ถอนชื่อพ่อออกจากใบเกิด ทำได้ไหม
ถอนชื่อพ่อออกจากใบเกิด สามารถทำได้ไหม สำหรับคุณแม่ที่ต้องการนำชื่อพ่อออกจากใบเกิด หรือต้องการเปลี่ยนชื่อพ่อจากใบเกิด เป็นเรื่องทางกฎหมายทำให้มีความซับซ้อนในการดำเนินการเป็นอย่างมาก และหากคุณแม่นำชื่อคนอื่นไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่น้อง หรือญาติมาใช้แทน ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายค่ะ
เชื่อว่าคุณแม่หลายคนกลัวว่าการที่ลูกไม่มีชื่อพ่อในใบเกิด อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาในเรื่องของการรับเข้าศึกษาเรียนต่อในบางสถาบัน และขัดต่อระเบียบการขอสมัครสอบเข้าทำงานในหน่วยงานราชการต่าง ๆ ไหนจะเป็นเรื่องการขอวีซ่าเดินทางไปบางประเทศสำหรับเด็กที่ต้องให้พ่อแม่ที่แท้จริงเป็นผู้รับรองบุตรเองด้วย ถ้าหากไม่ปรากฏชื่อพ่อในใบเกิดก็จะยุ่งยากกว่าคนที่มีชื่อพ่อในใบเกิด แล้วแบบนี้ทำอย่างไรดี
ในกรณีที่อยากจะถอนชื่อพ่อออกจากใบเกิด ในทางกฎหมายไม่สามารถทำได้ค่ะ เนื่องจากสถานะทางครอบครัวเกิดขึ้นจากกฎหมาย ทุกคนต้องมีพ่อ แม่ ทำให้ไม่สามารถถอนความเป็นพ่อที่แท้จริงได้ ยกเว้นที่แม่ต้องการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงทางทะเบียนให้ถูกต้องค่ะ
แอบนำชื่อฝ่ายชายมาใส่ในใบเกิด จะเกิดอะไรขึ้น
ในกรณีที่แอบอ้างนำชื่อฝ่ายชายที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันไปใส่ในใบสูติบัตร ไม่แนะนำให้คุณแม่ทำแบบนี้นะคะ ให้คุณแม่ใส่ชื่อตัวเองคนเดียวไปเลย จะได้มีสิทธิเต็มที่ในการดูแล และตัดสินใจแทนบุตรเพียงผู้เดียวจนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ โดยฝ่ายชายที่ถูกนำชื่อไปแอบอ้าง สามารถดำเนินการได้ ดังนี้
- ฝ่ายชายสามารถฟ้องร้องเพิกถอนชื่อในใบเกิด และเรียกร้องค่าเสียหายได้
- โดยต้องทำการพิสูจน์ทางดีเอ็นเอ หากตรวจแล้วไม่ตรงกันแน่นอนว่าไม่จำเป็นต้องรับรองบุตร และบุตรก็ไม่สามารถขอแบ่งมรดกได้
ข้อเสียของการนำชื่อผู้อื่นมาใช้ในใบเกิดลูก
- หากพ่อตัวปลอมคนดังกล่าวไปก่อเรื่องเป็นหนี้เป็นสินแล้วเกิดการเสียชีวิตไป ก่อน เจ้าหนี้ก็จะฟ้องร้องบังคับให้ลูกชำระแทนได้
- หากพ่อตัวปลอมคนที่ว่าขับรถไปประสบอุบัติเหตุจนตัวเองตายแล้วมีคู่กรณี ตายด้วย ทางญาติของคู่กรณีก็สามารถเรียกร้องค่าสินไหมจากการกระทำของพ่อโดยลูกต้องรับผิดชอบแทน
ถอนชื่อพ่อออกจากใบเกิด เปลี่ยนชื่อพ่อในสูติบัตร
ต้องการเปลี่ยนชื่อพ่อในใบเกิดควรทำอย่างไร
ก่อนอื่นต้องอธิบายให้คุณแม่เข้าใจก่อนว่า การที่คุณแม่นำชื่อผู้อื่นมาใส่ในใบเกิด ในทางกฎหมายถือว่าเป็นการสวมรอยในการแจ้งเท็จ ผู้แจ้งอาจจะถูกดำเนินคดีตามฐานความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2๐,๐๐๐ บาท ถึง 1๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร มาตรา 5๐ พ.ศ. 2534 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551) แล้วแต่กรณี หลังจากนั้นจะมีการดำเนินตามขั้นตอน ดังนี้
- เข้ากระบวนการสอบสวนของนายทะเบียนแต่ละท้องถิ่นเพื่อทำให้เชื่อว่าบิดาคนใดเป็นตัวจริง
- เจ้าหน้าที่จะทำการยกเลิกสูติบัตร
- ให้ผู้แจ้งทำการแจ้งเกิดใหม่ แต่ต้องมีหลักฐานการตรวจดีเอ็นเอ (DNA) แสดงความเป็นลูก เป็นแม่ และเป็นพ่อ นำไปแนบกับคำขอแจ้งเกิดใหม่แล้วเจ้าหน้าที่ทะเบียนจะพิมพ์สูติบัตรออกมาให้ใหม่ (สามารถอ่านรายละเอียดการตรวจดีเอ็นเอ ได้ตามด้านล่าง )
การตรวจดีเอ็นเอตามคำสั่งศาลหรือการร้องขอจากหน่วยราชการ มีขั้นตอนดังนี้
- ต้องผ่านการรับรองจากองค์กรอันเป็นที่ยอมรับ
- ต้องได้รับความยินยอมทั้ง 2 ฝ่าย
- กรณีที่ลูกรรลุนิติภาวะแล้วตัวลูกต้องยินยอมด้วย
* สามารถขอตรวจดีเอ็นเอได้ที่หน่วยงานราชการที่รับตรวจนอกจากสถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ยังมีคณะแพทยศาสตร์ของโรงพยาบาลรัฐบาลอีกหลายแห่ง
ขั้นตอนตรวจดีเอ็นเอ มีดังต่อไปนี้
- เจาะเลือด
- ใช้เครื่องมือขูดเนื้อเยื่อบริเวณกระพุ้งแก้มของผู้รับการตรวจ
- นำตัวอย่างดีเอ็นไปเข้ากระบวนการทางเคมีตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
- วิเคราะห์ค่าที่ออกมาตามกราฟ ซึ่งจะทำให้ทราบผลการตรวจยืนยันได้ภายใน 1 สัปดาห์
ที่มา: กฎหมายเพื่อชาวบ้าน และข่าวสาร
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
หลังคลอดลูกต้อง แจ้งเกิดลูกภายในกี่วัน ทำสูติบัตรให้ลูกต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?
แจ้งเกิดลูกไม่มีพ่อ ทำอย่างไร ไม่มีชื่อพ่อมีปัญหาในอนาคตมั้ย?
ใบสูติบัตรหายต้องทำอย่างไร สามารถขอใหม่ได้ไหม มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!