ณ ปัจจุบัน การวางแผนการศึกษา เพื่อลูกน้อยเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะวางแผนตั้งแต่รู้ว่าเริ่มมีการตั้งครรภ์ หลาย ๆ ครอบครัวเริ่มมองว่าอยากจะให้ลูกได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประถม และมัธยมที่ไหน แล้วจึงมาเลือกโรงเรียนอนุบาล และเตรียมอนุบาลในขั้นตอนสุดท้าย เพราะแต่ละโรงเรียน จะเน้นการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน ระหว่างโรงเรียนสาธิต โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนรัฐบาล
มหาวิทยาลัยบางแห่ง มีการปูพื้นฐาน การวางแผนการศึกษา หรือวางหลักสูตรให้เด็กตั้งแต่อนุบาล ต่อเนื่องมาถึงประถม และมัธยม เพื่อสามารถเข้าศึกษาต่อเนื่องมาถึงมหาวิทยาลัย ได้อย่างมีระบบ ดังนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะวางแผนตั้งแต่แรก ว่ามีความคาดหวังที่จะให้ลูกน้อยจะเข้ามหาวิทยาลัยใด
อนาคตอยากให้ลูกเรียนอะไร?
หลายครอบครัวอาจจะบอกว่า รอให้ลูกเลือกสิ่งที่ชอบ สิ่งที่อยากเรียนได้เองในอนาคต ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่การที่เราวางรากฐานทางการศึกษาไว้ให้พร้อมสำหรับเด็ก ก็ย่อมจะเป็นใบเบิกทางให้ลูกได้ดีที่สุด
- เลือกมหาวิทยาลัย อยากให้ลูกเรียนมหาวิทยาลัยอะไร ถึงแม้ว่าหนทางจะดูยาวไกลเหลือเกิน “ลูกฉันแค่ 1 ปีเอง” แต่หลาย ๆ ครอบครัว ก็เริ่มที่จะวางแผนการเลือกมหาวิทยาลัยให้ลูกตั้งแต่รู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ นั่นเป็นเพราะ สถาบันแต่ละแห่ง จะมีลักษณะการเรียนการสอนที่เฉพาะเจาะจง โดยมากจะหลักสูตรการเรียนการสอนนั้น จะถูกปูพื้นฐานเชื่อมโยงต่อกันมาตั้งแต่ อนุบาล ต่อเนื่องประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนมาถึงมหาวิทยาลัย
- มองหาเครือข่ายของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ เมื่อเลือกมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้ลูกเข้าเรียนได้แล้ว จึงค่อยไปดูโรงเรียนมัธยม และประถม ลดหลั่นลงมาตามลำดับ ว่ามีโรงเรียนใด ที่อยู่ในเครือของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ บ้าง ซึ่งโรงเรียนต่าง ๆ เหล่านั้น จะถูกเชื่อมโยงหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ดังนั้นการเลือกโรงเรียนเตรียมอนุบาล และโรงเรียนอนุบาลจึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับอนาคตของเด็กนั่นเอง
- เลือกโรงเรียนประถม โรงเรียนประถมก็จะมีให้เลือกอยู่หลายเครือด้วยเช่นกัน ซึ่งจะแบ่งออกเป็นโรงเรียนประถมของรัฐบาล และเครือคาทอลิก โดยแต่ละโรงเรียน จะมีการสอบเข้าที่แตกต่างกัน ตามนโยบายของแต่ละที่ สำหรับเด็กที่เรียนในโรงเรียนอนุบาล มักจะได้โอกาสในการให้เข้าเรียนต่อในเครือของโรงเรียนนั้น ๆ ได้อย่างเป็นอัตโนมัติ นี่เป็นสาเหตุว่า การเลือกโรงเรียนอนุบาล จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อการต่อยอดไปในอนาคต
- เลือกโรงเรียนอนุบาล เมื่อผู้ปกครองทราบเจตนาของตัวเองแล้วว่า อยากให้ลูกของตนเองมุ่งไปในทางไหน การเลือกโรงเรียนอนุบาลจะมีตัวเลือกที่น้อยลง และชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น โรงเรียนอนุบาลที่จะสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนสาธิตนั้น จะเน้นทักษะการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ทักษะการแยกรูปทรงสิ่งของ ทักษะการสังเกตุสิ่งรอบตัว เป็นต้น ในขณะที่ โรงเรียนอนุบาลในเครือคาทอลิก จะเน้นทักษะการเรียนการสอนทางด้านวิชาการเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการฝึกนับเลข การบวกลบ การเขียนหนังหนังสือตามรอยประ
- เลือกเตรียมอนุบาล เมื่อเป้าหมายของคุณพ่อคุณแม่ชัดเจนแล้ว คราวนี้จะเป็นการพาลูกเข้าสู่การฝึกฝนทักษะที่จะต้องใช้ในการคัดเลือกในอนาคต เช่น หากคุณพ่อคุณแม่ ต้องการให้ลูกเข้าเรียนเครือสาธิต การจะเข้าเรียนโรงเรียนอนุบาลที่จะนำสู่โรงเรียนในเครือสาธิตได้นั้น จำเป็นจะต้องมีทักษะรอบตัวเป็นหลัก การหาโรงเรียนเตรียมอนุบาล หรือเนอสเซอรี่ คุณพ่อคุณแม่ก็จะสามารถกำหนดได้ชัดเจนว่า สถานที่ที่จะนำไปฝากเลี้ยง หรือพาไปเรียนพิเศษนั้น จะต้องมุ่งเน้นทักษะทั่วไปเป็นหลัก เช่นการ สังเกตรูปทรงสิ่งของ การฝึกติดกระดุมเสื้อด้วยตนเอง เป็นต้น
การส่งเรียนพิเศษ
คุณพ่อคุณแม่อาจจะมีปัญหากับบรรดาญาติผู้ใหญ่ที่มักจะมองว่า การส่งเด็กไปเรียนพิเศษตั้งแต่อายุ 1 ปี หรือการศึกษาเด็กเล็กนั้น ยังเร็วเกินไป ซึ่งจะเป็นการกดดันเด็ก ควรที่จะเปิดโอกาสให้เด็กมีอิสระในการเล่น และพักผ่อนอย่างเต็มที่ แต่ด้วยสังคมสมัยนี้ อยู่บนพื้นฐานที่จะต้องแข่งขันกัน การปูพื้นฐานเด็ก เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับตัวเด็กเองในอนาคต ก็เป็นการช่วยเด็กในอื่นทางหนึ่งด้วยเช่นกัน
การเรียนพิเศษนั้น นับเป็นค่าใช้จ่ายที่มากพอสมควร ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องถามตัวเองก่อนว่า พร้อมที่จะรับภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้ และสิ่งที่จะได้รับกลับมานั้นคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายออกไปหรือไม่ นั่นต้องขึ้นอยู่กับการเลือกสถานที่เรียน และต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่าพร้อมแค่ไหน
การสอบเข้าเครือโรงเรียนสาธิต
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า การเข้าเรียนในโรงเรียนเครือสาธิตนั้น เด็กจะต้องมีทักษะความรู้รอบตัวเป็นหลัก โดยที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องฝึกให้เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เป็นอันดับแรก เช่น การทานข้าวเอง การฝึกติดกระดุมเสื้อ การระบายสี การเรียงบล็อค การแยกรูปทรง ซึ่งกระบวนการเรียนต่าง ๆ เหล่านี้ หากตัวคุณพ่อคุณแม่ เลือกที่จะสอนเด็กเองนั้น ก็จำเป็นจะต้องให้เวลากับเด็ก และฝึกทักษะเด็กให้ได้มากที่สุด จากการหาแบบฝึกหัด และวิธีการสอนเพื่อให้เด็กไม่เกิดความสับสน
เมื่อลูกน้อยสามารถสอบเข้าสู่ชั้นอนุบาลได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ จำเป็นจะต้องหาข้อมูลเพื่อการสอบเข้าโรงเรียนสาธิตในทันที เนื่องจากปัญหาที่พบในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งสำคัญไม่แพ้กันกับการติวลูกเพื่อสอบเข้าเครือสาธิต คือ คุณพ่อคุณแม่มักไม่ทราบถึงเกณฑ์อายุในการรับเด็กเพื่อสอบเข้า คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่คิดว่ารอจนลูกอนุบาล 3 ก่อน แล้วค่อยเตรียมตัวติว หรือเตรียมความพร้อมลูก บางคนเตรียมความพร้อมด้วยตัวเอง จนถึงวันสมัครสอบ แต่ทว่าหมดสิทธ์สอบ เพราะอายุเกินเกณฑ์ที่กำหนด บางคนที่คิดว่า จะนำลูกไปหาครูเพื่อเตรียมความพร้อม คำถามแรกที่ครูต้องถามก็คือ ลูกคุณเกิดเดือนอะไรคะ และปีอะไรคะ และคำตอบบางครั้งคือ ลูกคุณหมดสิทธิ์สอบแล้วค่ะ
การสอบในเครือคาทอลิค
โดยมากโรงเรียนในเคลือคาทอลิค มักจะเน้นการเรียนการสอนในเชิงวิชาการ คือการฝึกอ่าน เขียน บวกลบ เป็นหลัก ซึ่งจะแตกต่างจากระบบของเครือสาธิตโดยสิ้นเชิง เด็กที่ได้คะแนนสูงเมื่อสอบเข้าอนุบาลในเครือสาธิต อาจจะไม่สามารถทำข้อสอบสำหรับการเข้าอนุบาลในเครือคาทอลิคเลยก็เป็นได้ ในทางกลับกัน เด็กที่ถูกติวมาเพื่อสอบในเครือคาทอลิค ก็จะไม่สามารถสอบในรูปแบบของเครือสาธิตได้เช่นกัน ดังนั้น การตัดสินใจตั้งแต่เตรียมอนุบาลจึงเป็นเหตุปัจจัยหลักที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเลือกและตัดสินใจแทนลูกนั้นเอง
การสอบในเครือคาทอลิคนั้น ตามที่ได้กล่าวไปว่า เครือคาทอลิคจะเน้นการเรียนการสอนเชิงวิชาการ ซึ่งจะเน้นการฝึกอ่าน เขียน การฝึกบวก และลบ การฝึกอนุกรม ดังนั้นการเรียนเพื่อที่จะสอบเข้าอนุบาลในเครือนี้ จะต้องทำใจเอาไว้ว่า เด็กจะต้องเรียนหนัก และมีการบ้านเพื่อฝึกฝนทุกวันแน่นอนค่ะ
แต่ก็จะมีหลายครอบครัวที่มองทางเลือกอื่น ๆ ที่นอกจากโรงเรียนในสองเครือที่กล่าวมานี้ เช่น
โรงเรียนรัฐบาล
เมื่อถามว่าโรงเรียนรัฐบาลมีจุดเด่นหรือประโยชน์ที่พวกเขาได้รับแบบไหนบ้าง ส่วนใหญ่ศิษย์เก่าโรงเรียนรัฐบาลจะเห็นตรงกันว่าได้ค่าเทอมที่ถูก และได้เห็นสังคมที่หลากหลาย รู้จักการใช้ชีวิตแบบติดดิน ทำให้รู้สึกเหมือนได้ “เตรียมพร้อม” เจอชีวิตต่อจากนี้ ทางฝั่งพ่อแม่ที่ส่งลูกเรียนโรงเรียนรัฐบาลนั้นส่วนใหญ่ก็เลือกโรงเรียนเพราะค่าเทอมที่ไม่แพง ความมีชื่อเสียง ความใกล้บ้าน และบางส่วนก็เลือกเพราะตัวเองเคยเป็นศิษย์เก่า
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงเรียนรัฐบาลนั้นเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่พ่อแม่หลายท่านเลือก เพราะค่าใช้จ่ายที่เมื่อเทียบกับตัวเลือกอื่นๆ แล้วค่อนข้างย่อมเยาว์ (ประมาณ 3,000 – 6,000 บาทต่อปี) หลายคนอาจจะคิดว่าใครๆ ก็เข้าโรงเรียนประเภทนี้ได้ และอาจถูกมองว่าเป็นตัวเลือกธรรมดาตัวหนึ่ง แต่เอาเข้าจริงโรงเรียนรัฐบาลก็มีการเรียนการสอนที่เข้มข้นไม่แพ้กัน นอกจากนี้ ครูที่จะเข้ามาสอนในโรงเรียนรัฐบาลได้นั้นก็ต้องผ่านการสอบเป็นครูก่อน ทางด้านกฎระเบียบก็จะค่อนข้างเข้มงวด ตั้งแต่ทรงผมจนถึงเครื่องแบบ
โรงเรียนรัฐบาลกลุ่มนี้ โดยมากจะไม่มีการสอบคัดเลือกเข้าในช่วงอนุบาล เนื่องจากเป็นนโยบายของภาครัฐ จุดอ่อนก็คือ สภาพแวดล้อมสังคมในโรงเรียน จะปะปนไปทั้งเด็กที่ตั้งใจเรียน เด็กที่ไม่สนใจเรียน ซึ่งจะแยกห้องกันชัดอยู่แล้ว ตรงนี้มองว่าเป็นจุดอ่อน เพราะถ้าเด็กที่ครอบครัวใส่ใจไม่มากพอ แล้วไปอยู่ในกลุ่มที่ไม่ดี จะพากันเสีย พากันออกนอกลู่นอกทางได้ง่ายมาก … คงต้องมีการควมคุม หรือ สอนการใช้ชีวิตในสังคมให้มากขึ้น มากกว่าวิชาการอย่างเดียว
โรงเรียนทางเลือก
หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับโรงเรียนประเภทนี้ เราเองก็เพิ่งเคยได้ยินเมื่อไม่นานมานี้เอง โรงเรียนทางเลือก เป็นโรงเรียนที่เป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาล มีการศึกษาต่างจากระบบการศึกษากระแสหลัก เช่น แทนที่จะเรียนแต่ในห้องเรียนอย่างเดียว ก็มีการเรียนนอกห้องเรียน การเรียนแบบเชิงปฏิบัติ และมีกิจกรรมที่หลากหลาย
นอกจากนี้อาจรวมถึงโรงเรียนที่มุ่งเน้นปรับการสอน เพื่อเด็กกลุ่มพิเศษ เช่น เด็กอัจฉริยะ เด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม ซึ่งเด็กกลุ่มนี้อาจเรียนหลักสูตรปกติไม่ได้ หรือเรียนไม่ทัน ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ก็จะต้องดูแลกันอย่างใกล้ชิดหน่อย ดังนั้นโรงเรียนจึงมีครูค่อนข้างเยอะ เมื่อเทียบกับนักเรียน ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักเรียนได้รับความดูแลอย่างทั่วถึง ส่วนใหญ่โรงเรียนทางเลือกที่เราเห็นก็จะเป็นโรงเรียนในระดับอนุบาล เป็นวัยที่เหมาะกับการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ และสัมผัสกับธรรมชาติ
ทางด้านค่าใช้จ่าย จากที่เราได้เจอข้อมูลมา ก็มีตั้งแต่ระดับ 20,000-50,000 บาทต่อปี ไปจนถึงระดับแสนต้นๆ เลยทีเดียว และนี่คือระดับอนุบาลเท่านั้น โดยมากที่ผู้ปกครองส่งไปเรียนโรงเรียนทางเลือกนี้คือ ต้องการให้ลูกมีความสุขในการเรียนรู้ มีการค้นคว้า ทดลอง เพื่อความเข้าใจมากกว่าการท่องจำในตำราเรียน สามารถคิด วิเคราะห์ได้ และต้องการให้ลูกสามารถช่วยเหลือตนเองได้
แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่แน่ใจว่าสุดท้ายแล้ว เด็กที่จบออกมาในหลักสูตรนี้จะสามารถไปเรียนต่อในหลักสูตรที่เข้าสู่ระบบ หรือเป็นไปในวิถีทางที่เราตั้งใจหรือไม่
โรงเรียนสองภาษา
โรงเรียนสองภาษา (Bilingual) มีหลักสูตรที่ต่อยอดมาจากหลักสูตรการเรียนการสอนแบบไทยปกติ หมายความว่าหลักสูตรก็ยังอิงอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ เรียนเหมือนโรงเรียนไทยทุกอย่าง จำนวนนักเรียนต่อห้องก็คล้ายคลึงกับโรงเรียนไทย คืออาจมีเยอะถึง 60 คนต่อห้องเหมือนโรงเรียนไทยไปเลย แต่ที่ต่างคือการเรียนการสอนนั้นใช้ภาษาอังกฤษแทน ถึงอย่างนั้น แต่ละโรงเรียนก็มีสัดส่วนการสอนเป็นภาษาอังกฤษแตกต่างกันไป ซึ่งจำนวนขั้นต่ำนั้นกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้แล้วละ ว่าแต่ละระดับชั้นเรียนสามารถเรียนภาษาอังกฤษในวิชาไหนได้บ้าง เช่น ระดับอนุบาลสอนภาษาอังกฤษได้ไม่เกิน 50% ของการเรียนการสอนทั้งหมด ระดับประถมสอนภาษาอังกฤษเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และพลศึกษา เป็นต้น
สำหรับโรงเรียนสองภาษานี้ นอกจากจะมีแยกเป็นโรงเรียนเดี่ยวๆ แล้ว ยังมีโรงเรียนไทยประเภทที่กล่าวถึงด้านบนบางแห่งที่มีหลักสูตรสอนเป็นภาษาอังกฤษ (English Program) แบบนี้ก็อาจนับรวมเป็นโรงเรียนสองภาษาได้เช่นกัน
โรงเรียนนานาชาติ
โรงเรียนนานาชาติเป็นโรงเรียนที่อ้างอิงหลักสูตรจากต่างประเทศ อาจจะเป็นอเมริกัน อังกฤษ หรือออสเตรเลีย ก็ว่ากันไป นักเรียนจะได้เรียนเหมือนประเทศเจ้าของหลักสูตร เพียงแต่มีวิชาภาษาไทยมาเป็นวิชาบังคับด้วย (ตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการ ไหนๆ เราก็ยังอยู่ประเทศไทยนี่นะ) ครูบาอาจารย์ก็จะเป็นชาวต่างชาติที่ได้รับคุณวุฒิอาจารย์ และมีประสบการณ์สอนมาก่อน เนื่องจากว่าคุณสมบัติแบบนี้ค่อนข้างหายาก ทางโรงเรียนเลยต้องจ้างครูตรงมาจากต่างประเทศเลย ค่าจ้างก็จะค่อนข้างสูง ค่าเทอมเลยสูงตาม
เห็นได้ชัดเจนว่าจุดแข็งหนีไม่พ้นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังไงก็คงขาดไม่ได้สำหรับโรงเรียนนานาชาติ เพราะได้ใช้กันแบบทั้งวี่ทั้งวันแน่นอน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสังคมหลากหลายเชื้อชาติ และการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากระบบเดิมๆ ทางฝั่งคุณพ่อคุณแม่ที่ส่งลูกเรียนนานาชาติก็ให้ความเห็นว่าพวกเขาคาดหวังให้เด็กหัดคิดได้ด้วยตัวเอง ไม่เรียนแบบท่องจำ และอยากให้เด็กได้ภาษาอังกฤษดี
แต่ถึงอย่างนั้น โรงเรียนนานาชาติใช่ว่าจะมีแต่ข้อดี ศิษย์เก่าแอบกระซิบเรามาว่า มันก็มีนะว่าเด็กอาจจะเก่งแค่ภาษาใดภาษานึง จนทำให้ทิ้งอีกภาษานึงไปเลย ก็จะกลายเป็นว่าบางทีเก่งภาษาอังกฤษมาก แต่อ่อนภาษาไทยสุด ๆ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูให้ดีว่าลูกได้รับการปลูกฝังด้านภาษาไทยพอ ๆ กัน
คุณแม่ท่านหนึ่งได้แนะนำว่า “โรงเรียนนานาชาติมีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก หลักสูตรก็แตกต่างกัน พ่อแม่ที่จะส่งลูกเข้าโรงเรียนประเภทนี้ ควรศึกษาทำความเข้าใจหลักสูตร และต้องมั่นใจว่าจะสามารถนำพาลูกไปได้ตลอดรอดฝั่ง (ทั้งค่าใช้จ่าย และ การสนับสนุนลูกในด้านอื่น ๆ)”
เราจะเห็นได้ว่าโรงเรียนแต่ละประเภทที่หยิบยกมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้นั้นก็มีจุดเด่นและจุดอ่อนแตกต่างกันไป ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงเด็กๆ แล้วละว่าเหมาะกับแบบไหนมากกว่ากัน ทั้งด้านความชอบความถนัดของเด็ก สิ่งแวดล้อมต่างๆ และกำลังทรัพย์ของคุณพ่อคุณแม่ แต่ที่แน่ๆ คือเรามั่นใจว่าทุกประเภทโรงเรียนย่อมมีความหวังดีต่อเด็กไม่ต่างกัน และจะสามารถปลูกฝังความรู้คุณธรรมให้เด็กได้อย่างดีเยี่ยมแน่นอน
ขอส่งท้ายด้วยคำแนะนำของคุณพ่อคุณแม่ที่เราได้ไปสอบถามมา พวกเขาอยากจะบอกคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่กำลังหาโรงเรียนให้ลูกว่า…
- โรงเรียนทุกโรงเรียนสำคัญที่สุดคือ ความปลอดภัยในโรงเรียน และความรับผิดชอบของบุคลากร
- สิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนสำคัญมากจริง ๆ
- เลือกโรงเรียนที่ลูกเรียนแล้วมีความสุข ที่จ่ายไหว ถ้ามุ่งมั่นที่จะเรียนสายวิชาการเพื่อสอบหมอ วิศวะ ต้องหาโรงเรียนที่มีอันดับสอบเข้ามาก เพราะโรงเรียนพวกนี้ จะมีเด็กเรียนที่มีเป้าหมายเหมือนกัน จะจับกลุ่มกันเรียนไปด้วยกัน
- จงศึกษาลูกของคุณ และจงมองที่ความสุขในการใช้ชีวิตของลูกคุณ มากกว่าความต้องการของคุณ
ที่มา : tataya , sethaputra , finnomena
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
10 อันดับโรงเรียนอนุบาล กทม.
รู้จักกับ Kidz Village โรงเรียนอนุบาลนานาชาติ ที่ตอบโจทย์พ่อแม่ยุคใหม่ ใส่ใจความสุขในการเรียนรู้ของเด็ก และมีสภาพแวดล้อมการเรียนที่เต็มไปด้วยธรรมชาติอย่างแท้จริง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!