10 สิ่งควรทำเมื่อผู้ชายไม่รับผิดชอบ ท้องแล้วไม่รับ ดำเนินคดีอย่างไร
ถึงแม้ว่าบิดาจะเป็นผู้แจ้งการเกิด หรือยอมให้ใช้นามสกุลก็ตาม บุตรนอกสมรส จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้มีอยู่ 3 วิธี เท่านั้น คือ
วิธีที่ 1. โดยการให้บิดาจดทะเบียนสมรสกับมารดาของเด็ก
วิธีที่ 2. โดยการให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร ต่อ นายทะเบียนครอบครัว ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขต
วิธีที่ 3. โดยการฟ้องร้องขอให้ศาลได้มีคำพิพากษา ว่า เด็ก เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ของบิดา
ทั้งนี้หากเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว บิดาหรือทั้งสองฝ่าย จะต้องส่งเสียจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะหรือจนกว่าจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นต้น และหากเราสามารถทำให้บิดารับรองว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว หากบิดาเสียชีวิต หรือบิดาแยกทางกันอยู่กับภรรยา บุตรนั้นก็สามารถรับมรดกจากบิดาได้ตามกฎหมายอีกด้วย
หากฝ่ายชายไม่ยินยอมจดทะเบียนสมรส ไม่ยินยอมจดทะเบียนรับรองบุตร หนีหายไม่รับผิดชอบส่งเสียเลี้ยงดู มารดาควรเตรียมตัวอย่างไรให้ฝ่ายชายต้องรับผิดชอบส่งเสียเลี้ยงดู โดยสิ่งที่เตรียมนั้นง่ายๆ ดังต่อไปนี้คือ
1. เก็บหลักฐานอัดคลิปวีดีโอหรืออัดเสียงการพูดคุยสนทนาทุกอย่างที่เกี่ยวกับฝ่ายชายและความสัมพันธ์ของเด็ก ให้ฝ่ายชายโดยพูดยอมรับว่าตนเองเป็นพ่อเด็ก
2. ถ้าหากมีผู้รู้เห็นว่าฝ่ายชายเป็นพ่อของเด็กให้ขอให้เค้าเป็นพยานหากมีการฟ้องคดี และควรทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานโดยแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน หรือจัดทำหนังสือ หรือจัดทำคลิปวีดีโอว่าฝ่ายชายนี้อยู่กินกับแม่เด็กกันมากี่ปีอยู่กินฉันสามีภรรยาโดยไม่จดทะเบียนสมรส เด็กในท้อง หรือเด็กที่เกิดมาเป็นบุตรของฝ่ายชาย ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้ในชั้นศาล เมื่อพยานนั้นไม่อยู่ หรือไม่ยินยอมไปศาลให้การเป็นพยาน
3. เก็บหลักฐานของฝ่ายชายไว้เพื่อตรวจ DNA เช่น เส้นผมของฝ่ายชาย หากในที่สุดฝ่ายชายไม่ยอมรับว่าเป็นพ่อของเด็ก หรือหนีหายไป หรือเสียชีวิตก่อนที่จะมีการรับรองบุตร เพื่อสิทธิของเด็กในการได้รับมรดกจากกองมรดกของฝ่ายชาย
4. ให้เก็บรูปถ่ายที่ตนเองถ่ายคู่กับฝ่ายชายบ่อยๆ หรืออยู่ร่วมกันกับบุตร รวมทั้งการสนทนาพูดคุยทางโปรแกรมโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ทั้ง Line Facebook ข้อความในมือถือไว้ทั้งหมด หรือถ่ายรูปเด็กกล่าวชื่อนามสกุลจริงของเด็กแท็กรูปให้ฝ่ายชาย ใน Facebook แล้วสนทนาเกี่ยวกับความเป็นพ่อของเด็ก
5. ในขณะที่คลอดพยายามให้ฝ่ายชายไปแจ้งเกิดเด็ก ระบุในใบเกิดว่าฝ่ายชายเป็นพ่อของเด็ก โดยให้เด็กใช้นามสกุลของฝ่ายชายซึ่งฝ่ายชายเป็นผู้แจ้งเกิด
6. ให้เก็บหลักฐานเอกสารต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อกันหรือทำธุรกรรมร่วมกัน เช่น สลิปที่ฝ่ายชายออกค่ารักษาพยาบาลให้ ค่าตรวจครรภ์ ฝากครรภ์ สัญญาเช่าที่ฝ่ายชายหรือทั้งสองคนรวมกันเช่า เอกสารการซื้อรถยนต์รวมกันหรือซื้อบ้านรวมกัน ฯลฯ
7. เก็บสำเนาบัตรประชาชน โดยการถ่ายรูปบัตรประชาชนของผู้ชาย หากจำเป็นต้องดำเนินการผ่านศาลจะได้ทราบตัวตนของฝ่ายชาย ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนชื่อนามสกุลในเวลาต่อมา
8. จัดทำรายการค่าใช้จ่ายในการส่งเสียเลี้ยงดูตั้งแต่เด็กจนโตบรรลุนิติภาวะว่าในแต่ละช่วงเวลาเด็กต้องใช้ค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินเท่าใด มีค่าอะไรบ้าง เช่น ค่ากินอยู่ ค่าเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน
9. เก็บข้อมูลทรัพย์สิน แหล่งที่มาของรายได้ อาชีพ นายจ้างฝ่ายชาย เพื่อเป็นฐานในการกำหนดจำนวนเงินที่ที่ฝ่ายชายต้องออกค่าเลี้ยงดู
10. ติดต่อที่ปรึกษากฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อดำเนินการ พร้อมสอบถามในการปรึกษาด้วยว่า จะชนะคดีเพราะเหตุใด โอกาสในการแพ้คดีมีอะไรบ้าง จะได้รับค่าเลี้ยงดูอย่างไร มีแผนการนำสืบพยานอย่างไรกรณีฝ่ายชายไม่มาศาล หรือปฏิเสธความเป็นพ่อ หลีกเลี่ยงทนายความที่แจ้งเพียงข้อกฎหมาย บอกว่าชนะคดีอยู่แล้วแต่ไม่ทราบว่าต้องเตรียมการอย่างไร ระวังอย่างไร หรือขอความช่วยเหลือผ่านสภาทนายความประจำจังหวัดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการขอคำปรึกษา กฎหมายให้ความคุ้มครองสิทธิของเด็ก แต่หากดำเนินการไม่ถูกต้องอาจต้องดูแลเด็กเพียงลำพัง
เขียนโดย: คุณชัชวัสส์ เศรษฐลักษมิ์ ที่ปรึกษากฎหมาย I – Legal
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!