ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อาจจะส่งผลกระทบในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคมของตนเองและครอบครัว นอกเหนือจากนั้นแล้วยังอาจเกิดความเสี่ยงเกี่ยวกับสุขภาพของแม่และลูกได้อีกด้วย ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ตอนวัยรุ่นได้แก่
การคลอดก่อนกำหนด
การรคลอดก่อนกำหนดสามารถพบได้บ่อยในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น จากการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ลงใน British Medical Journal เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2014 เปิดเผยว่า การคลอดก่อนกำหนดพบได้ในแม่ท้องที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี มากกว่าในแม่ท้องที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และจากอีกหลาย ๆ รายงานพบว่า ถ้ายิ่งอายุน้อยมากเท่าไหร่ โอกาสคลอดก่อนกำหนดจะยิ่งสูงขึ้น โดยเกิดจากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเกิดจากการเจริญเติบโตที่ไม่เต็มที่ของร่างกายวัยรุ่น การศึกษา การดำรงชีวิตและสภาพแวดล้อม การใช้ยาหรือสารเสพติด หรือแม้กระทั่งขาดการดูแลในระยะก่อนคลอดที่เหมาะสม
ทารกน้ำหนักน้อย
ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อยมีโอกาสที่จะคลอดลูกออกมามีน้ำหนักตัวน้อย โดยภาวะนี้อาจจะเป็นผลต่อเนื่องมาจากการคลอดก่อนกำหนด จากการศึกษาวิจัยเมื่อเดือนเมษายนปี 2007 ที่ได้ตีพิมพ์ลงใน International Journal of Epidemiology เปิดเผยว่า แม่ท้องที่มีอายุในช่วงต่ำกว่า 19 ปีลงมามีโอกาสที่จะคลอดลูกออกมามีน้ำหนักตัวน้อย มากกว่าแม่ท้องที่มีอายุระหว่าง 20 – 24 ปีอยู่ถึง 14 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว อีกทั้งทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยยังมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับปอด หัวใจ และสมองได้อีกด้วย
ภาวะโลหิตจาง
ภาวะซีดหรือโลหิตจางเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยกับแม่ที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะทุโภชนาการ โดยเฉพาะขาดธาตุเหล็ก folic acid รวมถึงการมีพยาธิในลำไส้ ภาวะโลหิตจางในระหว่างตั้งครรภ์ส่งผลเสียต่อทั้งคุณแม่และลูกในท้อง และยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด ทำให้คุณแม่คลอดยาก และอาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในขณะที่อยู่ในครรภ์อีกด้วย
อาการซึมเศร้าหลังคลอด
การมีลูกตั้งแต่อายุยังน้อยมีความเสี่ยงที่จะทำให้คุณแม่เกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอดมากเป็นสองเท่า โดยอาการซึมเศร้าหลังคลอดนั้นเกิดขึ้นได้ทุกช่วงหลังคลอด โดยคุณแม่อาจมีอาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ และเป็นกังวล
ไม่ใช่ว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่วัยรุ่นจะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพเสมอไป แต่ความเสี่ยงที่จะมีเกิดขึ้นนั้นมีค่อนข้างสูง การลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในการตั้งครรภ์ สามารถทำได้โดยการดูแลในช่วงฝากครรภ์ให้ดี ดังนั้นควรดูแลสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ และควรเข้ารับการปรึกษาและขอคำแนะนำจากคุณหมอ เพื่อประโยชน์ต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยครับ
ที่มา livestrong.com, med.cmu.ac.th
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!