อาการข้างเคียงของวัคซีน
แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านย่อมต้องเป็นห่วงลูกน้อยเป็นธรรมดา โดยเฉพาะเวลาที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีน กลัวว่าลูกจะเจ็บ หรืออาจมีผลข้างเคียงตามมา เรามาดูกันว่า อาการข้างเคียงของวัคซีน ชนิดต่าง ๆ ที่คุณแม่ควรรู้ก่อนให้ลูกฉีดวัคซีนนั้นมีอะไรบ้าง
อาการข้างเคียงสามัญ
หลังจากเข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว อาการข้างเคียงสามัญที่สามารถเกิดขึ้นได้ทันที อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ ดังนี้
- มีไข้อ่อน ๆ (<38.5 องศาเซลเซียส) ซึ่งมันจะเป็นอยู่ไม่นาน
- ทำให้เด็กมีอาการงอแง กระวนกระวาย หรืออาจมีอาการง่วงนอนได้
- มีอาการเจ็บ แดง ปวดแสบปวดร้อน คัน หรือบวมบริเวณจุดที่ฉีดวัคซีน โดยอาจเป็นอยู่ประมาณ 1-2 วัน และ/หรือมีตุ่มแข็งเล็ก ๆ เกิดขึ้นอยู่ประมาณ 2-3 สัปดาห์
ผลข้างเคียงของวัคซีน
อาการข้างเคียงของวัคซีน แต่ละชนิดส่งผลอะไรกับลูกบ้าง
ชนิดและอาการข้างเคียงของวัคซีน(เฉพาะวัคซีนที่ใช้บ่อย) ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากได้รับวัคซีนมีดังนี้
วัคซีนวัณโรค BCG
ให้ตั้งแต่แรกเกิด ฉีดชั้นใต้ผิวหนังที่ตำแหน่งหัวไหล่หรือสะโพก
อาการข้างเคียงของวัคซีน
หลังฉีดวัคซีน จะมีตุ่มนูนขนาดประมาณ 6-8 มม. และตุ่มนูนนี้จะหายไปในไม่ช้า แต่หลังจากฉีดวัคซีนประมาณ 2 สัปดาห์ ตุ่มก็อาจจะนูนแดง และแตกเป็นแผลมีหนอง โดยอาจเป็น ๆ หาย ๆ อยู่นานถึง 6 สัปดาห์จึงหายไป และอาจจะเหลือเป็นรอยแผลเล็ก ๆ แทน
นอกจากนี้ยังอาจพบต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงโต (ใต้รักแร้หรือขาหนีบ) หรือกระดูกอักเสบได้
วัคซีนตับอักเสบบี HBV (HepatitisB)
ให้ครั้งแรกตอนแรกเกิด จากนั้นให้ที่อายุ 1-2 เดือน และ 6 เดือน
อาการข้างเคียงของวัคซีน
อาการข้างเคียงของวัคซีนชนิดนี้พบได้น้อยมาก แต่อาจมีอาการเจ็บแสบขณะฉีด หรืออาจทำให้มีไข้ต่ำ ๆ บางรายอาจพบอาการแพ้รุนแรงได้ แต่น้อยพบเพียง 1 ในล้านเท่านั้น
ผลข้างเคียงของวัคซีน
วัคซีนโปลิโอ Polio
เริ่มให้อายุ 2 เดือนขึ้นไป มี 2 ชนิด คือชนิดหยด และชนิดฉีด
อาการข้างเคียงของวัคซีน
ผลข้างเคียงของวัคซีนชนิดหยด คือ อาจเกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรืออัมพาตคล้ายโรคโปลิโอได้ แต่พบได้ไม่มาก (พบ 1.4-3.4 ต่อล้านโด๊ส)
ส่วนผลข้างเคียงของวัคซีนชนิดฉีด ซึ่งผสมรวมกับวัคซีนป้องกันคอตีบไอกรนบาดทะยัก จะมีผลข้างเคียงตามวัคซีนป้องกันคอตีบไอกรนบาดทะยัก
วัคซีนคอตีบไอกรนบาดทะยัก DTP (Diphtheria, Pertussis, Tetanus)
เริ่มให้อายุ 2 เดือนขึ้นไป มี 2 ชนิด ได้แก่ชนิดเต็มเซลล์ (DTPw) และชนิดไร้เซลล์ (DTPa)
อาการข้างเคียงของวัคซีน
อาการข้างเคียงของวัคซีนคอตีบไอกรนบาดทะยัก ชนิดเต็มเซลล์ จะพบมากกว่าชนิดไร้เซลล์ ทั้งเรื่องไข้ อาการปวดบวม ฝีปราศจากเชื้อบริเวณที่ฉีด และอาการอาเจียน
อาการข้างเคียงที่รุนแรงของชนิดเต็มเซลล์ คือมีอาการชักภายใน 3 วัน, ร้องกวนไม่หยุดมากกว่า 3 ชั่วโมง ภายใน 2 วัน, ตัวอ่อนปวกเปียก ภายใน 2 วัน, มีไข้มากกว่า 40.5 องศาเซลเซียส และแพ้วัคซีนทั้งแบบรุนแรงเฉียบบพลัน หรือแพ้ชนิดบวมแดงเฉพาะที่อย่างมาก ควรเปลี่ยนมาใช้ชนิดไร้เซลล์แทน
อาการข้างเคียงของวัคซีนมีอะไรอีกบ้าง แล้วควรทำอย่างไรเมื่อต้องพาลูกไปฉีดวัคซีน ติดตามต่อหน้าถัดไป –>>>
วัคซีนเยื่อหุ้มสมองอักเสบฮิบ Hib (Haemophilus influenzae B)
มักผสมรวมกับวัคซีนป้องกันคอตีบไอกรนบาดทะยัก
อาการข้างเคียงของวัคซีน
จะมีอาการข้างเคียงตามวัคซีนป้องกันคอตีบไอกรนบาดทะยัก โดยหากฉีดตัวเดียว อาจพบอาการไข้ต่ำ ๆ ปวดบวม แดง แต่อาการมักไม่รุนแรง และไม่เกิน 24 ชั่วโมง
วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม MMR (Measles, Mumps, Rubella)
เริ่มฉีดเข็มแรกที่อายุ 9-12 เดือน
อาการข้างเคียงของวัคซีน
ผลข้างเคียงของวัคซีนพบน้อย โดยอาจพบไข้ต่ำ ๆ มีผื่นแดง ต่อมน้ำเหลืองโต หรือต่อมน้ำลายโต โดยมักจะพบใน 5-12 วัน และอาจมีอาการชักจากไข้สูง อาการทางสมอง (สมองอักเสบ) ปวดตามข้อ (โดยเฉพาะในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่) แพ้ยาแบบเฉียบพลัน และอาจพบภาวะเกร็ดเลือดต่ำกว่าปกติชั่วคราวทำให้มีอาการเลือดออกผิดปกติได้
วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี JEV (Japanese encephalitis virus)
มี 2 ชนิด คือ แบบเชื้อตาย ซึ่งเพาะเลี้ยงในสมองหนู ฉีด 3 ครั้งช่วงอายุ 1-2ปี ทางสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแนะนำให้กระตุ้นอีก 1 เข็มที่อายุ 4-5 ปี อีกชนิด คือ แบบเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ให้เข็มแรกที่อายุ 9-12 เดือนขึ้นไป และกระตุ้นหลังจากนั้นอีก 3-12 เดือน
อาการข้างเคียงของวัคซีน
ผลข้างเคียงคือ อาจมีไข้ (ร้อยละ10) ปวด บวมแดง ขณะฉีด (ร้อยละ20)
ผลข้างเคียงของวัคซีน
วัคซีนอีสุกอีใส Varicella
ฉีดอายุ 1 ปีขึ้นไป กระตุ้นเข็ม 2 ที่อายุ 4-6 ปี กรณีที่มีการระบาดอาจฉีดเข็ม 2 ก่อนได้โดยอายุน้อยกว่า 13 ปี ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน ถ้าอายุมากกว่า 13 ปี ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 1 เดือน
ผลข้างเคียงของวัคซีน
ผลข้างเคียงได้แก่อาการบวม เจ็บแสบ มีไข้ต่ำ ๆ อาจพบผื่นแดงหรือตุ่มน้ำใสเล็กน้อย ภายใน 5-26 วัน
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ Influenza
เริ่มฉีดที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เฉพาะอายุ ต่ำกว่า 9 ปี ในปีแรกให้ 2 เข็มห่างกัน1เดือน
ผลข้างเคียงของวัคซีน
ผลข้างเคียง คืออาจมีไข้ พบน้อยในเด็กต่ำกว่า 13 ปี พบภายใน 6-24 ชั่วโมง อาจพบอาการแพ้เฉียบพลันได้ในคนที่มีการแพ้ไก่หรือไข่แบบรุนแรง และพบอาการปลายประสาทอักเสบเฉียบพลันได้ แต่ก็มีโอกาสน้อยมาก หรือประมาณ 1 ในล้าน
ผลข้างเคียงของวัคซีน
คำแนะนำเมื่อต้องพาลูกไปฉีดวัคซีน
- ควรนำสมุดบันทึกการฉีดวัคซีนติดไปด้วยทุกครั้ง
- ไม่ควรรับวัคซีนขณะที่มีไข้สูง หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน
- หลังรับวัคซีนควรอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 10 นาทีเพื่อดูปฏิกิริยาแพ้ยาแบบเฉียบพลัน เช่น ผื่นขึ้นหายใจลำบาก เหนื่อยหอบ หรือหมดสติ เป็นต้น
- หากมีอาการปวด บวม ภายใน 24ชั่วโมงแรก ให้ใช้ผ้าเย็นประคบ เพื่อลดเลือดไหลเวียนมาบริเวณนั้น อาการบวมจะลดลง
- หลังรับวัคซีนโดยเฉพาะเด็กโต อาจมีอาการหน้ามืด เป็นลม ให้นั่งนิ่ง ๆ อยู่กับที่ หรือนอนราบอย่างน้อย 15 นาที หรือจนอาการดีขึ้น
- หากไม่สามารถมาตามนัดสำหรับการฉีดวัคซีนได้ แนะนำว่าไม่ควรเลื่อนออกไปเกิน 2 สัปดาห์
- หากเคยฉีดยาแล้วมีอาการแพ้ยา หรือมีอาการแพ้ไข่หรือไก่แบบรุนแรง ให้แจ้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ให้ทราบด้วย
- หลังจากกลับมาที่บ้านแล้ว ควรให้ทารกกินนมแม่บ่อยขึ้น และอาจจะใช้ผ้าชุบน้ำเย็นวางลงบนบริเวณที่ได้รับการฉีดวัคซีน
อาการข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดวัคซีนที่ต้องรับการรักษาพยาบาลทันที
อาการข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดวัคซีนที่ต้องรับการรักษาพยาบาลทันทีนั้น ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที
- การชักที่เกิดจากไข้ เกิดจากการมีไข้สูง โดยทั่วไปมักจะเกิดกับเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี
- ทารกเกิดอาการตัวซีด อ่อนเปลี้ย และไม่สนองตอบ หลังจากรับการฉีดวัคซีน 1 ถึง 48 ชั่วโมง
- การอุดตันของลำไส้ (ลำไส้เคลื่อนซ้อน) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับทารกภายใน 1 ถึง 7 วัน หลังจากรับการฉีดวัคซีนไวรัสโรตาขนานที่ 1 และที่ 2 โดยสังเกตได้ว่าเด็กจะร้องเป็นพัก ๆ หน้าตาซูบซีด งอขาขึ้นมาแนบกับท้อง
- หากสังเกตเห็นว่าลูกมีอาการผิดปกติอื่น ๆ หรือหากคุณพ่อคุณแม่รู้สึกเป็นกังวลใจ ให้พาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัย
ที่มา thonburi2hospital, health.vic.gov.au
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลมพิษ เกิดจาก อะไร ลูกเป็นผื่นลมพิษบ่อยควรทำอย่างไร? โดยผศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี
โรคฮีน็อคในเด็ก อย่าคิดว่าแค่ผื่นธรรมดา..อันตรายหากถึงมือหมอช้า
หัดกุหลาบ ส่าไข้ อันตรายใกล้ตัวทารก แม่ต้องดูลูกให้ดีอย่าประมาท
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!