ห้ามท้องด้วยเทคโนโลยี
ท้องด้วยเทคโนโลยีไม่ได้นะ ถ้าแม่เข้าข่าย 7 ข้อต้องห้าม แม่เป็นแบบนี้ห้ามใช้ เพราะเสี่ยงอันตรายจากการตั้งครรภ์ได้
จากพรบ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้เมื่อตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2558 มีสาระสำคัญส่วนหนึ่งคือกำกับควบคุมการตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ซึ่งสถานพยาบาลที่จะให้บริการได้จะต้องขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.)
ลักษณะหญิงที่ ห้ามท้องด้วยเทคโนโลยี
รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ ประธานอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯได้ออกคำแนะนำกรณีที่ไม่สมควรให้มีการใช้เทคโนโลยีช่วยในการตั้งครรภ์ ได้แก่
- หญิงอายุมากกว่า 48 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
- มีภาวะอ้วนรุนแรง ดัชนีมวลกายมากกว่า 40
- เคยคลอดบุตรมาแล้ว 4 ครั้ง หรือผ่าคลอด 3 ครั้ง
- ป่วยทางจิตเวชขั้นรุนแรง ที่จิตแพทย์ให้ความเห็นว่าไม่ควรตั้งครรภ์
- กรณีหญิงเป็นมะเร็งระยะลุกลาม
- กรณีเคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะที่สำคัญ เช่น หัวใจ ตับ ไต
- กรณีที่มีโรคประจำตัวรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายจากการตั้งครรภ์ เช่น โรคหัวใจที่มีความรุนแรง ตับวาย ไตวาย
กรณีเหล่านี้ราชวิทยาลัยสูติฯแนะนำว่าไม่ควรใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์โดยให้หญิงนั้นตั้งครรภ์เอง เพราะอาจเกิดอันตรายจากการตั้งครรภ์ได้
หากอยากมีลูกควรไปใช้วิธีการอุ้มบุญแทน ซึ่งราชวิทยาลัยสูติฯจะเสนอไปยัง กคทพ.เพื่อให้กรณีเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ใช้ในการยื่นเพื่อพิจารณาขอให้ตั้งครรภ์แทนได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดตามพรบ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ รวมถึงกรณีผู้ที่ทำเด็กหลอดแก้ว 3 ครั้งแล้วไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
ปัจจุบันในทางปฏิบัติจะใช้เป็นเงื่อนไขในการตั้งครรภ์แทนได้เช่นกัน แต่อนาคตอาจจะต้องเพิ่มเติมทำเด็ดหลอดแก้วไม่ได้เนื่องจากมดลูกมีปัญหาด้วยจึงจะอนุญาต เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยที่มีปัญหาจริง ๆ
การใช้เทคโนโลยีช่วยในการตั้งครรภ์ สิ่งสำคัญที่อยากเน้นย้ำคือสูตินรีแพทย์ที่จะให้บริการในด้านนี้ จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับวุฒิบัตรในอนุสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์เท่านั้น สูตินรีแพทย์ที่ยังอยู่ระหว่างการอบรมอนุสาขาอนุญาตให้ทำได้เฉพาะในสถานพยาบาลที่ฝึกอบรมและอยู่ภายใต้กำกับของสูตินรีแพทย์ที่รับวุฒิบัตรอนุสาขาแล้วเท่านั้น ไม่สามารถไปทำที่สถานพยาบาลอื่นได้
กรณีการตรวจคัดกรองพันธุกรรมตัวอ่อนให้กระทำได้ในกรณีที่กฎหมายกำหนดคือ กรณีจำเป็นและสมควรตามประกาศแพทยสภา อาทิ
- สามีหรือภรรยามีพันธุกรรมผิดปกติ
- มีประวัติการตั้งครรภ์ที่ทารกมีความพิการหรือเป็นโรคหรือความผิดปกติที่รุนแรง
- มีบุตรที่ป่วยเป็นโรคหรือมีความผิดปกติอย่างรุนแรงซึ่งอาจรักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด
- มีประวัติการแท้งบุตร
ไม่ให้ทำเพื่อเลือกเพศเด็ก เพราะหลักสากลถือว่าเพศชายและเพศหญิงมีความเท่าเทียมกันทางเพศ การเลือกเพศถือเป็นการเหยียดเพศ ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยสูติฯจะออกคำแนะนำในการตรวจคัดกรองพันธุกรรมตัวอ่อนในเร็ว ๆ นี้ว่า ไม่ถือเป็นมาตรฐานในรักษาด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เนื่องจากมีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือ ราคาแพง ความแม่นยำไม่ 100 % เพราะฉะนั้น ในหญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไปซึ่งอุบัติการณ์เด็กในท้องมีความเสี่ยงที่ผิดปกติเพิ่มขึ้นตามอายุมารดานั้น สามารถตรวจคัดกรองตัวอ่อนได้ตามความสมัครใจและต้องการของหญิงตั้งครรภ์
ราชวิทยาลัยสูติฯ จะออกคำแนะนำในเรื่องจำนวนการย้ายกลับตัวอ่อนเข้าสู่มดลูกด้วยว่า กรณีที่ควรย้ายกลับตัวอ่อนเพียง 1 ตัว คือ
- หญิงตั้งครรภ์มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หัวใจ เป็นต้น
- มีประวัติสุขภาพที่เสี่ยงหากตั้งครรภ์แฝด เสี่ยงที่จะมดลูกแตก เช่น อายุมากกว่า 45 ปี เป็นต้น
- เป็นการทำครั้งแรก
- ไม่เคยมีประวัติตั้งครรภ์แต่อายุ
กรณีการย้ายกลับตัวอ่อน 3 ตัวเฉพาะกรณี อายุมากกว่า 42 ปีขึ้นไปไม่มีตัวอ่อนคุณภาพ มีการย้ายกลับตัวอ่อนมาแล้ว 2 ครั้งขึ้นไปแต่ยังไม่ตั้งครรภ์ และย้ายกลับตัวอ่อน 2 ตัว ซึ่งจะเป็นเด็กแฝดให้เป็นการรับรู้รับทราบร่วมกันระหว่างแพทย์และพ่อแม่เด็ก แต่จะต้องไม่อยู่ในข้อกำหนดที่ให้ย้ายกลับตัวอ่อนได้เพียง 1 ตัว
ที่ราชวิทยาลัยสูติฯต้องออกคำแนะนำเรื่องจำนวนการย้ายกลับตัวอ่อนนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟ้องร้องกรณีที่สูติแพทย์ทำให้หญิงตั้งครรภ์แฝด 2 หรือ 3 โดยที่ผู้ตั้งครรภ์ไม่รับทราบหรือไม่ได้ยินยอมมาก่อน อาจเกิดการฟ้องร้องตามพรบ.คุ้มครองผู้บริโภคฐานละเมิดได้ อีกทั้ง บ่อยครั้งที่แพทย์ที่ทำให้ท้องกับแพทย์ที่รับฝากครรภ์และทำคลอดเป็นคนละคนกัน ทำให้มีการปีนเกลียวระหว่างแพทย์ แพทย์ที่รับฝากครรภ์เริ่มบอกว่าท้องแฝด 3 ไม่รับฝากครรภ์ หรือบางคนบอกเลยว่าถ้าท้องจากการทำเด็กหลอดแก้วไม่รับฝากท้อง ยิ่งถ้าท้องแฝด 4 หาแพทย์รับฝากท้องไม่ได้แน่ ๆ
ที่มา : https://www.thaihealth.or.th/
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
อาการตกไข่ ไข่ตกมีอาการแบบไหน ต้องนับวันตกไข่ยังไง ถึงจะมีลูก
7 อาหารบำรุงสมองทารกในครรภ์ กินอะไรให้ลูกในท้องฉลาด
การเพิ่มน้ำหนักตัวระหว่างตั้งครรภ์ ทำอย่างไรไม่ให้อ้วนไปทั้งแม่ทั้งลูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!