การเคลื่อนไหว สำหรับเด็กอายุระหว่าง 0 – 1 ปีนั้น จะเป็นช่วงที่มีการพัฒนาการเคลื่อนไหวอย่างเห็นได้ชัด เด็กจะมีการเติบโตที่รวดเร็วในช่วง 6 เดือนแรก และจะเริ่มชะลอลงหลังจากนั้น แต่จะมีพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้ การเคลื่อนไหว การพูด ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ขอให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมตัวเตรียมใจให้ดีว่าเดือนนี้จะต้องยุ่งแน่นอน เพราะเจ้าตัวน้อยกำลังเข้าสู่พัฒนาการก้าวใหม่ หากลูกยังไม่เริ่มเดิน ให้คุณแม่เบาใจได้เลยว่าน่าจะอีกไม่นาน หนูน้อยบางคนจะตั้งไข่ล้มต้มไข่กินอยู่หลายเดือน แต่บางคนพอยืนได้ก็แทบจะออกวิ่งเลยทีเดียว เด็กวัยนี้หลาย ๆ คนจะกลับไปคลานอีกเมื่อเขาเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย หรือเกิดความรู้สึกระแวงไม่แน่ใจ ลูกน้อยจะทั้งคลานทั้งเดินจนกว่าเขาจะมั่นใจจริง ๆ ว่ายืนได้แข็งด้วยสองขา คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการให้ลูกนั่งในรถเข็น หรือรถยนต์นาน ๆ เพราะการหัดเดินให้เก่ง ต้องอาศัยการฝึกฝนเช่นเดียวกับทักษะอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก หรือมัดใหญ่
พัฒนาการทารก 1 ขวบ ด้านร่างกาย และการเคลื่อนไหว
เด็ก 1 ขวบ ยังเดินทรงตัวได้ไม่ดีนัก และหกล้มได้เสมอ นั่นเพราะกว่าที่ลูกจะเดินได้ดี เขาต้องผ่านการคลาน ผ่านการเหนี่ยวตัว เกาะเดิน เดินโดยจับมือแม่ไว้มั่นทั้งสองมือ จนกระทั่งพยายามเดินได้ด้วยตัวเอง เมื่อเขาสามารถทำได้ นั่นหมายถึง ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่นำมาซึ่งความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และเด็กแต่ละคนก็มีช่วงเวลาแห่งความสำเร็จนี้ไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสรีระร่างกาย การเรียนรู้ และโอกาสในการฝึกฝน
สามารถปีนขึ้นเก้าอี้ได้ แต่เด็ก 1 ขวบ อาจจะใช้เวลาในการลองผิดลองถูก กว่าจะนั่งบนเก้าอี้ได้ ซึ่งคุณแม่สังเกตได้ว่า แรก ๆ ลูกปีนไปนั่งบนเก้าอี้เตี้ย ๆ อย่างงุ่มง่าม แต่เมื่อสามารถกะระยะได้ดีแล้ว เขาจะสามารถถอยหลังเอาก้นหย่อนลงนั่งบนเก้าอี้ได้
ชอบมุดเข้าไปเล่นใต้โต๊ะ ใต้เก้าอี้ ซึ่งก็ต้องคอยระวังไม่ให้หัวลูกโขกกับขอบเก้าอี้ หรือเก้าอี้ล้มใส่ จึงไม่ควรให้ลูกคลาดสายตา
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ ด้านสติปัญญา และการเรียนรู้
ลูกยังคงสวมบทนักสำรวจตัวน้อย สิ่งใดที่อยู่ในขอบข่ายสายตาของเขาเป็นต้องรื้อ ค้น คว้ามาจับ สัมผัส ชิม กัด เขย่า ดม เรียกว่าทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จนครบทุกประสาทสัมผัสเลย
- เด็ก ๆ ที่มีคนคอยเล่นหรือทำนั่นนี่อยู่ใกล้ ๆ จะเรียนรู้เรื่องการประสานสายตากับการเคลื่อนไหวได้ดีกว่าเด็กที่ไม่มีโอกาสลักษณะนี้
- การเล่นเป็นวิธีการที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเล่นจ๊ะเอ๋ เล่นไล่จับ (คลานไล่จับเจ้าตัวน้อย) การเล่นซ่อนของ แม้กระทั่งการร้องเพลง ทำท่าทางประกอบ หรืออุ้มเต้นรำไปตามจังหวะเพลง ก็เป็นการเล่นที่สามารถเล่นกับลูกได้ เช่น จับปูดำ นิ้วโป้งอยู่ไหน หรือเพลงช้างที่เราคุ้นหู รวมทั้งการอ่านนิทาน หรือชวนกันเปิดหนังสือ หรือดูสมุดภาพ กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ ได้ดี
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ ด้านร่างกาย และการเคลื่อนไหว
- เด็ก 1 ขวบ จะเปลี่ยนจากคลานมาเป็นเดินกันแล้ว แต่ก็ยังมีเด็กส่วนหนึ่งที่อาจจะยังไม่สนใจอยากเดิน เพราะคลานได้เร็วทันใจกว่า ซึ่งคุณแม่ต้องพยายามสร้างแรงจูงใจในการเดินให้ลูกด้วย
- ถ้าลูกยังชอบคลานมากกว่าเดิน คุณแม่ไม่ควรบังคับ เพียงแค่จัดสถานที่ ให้เอื้อต่อการฝึกเดิน หาของเล่นมาล่อหลอก หรือจับลูกยืนบนหลังเท้าของเรา แล้วจับมือลูกไว้ทั้งสองข้าง จากนั้นก็พาลูกเดินเล่น วิธีนี้จะทำให้ลูกรู้สึกสนุกไปกับการเดิน และอาจจะอยากลองเดินด้วยตัวเองดูบ้าง
- การทำงานประสานกันระหว่างมือ และตาเป็นไปด้วยดี สังเกตได้จากการที่ลูกสามารถต่อบล็อกไม้ซ้อนกันได้ถึงสองชั้น หยิบของเล่นชิ้นเล็ก ๆ ใส่เข้าหยิบออกจากกล่องได้ ทักษะเหล่านี้จะยิ่งดีขึ้นถ้าได้รับโอกาสฝึกฝนบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นของเล่น เสริมพัฒนาการ ประเภทหยอดรูปทรงลงช่อง หรือจะเป็นภาชนะ เช่น ช้อน ชาม แก้วที่ไม่แตก หม้อ ถังใบเล็ก ๆ
- กระดาษกับสีเทียนแท่งโต เป็นอุปกรณ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ดี ที่คุณแม่สามารถจัดหามาให้ลูกเล่นได้
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ ด้านภาษา และการสื่อสาร
- เข้าใจ และการรับรู้คำ และความหมายของคำมากขึ้น เพียงแต่ยังไม่สามารถพูด หรือแสดงออกมาได้ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ลูกจะสื่อสาร หรือแสดงออกผ่านสีหน้า ท่าทาง สุ้มเสียง มากกว่า เช่น พยักหน้า หัวเราะ ยิ้ม มากกว่าคำพูด
- คำที่เรามักได้ยินลูกพูดบ่อย ๆ เช่น หม่ำ ๆ น้ำ, ไป ๆ, มา ๆ, ไม่ ๆ ซึ่งเป็นคำที่ลูกเข้าใจความหมาย และพอจะสื่อสารเป็นภาษาได้บ้างแล้ว
- สนใจฝึกเลียนเสียงพูด ซึ่งลูกจะเข้าใจคำพูดต่าง ๆ ได้ดี ถ้าคุณแม่ทำท่าทางประกอบด้วย เช่น อู้ย…หนาวจังเลย (ทำตัวสั่น) ร้อนจัง (หยิบพัดมาพัด) ยี้…เหม็น (ทำท่าบีบจมูก) สิ่งสำคัญคือ คุณแม่ต้องพูดชัดถ้อยชัดคำ และเลี่ยงการพูดแบบเด็ก ๆ
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ ด้านอารมณ์ และสังคม
- ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสียงเอะอะ เรียกร้องความสนใจ หรือโยนสิ่งของซ้ำ ๆ เพื่อให้มีคนมาเก็บให้ หรือใช้นิ้วชี้ไปยังสิ่งของที่ต้องการให้คุณแม่หยิบให้
- ยังมีอาการกลัวคนแปลกหน้าอยู่ เมื่อพบก็จะกอดแม่แน่น แต่ก็ยังมีแอบชำเลืองมองด้วยหางตา ในลักษณะระวังตัวอยู่ ต่อเมื่อเริ่มรู้สึกปลอดโปร่งใจมากขึ้น จึงค่อยคลายมือที่กอดมาเป็นเกาะเกี่ยว หรืออยู่ใกล้ ๆ แทน กระทั่งแน่ใจว่าแม่ไม่ไปไหน และคนแปลกหน้านั้นไม่เป็นภัยกับตน ลูกอาจจะยอมผูกมิตรกับคนแปลกหน้า
- ลูกยังกลัวต่อวัตถุสิ่งของ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ เช่น กลัวเสียงเอะอะโวยวาย กลัวการอาบน้ำ กลัวความมืด กลัวสัตว์ เป็นต้น ความกลัวเป็นผลจากความสามารถในการจินตนาการของลูก ที่คุณแม่ต้องค่อย ๆ ปลอบประโลมใจ และค่อย ๆ คลายความรู้สึกกลัวนั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อดทน และใจเย็นค่ะ
- การเล่นกับเด็กด้วยกัน จะเป็นลักษณะเล่นอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กันมากกว่าเล่นด้วยกัน เรียกว่า แอบสังเกตกัน และกัน และดูเหมือนว่า ของเล่นของคนอื่นจะน่าเล่นกว่าของตัวเอง จนบางครั้งอดใจไม่ไหวคว้าของเล่นเพื่อนมาเป็นของตัวเอง ซึ่งคุณแม่ต้องคอยดูให้ดี ๆ
- ถ้ามีพี่ เด็กจะชอบเลียนแบบพี่ และป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ ๆ และพยายามเล่นตามอย่าง ซึ่งคุณแม่ต้องคอยดูเรื่องความปลอดภัยด้วยเช่นกัน
- ช่วงวัยนี้ ลูกมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ บ่อย ถ้าถูกขัดใจจะโมโห และร้องไห้
- จะปฏิเสธด้วยการส่ายหัว ฉะนั้นหากจะห้ามปรามให้คุณแม่เลือกห้าม เฉพาะที่จะก่อให้เกิดอันตรายกับเขา ด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น แต่ถ้าบางอย่างดูแล้วไม่น่าห่วง ก็อาจปล่อยให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระ และเรียนรู้ด้วยตัวเองได้
อย่าลืมว่า ลูกยิ่งเติบโตขึ้นเท่าใด เขาย่อมต้องการพื้นที่ที่จะได้เล่น ได้เรียนรู้อย่างอิสระเพื่อก่อรูปความคิด และตัวตน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยชื่นชม และให้กำลังใจเขาอยู่ใกล้ ๆ แล้วพัฒนาการที่ดีรอบด้านของลูกจะเกิดได้ไม่ยากค่ะ
เตรียมตัวรับมือกับพัฒนาการของลูกน้อย
เด็กวัยนี้มักชอบเล่นชอบคุย เผลอนิดหน่อยไม่ได้เป็นต้องหาอะไรสนุก ๆ ทำ ธรรมชาติออกแบบมาให้หนูน้อยวัย 12 เดือน คอยมองหาสถานการณ์ที่ ที่จะทำให้จิตใจเพลิดเพลิน และช่วยให้เขาได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ซึ่งคุณแม่สามารถช่วยส่งเสริมลูกได้ ด้วยการหาเพลง หนังสือ เพื่อน หรือกิจกรรมมาให้เขาที่บ้าน ทั้งนี้ การเฝ้ามองคุณพ่อคุณแม่พูดคุยโต้ตอบกับผู้อื่นในลักษณะที่เหมาะสม ก็เป็นการสอนบทเรียนเกี่ยวกับการสื่อสาร และความสัมพันธ์ให้แก่ลูกน้อยได้ดีเช่นกัน เจ้าหนูน้อยจะจ้องมองไม่วางตา เราอาจคิดว่าเขายังเด็กเกินกว่าจะรู้ความ แต่จริง ๆ แล้วเจ้าจิ๋ววัยนี้นี่แหละที่เป็นเหมือนฟองน้ำน้อย ๆ ที่คอยดูดซับรายละเอียดทุกสิ่งเข้าไปในสมอง
ลูกวัยหัดเดินจะเรียนรู้ลักษณะอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งโกรธ ดีใจ หงุดหงิด เบื่อหน่าย รวมทั้งเข้าใจว่าอารมณ์ดังกล่าวมีผลอย่างไรกับผู้คนรอบตัว เด็ก ๆ วัยนี้เก่งนักเชียวเรื่องอ้อนจนได้สิ่งที่ต้องการ หนูน้อยจะมีวิธีเอาชนะใจคุณพ่อคุณแม่ได้อย่างไร้เทียมทาน แต่ถ้าเขาอารมณ์ไม่ดีขึ้นมา เราอาจต้องใช้ทั้งน้ำอดน้ำทน และความมั่นใจในการรับมือ เพราะบางครั้งก็ยากที่จะบอกได้ว่า เหตุใดลูกถึงอารมณ์ขุ่นมัว หนังสือดีๆ ที่จะช่วยให้เราเข้าใจการทำงานของสมองลูกน้อยวัยหัดเดิน อาทิ ศาสตร์ในการเลี้ยงลูก (The Science of Parenting) เขียนโดย Margot Sunderland
เด็กวัยนี้จะเริ่มทำกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ แม้จะฟังดูเป็นพัฒนาการที่น่าตื่นเต้น แต่ก็อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่แอบกังวลใจได้ เพราะตอนที่ลูกรักยังแบเบาะนั้น จะอุ้มไปวางตรงไหนเขาก็จะรออยู่ตรงนั้น แต่ตอนนี้คุณแม่อาจจะอยากแปลงร่างเป็นสับปะรดเพื่อจับตาดูว่า เจ้าตัวน้อยจะเคลื่อนตัวไปทิศทางใดกันแน่
ในวัยนี้ ลูกรักจะทานอาหารเองได้เก่งขึ้น และแสดงออกได้อย่างชัดเจนมากขึ้นว่าต้องการอะไร แม้จะยังพูดไม่เป็นภาษา แต่ลูกจะลองสื่อสารด้วยการส่งเสียง และพูดคำสั้น ๆ คุณพ่อคุณแม่จะค่อย ๆ พัฒนาทักษะในการถอดรหัสว่าลูกหมายถึงอะไร และเรียนรู้การตีความภาษาร่างกายของเขาได้ดีขึ้น ลูกน้อยสามารถใช้นิ้วชี้สิ่งของ โบกมือ ปรบมือ และส่งของระหว่างมือสองข้างได้แล้ว แม้ลูกจะยังเดินไม่ได้ แต่เขาจะสามารถทรงตัวได้เอง โดยใช้มือข้างหนึ่งยึดไว้เพื่อความมั่นคง
ลูกน้อยวัยนี้มีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักมากกว่าตอนแรกเกิดถึงสามเท่า และโตวันโตคืนได้อย่างน่าชื่นใจ ลองนำภาพถ่ายตอนแบเบาะมาเปรียบเทียบกับตอนวันเกิดครบหนึ่งขวบ แล้วคุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกแปลกใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา กรณีลูกน้อยคลอดก่อนกำหนด คุณแม่อาจต้องใจเย็นรออีกนิด เพื่อให้เขามีพัฒนาการตามมาตรฐานแบบเต็มขั้น ทั้งนี้ เวลา การฝึกฝน สิ่งแวดล้อม เพศ และความช้าเร็วของการคลอดก่อนกำหนดล้วนมีผลต่อพัฒนาการทั้งสิ้น
หาเวลาฉลองวันเกิดให้ลูกในเดือนนี้ เพื่อร่วมแบ่งปันความสุขความยินดีในหมู่ครอบครัวและเพื่อนฝูง แม้เจ้าตัวน้อยจะยังไม่เข้าใจว่าการเลี้ยงวันเกิดคืออะไร แต่การให้คุณค่าแก่โอกาสสำคัญอันควรจดจำก็ถือเป็นเรื่องดีอยู่ไม่น้อย ลองหาเวลาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาช่วงหลังลูกน้อยตื่นนอน เขาจะได้ร่าเริงไม่งอแงง่าย วันนี้เป็นวันที่คุณแม่อาจจะไม่ต้องเคร่งครัดกับตารางกิจวัตรประจำวันของลูกน้อยเท่าปกติ ให้เขาได้ใช้เวลาสนุกกับงานวันเกิด อย่าลืมถ่ายรูปถ่ายคลิปเก็บไว้เยอะๆ โดยให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวได้มีส่วนร่วม นอกจากนี้ หากเป็นไปได้ ให้บันทึกภาพหมู่ของครอบครัวเก็บเอาไว้ เพราะโอกาสที่จะทำแบบนี้ได้มีน้อยนักในชีวิต
คุณอาจอยากมอบของขวัญวันเกิดให้ลูกน้อย อย่างสร้อยข้อมือนำโชค ชุดของเล่นเครื่องเงิน ชุดของเล่นรถไฟ หรือม้าโยก หนังสือที่มีหน้ากระดาษให้บันทึกวันที่ และชื่อผู้ให้ก็เป็นของขวัญวันเกิดที่น่ารัก และได้รับความนิยม
หาลิ้นชักล่างสุด หรือตู้สักใบไว้เก็บของเล่นลูก เลือกใช้ตะกร้า หรือกล่องพลาสติกมาใส่ของเล่นชิ้นเล็ก ๆ เพราะไม่แตกหักง่ายหากลูกเหวี่ยงข้ามห้อง ลูกน้อยวัยนี้มักติดคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น ถ้ารู้สึกเหมือนมีเงาน้อย ๆ ตามต้อย ๆ อยู่เสมอ ให้ชื่นใจได้เลยว่าลูกรักรู้สึกอุ่นใจที่ได้อยู่ใกล้ ๆ เพราะวันหนึ่งในอนาคต ช่วงเวลาที่เขาไม่อยากใกล้ชิดกับพ่อแม่นักย่อมเดินทางมาถึง
คุณแม่อาจรู้สึกใจหาย หรือตื่นเต้นดีใจที่ลูกน้อยเติบโตถึงช่วงวัยที่มีพัฒนาการสำคัญ ๆ ที่จริงแล้ว เด็กวัยหนึ่งขวบนั้นยังเด็กมาก และยังมีอะไรอีกมากมายในอนาคตที่รอคอยอยู่ อาจถึงเวลาที่คุณแม่จะคิดอย่างจริงจังถึงการวางแผนมีน้องให้เจ้าตัวเล็ก หรืออาจตัดสินใจแล้วว่าจะเลื่อนไปก่อนสักระยะหนึ่ง ลองพูดคุยปรึกษากับคุณพ่อว่า ทางเลือกไหนถึงจะเหมาะกับสถานการณ์ และครอบครัวคุณที่สุด
ที่มา : (si.mahidol) , (enfababy)
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
การวางแผนการศึกษา : 100 เรื่องพ่อแม่ต้องรู้ก่อนลูก 1 ขวบ
การปรับตัวในสังคมภายนอก : 100 เรื่องพ่อแม่ต้องรู้ก่อนลูก 1 ขวบ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!