วันผู้สูงอายุสากล กำหนดขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1991 หรือ ปี พ.ศ. 2534 ซึ่งมีการกำหนดนิยามของ “ผู้สูงอายุ” ไว้ว่า เป็นบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่มีอายุ 60 – 69 ปี ถือเป็น ผู้สูงอายุตอนต้น และ ผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป จัดเป็นผู้สูงอายุตอนปลาย
วันผู้สูงอายุสากล ในต่างประเทศจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองให้กับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงวัยได้เห็นถึงถึงคุณค่าของตนเอง พร้อมทั้งสะท้อนให้คนรุ่นหลังได้ตระหนัก และระลึกถึงคุณงามความดีต่าง ๆ ที่ผู้สูงอายุทั้งหลายได้สร้างไว้ให้กับสังคม
แนวโน้มการเพิ่มจำนวนของผู้สูงอายุในระดับโลก
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์การเพิ่มจำนวนของประชากรวัย 60 ปีขึ้นไป ไว้ประมาณร้อยละ 3 ต่อปี โดยในปี พ.ศ. 2573 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุทั่วโลกรวมกันมากถึง 1.4 พันล้านคน นอกจากนี้ยังคาดว่า ประชากรผู้สูงวัยในทวีปเอเชียจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย ประเทศญี่ปุ่น ทุบสถิติ ประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก
สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย
สำหรับในปี พ.ศ. 2564 ถือว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ
จากการสำรวจสัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามี ผู้สูงวัยราว 20% เมื่อเทียบกับประชรกรทั้งประเทศในปี พ.ศ. 2564 และยิ่งไปกว่านั้นยังมีการคาดการณ์อีกว่า ภายในปี พ.ศ. 2576 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 28 จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ
คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในปัจจุบัน
ปัจจุบัน ในหลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะต่างจังหวัด ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ถูกทิ้งให้อยู่บ้านตามลำพัง หรือไม่ก็อยู่บ้านเลี้ยงดูเด็ก ๆ เนื่องจากลูกหลานในวัยทำงาน ต่างเดินทางเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อทำงานหารายได้ส่งกลับมาให้ครอบครัว เมื่อผู้สูงอายุจำนวนมากแทบไม่มีรายได้ หรือมีรายได้แค่ เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยผู้พิการ และเงินเกษียณที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงทำให้ส่วนหนึ่ง ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสมได้ แม้ว่าจะได้รับสิทธิ์การรักษาพยาบาลใน ระบบประกันสุขภาพของประเทศ หรือ บัตรทอง แล้วก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดของระยะทางจากบ้านไปยังสถานพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือแม้กระทั่งไม่มีคนพาผู้สูงอายุไปรับการรักษาพยาบาลในตัวอำเภอ หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด
ดังนั้น เพื่อรับมือในสถานการณ์ สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ ที่เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2564 นี้ ลูกหลานวัยทำงานเอง จึงจำเป็นต้องเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้สามารถดูแลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีสุขภาพจิตใจปกติสุขแจ่มใส
ทำความรู้จัก กลุ่มโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มช่วงวัยที่มักมีโรคประจำตัวรุมเร้า ซึ่ง กลุ่มโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุ ที่ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่อง เช่น
- เบาหวาน
- ความดันโลหิตสูง
- มะเร็ง
- หัวใจและหลอดเลือด
- ไขมันในเลือดสูง
- อัมพาต
- ไตวาย
- ความจำเสื่อม
- ข้อเข่าเสื่อ กระดูกพรุน
- ต้อกระจก ต้อหิน
จากการรวบรวมสถิติการเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2562 จำนวนกว่า 5.1 ล้านคน พบว่า มีผู้ป่วยสูงอายุเพศชาย เข้ารับการรักษาด้วย โรคเบาหวาน สูงถึงร้อยละ 19.90 ตามมาด้วย โรคหลอดเลือดสมอง ร้อยละ 5.83 และ โรคข้อเสื่อม ร้อยละ 5.80 ส่วนผู้ป่วยสูงอายุเพศหญิง จำนวนกว่า 6.4 ล้านคน พบว่าป่วยด้วย โรคเบาหวาน ร้อยละ 30.97 อันดับสองคือ โรคข้อเสื่อม ร้อยละ 12.67 และอันดับสาม โรคต้อกระจก ร้อยละ 8.32
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุจำนวนมาก ยังมักเจ็บป่วยจากการหกล้ม หรือพลัดตกจากที่สูง เช่น บันไดบ้าน เก้าอี้ทานข้าว เตียงนอน รวมทั้งลื่นล้มในห้องน้ำ ห้องครัว และสะดุดสิ่งกีดขวางภายในบ้านจนเกิดอาการฟกช้ำ กระดูกหัก และอาจร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนเกิดจากสภาวะแวดล้อมภายในบ้านไม่ได้รับการออกแบบให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยของผู้สูงอายุ
บทความที่เกี่ยวข้อง 8 เทคนิคปรับบ้านให้เหมาะกับ ผู้สูงอายุ
เคล็ดลับดูแล พระในบ้าน ให้ผู้สูงอายุมีความสุข สุขภาพดี
ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดนสมบูรณ์แล้วนี้ ลูกหลานที่อยู่รอบตัวท่าน ควรเพิ่มความใส่ใจ และแวะเวียนมากราบสวัสดี ทักทายผู้ใหญ่ในบ้านอยู่เป็นประจำ เพราะนอกจากจะเป็นการติดตามปัญหาสุขภาพโดยทางอ้อมแล้วแล้ว ยังเป็นการช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีสุขภาพจิตที่แจ่มใส
เราสามารถ ดูแลผู้สูงอายุตามหลัก 5 อ. ได้ดังนี้
- อ.อาหาร ดูแลให้ท่านทานอาหารหลากหลาย ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ โดยเน้นอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ รสชาติกลาง ๆ ย่อยง่าย ถูกสุขลักษณะ ควรหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รสจัด และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- อ.ออกกำลังกาย ผู้สูงอายุจำเป็นต้องออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อ และจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งควรเลือกกิจกรรมออกกำลังกายที่เหมาะสมกับร่างกาย เช่น เดิน ยืดเหยียด ว่ายน้ำ เป็นต้น
- อ.อารมณ์ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีอารมณ์แจ่มใส และมีความสุข นอกจากการได้เห็นลูกหลานแวะเวียนมาหาตามเทศกาลแล้ว การได้รับความไว้วางใจให้เป็นที่ปรึกษาเมื่อลูกหลานต้องการคำแนะนำ ก็มีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และรู้สึกภูมิใจในตนเอง
- อ.อดิเรก กิจกรรมง่าย ๆ ที่ผู้สูงอายุชื่นชอบ เช่น อ่านหนังสือ ร้องเพลง เต้นรำ เล่นหมากรุก เข้าวัดฟังธรรม มีส่วนช่วยให้รู้สึกเพลิดเพลิน และมีคุณค่าทางจิตใจ
- อ.อนามัย ผู้สูงอายุควรมีสุขอนามัยที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสะอ้าน ควรมีการจัดบ้านให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ยังควรพักผ่อนให้เพียงพอ 7 – 9 ชั่วโมงต่อวัน ดื่มน้ำสะอาด 6 – 8 แก้ว และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้สูงอายุ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเปราะบาง นอกจากควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครบทั้ง 2 เข็มโดยเร็วที่สุดแล้ว ผู้สูงอายุยังควรงดออกจากบ้าน งดเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือหลีกเลี่ยงการพบปะกับลูกหลานที่มาจากพื้นที่เฝ้าระวังสูง อาจเปลี่ยนไปใช้วิธีการสื่อสารผ่านวิดีโอคอล ส่งข้อความ หรือโทรศัพท์ถามไถ่สุขทุกข์กันแทน ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ และลดความสูญเสียในการณีเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19
เนื่องในวันที่ 1 ตุลาคม theAsianperent Thailand ขอเป็นตัวแทนในการให้ความสำคัญของ “วันผู้สูงอายุสากล” และผลักดันให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุในบ้าน
บทความที่เกี่ยวข้อง
วิธี ดูแลผู้สูงอายุ ให้ปลอดภัยในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19
คุณพร้อมไหม หากวันนึงคุณต้อง “ดูแลพ่อแม่” ของคุณ เมื่อเวลามาถึง
ประกันสุขภาพผู้สูงอายุ ราคาเท่าไหร่ เปรียบเทียบประกันผู้สูงอายุ แบบไหนดีกว่ากัน
ที่มา: hfocus.org , dmh.go.th , statbbi.nso.go.th , thaihealth.or.th , si.mahidol.ac.th
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!