วิธีใช้ลูกยางแดง ยางแดง วิธีใช้ลูกยางแดง ดูดน้ํามูก ล้างจมูกลูกครั้งแรก ทำอย่างไร แล้วสีน้ํามูกลูก บอกอาการอะไร อาการป่วยลูกน้อยที่น่ากังวล
ยางแดง ทำไมถึงมีน้ำมูก
ทำไมลูกถึงมีน้ำมูก นั่นก็เพราะว่า น้ำมูกทำหน้าที่จับกับสิ่งต่าง ๆ ที่ปนมากับลมหายใจ เช่น สารก่อภูมิแพ้ และเชื้อโรค นอกจากนี้ในน้ำมูกยังมีสารต่อต้านเชื้อโรค โดยสีของน้ำมูกสามารถบอกอาการของโรค หรือปัญหาเกี่ยวกับจมูกได้
สีน้ํามูกลูกมีสีใส
น้ำมูกที่ใสมักประกอบด้วยน้ำ แอนติบอดีที่ต่อต้านเชื้อโรค เกลือ และโปรตีน ส่วนใหญ่มักจะไหลลงคอ และเรามักจะกลืนลงไปในกระเพาะอาหาร ซึ่งสาเหตุเกิดจากหวัด (เยื่อบุจมูกอักเสบ) หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรืออาจเกิดจากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ไวรัสมากระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุจมูก ทำให้มีน้ำมูกใส ๆ ไหลออกมาหรือไหลลงคอได้
สารก่อภูมิแพ้ก็เช่นเดียวกัน สามารถกระตุ้นเยื่อบุจมูกของผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ทำให้มีการหลั่งของฮิสทามีน (Histamine) ออกมา ซึ่งฮิสทามีนสามารถกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในเยื่อบุจมูกให้ผลิตน้ำมูกใส ๆ ออกมาได้ การให้ยาต้านฮิสทามีนและการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือสามารถบรรเทาอาการน้ำมูกที่ไหลออกมาหรือไหลลงคอได้
สีน้ํามูกลูกมีสีขาว
น้ำมูกไหลออกมาหนา ๆ เหนียว และขาวขุ่น อาจมาจากการที่น้ำมูกถูกขังอยู่ในโพรงจมูกเป็นระยะเวลานานจากเยื่อบุจมูกที่บวม นอกจากนั้น การที่เรารับประทานผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับนมมากเกินไปอาจทำให้น้ำมูกที่ออกมาหรือไหลลงคอมีสีขาวขุ่นได้เนื่องจากไขมันในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนมสามารถทำให้น้ำมูกสูญเสียความชุ่มชื้น ทำให้น้ำมูกมีลักษณะหนา เหนียว และมีสีขาวขุ่นตามมาได้
สีน้ํามูกลูกมีสีเหลือง
สีน้ํามูกลูกมีสีเหลือง อาจหมายถึงการติดเชื้อแบคทีเรียในโพรงจมูกหรือไซนัส โดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะส่งเซลล์ที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว ออกมาทำลายเชื้อแบคทีเรีย ทั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวและเชื้อแบคทีเรียที่ตายแล้ว รวมทั้งเมือกและหนองต่าง ๆ จะรวมตัวกัน ทำให้น้ำมูกมีสีเหลืองได้
อย่างไรก็ตาม การที่น้ำมูกค้างอยู่ในโพรงจมูกเป็นระยะเวลานานมาก ๆ เช่น ทั้งช่วงกลางคืน อาจทำให้น้ำมูกมีสีเหลืองได้เวลาตื่นมาตอนเช้าโดยที่ไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ในกรณีนี้น้ำมูกมักจะมีสีเหลืองเวลาตื่นนอนตอนเช้า แต่ในช่วงเวลาอื่น ๆ ของวัน น้ำมูกจะมีสีใส
สีน้ํามูกลูกมีสีเทา
น้ำมูกที่มีสีเทาอาจบ่งบอกว่าในจมูกของคุณมีริดสีดวงจมูก เกิดจากเยื่อบุจมูกหรือไซนัสที่บวมออกมาเป็นก้อนในโพรงจมูก หรือไซนัส ซึ่งไม่ใช่เนื้องอกร้าย แต่มักเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุจมูก ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง โรคหืด หรือภาวะแพ้ยาแอสไพริน โรคไซนัสอักเสบจากเชื้อราสามารถทำให้น้ำมูกมีสีเทาได้ ซึ่งมักเกิดจากสปอร์ของเชื้อรามาเกาะที่ผิวเยื่อบุจมูกและเจริญเติบโตมากขึ้น มักมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บของเยื่อบุจมูกเรื้อรัง หรือภูมิต้านทานของร่างกายลดน้อยลง
สีน้ํามูกลูกมีสีเขียว
น้ำมูกสีเขียว คือ การแสดงถึงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังทำงานต่อต้านเชื้อแบคทีเรียเหมือนกับการที่น้ำมูกมีสีเหลือง สีเขียวเกิดจากเอนไซม์ ซึ่งสร้างโดยเม็ดเลือดขาว น้ำมูกที่มีสีเขียวมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียภายในโพรงจมูกหรือไซนัส (ไซนัสอักเสบ)
สีน้ํามูกลูกมีสีแดง
เกิดจากมีเส้นเลือดในโพรงจมูกแตกแล้วปนมากับน้ำมูก ซึ่งเส้นเลือดที่แตกอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การระคายเคืองหรือบาดเจ็บบริเวณจมูก การอักเสบในโพรงจมูก เนื้องอก โรคของหลอดเลือดชนิดต่าง ๆ หรือแม้แต่การที่เยื่อบุจมูกแห้ง ทำให้เส้นเลือดในเยื่อบุโพรงจมูกอยู่ชิดกับผิวมากขึ้น มีการแตกของเส้นเลือดได้ง่าย ในกรณีที่น้ำมูกมีสีแดงโดยเฉพาะออกจากจมูกเพียงข้างใดข้างหนึ่งควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด
สาเหตุของจมูกแห้ง ได้แก่ ดื่มน้ำน้อย อยู่ในห้องแอร์ ซึ่งมักจะทำให้เราต้องสัมผัสกับอากาศที่เย็นและแห้งเป็นประจำ หรือเปิดพัดลมเป่าจ่อที่หน้าหรือจมูกเป็นระยะเวลานาน หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศเย็นหรือหนาวจัด อาจต้องพ่นน้ำเกลือเข้าในโพรงจมูกบ่อย ๆ หรือใช้เครื่องปรับอากาศให้อุ่นและชื้นขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีน้ำมูกสีดำ ซึ่งเกิดจากการสูบบุหรี่หรือสูดยานัตถุ์ ใช้ยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย หรือผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะทางอากาศมาก หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อราของโพรงจมูกหรือไซนัส
วิธีใช้ลูกยางแดงดูดน้ํามูก
วิธีใช้ลูกยางแดงช่วยดูดน้ํามูก
เมื่อลูกป่วย ล้างจมูกให้ลูกอย่างไรดี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แนะนำการล้างจมูกในเด็กเล็ก โดยวิธีล้างจมูกในกลุ่มเด็กเล็กที่ยังสั่งน้ำมูกและบ้วนเสมหะเองไม่ได้ โดยใช้ลูกยางแดงช่วยดูดน้ํามูก
วิธีล้างจมูกด้วยลูกยางแดง
- ล้างมือให้สะอาด
- เทน้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% ใส่ถ้วยหรือแก้วน้ำที่เตรียมไว้ ใช้กระบอกฉีดยาดูดน้ำเกลือจนเต็มกระบอก
- ให้เด็กนอนท่าศีรษะสูงพอควร เพื่อป้องกันการสำลัก (ใช้ผ้าห่อตัวเด็กในกรณีที่เด็กดิ้นมาก)
- จับหน้าเด็กให้นิ่งสอดปลายกระบอกฉีดยาชิดด้านบนของรูจมูก ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือเข้าจมูกครั้งละประมาณ 0.5 – 1 ซีซี
- ใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกออกโดย
- บีบลูกยางจนสุดเพื่อไล่ลมออก ค่อย ๆ สอดเข้าไปในรูจมูกตื้น ๆ ประมาณ 1 – 1.5 ซม.
- ค่อย ๆ ปล่อยมือที่บีบออกช้า ๆ เพื่อดูดน้ำมูกเข้ามาในลูกยาง
- ดึงลูกยางแดงออกจากรูจมูกแล้ว บีบน้ำมูกในลูกยางทิ้งในน้ำ โดยบีบเข้า – บีบออกในน้ำสะอาดหลายครั้ง แล้วสะบัดให้แห้ง
ทำขั้นตอนที่ 5 ซ้ำหลาย ๆ ครั้งในรูจมูกแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูก
การล้างจมูกในทารก สามารถทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง?
นอกจากวิธีล้างจมูก ที่ทางสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แนะนำแล้ว ยังมีวิธีอื่นอีก โดยรศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ อธิบายว่า
การล้างจมูก กำจัดน้ำมูกในทารก มีด้วยกัน หลากหลายวิธี ตามปริมาณน้ำมูก และอายุของทารก ได้แก่
- การหยอดน้ำเกลือ ทำได้โดยหยอดน้ำเกลือ (Normal saline) เข้าไปในรูจมูก ข้างละ 2-3 หยด เพื่อให้น้ำมูกที่เหนียวข้นและแห้งติดจมูกอ่อนตัวลง ไม่แห้งกรัง เหมาะกับเด็กเล็กที่มีปริมาณน้ำมูกไม่มาก โดยหลังจากหยอดน้ำเกลือแล้ว หากมีปริมาณน้ำมูกน้อยควรเช็ดจมูก เอาน้ำมูกออกด้วยไม้พันสำลี แต่หากมีปริมาณน้ำมูกมาก ควรดูดน้ำมูกออก ด้วยลูกยางแดงหรือเครื่องดูดต่อกับอุปกรณ์ดูดน้ำมูก
- การพ่นจมูก เป็นการกำจัดน้ำมูก โดยใช้อุปกรณ์พ่นน้ำเกลือแบบสเปรย์ เหมาะกับเด็กเล็กที่มีปริมาณน้ำมูกน้อย ไม่เหนียวข้นมาก มีข้อดีคือสามารถพกพาไปในที่ต่างได้สะดวก
- การล้างจมูกด้วยกระบอกฉีดยา เป็นการล้างจมูกที่สามารถทำได้โดยใช้น้ำเกลือปริมาณมาก จึงเหมาะกับการกำจัดน้ำมูกปริมาณมากที่ติดอยู่ในโพรงจมูก
เด็กทารกอายุมากกว่า 6 เดือน ที่เคยล้างจมูกมาก่อน สามารถให้ความร่วมมือได้ดี มีขั้นตอนดังนี้
- ให้เด็กอยู่ในท่านั่ง ก้มหน้าเล็กน้อย
- สอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูก
- ฉีดน้ำเกลือเข้าไปในจมูกครั้งละประมาณ 1-5 ซี ซี หรือปริมาณมากที่สุดเท่าที่เด็กจะทนได้ จนน้ำเกลือและน้ำมูกไหลออกมาทางจมูกอีกข้างหนึ่ง
- ล้างซ้ำได้หลาย ๆ ครั้ง จนไม่มีน้ำมูกออกมา
หากทารกหรือลูกเล็กมีอาการหวัด คัดจมูก พ่อแม่สามารถใช้ลูกยางแดง ดูดน้ํามูก วิธีใช้ลูกยางแดงก็ไม่ยากนะคะ แต่พ่อแม่ก็ต้องสังเกต สีน้ํามูกลูกด้วย หากพบว่ามีสีที่ผิดปกติ ร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่ต้องกังวล อย่านิ่งนอนใจควรรีบพาลูกไปตรวจอย่างละเอียดที่โรงพยาบาล
ที่มา : https://dlibrary.childrenhospital.go.th โรงพยาบาลธนบุรีและ Health Today
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ค่าฝุ่นละออง กทม. PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ควรสวมใส่หน้ากากป้องกัน คนท้อง ทารก เลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง
ลูกไอตอนกลางคืน ไอถี่ ไอมาก ระวังสัญญาณ 3 โรคร้าย
เสมหะลงปอด ทารก ปอดอักเสบ ปอดบวม วิธีดูดเสมหะ ช่วยให้ลูกหายใจโล่ง
โรคหน้าหนาว ต้องระวังลูกป่วย ทารก เด็กเล็ก เสี่ยงโรคร้าย แถมมีโรคแทรกซ้อนรุนแรงถึงชีวิต!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!