ทั้งนี้แสงสีฟ้าดังกล่าว เป็นแสงที่ผสมอยู่ในช่วงแสงสีขาวที่ตามนุษย์ มองเห็น มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 400-500 นาโนเมตร นอกจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวแล้ว อุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หลอดไฟ ไฟรถยนต์ หรือแม้กระทั่งในแสงแดดก็เป็นแหล่งให้แสงสีฟ้าได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้มีการศึกษาในหนูทดลอง โดยการฉายแสงสีฟ้าใส่ตาหนู พบว่า เมื่อเพิ่มปริมาณของแสงสีฟ้าไปจนถึงระดับหนึ่งโดยสัมพันธ์กับเวลาที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เซลล์ในจอประสาทตา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้นได้ ทั้งนี้จากผลสำรวจล่าสุดพบว่า คนไทยใช้มือถือประมาณ 41 ล้านคน ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 20 ล้านคน ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 15 ล้านคน ซึ่งจากข้อมูลในปี 2557 ระบุว่า ประชาชนไทยใช้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุดถึงร้อยละ 77 โดยใช้เฉลี่ยวันละ 7.2 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ใช้เฉลี่ยวันละ 4.6 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มคนที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ กลุ่มเด็กและวัยรุ่นในกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 6-14 ปี ร้อยละ 58.2 ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จากข้อมูลดังกล่าว เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนไทยใช้สายตาเพ่งข้อมูลในสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ยาวนานขึ้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดสายตาผิดปกติเพิ่มขึ้นมาก [1]
สำหรับสายตาผิดปกติในเด็กจะมีทั้งสั้น ยาว และเอียง การเล่นคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตในเด็กวัยประถมคืออายุต่ำกว่า 15 ปี เด็กจะใช้สายตามาก จะทำให้สายตาสั้นเร็วกว่าปกติ ซึ่งมีทั้งสั้นเทียมหรือสั้นชั่วคราว และสั้นถาวร โดยมีรายงานว่าในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย มีภาวะสายตาสั้นเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า จากร้อยละ 8 ของจำนวนประชากร เป็นร้อยละ 30 ทำให้เด็กมีปัญหาในการเรียน เด็กจะมองตัวหนังสือบนกระดานไม่ชัด ทำให้จดข้อมูลและเรียนไม่ทันเพื่อน นอกจากนี้จะทำให้เกิดอาการปวดตา ปวดศีรษะโดยไม่รู้สาเหตุ รวมถึงมีผลต่อการทำงานในบางอาชีพที่ต้องใช้สายตาในอนาคต เช่น นักบิน ตำรวจ ทหาร เป็นต้น
โกจิเบอร์รี่
ส่วนกลุ่มที่อายุเกิน 15 ปี จะไม่มีปัญหาสายตาสั้นเทียม แต่จะเกิดปัญหาเมื่อยล้า แสบตา ตาแห้ง มีอาการปวดศีรษะ หรือทำให้ไมเกรนกำเริบ หากเป็นผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยทำงาน ตามปกติสายตาจะเริ่มยาว หากใช้สายตามากกว่าปกติจะเกิดอาการเมื่อยล้า ปวดตา ตาแดง แสบตามากขึ้น อาการพวกนี้จะเป็นมากกว่าผู้ที่อายุน้อย เนื่องมาจากความเสื่อมในการทำงานของอวัยวะที่เกิดตามวัย สำหรับวัยหลังเกษียณ การจ้องจอโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์มาก จะทำให้มีอาการแสบตา ตาแห้ง ปวดตา ซึ่งอาการจะรุนแรงขึ้นตามอายุ การใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตอย่างถูกวิธีคือสิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อถนอมสายตาดีที่สุด คือ ไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน เกิน 25-30 นาที และต้องพักสายตาอย่างน้อย 1-5 นาที ควรดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อให้ดวงตามีความชุ่มชื้น และพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอเพื่อให้ประสาทตาได้พักการใช้งาน นอกจากนี้การรับประทานสารอาหารที่มีประโยชน์ก็จะสามารถช่วยในการบำรุงสายตาได้ ตัวอย่างเช่น พืชผักใบเขียว ได้แก่ ผักบุ้ง บร็อคโคลี่ คะน้า ตำลึง ปวยเล้ง และแครอท ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินเอที่มีประโยชน์ช่วยในการทำงานของเซลล์ที่อยู่ที่จอประสาทตา ทำให้เซลล์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้พืชตระกูลเบอร์รี่ก็เป็นพืชอีกกลุ่มหนึ่งที่มีสารสำคัญช่วยป้องกันการเสื่อมประสิทธิภาพของดวงตา ซึ่ง “โกจิเบอร์รี่” เป็นหนึ่งในพืชตระกูลเบอร์รี่ที่พบว่า มีการรายงานว่ามีสารสำคัญที่ช่วยป้องกันการเสื่อมของจอประสาทตามากกว่าพืชตระกูลเบอร์รี่ชนิดอื่น
โกจิเบอร์รี่
โกจิเบอร์รี่ (Goji berry) หรือ Wolfberry มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lycium chinensis Mill. วงศ์ Solanaceae และรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าเก๋ากี้ เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งในตระกูลเบอร์รี มีถิ่นกำเนิดแถบทวีปเอเชีย และเป็นพืชสมนุไพรจีนที่ถูกเรียกขานว่า “ยาอายุวัฒนะ” เนื่องจากเป็นพืชที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง ชาวจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีจึงนิยมใช้เป็นยามาหลายร้อยปี ปัจจุบันชาวยุโรปและอเมริกาต่างตื่นตัวในสรรพคุณที่หลากหลายของโกจิเบอร์รี่ จนได้รับขนานนามว่าเป็น “ซุปเปอร์ฟรุต (super fruit)” ผลของโกจิเบอร์รี่มีสีแดงอมส้ม ขนาดเล็ก รสชาติเปรี้ยวอมหวาน นิยมปลูกกันในเขตมองโกเลีย และหิมาลัย ต้นโกจิเบอร์รี่มีความสูงประมาณ 12 ฟุต (รูปที่ 1) ต้นโกจิเบอร์รี่นั้นแม้จะอยู่ในสภาพอากาศที่เลวร้ายก็ยังคงสามารถมีอายุยืนได้เป็นร้อยปีเลยทีเดียว [2]
โกจิเบอร์รี่ เป็นพืชที่มีใยอาหารสูงถึงร้อยละ 20 กรดอะมิโนหลายชนิด รวมถึงแร่ธาตุที่สำคัญที่ร่างกายต้องการ เช่น สังกะสี เหล็ก ทองแดง แคลเซียม ฟอสฟอรัส ซิลีเนียม และเจอร์มาเนียม เป็นต้น [3] นอกจากนี้ยังมีวิตามินเอ ซี และบี2 ในปริมาณสูง ที่สำคัญโกจิเบอร์รี่ยังมีสารสำคัญที่ช่วยบำรุงสายตา คือ ซีแซนทีน (zeaxanthin) และลูทีน (lutein) สูงมากกว่าผักและผลไม้ทั่วไป สารสำคัญดังกล่าวเป็นสารจำพวกแคโรทีนอยด์ (carotenoids) ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างสารประกอบทั้งสองนี้ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร โดยโครงสร้างของซีแซนทินและลูทีนจะเป็นไอโซเมอร์ (isomer) กัน แตกต่างกันเพียงตำแหน่งพันธะคู่ที่วงแหวนด้านปลาย (รูปที่ 2) พบว่า ซีแซนทินและลูทีน เป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ 2 ชนิดเท่านั้นที่พบในจุดรับภาพของจอตา
ลูทีนเป็นแคโรทีนอยด์สีเหลือง พบปริมาณมากบริเวณเซลล์รับภาพภายในจอประสาทตา ซึ่งเป็นจุดที่แสงตกประทบ และทำให้สามารถมองเห็นภาพที่ชัดเจน โดยจะพบตรงชั้นเนื้อเยื่อที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาท ซึ่งจุดดังกล่าวเป็นจุดที่สำคัญมากต่อการมองเห็น หากบริเวณดังกล่าวเสื่อม หรือเสียไป อาจทำให้สูญเสียการมองเห็น หรือตาบอดได้ โดยสารลูทีนในเซลล์รับภาพในจอประสาทตานี้ จะทำหน้าที่สำคัญ คือ กรองแสงสีฟ้า ซึ่งเป็นอันตรายต่อจอประสาทตา และเป็นแสงที่หลีกเลี่ยงได้ยากเพราะมีอยู่ทั่วไปรอบๆ ตัวเรา โดยเฉพาะผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ จากการศึกษา พบว่า ระดับลูทีน 2.0 – 6.9 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยป้องกันความเสื่อมของจุดด่างในดวงตาได้ นอกจากนี้ ลูทีนยังมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ antioxidant ในดวงตาของคนเราอีกด้วย เพราะในดวงตาจะมีสารอนุมูลอิสระอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นตัวทำลายเซลล์รับภาพและทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับจอประสาทตาทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ได้
สำหรับซีแซนทิน เป็นสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่พบในโกจิเบอร์รี่ปริมาณสูง มากกว่าสาหร่ายเกลียวทองประมาณ 5 เท่า ซีแซนทินเป็นองค์ประกอบสำคัญในจอตา (retina) โดยเฉพาะส่วนที่เรียกว่า macula ซึ่งเป็นชั้นของเม็ดสี ทำหน้าที่กรองแสงที่จะผ่านเข้าสู่จอตาและช่วยลดการสะท้อนของแสง ป้องกันรังสีจากแสงแดดที่เป็นอันตรายต่อดวงตา ทำให้มีสมบัติช่วยป้องกันโรคหลายชนิด เช่น โรคต้อกระจก โรคจอรับภาพเสื่อม โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสารสำคัญสำหรับดวงตา โดยเฉพาะกับผู้ใช้สายตามาก เด็กวัยเรียนและวัยเจริญเติบโต ที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรทัศน์ หรืออยู่กับแสงสว่างจ้า กลางแดดนานๆ [4] นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการเกิดจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (age-related macular degeneration; AMD) ซึ่งเป็นภาวะความเสื่อมที่เกิดขึ้นบริเวณ macula ของจอตา ถ้าชั้นเม็ดสีบริเวณนี้ถูกทำลายมากจะทำให้เกิดความเสียหายต่อส่วนที่ใช้รับภาพได้ (photoreceptors) อาจส่งผลให้การรับภาพและการมองเห็นสูญเสียไป [5]
ซีแซนทินและลูทีนยังช่วยบำรุงสุขภาพดวงตาโดยการลดอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องจอตาจากการถูกทำลายโดยแสงสีฟ้า และแสงใกล้อุลตร้าไวโอเลต เช่น แสงจากจอคอมพิวเตอร์ แสงจากดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ซีแซนทินและลูทีนจะทำงานร่วมกันกับกรดไขมันดีเอชเอ และเอเอ ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างการพัฒนาการด้านการมองเห็นของเด็ก โดยดีเอชเอและเอเอ จะช่วยในการพัฒนาสมองและสายตา ส่วนซีแซนทินและลูทีนจะช่วยปกป้องดวงตาไม่ให้เสื่อมเร็ว[6]
โกจิเบอร์รี่ช่วยบำรุงสายตาและช่วยชะลอความเสี่ยงต่อโรคจอประสาทตาเสื่อม อ่านต่อคลิก
โครงสร้างสารซีแซนทิน ลูทีน บีตาแคโรทีน และวิตามินเอ
จากรายงานการศึกษาทางระบาดวิทยาและทางคลินิกพบว่า การรับประทานลูทีนในปริมาณที่สูง จะช่วยทำให้ภาวะการเสื่อมของจอประสาทตา มีอัตราเสี่ยงต่ำกว่าร้อยละ 43 เมื่อเปรียบเทียบการรับประทานในปริมาณที่ต่ำ นอกจากนี้ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า หญิงและชายที่ได้รับลูทีนในปริมาณสูง จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกในอัตราที่ต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้รับประทานลูทีน และจากประสิทธิภาพของลูทีนที่ช่วยชะลออาการจอประสาทตาเสื่อมในผู้ใหญ่ จึงมีการศึกษาประโยชน์ของลูทีนที่มีต่อการปกป้องจอประสาทตาของทารกและเด็กเล็กเพิ่มมากขึ้น มีการศึกษาผลการรับประทาน ลูทีนกับซีแซนทินร่วมกันหลายรายงานการศึกษา พบว่า จากการศึกษากลุ่มตัวอย่าง จำนวน 876 คน อายุระหว่าง 55-80 ปี การได้รับลูทีนและซีแซนทีนในปริมาณสูงจะช่วยลดความเสี่ยงของจอประสาทตาเสื่อมอย่างเฉียบพลันตามอายุได้ นอกจากนี้ การศึกษาคนไข้จำนวน 421 คน แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ได้รับลูทีนและซีแซนทีนในปริมาณสูง จะลดระดับอัตราเสี่ยงของความเสื่อมของตาตามอายุได้ และการได้รับลูทีนและซีแซนทีน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีผลทำให้ระดับของลูทีนในเลือดและใน macula สูงขึ้น และทำให้การวัดการมองเห็นต่างๆ ดีขึ้น มีแนวโน้มในการป้องกันการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ [7]
ลูทีนและซีแซนทิน สามารถลดความเสี่ยง หรือชะลอการเกิดต้อกระจกได้ โดยเข้าไปมีบทบาทช่วยลดกลไกการเกิดความเสื่อมของโรคต้อกระจกโดยตรง และมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากอนุมูลอิสระเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเกิดต้อกระจก มีการวิจัยในกลุ่มผู้สูงอายุต่าง ๆ พบว่ากลุ่มที่มีระดับของ ลูทีนและซีแซนทินในกระแสเลือดสูง จะมีความขุ่นของเลนส์ตาน้อยกว่า นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยว่าการรับประทานลูทีนในปริมาณสูง เพิ่มความสามารถในการมองเห็นของผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจก การวิจัยในผู้ชาย 3,664 คน ที่ได้รับอาหารเสริมและวิตามินต่างๆ พบว่า กลุ่มที่ได้รับอาหารเสริมเป็น ลูทีนและซีแซนทิน จะลดความเสื่อมของโรคต้อกระจกถึงร้อยละ 19 และจากรายงานของ University of Massachusetts ซึ่งทำวิจัยในผู้หญิงจำนวน 50,461 คน พบว่า ลูทีนและซีแซนทินจะลดความเสี่ยงของโรคต้อกระจกถึงร้อยละ 22 การวิจัยที่ University of Wisconsin-Madison Medical School ในผู้สูงอายุ 43-48 ปี จำนวน 1,354 คน พบว่าลูทีนและซีแซนทินช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดต้อกระจกที่มีการขุ่นของเลนส์ที่เนื้อเลนส์ตรงกลาง (Nuclear cataract) ได้ถึงร้อยละ 50 จากการวิจัยทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่ยอมรับว่าลูทีนและซีแซนทิน ลดอุบัติการณ์โรคต้อกระจกในผู้สูงอายุได้จริง
สำหรับการศึกษาผลของโกจิเบอร์รี่ต่อการปกป้องประสาทตานั้น มีรายงานของ Inbaraj และคณะ ได้ทำการศึกษาวิจัยปริมาณของแคโรทีนอยด์ทั้งหมด (total carotenoid contents) ในผลโกจิเบอร์รี่แห้ง พบว่าในผลโกจิเบอร์รี่มีซีแซนทินมากที่สุดถึงร้อยละ 95 รองลงมาคือ ลูทีน และ β-cryoptoxanthin ตามลำดับ [8] และมีรายงานการวิจัยในผู้สูงอายุช่วง 65-70 ปี ได้รับประทานสารสกัดโกจิเบอร์รี่ 13.7 g ต่อวัน เป็นเวลา 90 วัน พบว่ามีระดับซีแซนทินนในพลาสมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 และ antioxidant capacity เพิ่มขึ้นร้อยละ 57 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานสารสกัดโกจิเบอร์รี่ นอกจากนี้ในกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานสารสกัดโกจิเบอร์รี่ยังพบว่า มีการเกิดภาวะเม็ดสีต่ำกว่าปกติ (hypopigmentation) และเกิดความผิดปกติของขั้วประสาทตา ในขณะที่กลุ่มอาสาสมัครผู้สูงอายุที่รับประทานสารสกัดโกจิเบอร์รี่ พบว่ามีการเพิ่มของเม็ดสีที่ macula เพิ่มขึ้น [9,10]
นอกจากนี้ผลของโกจิเบอร์รี่ยังสามารถช่วยป้องกันการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอตาในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานได้อีกด้วย โดยมีรายงานการศึกษาวิจัยในหนูทดลองที่รับประทานผลโกจิเบอร์รี่เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า มีปริมาณซีแซนทินรวมกับลูทีนในเนื้อเยื่อตับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 323 และในจอตาร้อยละ 13.7 [11] โดยซีแซนทินและลูทีนสามารถยับยั้งการแสดงออกของเอนไซม์ glutathione s-transferase Pi1 (GSTP1) และ β,β-carotene 9’,10’-oxygenase2 (BCO2) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอตาได้ [12] และการที่ไมโทคอนเดรีย (mitochondrial) ในเนื้อเยื่อตาทำงานผิดปกติเนื่องจากเกิดความเสียหายของ DNA ในไมโทคอนเดรียก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตาในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ โดยจากการศึกษาวิจัยของ Brazionis และคณะ มีการรายงานว่าผลของโกจิเบอร์รี่สามารถลดความเสียหายของ DNA ในในไมโทคอนเดรีย และเพิ่มเม็ดสีในจอประสาทตา (retinal pigment epithelia, RPE) ในหนูที่เป็นเบาหวานได้อีกด้วย [13]
นอกจากนี้ ผลโกจิเบอร์รี่ยังมีปริมาณวิตามินเอที่สูง วิตามินเอเป็นวิตามินที่มีประโยชน์และคุณค่าต่อร่างกายอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยในการมองเห็น บำรุงสายตา เนื่องจากเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของคอร์เนีย (cornea) วิตามินเอช่วยให้ไม่เป็นโรคตาฟาง คนที่เป็นโรคนี้จะมองเห็นในที่มืดได้ไม่ค่อยชัดทั้งๆที่มีแสงพอที่จะมองเห็นได้ ถ้าขาดวิตามินเอมากๆ ก็จะทำให้ไม่สามารถมองเห็นในที่มืดได้เลย โดยวิตามินเอจะรวมตัวกับโปรตีนชื่อ ออพซิน (opsin) เป็นสารประกอบโรดอพซิน (rhodopsin) ซึ่งมีคุณสมบัติดูดแสงและปรับสายตาให้มองเห็น สารประกอบนี้จะสลายไปเมื่อถูกใช้แล้ว ดังนั้น การบริโภคอาหารที่ให้วิตามินเอที่เพียงพอในการสร้างโรดอพซินได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ วิตามินเอยังช่วยป้องกันเยื่อบุนัยน์ตาแห้ง คนที่ขาดวิตามินเอมากๆ เยื่อบุนัยน์ตาจะแห้งและมีโอกาสอักเสบได้ง่าย เปลือกตาบวม มีจุดขาวๆ ที่ตาเหมือนมีฟองน้ำเกาะที่เยื่อบุตา และมีเม็ดขึ้นบนผิวกระจกตา ซึ่งถ้าไม่รักษาและปล่อยให้ขาดวิตามินเอนานๆ อาจทำให้ตาบอดได้
นอกจากผลโกจิเบอร์รี่ซึ่งอุดมไปด้วยซีแซนทิน ลูทีนและวิตามินเอซึ่งเป็นสารสำคัญที่จะช่วยในการบำรุงสายตาและช่วยป้องกันและปรับสภาพแสง กรองแสงสีฟ้าที่เข้าสู่ตาที่มีอันตรายต่อตา ป้องกันการเสื่อมของเลนส์ตา และจอภาพเรตินาแล้ว โกจิเบอร์รี่ยังมีสารสำคัญอีกหลายชนิดและมีคุณประโยชน์อีกมากมายตัวอย่างเช่น
ช่วยต้านอนุมูลอิสระ โกจิเบอร์รี่อุดมด้วยวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซีโดยมีวิตามินซีสูงกว่าส้มถึง 500 เท่า และสารฟลาวานอยด์ ( flavonoids) เช่น quercetin, myricetin, kaempferol, rutin ในปริมาณที่สูง ซึ่งสารอาหารเหล่านี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยปกป้องเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ช่วยดูแลเรื่องผิวพรรณ ชะลอความชรา และจากการค้นคว้าและวิจัยของ Mindell และคณะพบว่าผลโกจิเบอร์รี่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีค่า ORAC (สมรรถภาพการดูดซับอนุมูลอิสระของออกซิเจน) ในปริมาณมากถึง 25,300 (ในขณะที่ลูกพรุนซึ่งมีค่า ORAC เป็นลำดับที่ 2 มีค่า ORAC เพียง 5,700 เท่านั้น) โดยอนุมูลอิสระเป็นอนุมูลที่หลงเหลือจากปฏิกิริยาทางเคมีชีวะภายในร่างกายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรืออาจได้มาจากภายนอกร่างกายเช่นสภาวะอากาศที่เป็นพิษ หรือการสูบบุหรี่ อนุมูลอิสระสามารถทำปฏิกิริยากับสารอื่นได้ดีและมีพลังงานสูง ทำให้อนุมูลอิสระสามารถทำลายผนังเซลล์และทำลายสารพันธุกรรมของเซลล์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความแก่ ความเสื่อมของอวัยวะในร่างกาย หรือทำให้เซลล์เกิดการแบ่งตัวอย่างผิดปกติเกิดเป็นโรคมะเร็งตามส่วนต่างๆของร่างกายขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยว่าการดื่มน้ำโกจิเบอร์รี่ 120 mL/วัน สามารถช่วยป้องการการเกิด oxidative stress ได้โดยมีผลช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ superoxide dismutase และ glutathione peroxidase และยังสามารถช่วยป้องกันการเกิด lipid peroxidation ได้อีกด้วย [14,15]
ช่วยต้านเซลล์มะเร็ง ผลโกจิเบอร์รี่ มีสารเจอร์มาเนี่ยม (germanium) ช่วยหยุดการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ลดความเสี่ยงต่อภาวะมะเร็ง นอกจากนี้สารต้านอนุมูลอิสระในผลโกจิเบอร์รี่ ช่วยทำลายป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง ทั้งยังพบว่าเบต้าแคโรทีนสามารถช่วยกระตุ้นเซลล์ภูมิต้านทานในร่างกายให้ทำงานต้านสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น ซึ่งให้ผลดีกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง มีผลการศึกษาที่ได้รับการบันทึกลงในวารสารจีนเกี่ยวกับเนื้องอกว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีการตอบสนองในการรักษาโรคมะเร็งดีขึ้น เมื่อมีการนำผลโกจิเบอร์รี่มาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษา และยังช่วยอาการข้างเคียงจากการรักษาโรงมะเร็งด้วยวิธีคีโมและฉายรังสีด้วย [16]
ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในแข็งแรง ในผลโกจิเบอร์รี่มีสารโพลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharides) 22 ชนิด โดยมี 4 ชนิด ได้แก่ LBP-1, LBP-2, LBP-3 และ LBP-4
ที่ช่วยกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาว (T&B lymphocyte) ปรับปรุงเซลล์เม็ดเลือดขาวให้ทำงานได้ดีขึ้น สร้างความแข็งแรงของเม็ดเลือด ป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ และมีสารพวกฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ที่ช่วยป้องกันเม็ดเลือดแดงไม่ให้อนุมูลอิสระมาทำลาย และช่วยกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดได้ [17]
ช่วยส่งเสริมการทำงานของตับ พบว่า สารสำคัญซีรีโบรไซด์ (cerebroside) ในโกจิเบอร์รี่ช่วยส่งเสริมการทำงานของตับให้เป็นปกติ
ช่วยเสริมความจำและคลายเครียด บีเทนในโกจิเบอร์รี่ ช่วยให้เกิดการสร้างสารโคลีน (choline) ซึ่งเป็นสารประกอบที่ช่วยเสริมความจำให้ดีขึ้น ช่วยให้ร่างกายปรับตัวเพื่อควบคุมความกังวลและความเครียดได้ลดลงอยู่ในสภาวะปกติ ด้วยเหตุนี้โกจิเบอร์รี่จึงมีชื่อว่าเรียกอย่างว่า แฮปปี้เบอร์รี่ (happy berry) ทำให้มีอารมณ์ที่สดชื่นแจ่มใส [18,19]
ช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ต้านเบาหวาน ช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต ยับยั้งการเกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือด ช่วยให้หัวใจแข็งแรง เนื่องจากในโกจิเบอร์รี่มีสารพวกไซพอโรน (cyperone) ซึ่งมีผลดีต่อหัวใจและความดันเลือด นอกจากไซเพอโรนยังมีสารแอนโทโซยานินส์ (anthocyanins) ช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง มีเบต้า-ซิโตสเตอรอล (beta-sitosterol) ซึ่งสามารถช่วยรักษาระดับคอเลสเตอรอลดี (HDL) จากการทดสอบทางคลินิกพบว่า สามารถลดการเกิดอนุมูลอิสระของไขมันได้ 20 % นอกจากนี้ยังมีสารฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ที่ช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว ช่วยยับยั้งปฏิกิริยาการเกิดคอเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ที่สาเหตุของโรคหัวใจเนื่องจากเส้นเลือดตีบ
ช่วยระบบเจริญพันธุ์ ช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโตสเตอโรน (Testosterone) ในเลือด เพิ่มความต้องการทางเพศ และช่วยเพิ่มจำนวนอสุจิ แก้ปัญหาการมีบุตรยากอันมีสาเหตุจากจำนวนอสุจิที่น้อยเกินไป และช่วยให้สเปิร์มแข็งแรงขึ้น
ช่วยบำรุงร่างกาย ทำให้ระบบต่างๆในร่างกายทำงานสัมพันธ์กันได้ดี แก้อาการอ่อนเพลีย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยให้หัวใจแข็งแรง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงที่แข็งแรงเพิ่มขึ้น ช่วยระบบเจริญพันธุ์ เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ป้องกันอาการคลื่นไส้ของหญิงมีครรภ์ ลดอาการอักเสบของโรคไขข้ออักเสบ เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ และกระดูก ช่วยให้เหงือกแข็งแรง ปรับปรุงระบบการย่อย ลดความเครียด อาการปวดศีรษะ แก้อาการวิงเวียนศีรษะ ช่วยในการนอนหลับ ช่วยในเรื่องความจำ ทำให้รู้สึกสดชื่น บรรเทาอาการนอนไม่หลับ ปรับปรุงคุณภาพของการนอน ช่วยให้การออกกำลังกายได้นานขึ้น ช่วยขจัดความเมื่อยล้าและความเฉื่อยชา บำรุงตับ และไต
อาการไม่พึงประสงค์และข้อควรระวัง โกจิเบอร์รี่ลดการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดหยุดไหลช้า ดังนั้นจึงควรหยุดรับประทานโกจิเบอร์รี่ในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 1 อาทิตย์ ก่อนเข้ารับการผ่าดัด หรือทำฟัน
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าในชีวิตประจำวัน เราอาจหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงสีฟ้าได้ยาก เนื่องจากเป็นแสงที่อยู่รอบๆ ตัวเรา รวมทั้งจากอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นการบำรุงสุขภาพตาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งการปกป้องสายตาจากแสงสีฟ้า นอกจากการหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงสีฟ้านานๆ การพักสายตาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แล้ว การรับประทานสารที่มีฤทธิ์ปกป้องและบำรุงสายตา เช่น โกจิเบอร์รี่ ลูทีน และ วิตามินเอ อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะมีผลให้เรามีสุขภาพตาที่ดี และ ปัจจุบันสารอาหารเสริมเหล่านี้ก็หารับประทานได้ง่าย สะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นจากผัก ผลไม้ นม เครื่องดื่ม หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีขายทั่วไป
เอกสารอ้างอิง
1.สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา. ๒๕๕๘. ชลบุรี. (ออนไลน์). แหล่งที่มา:
https://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=6275. ๑ พฤกษภาคม ๒๕๕๙ .
2.Amagase H, Farnsworth NR. A review of botanical characteristics, phytochemistry, clinical relevance in efficacy and safety of Lycium barbarum fruit (Goji). Food Res Int 2011; 44: 1702-17.
3.Ji H, He H, Lin D. Dietary wolfberry and retinal degeneration. Preedy V, editor Handbook of nutrition, diet, and the eye. 1 st ed. London; 2014. p.465-72
4.Bernstein PS, Li B, Vachali PP, Gorusupudi A, Shyam R, Henriksen BS, Nolan JM. Lutein, zeaxanthin, and meso-zeaxanthin: The basic and clinical science underlying carotenoid-based nutritional interventions against ocular disease. Prog retin eye res 2016;50: 34-66.
5.Amagase H, Nance DM. A Randomized, Double-Blind, Placebo-Controlled, Clinical Study of the General Effects of a Standardized Lycium barbarum (Goji) Juice, GoChi. J Altern Complement Med 2008;14(4): 403-12.
6.Cheng CY, Chung WY, Szeto YT, Benzie IF. Fasting plasma zeaxanthin response to Fructus barbarum L. (wolfberry; Kei Tze) in a food-based human supplementation trial. Br J Nutr 2005; 93(1):123-130.
7.Kvansakul J, Rodriguez-Carmona M, Edgar DF, Barker FM, Kopcke W, Schalch W, Barbur JL. Supplementation with the carotenoid lutein or zeaxanthin improves human visual performance. Ophthalmic Physiol Opt 2006;26:362-71.
8.Inbaraj BS, Lu H, Hung CF, Wu WB, Lin CL, Chen BH. Determination of carotenoids and their esters in fruits of Lycium barbarum Linnaeus by HPLC-DAD-APCI-MS. J Pharm Biomed Anal 2008;47: 812–818.
9.Vidal K, Bucheli P, Gao Q, Moulin J, Shen LS, Wang J, et al. Immunomodulatory effects of dietary supplementation with a milk-based wolfberry formulation in healthy elderly: a randomized, double-blind, placebo-controlled trial. Rejuvenation Res 2012;15: 89–97.
10.Bucheli P, Vidal K, Shen L, Gu Z, Zhang C, Miller LE, Wang J. Goji berry effects on macular characteristics and plasma antioxidant levels. Optom Vis Sci 2011;88:257–62.
11.Brazionis L, Rowley K, Itsiopoulos C, O’Dea K. Plasma carotenoids and diabetic retinopathy. Br J Nutr 2009;101:270–7.
12.Von LJ. Colors with functions: elucidating the biochemical and molecular basis of carotenoid metabolism. Annu Rev Nutr 2010;30:35–56.
13.Kowluru RA. Diabetic retinopathy: mitochondrial dysfunction and retinal capillary cell death. Antioxid Redox Signal 2005;7:1581–7.
14.Zou S, Zhang X, Yao W, Niu Y, Gao G. Structure characterization and hypoglycemic activity of a polysaccharide isolated from the fruit of Lycium barbarum L. Carbohydr Polym 2010;80:1161–7.
15.Chang RC, So KF. Use of Anti-aging Herbal Medicine, Lycium barbarum, Against Aging-associated Diseases. What Do We Know So Far?. Cell Mol Neurobiol 2007;28(5):643-52.
16. Yu MS, Ho YS, So KF, Yuen WH, Chang RC. Cytoprotective effects of Lycium barbarum against reducing stress on endoplasmic reticulum. Int J Mol Med. 2006;17(6):1157-6.
17.Chen Z, Lu J, Srinivasan N, Kwong B, Tan H, Chan SH. Polysaccharide-Protein Complex from Lycium barbarum L. Is a Novel Stimulus of Dendritic Cell Immunogenicity. J Immunol. 2009;182:3503 -9.
18.Yu MS, Leung SK, Lai SW, Che CM, Zee SY, So KF, Yuen WH, Chang RC. Neuroprotective effects of anti-aging oriental medicine Lycium barbarum against beta-amyloid peptide neurotoxicity. Exp Gerontol. 2005;40(8-9):716-27.
19.Yu MS, Lai CS, Ho YS, Zee SY, So KF, Yuen WH, Chang RC. Characterization of the effects of anti-aging medicine Fructus lycii on beta-amyloid peptide neurotoxicity. Int J Mol Med. 2007;20(2):261-8.
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!