อะไรบ้างที่บอกว่าคุณ เป็นพ่อแม่ที่แย่ พ่อแม่ที่ไม่ดี เคยได้ยินสำนวนลูกไม้ตกไม่ไกลต้น หรือ ลูกคือกระจกสะท้อนพ่อแม่บ้างไหมคะ งั้นอยากรู้กันแล้วไหมว่า เด็กไม่ดี เด็กแย่ๆ นั้นมาจากพ่อแม่แบบไหน แล้วลองมองดูตัวเองค่ะว่า เราเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้ลูกเห็นหรือไม่
อะไรบ้างที่บอกว่าคุณ เป็นพ่อแม่ที่แย่ พ่อแม่ที่ไม่ดี
จะว่าพ่อแม่เป็นเบ้าหลอม หรือเป็นครู ก็ดูจะตีกรอบเด็กๆ มากเกินไป แต่ในฐานะที่เด็กๆ เฝ้าดูเฝ้ามองพ่อแม่มาตั้งแต่แรกคลอดตลอดจนสิ้นลม พ่อแม่มีอิทธิพลต่อลูกๆ อยู่มากทีเดียวค่ะ ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติ มุมมอง และเป้าหมายของเด็กๆ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เด็กแต่ละคนเรียนรู้จากพ่อแม่ของเขา
สิ่งที่เด็กๆ เรียนรู้ในช่วงปฐมวัยนั้นจะคงอยู่ต่อไปในตัวเด็ก ๆ อีกนานแสนนานจวบจนเขาเป็นผู้ใหญ่ จึงเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นอย่างยิ่ง ถ้าหากพ่อแม่เลี้ยงดูลูกได้อย่างดีในช่วงแรกของชีวิตลูก
ความผิดลูกคือ ความผิดพ่อแม่
เวลาที่เด็กๆ ทำผิด หรือทำสิ่งที่ไม่สมควรนั้น คนที่จะโดนว่าคงหนีไม่พ้นพ่อแม่ค่ะ การกระทำไหนของพ่อแม่ที่ส่งผลเสียต่อลูก อะไรที่เป็นสัญญาณเตือนกันนะ และผลลัพธ์ที่จะเกิดต่อไปในอนาคตหากคุณพ่อคุณแม่ยังไม่เปลี่ยน และการเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นต้องทำอย่างไร ลองอ่านดูค่ะ
พ่อแม่ก็ผิดพลาดได้
เราไม่ได้บอกให้คุณเป็นพ่อแม่ที่สุดแสนจะเพอร์เฟค ไม่เคยเลี้ยงลูกผิดพลาดเลย เพราะถ้าคุณเป็นอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่จะเลี้ยงลูกให้เตรียมรับมือกับความผิดพลาดได้ยังไง จริงไหมละคะ แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะทำคือ เรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นยังไงและแก้ไขปัญหานั้นไม่ให้กระทบกับลูกยังไงมากกว่าค่ะ
ใครๆ ก็มีอดีตที่ผิดพลาด หรือแม้แต่คุณเองอาจจะไม่ได้โตมากับพ่อแม่มากพอ ที่จะส่งต่อหรือถ่ายทอดสิ่งที่ดีงามต่อไปได้ หรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่บางคนที่โตมากับปู่ย่าตายายหรือเติบโตมาด้วยตัวเอง สิ่งที่ทำได้ง่ายคือการสร้างพ่อแม่อุดมคติที่คุณโอเค และทำไหนสิ่งที่คุณคิดว่าโอเคกับลูกค่ะ โดยหลีกเลี่ยง 8 เรื่องเหล่านี้ซะ
เรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรทำกับลูก
1. ละเลยลูก
ทั้งทางร่างกายและจิตใจ แม้ว่าการไม่สนใจลูกของพ่อแม่บางคน จะดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่รู้ไหมคะว่านั่นมันไม่ใช่เรื่องปกติเลย มันคือการล่วงละเมิดเด็กอย่างหนึ่ง และส่งผลกระทบทางลบต่อตัวเด็กๆ ด้วย เพราะการละเลยความต้องการของเด็ก อาจจะทำให้เด็กตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายหรือทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ซึ่งนำไปสู่การไม่นับถือตัวเองและพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม และในหลายๆ ครั้งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตและการเข้าสังคม จนอาจจะทำให้เด็กๆ มีปมขึ้นมาได้ สิ่งที่เด็กๆ ต้องการคือสุดคือความรักและความห่วงใยค่ะ
2. ล่วงละเมิดทางกายและวาจา
เด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตนั้น ส่วนใหญ่จะเจอกับการล่วงละเมิดทางกายและวาจาจากผู้ปกครองค่ะ การดุด่าว่ากล่าวและลงโทษเมื่อเด็กๆ ทำผิดคือสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนทำด้วยความรักและหวังดีนะคะ แต่การลงโทษในเรื่องที่เล็กน้อยมากเกินไป บ่อยเกินไป และรุนแรงเกินไป จะทำให้เด็กๆ ต่อต้านต่อพฤติกรรมของพ่อแม่ค่ะ การลงโทษเด็กๆ ควรจะเป็นวินัยเชิงบวกมากกว่าการดุด่าว่ากล่าวค่ะ เด็กๆ ต้องการอ้อมกอด จูบเบาๆ และการแสดงความรัก ถ้าคุณพ่อคุณแม่ตะโกนใส่ลูก ดุด่าลูก เรียกเขาด้วยคำหยาบคาย (แม้จะด้วยเจตนาดี) ลูกกำลังเข้าใจคุณพ่อคุณแม่ผิดค่ะ
3.ส่งเสริมพฤติกรรมแย่ๆ และไม่สอนวินัย
การเป็นตัวอย่างที่ดีคือสิ่งที่จำเป็น หากคุณพ่อคุณแม่ยังเป็นตัวอย่างแย่ๆ ทำในสิ่งที่คุณสอนลูกว่าอย่าทำ พูดคำหยาบ ตะโกน ปรี๊ดแตกบ่อยๆ วีนเหวี่ยง ใช้ความรุนแรง การกินเหล้าหรือสูบบุหรี่ หรือแม้แต่การทำผิดกฎหมายที่คุณพ่อคุณแม่มองว่าเล็กๆ น้อยๆ หรือแม้แต่การโกงนิดหน่อยๆ ก็จะทำให้ลูกนั้นจำและเรียนรู้ที่จะทำตามแบบที่เรียกว่าก๊อปปี้วาง ได้ไม่ยากเลยค่ะ
ดังนั้น จงเป็นสิ่งที่คุณอยากให้ลูกเป็น ไม่ใช่บอกในสิ่งที่คุณอยากให้ลูกเป็น เด็กๆ เรียนรู้จากการกระทำค่ะ
4. ลำเอียง
เขียนถึงข้อนี้แล้วยอมรับเลยว่าทั้งตัวเองและคนรอบตัวต่างหัวร้อนกันถ้วนหน้า เพราะมันขึ้นและโดนมาจริงๆ ค่ะ ในหลายครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน การให้อภิสิทธิ์ของเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง หรือแม้แต่การแสดงออกถึงความลำเอียงต่อพี่หรือน้องที่เรียนเก่งกว่า หน้าตาน่ารักกว่า หรือแม้แต่การประเด็นของเรื่องลูกติด ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เด็กๆ มีปมด้อยได้ง่ายเลยค่ะ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทำให้บ้านไม่เป็นสถานที่ที่น่าอยู่อีกต่อไป และเมื่อเป็นเช่นนั้น เด็กหลายๆ คนเลือกที่จะหาสถานที่ที่ตัวเองอยู่แล้วสบายใจมากกว่าบ้าน ซึ่งทำให้เสี่ยงและอันตรายในหลายมิติเลยทีเดียว
นอกจากนี้เอาเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะระหว่างพี่น้อง ลูกเพื่อนตัวเอง ลูกคนข้างบ้าน หรือแม้แต่ลูกภารโรงหรือแม่บ้าน มันไม่ได้ทำให้ใครรู้สึกดีจากเรื่องนี้เลย เพราะลูกก็คงรอวันที่จะเปรียบเทียบพ่อหรือแม่ตัวเองกับคนที่คุณยังยี้เลยก็ได้ ดังนั้น อย่าทำค่ะ
5. บังคับ
พ่อรู้ดีที่สุด แม่รู้ดีที่สุด ว่าอะไรที่ดีกับลูก แต่บ่อยครั้งที่พ่อแม่ก็เลือกสิ่งที่ตัวเอง “คิด” ว่าดีที่สุดต่อลูก โดยไม่ถงไม่ถามลูกสักคำ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยที่ไม่ควรจะต้องบังคับถึงเรื่องใหญ่ๆ ทั้งเรื่องคณะที่จะเรียนไปจนถึงงานที่จะทำ จนกลายเป็นพวกบ้าอำนาจไปในที่สุด สิ่งเหล่านี้นอกจากจะทำให้เด็กๆ ต้องทนรับความกดดันแล้ว ยังสร้างความเครียดให้กับเขา ซึ่งอาจส่งผลกระทบมากเกินกว่าที่คุณพ่อคุณแม่จะคิดได้ค่ะ
6. นิสัยการใช้เงิน
พ่อแม่บางคนใช้เงินไม่เป็น ไม่มีการวางแผนการเงิน สร้างหนี้สินมากมาย นอกจากจะทำให้ลูกได้นิสัยเหล่านั้นไป ยังทำให้เดือดร้อนต่อตัวเองและลูกอีกด้วยค่ะ ขณะที่พ่อแม่บางคนก็ตระหรี่ถี่เหนียวเกินไป จนกดดันให้ลูกมีนิสัยลักเล็กขโมยน้อยได้ หรือถ้าหากคุณพ่อคุณแม่จ่ายให้ง่ายเกินไป เด็กๆ ก็อาจจะกลายเป็นเด็กที่ไม่รู้จักคุณค่าของเงินได้นะคะ
7. สปอยล์
เด็กๆ บางคนก็มีความต้องการอยากมีอยากได้ที่ไม่สิ้นสุด หากสปอยล์เกินไปก็กลายเป็นการรังแกลูกได้เหมือนกัน การเลี้ยงลูกนั้นเหมือนการใช้ชีวิตค่ะ ทุกอย่างต้องมีสมดุล ต้องมีความตึงและหย่อนที่พอดี เดินทางสายกลาง เพราะถ้าคุณพ่อคุณแม่สปอยล์ลูกเกินไป หรือปกป้องลูกมากกว่าเกิน ไม่ยากเลยที่เขาจะกลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง วีนเหวี่ยงเมื่อไม่ได้ดั่งใจ หรือกลายเป็นเด็กที่ขี้ขลาด แก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ และทำให้การใช้ชีวิตจริงในโลกภายนอกนั้นยากกว่าเด็กทั่วไป
8. ไม่เชื่อใจลูก
พ่อแม่บางคนก็เป็นแบบนี้นะคะ คือเชื่อใจคนอื่นมากกว่าเชื่อลูกตัวเอง จนในบางครั้งลูกๆ ก็ไม่ได้อธิบายในสิ่งที่เขาต้องการ พฤติกรรมแบบนี้ของพ่อแม่จะทำให้ลูกต่อต้านและยิ่งทำให้สิ่งที่พ่อแม่ไม่อยากให้ทำค่ะ
สรุปแล้วคือ สัญญาณที่บอกว่าคุณเป็นพ่อแม่ที่เริ่มเลี้ยงลูกไม่โอเคแล้ว เช่น เด็กๆ ไม่มีความมั่นใจ มีพฤติกรรมที่ไม่ดี หรือมีปมไปตลอดชีวิต ความเป็นพ่อแม่นั้นเป็นไปตลอดชีวิตค่ะ ลูกก็เช่นกัน เขาจะเฝ้ามองคุณไปตลอดเหมือนกัน ดังนั้นหากรู้สึกว่าพฤติกรรมลูกเริ่มไม่โอเคสำหรับตัวคุณพ่อคุณแม่เองแล้ว สิ่งที่ต้องเริ่มทำให้เร็วคือ เปลี่ยนตัวเองก่อนเลยค่ะ ไม่ต้องไปเปลี่ยนที่ลูก เมื่อไหร่ที่เห็นลูกทำผิดก็สอนกันไป และทำตัวอย่างให้ลูกเห็นด้วย
ลูกเราจะเป็นบุคคลคุณภาพสำหรับสังคม และประเทศชาติหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่แล้วค่ะว่า คุณจะเป็นตัวอย่างให้เขาเป็นไปในทิศทางใด
ที่มา We Have Kids
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คุณพ่อมือใหม่ต้องรู้! วิธีเลี้ยงลูกยังไงให้รอด
10 วิธีสร้างวินัยเชิงบวก ฝึกลูกโดยไม่ถูกต่อต้าน
5 วิธีพัฒนาตัวเองให้เป็น พ่อแม่ที่ดี เป็นพ่อแม่ที่ดีไม่ยากอย่างที่คิด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!