จริงอ่ะ! ผมร่วงเพราะลูกจําหน้าได้
ตามความเชื่อโบราณที่ว่า ผมร่วงเพราะลูกจําหน้าได้ นั้นไม่เป็นความจริง แต่เป็นหลักอุปมาอุปมัยของผู้ใหญ่ในสมัยก่อน ที่อาจจะสื่อให้เห็นความผูกพันของแม่ลูกที่มีกันมาตั้งแต่เกิด แต่อาการผมร่วงนั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลังคลอดจริง ๆ ที่เป็นเพราะว่าระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนจะตกลงมา ทำให้เส้นผมที่มีจำนวนมาก ค่อย ๆ หลุดร่วงออกจากศีรษะ และอาจเกิดจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ที่ทำให้สูญเสียแคลเซียมและวิตามินเยอะ ซึ่งก็จะส่งผลต่อสุขภาพเส้นผมของคุณแม่ได้
ภาวะผมร่วงนี้จะเกิดขึ้นได้ภายหลังคลอดประมาณ 3 เดือนที่คุณแม่จะสังเกตเห็นได้ชัดเลยว่าเส้นผมจะหลุดร่วงลงมาเป็นจำนวนมากกว่าปกติ โดยอาจจะมีเส้นผมหลุดร่วงได้ถึงวันละ 400 – 500 เส้น สังเกตได้จากการหวีผมหรือตอนสระผมที่จะมีผมร่วงมากขึ้นติดขึ้นมาเป็นกระจุก อย่าเพิ่งตกใจไปนะคะ อาการผมร่วงนี้เป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น เมื่อผ่านไปประมาณ 6-12 เดือน เส้นผมใหม่ก็จะขึ้นมาแทนที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วละคะ
แต่ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าผมร่วงเยอะเกินไปแล้ว ร่วงมากกว่าปกติ หรือผ่านไป 12 เดือนหลังคลอดแล้ว ผมยังร่วงอยู่อีก ไม่กลับสู่ภาวะปกติ อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น อาจมีการขาดธาตุเหล็ก หรือมีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หรือภาวะอื่น ๆ ซึ่งควรจะไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
จริง ๆ แล้วลูกจำหน้าแม่ได้เมื่อไหร่
ในความจริงไม่ต้องให้ผมร่วงหลังคลอด เจ้าตัวน้อยก็สามารถจำคุณแม่ได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแล้วนะคะ ลูกจะคุ้นกับเสียงจังหวะการเต้นของหัวใจคุณแม่ จำเสียงของคุณแม่ที่เล่านิทานผ่านหน้าท้องบ่อย ๆ ได้ พอคลอดออกมาก็เริ่มจำกลิ่น จำสัมผัสจากแม่ได้ และเมื่ออายุ 3 – 5 เดือน ทารกลูกก็จะเริ่มมองเห็นหน้าแม่และเริ่มจำหน้าของแม่ได้ เป็นจังหวะที่อาการผมร่วงเริ่มแสดงออกมา ซึ่งในช่วงเวลานี้ลูกน้อยที่จำหน้าแม่ได้ก็จะส่งยิ้มให้คุณแม่ทันทีหรือจะแสดงอาการโผเข้าหา ทำให้มีความผูกพันธ์ใกล้ชิดกับแม่ ทำให้คุณแม่อาจจะไม่ต้องมัวแต่กังวลกับเส้นผมที่หลุดร่วงในตอนนี้เลยก็ได้
ในระหว่างที่ต้องเผชิญกับภาวะผมร่วงนี้คุณแม่อาจจะดูแลสุขภาพผมด้วยการรับประทานอาหารที่พอจะช่วยแก้ปัญหาผมร่วงหลังคลอดได้ เช่น การกินอาหารที่มีโปรตีน วิตามิน ธาตุเหล็ก ฯลฯ ให้ได้อย่างเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องหวีผมให้บ่อยหรือแปรงผมแรง ๆ และอาจใช้จังหวะนี่ตัดผมเปลี่ยนทรง อย่างน้อยก็เป็นการระวังเส้นผมยาว ๆ ที่หลุดร่วงของคุณแม่ไม่ให้ไปพันข้อมือ นิ้มมือ ข้อเท้า นิ้วเท้า จุ๊ดจู๋ของลูกชาย ฯลฯ ซึ่งหากลูกถูกเส้นผมพันรัดแน่นจะทำให้ลูกน้อยเจ็บปวด ร้องไห้รุนแรง แบบที่ต้องมองหาสาเหตุกันยกใหญ่.
รับมือ!!ภาวะผมร่วงหลังคลอด
เส้นผมในช่วงตั้งครรภ์ ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen hormone) จะอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งมีผลทำให้เส้นผมอยู่ในช่วงเติบโตเป็นจำนวนมาก เส้นผมอยู่ในช่วงพักมีเป็นจำนวนน้อย ดังนั้น คุณแม่อาจสังเกตได้ว่าระหว่างตั้งครรภ์ จะมีผมที่ดกดำขึ้น และหลุดร่วงน้อย
เส้นผมในช่วงหลังคลอด เมื่อคุณแม่ได้คลอดทารกออกมาแล้ว ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะตกลงมา ทำให้เส้นผมที่เคยอยู่ในช่วงเติบโตเป็นจำนวนมาก ค่อย ๆ เปลี่ยนไปอยู่ในช่วงพัก และหลุดร่วงออกไปจากศีรษะพร้อม ๆ กัน ซึ่งระยะการเปลี่ยนแปลงนี้กินเวลาประมาณ 1 – 6 เดือน (เฉลี่ยอยู่ที่ 3 เดือน)
ทำให้คุณแม่หลายคนมีอาการผมร่วงหลังคลอดเกิดขึ้นเมื่อทารกอายุได้ 3 เดือน ซึ่งอาจร่วงได้ถึงวันละ 400 – 500 เส้นเลยทีเดียวค่ะ คุณแม่จะสังเกตได้ชัดเจนตอนหวีผมหรือสระผมว่าผมร่วงมากขึ้น แต่ไม่ต้องวิตกค่ะ เพราะผมเส้นใหม่จะขึ้นมาแทนที่และกลับสู่ภาวะปกติในเวลาประมาณ 6 – 12 เดือนหลังคลอด ถือว่าเป็นภาวะที่เป็นปกติ และเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น
ผมร่วงแบบไหนเรียกว่าผิดปกติ หากคุณแม่รู้สึกว่า อาการผมร่วงที่เกิดขึ้นนี้ไม่กลับสู่สภาพปกติภายใน 12 เดือนหรือ 1 ปี ผมก็ยังร่วงอยู่และร่วงมากขึ้น แบบนี้ไม่ดีแล้วค่ะ ควรไปปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจว่าเกิดจากสาเหตุใด ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งอาจเกิดจากระหว่างตั้งครรภ์อาจได้รับธาตุเหล็กทดแทน เช่น FBC, Obimin AF ไม่เพียงพอ หรือเกิดจากเสียเลือดระหว่างคลอดจำนวนมาก ก็เป็นได้ หรือ มีภาวะไธรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หรือ ภาวะอื่นๆ ต้องให้คุณหมอตรวจอย่างละเอียดต่อไป
ได้ทราบกันแล้วนะคะว่าผมร่วงหลังคลอดเกิดจาการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่ จึงทำให้เกิดภาวะเส้นผมหลุดร่วง มาดูกันว่าจะมีวิธีการรับมือหรือแก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง
รับมือผมร่วงได้ ไม่ยาก!!!!
1. การรักษาผมร่วงทำได้โดยรักษาความสะอาดของเส้นผม หนังศีรษะ ควรสระผมด้วยแชมพูอ่อนๆ ร่วมกับการนวดศีรษะเป็นระยะๆ ในขณะที่สระผม เพื่อให้มีเลือดมาเลี้ยงที่ศีรษะมากขึ้น หรือใช้แชมพูประเภทโวลุ่ม หรือสำหรับผมดัด จะช่วยให้ผมพองตัวมีโวลุ่ม สปริงผมชัดขึ้น และหนังศีรษะเกิดความมันช้าลง
2. หลีกเลี่ยงการหวีผมอย่างรุนแรง เพราะรากผมของคุณแม่หลังคลอดจึงเกิดการสลายมากกว่าการสร้าง และเกิดภาวะผมร่วงและบางลงเรื่อยๆ
3. รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กให้เพียงพอ เช่น ไข่แดง (สัปดาห์ละ 3 ฟอง) ผักที่มีสีเขียวเข้ม (เช่น ผักคะน้า ผักโขม) รวมถึงอาหารทะเลที่มีสังกะสีสูง เช่น หอยต่างๆ ก็จะช่วยเสริมสร้างเส้นผมได้
4. รับประทาน วิตามิน วิตามินบี ซี อี สังกะสีและซีลีเนียมล้วนเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพผิว ผมและเล็บ จึงควรทานวิตามินต่อหลังคลอด ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ขอแนะนำว่าควรเปลี่ยนไปทานวิตามินเสริมสำหรับคุณแม่หลังคลอดซึ่งจะช่วยให้ได้รับสารอาหารที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายในระยะนี้โดยเฉพาะ
5. ยีสต์เคยได้ยินไหมคะว่าใช้เบียร์สระผมจะช่วยให้ผมแข็งแรง เงางาม เรื่องนี้มีมูลความจริงเพราะเบียร์ทำจากยีสต์ซึ่งมีไบโอติน กรดโฟลิกและไรโบฟลาวิน นี่ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องใช้เบียร์สิงห์หมักผมทั้งวันนะคะ ลองวิธีใช้ยีสต์หมักเบียร์ทำมาส์กพอกผมด้วยตนเองดูนะคะ
ข้อควรระวัง : ผมร่วงกับทารกน้อย
เส้นผมของคุณแม่ที่ร่วงอาจไปพันอยู่ที่ ข้อมือ, นิ้วมือ, ข้อเท้า, นิ้วเท้า, ข้อศอก, อวัยวะเพศชาย หรือ ข้อพับอื่นๆ ของลูกน้อยได้ โดยมันจะรัดแน่นและเสียดสี เกิดภาวะที่เรียกว่า แฮร์ ทูนิเก้ (Hair Torniquet) ซึ่งทำให้ลูกน้อยเจ็บอย่างมาก ถ้าคุณแม่พบว่าลูกร้องโดยไม่มีสาเหตุ อาจต้องตรวจดูให้ดีว่าเกิดมีเส้นผมของคณแม่ไปพันอยู่ที่ส่วนใดของลูกหรือไม่
ได้ทราบกันแล้วนะคะถึงวิธีการรับมือกับอาการผมร่วงหลังคลอด หากคุณแม่ท่านใดมีวิธีการดี ๆ มาแนะนำ ร่วมแชร์ประสบการณ์การดูแลเส้นผมหลังคลอด หรือส่งภาพสวยๆ กับการเปลี่ยนลุคส์หลังคลอดมาให้ได้ชมกันก็ได้นะคะ
ที่มาจาก : https://www.familymildthailand.com/content/
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ :
ช่วยด้วย!! ผมร่วงหลังคลอด ทำไมผมถึงร่วง ขอคำแนะนำด้วยค่ะ
โบราณว่าผมร่วงลูกจำหน้าได้ แต่ถ้าจะร่วงเยอะขนาดนี้ ซื้อวิกรอเลยดีกว่า
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!