อความรู้สึกต่างๆ ได้ เช่น ความเจ็บปวด ความร้อน ความเย็นของอากาศ การสั่นสะเทือนของแปล หรือเตียงนอน ฯลฯ ซึ่งการรับรู้จากการสัมผัสนี้บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินเสียงลูกร้องไห้เพื่อเป็นการแสดงถึงปฏิกริยาตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวที่มาสัมผัสกับลูกนั่นเอง
ถัดไป
บทความโดย
สิริลักษณ์ อุทยารัตน์
แชร์ :