คงไม่มีกล้าปฏิเสธ ว่าตอนเด็ก ๆ เราต่างก็เคยเป็นเด็กที่ขี้สงสัย ทุกคนเคยเป็นเด็กขี้สงสัยมาก่อน เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องแปลกใจไป หากลูกน้อยของเราจะเป็นเหมือนกับเรา ชอบถามนั่นนี่ ขี้สงสัย และอยากรู้อยากเห็นในทุก ๆ สิ่ง วันนี้ เราจะพาคุณแม่มาทำความเข้าใจกับนิสัยขี้สงสัยของเด็ก ๆ กัน ทำไม ลูก ๆ ขี้สงสัย เราจะรับมือยังไงกับเด็ก ๆ ได้บ้าง
เด็ก ๆ ชอบสงสัยในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมครับ ว่าทำไมลูกน้อยถึงสงสัยอะไรได้ในทุกเรื่อง บางครั้ง ลูก ๆ เราก็ตั้งคำถามไม่หยุดทั้ง ๆ ที่เราก็เพิ่งจะตอบไป ซึ่งบางที เราก็ไม่รู้จะตอบยังไง เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่คงเคยเจอคำถาม เช่น “ทำไมถึงต้องอาบน้ำด้วยล่ะครับ?” “ทำไมนกถึงบินได้ แล้วทำไมคนถึงบินไม่ได้ล่ะครับ” หรือ “ทำไมหมามันเห่าล่ะคะ” เป็นต้น จนบางครั้ง ก็ทำให้เราหงุดหงิด ที่ต้องตอบคำถามลูกซ้ำ ๆ
อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้ว เด็ก ๆ ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้เรารำคาญ หรือว่าอยากจะกวนใจเรา เพียงแต่ว่าลูก ๆ ก็แค่เกิดความสงสัยตามวัย และการขี้สงสัยนี่แหละ ที่เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเด็ก เด็กที่กำลังโตส่วนใหญ่ มักจะเริ่มสงสัย และสนใจในสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว
บทความที่เกี่ยวข้อง : ชวนทำความรู้จักกับ บุคลิก ของลูก วันนี้คุณรู้จักลูกดีพอหรือยัง ?
วิดีโอจาก : Mamaexpert official
ธรรมชาติของเจ้าหนูทำไม ทำไมลูกถึงขี้สงสัยนัก
เมื่อเด็กมีอายุอยู่ในวัย 3- 5 ปี เด็กจะเริ่มมีคำศัพท์ในหัวอยู่พอสมควร และสามารถพูดเป็นประโยคได้ ซึ่งในช่วงนี้ เป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เมื่อเด็กเห็นอะไรก็อยากจับ อยากรู้จัก อยากทดลองไปเสียหมด ซึ่งเมื่อเด็กพูดได้ เขาก็ต้องการพูดต้องการถามเป็นเรื่องธรรมดา
โดยส่วนใหญ่แล้ว การถามว่า “ทำไม” ของลูกนั้นอาจเป็นเพราะเด็กสงสัย และอยากรู้จริง ๆ หรืออาจจะอยากพูดคุยกับเรา และทบทวนให้ตัวเองฟัง การตั้งคำถามของเด็ก ถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรใส่ใจ หากลูกถาม ก็ควรพยายามตอบ และสังเกตสิ่งที่ลูกถามครับ ซึ่งในขั้นต่อไป เราจะมาแนะนำเทคนิคในการตอบคำถามของลูก
รับมืออย่างไรไม่ให้ทำร้ายลูก ตอบคำถามลูกอย่างไรดี
ขั้นแรกเลย คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ภาษาที่เหมาะสมกับลูก ๆ ควรพูดให้เข้าใจง่าย ไม่ใช้ภาษาที่ซับซ้อนเกินไป เช่น ถ้าลูกถามว่า “ทำไมฝนถึงตกล่ะครับ?” คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะตอบว่า “เพราะก้อนเมฆอุ้มน้ำไม่ไหว เลยปล่อยเป็นน้ำฝนตกลงมาไงครับ” แต่หากคำถามของลูกยากเกินไป ตอบไม่ได้เดี๋ยวนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องตอบทันทีก็ได้นะครับ อาจจะบอกลูกไปว่า “คุณพ่อก็ยังไม่รู้เหมือนกันครับ เดี๋ยวคุณพ่อกับคุณแม่จะหาคำตอบมาให้นะครับ” แบบนี้เป็นต้น นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถพาลูกออกไปหาคำตอบโดยการทดลองได้ เพื่อช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ
อีกวิธีหนึ่งที่นำไปใช้ตอบคำถามลูก ๆ ได้ คือ การตอบคำถามด้วยคำถาม หากลูกน้อยของเราชอบตั้งคำถามบ่อย ๆ ถี่ ๆ เราก็อาจจะค่อย ๆ ตั้งคำถามกลับ เช่น หากลูกถามว่า “ทำไมท้องฟ้าถึงเป็นสีฟ้าล่ะครับ” คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะตอบลูกไปว่า “แล้วลูกล่ะจ๊ะ คิดว่าทำไม” เพราะบางครั้ง การเด็กที่ชอบตั้งคำถาม ก็อาจเป็นไปได้ว่าเด็ก ๆ ชอบตอบคำถามของตัวเองด้วยเช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 สถานที่เสริมพัฒนาการเด็ก พัฒนาสมองผ่านการเล่นกิจกรรม
นอกจากนี้ การตอบคำถามด้วยคำถาม ยังช่วยให้ลูก ๆ ได้เรียนรู้ในมุมมองที่แตกต่างออกไป ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรบอกลูก ๆ ด้วยว่า คำตอบที่ลูกตอบออกมานั้น ถูกต้องหรือไม่ และถ้าหากไม่ถูกต้อง ก็ควรอธิบายให้ลูกน้อยได้เข้าใจถึงคำตอบที่ถูกต้องด้วยนะครับ
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตอบคำถามด้วยคำถามเสมอไป เพราะอาจจะทำให้ลูกน้อยคิดว่า ทำไมถามอะไรไปถึงไม่เคยได้คำตอบจากคุณพ่อคุณแม่เลย จนอาจทำให้ลูกน้อยเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อคุณพ่อคุณแม่ และอาจส่งผลเสียต่อนิสัยของลูกในอนาคตได้ ดังนั้น หากมีคำถามไหนที่พอจะตอบลูก ๆ ได้ก็ควรตอบนะครับ
และที่สำคัญ อย่าดุลูกเมื่อลูกถามบ่อย อย่าตอบคำถามของลูกแบบขอไปที เพราะอาจทำให้ลูกหมดความมั่นใจในตัวเองจนไม่อยากตั้งคำถามอีก อย่าคิดว่าการตั้งคำถามของลูกน้อยเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ เพราะนั่น เป็นโอกาสที่พ่อแม่จะได้เสริมสร้างนิสัยให้ลูกเป็นเด็กช่างคิด ช่างสงสัย และชอบค้นหาคำตอบ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างให้ลูกรักการเรียนรู้เมื่อเติบโตขึ้นในภายภาคหน้าครับ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
10 คำถามของ เด็กขี้สงสัย คำถามที่พ่อแม่ตอบยากที่สุด !!!
ทำไมลูกถึงชอบถามว่า ใกล้ถึงหรือยัง? ทุกครั้งที่เดินทาง
ลูก ๆ ติดทีวี แก้ปัญหานี้ยังไงดี มาดูวิธีรับมือก่อนที่จะสายเกินไป
ที่มา : whattoexpect
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!