วัยเด็กเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ภาษาที่สอง เด็กที่มีประสบการณ์ทั้งสองภาษาตั้งแต่แรกเกิดมักมีความเชี่ยวชาญทั้งสองภาษา ในขณะที่ผู้ใหญ่มักจะมีปัญหากับการเรียนรู้ภาษาที่สองและพูดได้ไม่ค่อยคล่องเหมือนเจ้าของภาษา
แต่คำถามที่ยังคงพบบ่อยคือ ทารกจะสับสนหรือไม่เมื่อต้องเรียนรู้ภาษาสองภาษาพร้อมกัน?
ทารกเริ่มเรียนรู้ภาษาเมื่อไหร่? อายุเท่าไหร่ เริ่มเรียน ภาษาอังกฤษ ได้
งานวิจัยพบว่า ทารกเริ่มเรียนรู้เสียงในภาษาตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่ เสียงของแม่เป็นหนึ่งในเสียงที่ชัดเจนที่สุดที่ทารกในครรภ์ได้ยิน และเมื่อลืมตาดูโลก ทารกแรกเกิด นอกจากจะแยกความแตกต่างระหว่างภาษาของแม่กับภาษาอื่นๆ ได้แล้ว ยังสามารถแยกความแตกต่างระหว่างภาษาได้ด้วย
การเรียนรู้ภาษาขึ้นอยู่กับการประมวลผลของเสียง ทุกภาษาในโลกมีทั้งหมดประมาณ 800 เสียง แต่ละภาษาใช้เพียงประมาณ 40 เสียงหรือ “หน่วยเสียง” ที่แตกต่างจากภาษาอื่น
เมื่อแรกเกิดสมองของทารกมีของขวัญพิเศษติดตัวมาด้วย นั่นคือ ความสามารถในการแยกความแตกต่างของเสียงทั้ง 800 เสียง ซึ่งหมายความว่า ในระยะนี้ ทารกสามารถเรียนรู้ภาษาใดก็ตามที่เขาได้ยินได้ฟัง จากนั้นทารกจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าเสียงใดที่เขาได้ยินบ่อยที่สุด
ระหว่างอายุ 6-12 เดือน ทารกที่เติบโตขึ้นในครอบครัวที่พูดภาษาเดียว จะเริ่มเชี่ยวชาญในภาษาแม่ของตนป็นพิเศษ โดยเมื่ออายุครบ 1 ขวบ ทารกที่เรียนรู้เพียงภาษาเดียวจะเริ่มสูญเสียความสามารถในการได้ยินความแตกต่างของเสียงในภาษาต่างประเทศ
การศึกษาสมองของทารก
แล้วทารกที่ได้ยินสองภาษาตั้งแต่แรกเกิดล่ะ? สมองลูกน้อยสามารถมีความเชี่ยวชาญทั้งสองภาษาหรือเปล่า? ถ้าใช่ กระบวนการนี้ต่างจาก ความเชี่ยวชาญภาษาเดียวอย่างไร?
Naja Ferjan Ramirez นักวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ทำการศึกษากระบวนการของสมองในการเรียนรู้เสียงในภาษาของทารกวัย 11 เดือนจากครอบครัวที่พูดภาษาอังกฤษภาษาเดียว เปรียบเทียบกับทารกจากครอบครัวที่พูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาสเปน โดยการวัดคลื่นแม่เหล็กจากสมอง เรียกว่า magnetoencephalography (MEG) เมื่อทารกได้ยินเสียงภาษาสเปนและภาษาอังกฤษทีละพยางค์
การศึกษาค้นพบความแตกต่างที่สำคัญระหว่างทารกจากครอบครัวภาษาเดียวและสองภาษา
เมื่อทารกอายุ 11 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่เขาจะเริ่มพูดคำแรกได้ สมองบันทึกผลได้ ดังนี้
ทารกจากครอบครัวที่พูดภาษาเดียวมีความเชี่ยวชาญในการประมวลผลเสียงในภาษาอังกฤษ แต่ไม่เชี่ยวชาญในการประมวลผลเสียงในภาษาสเปน ซึ่งเป็นภาษาที่ไม่คุ้นเคย
ในขณะที่ทารกจากครอบครัวที่พูดสองภาษามีความเชี่ยวชาญในการประมวลผลเสียงทั้งภาษาสเปนและภาษาอังกฤษ
ผลการวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สมองของทารก รับรู้ภาษาใดๆ ก็ตามที่พวกเขาได้ยินจากผู้เลี้ยงดู สมองของทารกที่คุ้นเคยเพียงภาษาเดียวสมองเดียวจะประมวลผลเสียงได้เพียงหนึ่งภาษา ในขณะที่สมองของทารกที่คุ้นเคยสองภาษาจะสามารถประมวลผลได้ทั้งสองภาษา
ให้ลูกเรียนรู้สองภาษาดีหรือไม่?
พ่อแม่เด็กสองภาษามักกังวลว่าลูกของตนจะเรียนรู้ไม่เร็วพอ
แต่นักวิจัยพบว่า สมองทารกสองภาษามีการตอบสนองต่อภาษาอังกฤษเท่ากับทารกภาษาเดียว ดังนั้นทารกสองภาษาจึงเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้เท่ากับทารกภาษาเดียว
พ่อแม่ของเด็กสองภาษายังเป็นกังวลว่าลูกของคนจะไม่รู้จักคำศัพท์มากเท่าทารกภาษาเดียว
ความกังวลนี้มีส่วนถูก เนื่องจากทารกสองภาษาต้องแบ่งเวลาระหว่างสองภาษา ทำให้ได้ยินคำโดยเฉลี่ยในแต่ละภาษาน้อยกว่า อย่างไรก็ตามการศึกษาชี้ว่า เด็กสองภาษาไม่ได้ด้อยกว่า เมื่อพิจารณาจากทั้งสองภาษา คลังคำของเด็กสองภาษาเมื่อรวมกันทั้งสองภาษาแล้วพอๆ หรือดีกว่าคลังคำของเด็กภาษาเดียวด้วยซ้ำ
อีกข้อกังวลหนึ่ง คือ การเรียนรู้สองภาษาทำให้เกิดความสับสน และอาจเกิดการผสมสองภาษาเข้าไปในคำเดียว ยกตัวอย่างเช่น เด็กอายุ 4 ขวบที่พูดได้ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาสเปน และภาษาสโลวีเนีย ใช้คำลงท้ายแบบสโลวีเนียในคำภาษาสเปนและภาษาอังกฤษ
ที่เป็นเช่นนี้ งานวิจัยระบุว่า เป็นเพราะผู้ใหญ่สองภาษารอบตัวเด็กพูดแบบนั้น เด็กจึงเกิดการเรียนรู้ ไม่ได้เกิดจากความไม่ตั้งใจของเด็กแต่อย่างใด
เด็กสองภาษายังสามารถยืมคำจากอีกภาษาหนึ่งมาใช้ได้ทันทีเมื่อเขานึกคำในภาษาหนึ่งไม่ออก แม้แต่เด็ก 2 ขวบก็สามารถปรับภาษาให้เหมาะกับคู่สนทนาได้
นักวิจัยชี้ว่า การเปลี่ยนภาษาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาภาษาปกติของเด็กสองภาษา และอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่เรียกว่า “ความได้เปรียบของเด็กสองภาษา”
ข้อได้เปรียบของเด็กสองภาษา
เด็กเล็กๆ ไม่ว่าชาติใดล้วนแต่มีความสามารถในการเรียนรู้สองภาษาไปพร้อม ๆ กัน และความจริงในหลายประเทศทั่วโลก การพูดได้สองภาษายังถือเป็นบรรทัดฐานอีกด้วย
ความสามารถในการเปลี่ยนภาษาทำให้เกิดความได้เปรียบทางสติปัญญาหลายอย่าง งานวิจัยพบว่าผู้ใหญ่และเด็กสองภาษามีการทำงานของสมองที่ดีกว่า นั่นคือ สามารถเปลี่ยนความสนใจ สลับไปมาระหว่างงานหลายอย่างได้ และแก้ปัญหาได้ง่ายกว่า
นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กสองภาษามีความสามารถในคิดและทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ของภาษา ทำให้เด็กสองภาษาสามารถเรียนรู้ภาษาที่สามได้ง่ายขึ้น
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกรู้มากกว่าหนึ่งภาษา ควรเริ่มให้เร็วที่สุด ก่อนที่ลูกจะเริ่มพูดภาษาแรกได้ ซึ่งคุณแม่ได้รู้แล้วว่า การเรียนรู้สองภาษาไม่ได้ทำให้เด็กสับสน ทั้งยังช่วยเพิ่มความสามารถทางสติปัญญาให้กับเด็กอีกด้วยค่ะ
ที่มา qz.com
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
3 เหตุผลหลัก ที่ควรฝึกลูกให้เป็นเด็กสองภาษา
เด็กสองภาษา – ลูกเข้าใจก่อนที่จะพูดหรือไม่
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!