หลายคนที่ยังคงจ่ายเงินประกันสังคมอยู่อย่างต่อเนื่อง อาจจะยังไม่เคยทราบถึงสิทธิประกันสังคมที่เราควรจะได้รับ โดยเฉพาะสิทธิ์ประกันสังคมสำหรับคุณแม่มือใหม่ ที่กำลังตั้งท้อง ว่าเราจะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง? มาดูกันดีกว่าค่ะ ประกันสังคมสงเคราะห์บุตร คุณแม่ควรรู้ ว่าคุณแม่จะมีสิทธิเบิกจ่ายอะไรได้บ้าง
หลายคนที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็น ม. 33 หรือ ม. 39 อาจจะยังไม่เคยตรวจสอบสิทธิประกันสังคมมาก่อน ประกันสังคมสงเคราะห์บุตร คุณแม่ควรรู้ และเก็บข้อมูลเอาไว้ โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังท้องอยู่ รับรองว่าช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายได้มากทีเดียวค่ะ โดยเราจะสามารถเบิกค่าอะไรได้บ้าง และสามารถเบิกจ่ายได้แค่ไหนไปอ่านรายละเอียดกันเลยค่ะ.
การตรวจสอบสิทธิ์ ประกันสังคมสงเคราะห์บุตร
ก่อนอื่นคุณแม่มือใหม่ทั้งหลาย จะต้องไปตรวจสอบสิทธิประกันสังคมกันก่อน ว่าสิทธิ์ของเรานั้นยังอยู่ครบถ้วนหรือไม่ โดยสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ SSO E-Service หากคุณมีสิทธิ์ครบถ้วนแล้ว ก็มาดูกันว่า คุณแม่มือใหม่อย่างเรา จะสามารถรับสิทธิ์อะไรได้บ้างกัน
1. ค่าตรวจครรภ์ และฝากครรภ์
ณ ปัจจุบัน ทางประกันสังคม ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับค่าตรวจครรภ์ และฝากครรภ์ให้กับคนท้อง เป็นจำนวน 1,000 บาท ซึ่งเงื่อนไขคือ ไม่ว่าคุณจะจ่ายค่าฝากครรภ์ครั้งแรก ค่าอัลตราซาวนด์ ค่าวัคซีน หรือค่ายาต่าง ๆ นั้น ก็จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้งได้ ตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- ครั้งที่ 1 : อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ (3 เดือน) จ่ายให้ในอัตราไม่เกิน 500 บาท
- ครั้งที่ 2 : อายุครรภ์ระหว่าง 12 – 20 สัปดาห์ หรือประมาณ 3 – 5 เดือน จ่ายให้ในอัตราไม่เกิน 300 บาท
- รอบที่ 3 : อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายให้ในอัตราไม่เกิน 200 บาท
หมายเหตุ : ผู้ประกันตน สามารถขอเบิกค่าฝากครรภ์จากประกันสังคมได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้คลอดบุตรก่อน หรือตัวผู้ประกันตน สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์หลังจากที่คลอดบุตรแล้วก็ได้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ด่วน ! ครม. ประกาศเพิ่มการจ่ายเงินเพื่อการคลอดบุตรจาก 90 วัน เป็น 98 วัน
วิดีโอจาก : แชร์ข่าว เล่าเรื่อง
2. ค่าคลอดบุตร
โดยปกติ ผู้ประกันตนที่ท้องนั้น สามารถเบิกค่าคลอดบุตรแบบเหมาจ่ายได้ ในอัตรา 13,000 บาท ต่อการคลอดหนึ่งครั้ง ซึ่งค่าคลอดบุตรนี้ รวมถึง ค่าทำคลอด ค่ายา ค่าห้อง ค่ารถพยาบาล และค่าบริการอื่น ๆ ทั้งนี้ เราสามารถเลือกโรงพยาบาลใดก็ได้ ที่เราได้เลือกลงทะเบียนเอาไว้
แต่ถ้าหากต้องการเข้าโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในสังกัด ก็สามารถเบิกจ่ายได้เช่นกัน แต่ผู้ประกันตน จำเป็นจะต้องสำรองจ่ายเงินค่าคลอดไปก่อนล่วงหน้า แล้วจึงค่อยนำเอกสารค่าใช้จ่ายมาทำเรื่องเบิกเงินค่าคลอดบุตรประกันสังคม ที่สำนักงานประกันสังคมได้ในภายหลัง โดยจะมีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการรับสิทธิประกันสังคม ดังนี้
- ผู้ที่จ่ายประกันสังคมต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 เดือน หรือภายใน 15 เดือนก่อนเดือนที่คลอดบุตร
- กรณีสามี และภรรยา เป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ สามารถใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรได้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่จำกัด จำนวนบุตร/ครั้ง
- บุตรต่อคน สามารถใช้สิทธิ์เบิกค่าคลอดได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่สามารถเบิกจ่ายซ้ำซ้อนได้ ในกรณีที่สามี และภรรยา เป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ดังนั้นจะต้องเลือกว่า จะใช้สิทธิ์ของใครเป็นผู้เบิก เพียงผู้เดียว
ในกรณีที่คลอดบุตรแฝด คุณก็สามารถเบิกค่าคลอดบุตร ตามสิทธิประกันสังคมได้ตามปกติ นั่นก็หมายความว่า เหมาจ่าย 13,000 บาทต่อครั้ง นั่นเอง เพราะทางประกันสังคม จะนับเป็นรายครั้ง ดังนั้น คุณก็สามารถเลือกเข้าโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมได้เลย แต่ถ้าหากใครที่ต้องการเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคม เพื่อให้เกิดการเดินทางที่สะดวกมากยิ่งขึ้น จำเป็นจะต้องแจ้งให้กับทางสำนักประกันสังคมก่อนล่วงหน้าค่ะ
3. ค่าสิทธิการลาคลอด
หลังจากคุณตรวจสอบสิทธิประกันสังคม อย่างเช่น ค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตรแล้ว คุณก็ยังมี
สิทธิการลาคลอดอีกด้วยนะ นั่นก็คือ ค่าจ้างชดเชยกรณีหยุดงานเพื่อลาคลอด หรือพักรักษาตัวนั่นเอง
โดยทางประกันสังคม จะจ่ายในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นระยะเวลา 90 วัน ยกตัวอย่างเช่น คุณแม่กำลังตั้งท้อง (เป็นผู้ประกันตน) มีเงินเดือน 15,000 บาท จะได้รับเงินชดเชยการหยุดงาน 50% ของเงินเดือน ดังนั้นคุณก็จะได้รับเงินทั้งหมด 7,500 บาทต่อเดือน เพราะอย่างน้อยคุณก็จะได้มีเงินติดตัวไว้ใช้ในกรณีลาคลอดด้วย แต่จะมีข้อกำหนด และเงื่อนไขต่าง ๆ ดังนี้ค่ะ
- จะต้องจ่ายค่าประกันสังคมแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนคลอดบุตร
- สิทธิการลาคลอดใช้ได้เฉพาะฝ่ายหญิงเท่านั้น ฝ่ายชายไม่สามารถเบิกใช้ได้
- จ่ายให้ไม่เกินฐานเงินเดือน 15,000 บาท หากเงินเดือนมากกว่ากำหนด ก็จะคิดแค่ 15,000 บาท
- สำหรับการใช้สิทธิประกันสังคมนี้ จะใช้ได้เฉพาะบุตรคนที่ 1 และคนที่ 2 เท่านั้น
- มีระยะเวลาจ่ายเงินให้ทั้งหมด 90 วัน หรือ 3 เดือน นับรวมวันหยุดราชการ
หรือถ้าคุณแม่กลับมาทำงานได้ตามปกติ โดยไม่ต้องรอให้ครบ 90 วัน คุณแม่ก็ยังได้รับเงินค่าชดเชยหยุดงานด้วย นั่นก็หมายความว่า จะได้รับทั้งค่าจ้างตามปกติ (ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบของแต่ละบริษัทด้วยค่ะ) และรับเงินชดเชยกรณีลาคลอดบุตรพร้อมกัน
4. ค่าชดเชยกรณีแท้งบุตร
ค่าชดเชยกรณีนี้ คงไม่มีใครอยากได้หรอกค่ะ แต่หากเกิดเหตุร้ายขึ้นจริง ๆ กับคนท้อง ในกรณีแท้งบุตร หรือแท้งลูก อย่างน้อย ทางประกันสังคม ก็ยังพร้อมที่จะเยียวยาสำหรับกรณีนี้ค่ะ
คนท้องที่เกิดเหตุแท้งบุตรเกิดขึ้น ยังคงได้รับสิทธิประสังคมเบิกค่าคลอดบุตรประกันสังคม ได้ตามปกติค่ะ ไม่ว่าเด็กจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ เพราะถือว่าเป็นกรณีคลอดบุตรเหมือนกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเงินจากค่าคลอดบุตรแบบเหมาจ่าย หรือเงินค่าหยุดงานจากการลาคลอด ซึ่งสิทธิ์ที่จะได้รับก็ยังคงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขพื้นฐานที่ถูกตั้งไว้ คือ
- ต้องจ่ายเงินค่าประกันสังคมแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนแท้งบุตร
- จะต้องมีอายุครรภ์ไม่น้อยกว่า 28 สัปดาห์ หรือ 7 เดือนขึ้นไป
แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกรณีคุณแม่คลอดบุตรออกมาแล้ว ต่อมาคุณแม่เสียชีวิตกะทันหัน ทางประกันสังคมก็ยังคงให้สิทธิในการคลอดบุตรเหมือนเดิม เนื่องจากคุณแม่เป็นผู้ประกันตน และมีสิทธิ์ก่อนที่จะเสียชีวิตอยู่แล้ว
5. หลังจากคลอดบุตรแล้ว ยังมีเงินสงเคราะห์บุตรอีกด้วย
เมื่อคลอดบุตรแล้ว ทางประกันสังคมก็ยังมีสิทธิประกันสังคมฉบับปี 2565 ที่มีเงินสงเคราะห์เลี้ยงบุตรให้กับคุณแม่ด้วยนะคะ โดยจะได้รับเงินเหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ 600 บาท ต่อคน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเด็กอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
ในกรณีที่คุณได้บุตรเป็นลูกแฝด 2 คน เงินประกันสังคมส่วนนี้ ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 บาทต่อเดือน ตามจำนวนบุตร แต่กำหนดไม่เกิน 3 คนค่ะ หากคุณแม่ลืมใช้สิทธิประกันสังคมสำหรับเงินสงเคราะห์บุตร ก็จะสามารถยื่นย้อนหลังได้ ไม่เกิน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ส่งเงินประกันสังคมตามกำหนดเท่านั้น
ซึ่งเงื่อนไขของการรับเงินสงเคราะห์บุตร ของสิทธิประกันสังคมนั้น มีดังต่อไปนี้ค่ะ
- ต้องจ่ายเงินประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทน
- เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
- ยกเว้นบุตรบุญธรรมหรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
- อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนไม่เกิน 3 คน
- ยกเว้นกรณีบุตรเสียชีวิต
6. การเบิกเงินประกันสังคมสำหรับคนท้อง
คุณแม่มือใหม่ทุกคนที่เป็นผู้ประกันตน สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินตามกรณีต่าง ๆ ข้างต้นได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ ตามสาขาที่สะดวก หรือใกล้บ้าน (ยกเว้นสำนักงานใหญ่กระทรวงสาธารณสุข) ติดต่อได้ในวัน และเวลาราชการ หากคุณไม่สะดวกเข้ามาดำเนินเรื่องเอง ก็ให้ผู้อื่นยื่นเรื่องแทนได้ แต่จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ และเอกสารต่าง ๆ มาแสดงด้วย หรือจะยื่นเอกสารผ่านทางไปรษณีย์ได้เช่นกันค่ะ
7. การรับเงินประกันสังคมสำหรับคนท้อง
หลังจากคุณได้ยื่นเอกสารเรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบสิทธิประกันสังคม แล้วติดต่อให้คุณมารับเงินในภายหลัง โดยคุณจะสามารถเข้ามารับเงินด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้ตัวแทน เข้ามารับได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ หรือจะเลือกให้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของคุณก็ได้เช่นกัน
หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการเกิดสิทธิประกันสังคมสงเคราะห์บุตร
- จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร
- จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่าย กรณีคลอดบุตรให้แก่ผู้ประกันตนในอัตรา 15,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง สำหรับผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงาน เพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วันสำหรับการใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงาน เพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน
- กรณีสามี และภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่จำกัดจำนวนบุตร/ครั้ง
พิจารณาสั่งจ่ายเงินสงเคราะห์บุตร จ่ายยังไง
เงินสด/เช็ค (ผู้มีสิทธิมาขอรับด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน) ส่งธนาณัติให้ผู้ประกันตน โอนเข้าบัญชีธนาคารตามบัญชีของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน
เอกสารประกอบการยื่นคำขอประโยชน์ทดแทน กรณีคลอดบุตร
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2 – 01 ผู้ประกันตนกรอกข้อความครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ
- สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
- สำหรับผู้ประกันตนชายให้แนบสำเนาทะเบียนสมรส กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรส
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอมีธนาคาร ดังนี้
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
หมายเหตุ : หากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่เห็นด้วยกับการสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
สถานที่ยื่นเรื่องขอเงินสงเคราะห์บุตร ทำที่ไหน ?
ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัด และสาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) อย่างที่เราก็รู้กันดีว่าสิทธิประกันสังคมนั้น จะเป็นเพียงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานเท่านั้น ความคุ้มครองอาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกอย่างเสมอไป แต่ถ้าคุณเลือกซื้อประกันสุขภาพสำหรับคนท้องเฉพาะ ก็จะช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้กับคุณระหว่างตั้งครรภ์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาลทั่วไป ค่ายาบำรุง ค่าอัลตราซาวนด์ ค่าวัคซีน ค่าตรวจเลือด ค่าคลอด ค่าห้อง รวมถึงค่าบริการต่าง ๆ คุณก็สามารถเข้ารับการรักษาทันที โดยไม่ต้องรอเหตุฉุกเฉิน
ดังนั้น ประกันสุขภาพก็ยังคงจำเป็นสำหรับคุณแม่มือใหม่มาก ๆ ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยประหยัดเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว ยังทำให้คุณ และลูกน้อยปลอดภัยอีกด้วย หากคุณแม่คนไหนสนใจจะซื้อประกันสุขภาพสำหรับคนท้อง ก็อย่าลืมตรวจสอบรายละเอียดประกันภัย และเงื่อนไขต่าง ๆ กันด้วยนะคะ วางแผนล่วงหน้าไว้ก่อน ย่อมสบายใจกว่าเยอะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
สิทธิประกันสังคมมาตรา 33 ได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง ใครได้บ้าง
เช็คเงินสงเคราะห์บุตรประกันสังคม 2565 ใครมีสิทธิ์ได้รับบ้าง เช็คเลย
เงินประกันสังคมกรณีคลอดบุตร และ เงินสงเคราะห์บุตร ยื่นอย่างไร ให้ได้เงิน
แชร์ประสบการณ์หรือ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคมสงเคราะห์บุตร ได้ที่นี่ !
ประกันสังคมสงเคราะห์บุตร มีอันไหนที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้ไหมคะ
ที่มา : sso.go.th สำนักงานประกันสังคม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!