รู้จักโรค อีสุกอีใส
โรค อีสุกอีใส เป็นโรคติดต่อที่มาด้วยอาการไข้ออกผื่น พบมากในเด็ก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา-ซอสเตอร์ โดยทั่วไปจะพบ อัตราการป่วยได้สูงสุดในกลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ 0-4 ปี, 10-14 ปี, 15-24 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ ในคนที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป อาจพบได้บ้าง โรคนี้มีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกันทั้งหญิงและชาย ซึ่งมักจะเป็นคนที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคนี้หรือไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกัน
โรคนี้มาก่อน โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่ระบาดแพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือตามชุมชนที่อยู่อาศัยทั่วไป สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีอุบัติการณ์เกิดสูงสุดในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน
อีสุกอีใส เป็นเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Varicella-zoster virus (HZV) สามารถแพร่กระจายได้จากการไอจามรดกัน และการสัมผัสกับผู้ที่กำลังเป็นอีกสุกอีใส โดยอีสุกอีใสมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ เชื้อจะเริ่มแบ่งตัวและเข้าสู่กระแสเลือด ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยจะสังเกตอาการได้จากการมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ร่วมกับการมีตุ่มใส คันขึ้นตามร่างกาย
อีสุกอีใสตอนตั้งครรภ์
หากคุณแม่เป็นอีสุกอีใสตอนท้อง จะรุนแรงกว่าเป็นในช่วงเวลาปกติ เนื่องจากภูมิคุ้มกันของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นหากเป็นอีสุกอีใสระหว่างตั้งครรภ์นั้น ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของคุณแม่
ในระยะครรภ์อ่อนๆ หรือภายใน 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์
หากทารกในครรภ์เกิดติดเชื้อนี้จากคุณแม่ที่เป็นอีสุกอีใสในระยะสร้างอวัยวะ อาจเกิดความผิดปกติของทารกที่เรียกว่า congenital varicella syndrome โดยทารกอาจมีความผิดปกติของผิวหนัง หรือแขนขาลีบเล็ก ปัญญาอ่อน สมองฝ่อ สมองอักเสบ ชัก เป็นอัมพาต มีความผิดปกติทางตา ตาเป็นต้อกระจก และในบางรางยังอาจคลอดก่อนกำหนดอีกด้วย โดยครึ่งหนึ่งของทารกที่ติดเชื้ออีสุกอีใส มักเสียชีวิตภายในสองปีแรก ในบางรายอาจคลอดออกมาเป็นปกติ แต่มาแสดงอาการแบบติดเชื้องูสวัดภายในขวบปีแรกก็มี
ในระยะใกล้คลอด
หากคุณแม่เป็นอีสุกอีใสในช่วง 7 วันก่อนคลอด ถึง 7 วันหลังคลอด อาจมีปัญหาปอดบวม ปอดอักเสบ การหายใจล้มเหลว อาจ ซึ่งสามารถทำให้เสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูกในท้อง อาจทำให้ทารกติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมียาต้านเชื้อไวรัสอีสุกอีใส ซึ่งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของทารกลงได้ แต่ว่ายามีราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมาก
เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไปยังทารกที่จะคลอด ดังนั้น จึงควรยืดระยะเวลาการคลอดออกไปอย่างน้อย 7 วันหลังจากคุณแม่มีผื่นขึ้น เพื่อให้ภูมิคุ้มกันจากแม่ได้ส่งต่อไปให้ลูกน้อย โดยที่การยืดเวลาคลอดออกไปนั้น จะต้องไม่ส่งผลเสียต่อมารดา และทารกในครรภ์ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของคุณหมอ
อีสุกอีใสใกล้คลอด
จะป้องกันอีสุกอีใส ได้อย่างไร
- คนท้อง ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใส หรือตรวจเลือดแล้วยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรหลีกเลี่ยงใกล้ชิดคนเป็นโรคอีสุกอีใส และควรพบแพทย์ หากได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้ออีสุกอีใส
- คุณแม่ท้อง ไม่ควรจะฉีดวัคซีนอีสุกอีใส เพราะอาจจะเกิดอันตรายได้ รวมถึงผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องด้วย
- ควรฉีดวัคซีน ป้องกันอีสุกอีใสตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ โดยวัคซีนอีสุกอีใสในผู้ใหญ่ต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกันประมาณ 1 เดือน และควรที่จะรออย่างน้อยอีก 1-3 เดือนหลังจากการฉีดวัคซีนครบตามกำหนด ก่อนที่จะเริ่มปล่อยให้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้น
- ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกันในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย แต่หากตรวจพบว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน ก็ควรฉีดวัคซีนหลังคลอดบุตรแล้ว
- การให้วัคซีนหลังคลอดนั้น สามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ
การดูแลตนเอง ของแม่ท้องที่เป็นอีสุกอีใส
- คุณแม่ควรดื่มน้ำให้มาก และพักผ่อนให้เพียงพอ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน
- ตัดเล็บให้สั้น ไม่ควรแกะเกาตุ่มใส เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หากมีอาการไข้สูงควรกินยาลดไข้ ร่วมกับใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่บรรเทาอาการ
- หากคันมากควรทายาคาลาไมน์ (Calamine lotion ) แต่หากต้องการกินยาแก้แพ้ ควรปรึกษาคุณหมอก่อน
- อาจใช้สบู่ที่มียาฆ่าเชื้ออาบน้ำแทนได้
- หากคุณแม่มีอาการหนักขึ้น เช่น มีไข้สูงไม่ยอมลด ตุ่มใสเป็นหนอง หรือมีแทรกซ้อน เช่น หอบเหนื่อย ชัก ซึม เจ็บแน่นหน้าอก ควรรีบไปพบคุณหมอทันที
- คุณแม่ที่มี อายุ ครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไปควรนับลูกดิ้นทุกวัน หากลูกดิ้นน้อยกว่าปกติ ควรไปพบคุณหมอทันที
หากคุณแม่กำลัง ตั้งครรภ์อยู่อ่านแล้วอย่าเพิ่งเป็น กังวลนะคะ หากไม่ได้เป็นในช่วง ไตรมาสแรกหรือช่วงใกล้คลอด ความรุนแรงก็จะน้อยลงค่ะ นอกจากนี้คุณแม่สามารถป้องกันตัวเองได้ โดยพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วย หรือไปโรงพยาบาลเฉพาะเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันการรับเชื้อจากโรงพยาบาลค่ะ แต่หากคุณกำลังเตรียมตัวหาข้อมูลก่อนการตั้งครรภ์ เราแนะนำให้คุณฉีดวัคซีนป้องกันไว้ล่วงหน้าเพื่อความปลอดภัยค่ะ
The Asianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งานฟรี เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว
การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
“คนท้องมี sex ได้ไหม” ฟังชัด ๆ จากปากลิเดีย ศรัณย์รัชต์
คนท้องกังวล ปวดขาหนีบเป็นสัญญาณการคลอดหรือไม่?
คนท้องกับเทียนหอม แม่ท้องต้องระวัง เทียนหอมมีผลต่อร่างกายแม่และลูก!
ที่มา : oknation, 2, kapook, mamastory
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!