วิธีทำให้ลูกกลับหัว
ก่อนที่จะทราบถึง วิธีทำให้ลูกกลับหัว เรามาทำความเข้าใจในเรื่องของการที่ลูกไม่กลับหัวกันก่อนว่าเป็นอย่างไร อันตรายแค่ไหน
ลูกไม่กลับหัว เป็นอย่างไร
โดยปกติทั่วไปของการตั้งครรภ์แล้ว เมื่อถึงเวลาใกล้คลอด ลูกในท้องจะหมุนตัวเพื่อหันศีรษะมาทางด้านช่องคลอดของคุณแม่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดตามธรรมชาติ ซึ่งเราจะเรียกท่าของทารกในครรภ์ท่านี้ว่า ทารกท่าศีรษะ (Vertex or Cephalic Presentation) ซึ่งทารกมักจะกลับหัวเพื่อเตรียมคลอดเมื่ออายุครรภ์ได้ประมาณ 33-34 สัปดาห์ และเด็กจะคงท่านี้เอาไว้จนคลอด
แต่หากลูกไม่เอาส่วนหัวลงสู่มดลูก แต่กลับเอาหัวไว้ที่ส่วนบนของมดลูก แล้วเอาก้นหรือเท้าลงมาด้านล่างของมดลูก เราจะเรียกกันอย่างง่าย ๆ ว่า “ลูกไม่กลับหัว” หรือทางวิชาการเรียกว่า ทารกท่าก้น (Breech Presentation) อย่างไรก็ตาม พบว่ามีทารกส่วนหนึ่งไม่กลับหัว และหันก้นออกมาทางช่องคลอดแทน โดยสามารถพบได้ 3-4%
และสำหรับคุณแม่ที่เคยมีลูกมาแล้ว บางคนทารกในครรภ์อาจะยังไม่กลับหัว ทารกอาจจะกลับหัวเพียงไม่กี่วัน หรือไม่กี่ชั่วโมงก่อนคลอด หรืออาจไปกลับหัวเอาในตอนสัปดาห์ที่ 36 เลยก็มี
วิธีทำให้ลูกกลับหัว
ลูกไม่กลับหัวเพราะอะไร
สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่กลับหัวนั้น เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง โดย นพ.อดิศร อักษรภูษิตพงศ์ สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ประจำโรงพยาบาลพญาไท 3 ได้ให้คำแนะนำกับ The Asianparent Thailand เอาไว้ว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเกิดทารกท่าก้น เช่น
- การตั้งครรภ์แฝด
- ปริมาณน้ำคร่ำที่มากหรือน้อยเกินไป
- การมีเนื้องอกมดลูกหรือมดลูกที่รูปร่างผิดปกติ
- ภาวะรกเกาะต่ำ
- การคลอดก่อนกำหนด
ซึ่งสูติแพทย์สามารถตรวจครรภ์ เพื่อบอกท่าของทารกในครรภ์ได้ โดยการตรวจทางหน้าท้อง เพื่อคลำท่าของทารก และอาจยืนยันท่าของทารกด้วยการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง
และในกรณีที่ตรวจพบว่า ทารกไม่กลับหัว ทารกยังคงเป็นท่าก้นที่อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ สูติแพทย์อาจทำการหมุนเปลี่ยนทารก จากท่าก้น ให้เป็นท่าศีรษะจากภายนอก (external cephalic version) ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์เป็นต้นไป ก่อนมีการเจ็บครรภ์คลอด หรือน้ำเดิน และไม่มีข้อห้ามในการคลอดทางช่องคลอด
วิธีทำให้ลูกกลับหัว
หากลูกไม่กลับหัว เมื่อคุณแม่ท้องไปพบคุณหมอแล้ว คุณหมอก็จะช่วยทำให้ทารกกลับหัว ด้วยการหมุนเปลี่ยนท่าทารก ซึ่งการหมุนเปลี่ยนท่าทารกนี้ ทำได้โดยการที่คุณหมอใช้มือดันทารกในครรภ์ ผ่านหน้าท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์เพื่อให้ทารกหมุนจากท่าก้น มาเป็นทารกท่าศีรษะ โดยจะมีการตรวจเสียงหัวใจทารกและสุขภาพทารกด้วยวิธี non-stress test (NST) ทั้งก่อนและหลังการหมุนเปลี่ยนท่าทารก และอาจมีการให้ยาคลายการหดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก เพื่อช่วยให้มีความสำเร็จในการหมุนเปลี่ยนท่าทารกมากขึ้น
แต่หากเกิดความผิดปกติ หรือภาวะแทรกซ้อนต่อทั้งมารดาและทารก ในระหว่างการหมุนเปลี่ยนท่าทารก คุณหมอจะหยุดการหมุนเปลี่ยนท่าทารกทันที และมีโอกาสที่ต้องคลอดฉุกเฉินโดยการผ่าคลอดทันทีจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการหมุนเปลี่ยนท่าทารก ได้แก่ การเกิดถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด หัวใจทารกเต้นผิดปกติ ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด และ การคลอดก่อนกำหนด
ลูกไม่กลับหัว อันตรายไหม
หากลูกไม่กลับหัว เมื่อถึงเวลาคลอดแล้วเอาก้นออกมาก่อน อาจไม่ปลอดภัยต่อทั้งตัวของคุณแม่และลูกน้อย ส่วนหัวของลูกอาจมีโอกาสติดคาปากมดลูก และมีโอกาสเสียชีวิตได้ในขณะคลอด อีกทั้งยังมีโอกาสทำให้สายสะดือไหลย้อยลงมา และถูกกด หรือบีบ จนทำให้การส่งออกซิเจนให้ลูกน้อยผิดปกติ ซึ่งเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้ทารกเสียชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้น การที่ลูกไม่กลับหัวจึงถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก
อย่างไรก็ตาม หากลูกไม่กลับหัว และอยู่ในท่าที่ใช้ก้นนำเพื่อคลอดออกมา คุณหมอก็จะพยายามหาทางทำให้เด็กกลับหัว เว้นเสียแต่ว่า หากว่าทารกไม่สามารถกลับหัวได้จริง ๆ คุณหมอก็อาจจะต้องทำการผ่าคลอดต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
อาการใกล้คลอด อาการของคนใกล้คลอด เป็นอย่างไร มีสัญญาณเตือนอะไรบ้าง
ของเตรียมคลอด และเช็คลิสต์ของที่ต้องเตรียมให้ครบก่อนไปคลอด
อายุครรภ์ จริง ๆ แล้ว เค้านับกันอย่างไรถึงจะถูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!