ลูกอาเจียนบ่อย แหวะนมบ่อย อาจไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ พ่อแม่ต้องสังเกตให้ดี เพราะอาจเป็นสัญญาณบอกว่าลูกกำลังเป็น โรคกรดไหลย้อน หรือภาวะกรดไหลย้อน ซึ่งเป็นภาวะที่น้ำย่อย หรือ อาหารจากกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น ไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร จึงมีอาการอาเจียนหรือแหวะนมบ่อย ๆ เป็นภาวะปกติที่พบบ่อยในเด็กทารก
ลูกอาเจียนบ่อย แหวะนมบ่อย ๆ อันตรายอย่างไร?
หากลูกอาเจียนบ่อย เพราะภาวะกรดไหลย้อน และไม่ได้รับการรักษา อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งในระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียนเป็นเลือด กลืนลำบาก แสบร้อนยอดอก ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ ปฏิเสธอาหาร และน้ำหนักไม่ขึ้น นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนนอกระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ หายใจเสียงดัง หอบเหนื่อย ปอดอักเสบติดเชื้อ เขียว หรือหยุดหายใจได้
ทำไมทารกถึงเป็น กรดไหลย้อน?
ทารกแรกเกิดราว 25 เปอร์เซ็นต์มีภาวะกรดไหลย้อน อาการมีตั้งแต่เล็กน้อย คือ ลูกอาเจียนบ่อย แหวะนมบ่อย แต่ไม่มีความเจ็บปวด ไปจนถึงอาการรุนแรงคือ ปวดท้องและตื่นบ่อย และภาวะกรดไหลย้อนก็มักจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกเป็นโคลิก
ตามปกติแล้ว หลังจากที่อาหารเคลื่อนผ่านเข้าไปในกระเพาะกล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างจะหดตัว คือจะทำหน้าที่เหมือนวาล์วทางเดียว ซึ่งจะปิดและป้องกันไม่ให้อาหารและกรดในกระเพาะถูกขย้อน หรือไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร แต่ในทารกบางคน การพัฒนากล้ามเนื้อดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ อาหาร (ที่ผ่านการย่อยเป็นบางส่วน) และกรดในกระเพาะ จึงไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ทำให้เยื่อบุหลอดอาหารเกิดการระคายเคืองจนมีอาการแสบร้อนกลางอก
ถ้าทารกมีภาวะกรดไหลย้อนและอาการรุนแรง แพทย์ก็อาจจะสั่งยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะให้ แต่พอถึงวัย 6-9 เดือน อาการมักจะเริ่มดีขึ้นเอง เพราะเป็นวัยที่เขาอยู่ในท่าที่ลำตัวตั้งตรงมากขึ้น ซึ่งเป็นท่าที่ช่วยลดการขย้อนได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ลูกอาเจียน บอกสัญญาณโรคร้ายที่พ่อแม่ควรระวัง
ลูกอาเจียนแบบไหนอาจไม่ใช่กรดไหลย้อน?
หากลูกมีอาการอาเจียนบ่อย ๆ ร่วมกับอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมเพราะอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่กรดไหลย้อน ได้แก่
- ลูกมีอาการอาเจียนเป็นน้ำดี
- ลูกอาเจียนพุ่งไกล
- ลูกมีอาการท้องอืดชัดเจน
- ลูกถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
- ศีรษะของลูกมีขนาดโตกว่าปกติ
- ลูกมีอาการชัก
- กระหม่อมหน้าของลูกโป่งตึง
- ลูกมีไข้
- ลูกตัวเขียว หรือหยุดหายใจ
วิธีดูแลรักษา เมื่อลูกเป็นกรดไหลย้อน
เมื่อคุณหมอวินิจฉัยว่าอาการของทารกเข้าได้กับภาวะกรดไหลย้อน จะมีการรักษาคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งในเด็กวัยทารก คือ ปรับการนอน และการกิน
- สำหรับการนอนของทารก ได้แก่ การนอนคว่ำ แต่เนื่องจากการนอนคว่ำมีรายงานว่าอาจทำให้เกิดภาวะ sudden infant dead syndrome (SIDS) ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต จึงแนะนำให้นอนตะแคงซ้ายแทน
- สำหรับการกินของทารกควรกินนมปริมาณไม่มากต่อมื้อ แต่ให้บ่อยขึ้น หากใช้นมผสมควรใช้สูตรผสมสารเพิ่มความหนืด จับทารกให้อยู่ในท่าตั้งตรงหลังกินนมนาน 15-20 นาที และหลีกเลี่ยงการกดบริเวณท้อง
หลังจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประมาณ 2-4 สัปดาห์เด็กมักจะมีอาการดีขึ้น จนหายไปในที่สุดเมื่ออายุครบ 18 เดือนหากเป็นแค่ “ภาวะกรดไหลย้อน” ธรรมดา
แต่ถ้าลูกเป็นกรดไหลย้อนชนิดที่เป็นโรค คือมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คุณหมอจะพิจารณาให้การรักษาด้วยยากลุ่มช่วยลดกรดร่วมด้วย และถ้าหากอาการยังไม่ดีขึ้นอีก ก็จะพิจารณาปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินอาหารในเด็กต่อไป
กรดไหลย้อนเกี่ยวข้องกับโรคแพ้นมวัวหรือไม่?
กรดไหลย้อนเกี่ยวข้องกับโรคแพ้นมวัวได้ เพราะเด็กทารกที่มีแพ้นมวัวอาจมาด้วยอาการอาเจียนบ่อย ๆ คล้ายกับกรดไหลย้อน ในกรณีที่มีประวัติหรืออาการเข้าได้กับโรคแพ้นมวัว ได้แก่ มีอาการภูมิแพ้อื่น ๆ เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หอบหืด ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว คุณหมออาจให้การรักษาโดยให้งดนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ และสังเกตอาการว่าดีขึ้นหรือไม่ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคค่ะ
ทำไมถึงควรให้นมที่ย่อยง่ายกับทารก?
ลูกควรจะได้กินนมแม่อย่างเดียวนานที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ เพราะถ้าเทียบกับนมผสม นมแม่ก็ดีกว่า นอกจากจะย่อยได้เร็วกว่าแล้ว นมแม่ก็ยังมีเอนไซม์ช่วยย่อยด้วย และถ้ามีภาวะกรดไหลย้อน เขาอาจจะแพ้นมผสม ฉะนั้นถ้าจำเป็นต้องใช้นมผสมจริง ๆ ควรเลือกสูตรสำหรับทารกที่แพ้ง่ายตามที่แพทย์แนะนำซึ่งย่อยได้เร็วกว่า ระยะเวลาที่ค้างอยู่ในกระเพาะจึงสั้นกว่า
การจัดท่านอนให้ลูกก็สำคัญ
ถึงการนอนหงายจะเป็นท่าที่ปลอดภัยที่สุด แต่คงไม่สบายนักสำหรับลูกที่เป็นกรดไหลย้อน ถ้ามีภาวะกรดไหลย้อนในเด็กทารก ลูกอาจจะรู้สึกเจ็บปวดจนตื่นนอนตอนกลางดึกบ่อย ๆ เพราะการนอนราบทำให้เกิดการขย้อน ฉะนั้น ถ้าลูกน้อยมักตื่นตอนกลางดึกพร้อมกับอาการโคลิกปวดท้อง เรอนมและมีกลิ่นลมหายใจเหม็นเปรี้ยว คุณควรปรับหัวเตียงให้สูงขึ้นสัก 30 องศา ซึ่งเป็นระดับความลาดเอียงที่ช่วยลดการขย้อนได้ ท่านอนที่ดีคือควรให้เขานอนตะแคงซ้าย ซึ่งจะทำให้ทางเข้ากระเพาะอยู่ในระดับที่สูงกว่าทางออก จึงช่วยป้องกันไม่ให้สิ่งที่อยู่ในกระเพาะไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารได้เช่นกัน
บทความที่น่าสนใจ อื่น ๆ
โรคภูมิแพ้ในแม่ท้อง เสี่ยงต่อความผิดปกติของลูกในครรภ์หรือไม่
ทำอย่างไรเมื่อลูกมีแก๊สในกระเพาะอาหารเยอะ
เมื่อไหร่ถึงควรพาลูกไปหาหมอ
ที่มาจาก : amarinbabyandkids.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!