หลาย ๆ คนคงจะทราบกันดีว่า หนึ่งในสรรพคุณเลื่องชื่อของสมุนไพรชนิดนี้ คือ แก้อาการช้ำใน ประโยชน์ของใบบัวบก ยังมีอีกหลากหลายซึ่งได้จากการรับประทานสด ทำเป็นเครื่องดื่ม ประกอบอาหาร หรือแม้แต่การนำไปเป็นส่วนผสมสำคัญในเวชสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงภายนอกต่าง ๆ
ถิ่นกำเนิดแรกของใบบัวบก อยู่ที่ประเทศในทวีปแอฟริกาใต้ ก่อนจะแพร่พันธุ์ และกระจายไปทั่วประเทศในเขตร้อน รวมทั้งประเทศไทยด้วย บัวบกเป็นพืชที่พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมีการเรียกชื่อที่แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค เช่น ในภาคเหนือจะเรียกว่า ผักหนอก ภาคใต้จะเรียกว่า ผักแว่น เป็นต้น
ใบบัวบกมีกี่ชนิด ชื่อเรียกต่าง ๆ ของใบบัวบก
ชื่อสามัญ : Gotu Kola
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Centella asiatica
ชื่อท้องถิ่น : บัวบก (ภาคกลาง) ผักหนอก (ภาคเหนือ และภาคอีสาน) ผักแว่น (ภาคอีสาน และภาคใต้)
ใบบัวบกมีกี่ชนิด
ชนิดของใบบัวบกมีหลากหลาย แต่ที่นิยมนำมาเพาะปลูกในประเทศไทย มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน คือ บัวบกไทย และบัวบกศรีลังกา
1. บัวบกไทย
ลักษณะของบัวบกไทย ลำต้นจะไหลเลื้อยไปตามผิวดิน หรืออยู่ด้านล่างผิวดินเล็กน้อย ข้อปล้องบนลำต้นค่อนข้างห่าง ก้านใบยาว และค่อนข้างห่างกัน แผ่นใบมีขนาดใหญ่ หนา สีเขียวเข้ม
2. บัวบกศรีลังกา
ลักษณะของบัวบกศรีลังกา จะมีไหล หรือลำต้นเลื้อยตามผิวดิน ข้อปล้องถี่กว่า และมีขนาดเล็ก ทำให้ก้านใบอยู่ชิดกันมากขึ้น ก้านใบจะค่อนข้างสั้น ใบมีขนาดเล็ก สีเขียวสด หรืออมเหลืองนิด ๆ
ต้นใบบัวบกมีลักษณะแบบไหน ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของใบบัวบก ใบบัวบกมีกี่ชนิด
ไหล หรือลำต้น
ใบบัวบก หรือบัวบก เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุยาวนานหลายปี ส่วนรากแตกแขนงแทงลึกลงในดิน ส่วนก้านใบแตกแขนงออกไปได้เรื่อย ๆ ทำให้พื้นที่ที่มีการปลูก จะถูกต้นบัวบกแผ่กระจายปกคลุมโดยรอบจนหนาทึบ ส่วนของลำต้น หรือที่เรียกว่าไหล จะเลื้อยไปตามพื้นดิน หรืออยู่ด้านล่างของหน้าดิน ยาวได้มากถึง 1 เมตร ไหลของต้นอ่อนจะมีสีขาว และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่
ใบ
ใบของต้นบัวบกเป็นใบเดี่ยว มีสีเขียวอ่อน ลักษณะทรงกลม ขอบใบหยัก ด้านบนของใบจะเป็นใบเรียบ ส่วนด้านล่าง จะมีขนสั้น ๆ ปกคลุม และมีสีที่จางกว่าด้านบน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของใบประมาณ 2 – 4 เซนติเมตร ก้านใบสูงประมาณ 10 -15 เซนติเมตร ใบจะงอกออกมาจากข้อ แต่ละข้อมีใบได้มากถึง 10 ใบ
ดอก
ดอกสีขาวของใบบัวบก มีลักษณะเป็นช่อคล้ายร่ม อาจจะเป็นช่อเดี่ยว หรือมีประมาณ 2 – 5 ช่อ ก้านดอกเล็ก ๆ ของบัวบก จะมีดอกราว 3 – 4ดอก ตรงกลางมีเกสรตัวผู้ขนาดสั้น ๆ อยู่
ผล และเมล็ด
บัวบกมีผลขนาดเล็ก กลม และแบน มีสีเขียว หรือม่วงน้ำตาล ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร
บทความที่เกี่ยวข้อง สอนลูกปลูก ต้นไม้ เสริมสร้างทักษะและพัฒนาการ ผ่านทางการปลูกต้นไม้
วิธีการรับประทานใบบัวบก
ในอดีต นิยมนำมาบด ตำ เพื่อพอกหน้า สมานแผล และรับประทานสด ในปัจจุบันมีการนำไปแปรรูปเป็นแบบต่าง ๆ เพื่อให้รับประทานง่ายขึ้น แต่ก็ยังมีผู้นิยมรับประโยชน์จากใบบัวบกจากต้นอยู่
- ใบบัวบกแบบสด นำไปปั่นเป็นเครื่องดื่ม นำไปประกอบอาหาร เป็นส่วนผสมในขนม เช่น บัวบกชุบแป้งทอด คุกกี้ น้ำใบบัวบก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถตำละเอียดเพื่อพอกหน้า บำรุงผิวพรรณ สมานแผลได้อีกด้วย
- ยาแคปซูลใบบัวบก อีกหนึ่งวิธีการง่าย ๆ ในการได้รับสรรพคุณของใบบัวบก ในปัจจุบันมีการนำใบบัวบกมาสกัด และบรรจุให้อยู่ในรูปแบบของแคปซูล เพื่อความสะดวกในการรับประทานมากขึ้น
ประโยชน์ของใบบัวบก
ประโยชน์ของ ใบ และลำต้น จากการรับประทาน
- สรรพคุณในการบำรุง เช่น หัวใจ ตับ ไต สายตา สมอง กระตุ้นความจำ บรรเทาอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า ปวดตามข้อ รักษาระดับความดันให้เป็นปกติ บำรุงเลือดระดูให้มาปกติ
- สรรพคุณในการรักษา เช่น รักษาอาการช้ำใน แก้ร้อนใน บรรเทาอาการปวดศีรษะ เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ อาการท้องผูก ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ขับปัสสาวะ เป็นต้น
ประโยชน์ของ ใบ และลำต้น สำหรับใช้ภายนอก
- ช่วยถอนพิษจากแมลงสัตว์ กัด ต่อย ช่วยสมานแผลเปื่อย แผลสด รักษาบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ช่วยห้ามเลือด ผิวหนังอักเสบ เป็นต้น
ประโยชน์ของ เมล็ดใบบัวบก
- แก้ปวดศีรษะ ลดไข้ แก้โรคบิด
บทความที่เกี่ยวข้อง ใบบัวบก สมุนไพรเพื่อสุขภาพและความงามของเอเชีย ที่หลายคนไม่เคยรู้
สรรพคุณของใบบัวบก สำหรับผิวหน้า
ใบบัวบก มีสรรพคุณที่ช่วยบำรุงผิวพรรณให้อ่อนเยาว์ เนื่องจากมีสารที่ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน ช่วยชะลอความแก่ ยับยั้งการเกิดริ้วรอยต่าง ๆ ได้ มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยซ่อมแซม และต่อต้านการเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ปัจจุบัน มีสิ่งที่เรียกว่า Centella Asiatica Extract คือ สารสกัดจากใบบัวบก ซึ่งเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางหลาย ๆ ชนิด เพื่อเพิ่มสรรพคุณในการสมานแผล สร้างคอลลาเจน ต่อต้านอนุมูลอิสระ และช่วยชะลอริ้วรอย และความเหี่ยวย่นให้กับใบหน้าด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง 20 อาหารที่มีคอลลาเจนสูง อยากผิวดีต้องกินอะไร
ข้อควรระวังในของใบบัวบก
แม้ว่าใบบัวบกจะมีสรรพคุณมากมาย แต่สำหรับผู้ที่มีประวัติทางการแพทย์ ก็ควรจะต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากใบบัวบกก็มีข้อควรระวังเช่นกัน
- สำหรับผู้ป่วยโรคตับ ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากอาจส่งผลให้ตับมีการทำงานแย่ลง
- ห้ามรับประทานร่วมกับยาลดคลอเรสเตอรอล ยาเบาหวาน ยาขับปัสสาวะ ยาที่ส่งผลต่อตับ หรือยาระงับประสาท
- สำหรับผู้ที่รับประทานยาแก้แพ้ หรือยากันชัก ซึ่งออกฤทธิ์ทำให้ง่วง ใบบัวบกจะยิ่งเพิ่มฤทธิ์ความง่วงมากขึ้นไปอีก
- ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะคือ ไม่เกิน 3 – 6 ใบต่อวัน และไม่ควรรับประทานติดต่อกันทุกวัน หรือมากกว่า 1 สัปดาห์ ซึ่งอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น รู้สึกตัวเย็น หนาวสั่น ได้
- หากรับประทานแล้วพบว่ามีอาการอ่อนเพลีย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ต้องหยุด และพบแพทย์ทันที
อ้างอิง puechkaset , shopee
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!