วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือนเป็นผลมาจากรังไข่หยุดทำงาน จึงไม่มีการตกไข่ และหยุดสร้างฮอร์โมนเพศ โดยเฉลี่ยผู้หญิงไทยจะหมดประจำเดือนในช่วงอายุประมาณ 50 ปี แต่การเปลี่ยนแปลงร่างกายจะเริ่มตั้งแต่ช่วงอายุ 30 ปลาย ๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบช้า ๆ และพอเข้าสู่วัย 40 ระดับฮอร์โมนจะผันผวนอย่างชัดเจน ประจำเดือนหมดเร็วกว่าปกติ ซึ่งแสดงว่า สัญญาณของภาวะ หมดประจำเดือน ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วนั่นเอง
จะรู้ได้อย่างไรว่า เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
ข้อบ่งชี้ว่าคุณแม่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน คือ การไม่มีประจำเดือนติดต่อกัน 12 เดือนในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ร่วมกับมีการผิดปกติ ต่อไปนี้
- อาการร้อนวูบวาบ บางครั้งมีเหงื่อออกมากกว่าปกติ โดยเฉพาะเวลากลางคืนขณะนอนหลับ
- นอนไม่หลับ หรือหลับยาก ตื่นบ่อย ๆ กลางดึก หรือตื่นเช้ากว่าปกติ
- อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวหมดแรง เพราะมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย และซึมเศร้า
- ช่องคลอดแห้ง และมีความรู้สึกทางเพศลดลง
แต่หากคุณแม่มีอาการเหล่านี้ก่อนวัย 40 ปี ถือว่าเข้าข่ายหมดประจำเดือนก่อนวัยค่ะ
สาเหตุที่ทำให้หมดประจำเดือนก่อนวัย ประจำเดือนหมดเร็วกว่าปกติ
สุขภาพของคุณแม่เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสมบูรณ์และความปกติของประจำเดือน หากสุขภาพโดยรวมดี ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองซึ่งจะผลิตตอนกลางคืนเมื่อเรานอนหลับสนิท ก็จะหลั่งออกมาดี รังไข่ก็ทำงานเป็นปกติเพราะได้รับการกระตุ้น การผลิตฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนก็เป็นไปตามปกติ วงจรของการตกไข่ก็เกิดขึ้น
แต่ในปัจจุบันคุณแม่หลายท่าน ทำงานหนัก นอนดึก รับประทานอาหารไม่ถูกส่วน ไม่ออกกำลังกาย ส่งผลให้สุขภาพโดยรวมไม่ดี ต่อมใต้สมองผลิตฮอร์โมนมากระตุ้นรังไข่ได้ไม่ดีต่อเนื่องหลายปี หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ไม่ช้ารังไข่จะหยุดทำงาน ซึ่งเป็นที่มาของการหมดประจำเดือนก่อนวัย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ประจำเดือนไม่มา อย่าชะล่าใจ เช็ก 8 สาเหตุที่อันตรายกว่าที่คิด
เตรียมรับมือเมื่อหมดประจำเดือน
ปัญหาสุขภาพที่มักพบในวัยหมดประจำเดือน ได้แก่ โรคกระดูกพรุน โดยผู้หญิงทุก ๆ 1 ใน 4 รายเป็นโรคกระดูกพรุนหลังหมดประจำเดือน อย่างไรก็ตาม โรคกระดูกพรุนสามารถป้องกันได้ โดยวิธีที่ดีที่สุดคือต้องสร้างมวลกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่อายุน้อยกว่า 30 ปี ดังนี้
- การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม ไข่ ผักใบเขียว ผลไม้ ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่ว เต้าหู้
- ได้รับวิตามินดีให้เพียงพอ เนื่องจากวิตามินดีจะเป็นตัวช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม ซึ่งร่างกายเราสามารถสังเคราะห์วิตามิน ดีได้จากแสงอาทิตย์
- หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานและเค็มจัด เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้กระดูกพรุนได้ง่ายกว่าปกติ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 15 – 20 นาทีเป็นประจำทุกวัน ซึ่งจะช่วยให้กระดูกแข็งแรงและเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก เช่น การเดิน การวิ่ง กระโดดเชือก ยกน้ำหนัก เป็นต้น
ที่กล่าวมาแล้วนั้นคือ อาการหมดประจำเดือนในวัย 40 และอาการหมดประจำเดือนก่อนวัย แต่หากคุณแม่ในวัย 40 มีอาการประจำเดือนผิดปกติ แต่ไม่มีอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนร่วมด้วย แสดงว่าไม่ใช่ภาวะหมดประจำเดือน แต่อาจมีความผิดปกติภายในอื่น ๆ ที่ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วค่ะ
ข้อควรระวัง เมื่อประจำเดือนผิดปกติ
ข้อควรระวังของผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปคือ หากคุณแม่ผิดปกติต่อไปนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะเป็นอาการสำคัญว่า อาจเกิดจากโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุมดลูกได้
- ประจำเดือนมามากหรือมานาน
- ประจำเดือนมากะปริดกะปรอยระหว่างรอบเดือน หรือมาไม่เป็นรอบ
- ประจำเดือนหยุดไปหลายเดือนและอยู่ ๆ ก็มาอีกพร้อมกับมีเลือดออกมาก
- ประจำเดือนหยุดไปแล้วครบ 1 ปี และกลับมามีอีก
คุณแม่ได้ทราบแล้วว่าวัยหมดประจำเดือนนั้นเริ่มต้นตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปซึ่งไม่ถือว่าผิดปกติ ซึ่งผู้หญิงทุกคนต้องเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่การใช้ชีวิตให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรง และหมดประจำเดือนในวัยที่เหมาะสม การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณแม่รู้เท่าทันความผิดปกติของร่างกาย หากรู้เร็วก็จะสามารถรับมือได้ทันและบรรเทาความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ประจำเดือนมาน้อย เรื่องอันตรายใกล้ตัวที่ห้ามปล่อยผ่าน
ฮอร์โมนทดแทนในวัยทอง
ผู้หญิงในช่วงวัยทองจะมีการลดลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมาก ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา ปัจจุบันผู้หญิงบางกลุ่มจึงหันมาใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อลดปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และทางด้านอารมณ์ดังกล่าว รวมถึงช่วยป้องกันโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ อาทิ โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน โรคมะเร็ง เป็นต้น
ฮอร์โมนทดแทนที่มีการใช้ในวัยทอง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ร่างกายขาดไปนั่นเอง นอกจากนั้น ยังใช้สารอื่นที่ออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือ โปรเจสเตอโรน
รูปแบบการใช้ฮอร์โมน
- โดยการกินยา ทำให้ระดับไขมันที่ดีสูงขึ้น แต่จะทำให้ฮอร์โมนในเลือดไม่คงที่จากตับถูกทำลาย
- โดยการฉีด ยาจะไม่ผ่านตับ และระดับไขมันที่ดีจะไม่เพิ่มเหมือนชนิดกิน
- การใช้แผ่นปิด (estrogen-filled patch)โดยใช้ปิดที่แขนหรือก้น สามารถใช้ได้หลายวัน
- การฝังฮอร์โมน วิธีนี้จะทำให้ฮอร์โมนในเลือดสูงเกินมากกว่าปกติ 2-3 เท่า
- ครีมฮอร์โมนทาที่ผิวหนัง
- ครีมฮอร์โมนทาที่ช่องคลอด ซึ่งจะเหมาะกับผู้ที่มีอาการช่องคลอดแห้ง
ประโยชน์ของฮอร์โมนทดแทน
- ป้องกันโรคกระดูกพรุน
- ป้องกันโรคหัวใจ
- ลดอาการวัยทอง
- ลดอาการร้อนวูบวาบ
- ลดอาการช่องคลอดแห้ง และคัน ทำให้ช่องคลอดเต่งตึง ไม่แห้ง
- ลดอาการปัสสาวะเล็ด
- ใช้รักษาอาการร้อนวูบวาบ
- ใช้ลดอารมณ์แปรปรวน และนอนไม่หลับ
- ใช้ป้องกันโรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม มะเร็งลำไส้ และลดโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
บทความที่เกี่ยวข้อง : 12 วิธีธรรมชาติในการปรับสมดุลฮอร์โมนของคุณ ฮอร์โมนไข่เพื่อสุขภาพคืออะไร
ผลเสียของการใช้ฮอร์โมนทดแทน
- เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ในปริมาณที่สูง และใช้ติดต่อกันนาน 10-15 ปี ซึ่งการใช้ฮอร์โมนทดแทน ไม่ควรใช้ติดต่อนานเกิน 5 ปี
- มีโอกาสเกิดนิ่วในถุงน้ำดี โดยเฉพาะการใช้แบบรับประทาน หากต้องการป้องกันโรคดังกล่าว ควรใช้แบบชนิดปิดหรือชนิดทา
ข้อแนะนำการใช้ฮอร์โมน
- สำหรับฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดทา ให้ทาวันละ 1 กรัม/ครั้ง
- ใช้ทาบริเวณหน้าขา หรือแขน และสามารถทาโลชั่นอื่นได้ตามปกติ
- หลีกเลี่ยงการทาบริเวณหน้าอก หน้าท้อง และอวัยวะเพศ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวใกล้อวัยวะภายใน ตัวยาอาจซึมเข้าสู่อวัยวะภายในผ่านต่อมน้ำนมได้
หมดประจำเดือน ในวัย 40 อาจเกิดขึ้นจากหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นจากฮอร์โมนรังไข่ สภาพของมดลูก และสุขภาพของคุณ แต่หากคุณแม่มีอาการร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวน และช่องคลอดแห้ง อาจเข้าข่ายหมดประจำเดือนก่อนวัยได้ ดังนั้น ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวิธีรับมือต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ประจำเดือนขาดกี่วันท้อง ประจำเดือนไม่มา ท้องหรือเปล่า
20 ข้อควรรู้ เกี่ยวกับประจำเดือน เช็กเลยว่าอาการไหนคือความผิดปกติ!
10 เหตุผลทำไมประจำเดือนไม่มา มีเหตุผลอะไรบ้างที่แม่ขาดประจำเดือน
ที่มา : bumrungrad, haamor, library.stou, phukethospital