ทารกคลอดก่อนกำหนด
ชีวิตในตู้อบ : เด็กที่คลอดก่อนกำหนดนั้น ร่างกายจะยังไม่พัฒนาสมบูรณ์เต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งโดยปกติแล้ว เมื่อทารกอยู่ในครรภ์ได้จนมีอายุครบ 35 สัปดาห์ ทารกจะพัฒนาปอด ที่บรรจุด้วยถุงลมจนเต็มมีรูปร่างสมบูรณ์และทำงานได้ และใช้เวลาที่เหลือในครรภ์เพื่อหัดหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าปอดเพื่อฝึกความพร้อมไว้ก่อนคลอดออกสู่โลกภายนอก
เรื่องระบบทางเดินหายใจของทารกคลอดก่อนกำหนดนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่าทารกจะอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ทารกที่คลอดก่อนกำหนด ในช่วงที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 30 สัปดาห์ ส่วนหนึ่งจะเสียชีวิต ส่วนทารกที่รอดชีวิตก็มักจะมีปัญหาสุขภาพติดตัว ต้องได้รับการดูแลระยะยาว เช่น สมองไม่สมบูรณ์ มีสติปัญญาต่ำกว่าเด็กปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแอ โครงสร้างไม่แข็งแรง หรือพิการ ตาบอด หูหนวก หรืออาจเป็นโรคหัวใจชนิดที่พัฒนาไม่สมบูรณ์ได้
ชีวิตในตู้อบ ของทารกคลอดก่อนกำหนด
เด็กแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนด จำเป็นต้องได้รับการรักษาอุณภูมิให้อบอุ่นทันทีหลังคลอด เมื่อทารกคลอดออกมาแล้วส่วนใหญ่จะถูกย้ายเข้าตู้อบเพื่อรักษาชีวิตของทารกที่คลอดก่อนกำหนด
ตู้อบจะประกอบไปด้วยที่นอนแบนสำหรับทารก ล้อมรอบด้วยกล่องที่มีผนังด้านข้าง และเพดานคล้ายพลาสติกใส ยาวประมาณ 75 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร และกว้าง 50 เซนติเมตร โดยตู้อบจะถูกวางเพื่อให้ทารกแรกเกิดอยู่สูงจากพื้นขึ้นมาระดับเอว ครึ่งบนของผนังด้านข้างนั้น มีประตูกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร และห่างกัน 30 เซนติเมตร อยู่ 2 ช่อง ซึ่งใหญ่พอที่จะยื่นมือ และท่อนแขนส่วนล่างเข้าไป โดยไม่ต้องเปิดประตูใหญ่ทิ้งไว้
ภายในตู้อบนั้น ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะได้รับการปกป้องจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่มีการให้ความร้อน ในขณะเดียวกันก็จะสามารถมองเห็นทารกภายในตู้อบได้จากทางด้านนอกได้ตลอดเวลา
การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดในตู้อบนั้น สามารถทำได้โดยไม่ต้องนำทารกออกมาภายนอกตู้อบเลย ทั้งการป้อนนม และทำกิจวัตรต่าง ๆ เช่น อาบน้ำ เจาะเลือด และเริ่มให้ยาทางหลอดเลือดดำ นอกจากนี้ คุณแม่ก็สามารถดูแลทารก สัมผัสลูกน้อยผ่านช่องได้จนกระทั่งทารกแข็งแรงพอที่จะได้รับการอนุญาตจากคุณหมอให้กอดหรืออุ้มนอกตู้อบได้
ตู้อบนั้น ไม่ได้เป็นแบบกันเสียงนะครับ ดังนั้น คุณแม่สามารถพูดคุยกับลูก หรือร้องเพลงให้ลูกฟังจากด้านนอก เพื่อกระตุ้นทารกน้อยได้
ตู้อบเปรียบได้กับสถานที่หลบภัยของทารกคลอดก่อนกำหนด เพื่อรอวันที่เจ้าหนูแข็งแรงพอที่จะออกมาสู่โลกภายนอก เมื่อทารกคลอดก่อนกำหนดได้รับอนุญาตให้ออกมานอกตู้อบ ก็จะได้รับการห่อหุ้มเป็นอย่างดีรวมถึงสวมหมวกเพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกาย ตามปกติแล้วเมื่อทารกคลอดก่อนกำหนดมีอายุเทียบเท่า 35 – 36 สัปดาห์ในครรภ์ ก็จะค่อย ๆ มีการปรับลดอุณหภูมิด้านในตู้อบดูว่า ขณะที่สวมเสื้อผ้าอยู่ทารกสามารถรักษาอุณหภูมิตามปกติของร่างกายได้หรือไม่ หากได้แล้ว ทารกก็จะได้ย้ายไปอยู่ในเตียงคอกเปิดครับ
การป้อนนมทารกในตู้อบ ทำได้อย่างไร
ทารกคลอดก่อนกำหนดที่ตัวเล็กมาก จะได้รับการป้อนนมในขั้นต้น โดยใช้ท่ออาหารผ่านจมูกหรือปาก ไปสิ้นสุดที่กระเพาะอาหาร และจากการที่ทารกยังไม่สามารถดูดได้แรง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้ท่ออาหารช่วย ซึ่งน้ำนมแม่ที่บีบออกมานั้น จะได้รับการตวงในกระบอกฉีดยา และหยดหรือปั๊มเข้าไปในกระเพาะอาหารของทารกทางท่อ
เมื่อทารกอายุมากขึ้น คุณแม่สามารถป้อนนมที่ปั๊มไว้ ในขณะที่เจ้าตัวน้อยยังอยู่ในตู้อบได้ โดยนั่งชิดกับตู้อบ สอดมือและแขนท่อนล่างผ่านช่อง ใช้ทั้ง 2 มือ จับลูกขึ้นนั่งเกือบ 90 องศา แล้วใช้มือข้างหนึ่งประคองด้านหลังของคอและศีรษะ ใช้มืออีกข้างหนึ่งถือขวดและใส่เข้าปากของลูก ปล่อยให้ลูกพักทุก 1 นาที จนกระทั่งลูกได้รับนมแม่ตามปริมาณที่คุณหมอกำหนด
เคล็ดลับที่ทำให้ทารกที่ดูดนมช้า และไม่เต็มใจดูด สามารถดูดได้ดีขึ้น เช่น ลูบแก้มใกล้ปากลูกน้อยเบา ๆ มักทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อการดูด และทำให้ทารกเริ่มดูดนมได้ดีขึ้น
ได้ทราบถึงเรื่องราวชีวิตในตู้อบ ของทารกคลอดก่อนกำหนดกันไปแล้วนะครับ ซึ่งตู้อบนั้น มีความสำคัญในการช่วยต่อชีวิตให้ทารกคลอดก่อนกำหนด ให้แข็งแรงและเติบโตขึ้นอย่างเป็นปกติมากที่สุด
อย่างไรก็ตามเมื่อครบกำหนดที่ทารกสามารถออกมาจากตู้อบแล้ว หน้าที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่ต่อไป ก็คือการดูแล ให้ความอบอุ่นกับลูกน้อยอย่างเต็มที่ และหากว่าลูกยิ่งได้รับนมแม่อย่างเพียงพอมากเท่าไร ทารกจะเติบโตและแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอนครับ
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
นักสู้ตัวน้อยใน NICU หนูน้อยผู้รอดชีวิตจากการคลอดก่อนกำหนดและ RSV
10 ปัจจัยเสี่ยง การคลอดก่อนกำหนด
อะไรที่เรียกว่าปกติสำหรับทารกแรกเกิด?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!