คุณแม่บางท่านอาจไม่สามารถให้นมจากเต้าได้ทุกวัน จึงต้องหา วิธีเก็บน้ำนม ที่สามารถเก็บได้อย่างมีคุณภาพ เรามาดู วิธีเก็บน้ำนม เก็บอย่างไรให้ได้นานมีคุณภาพ
ขั้นตอนเก็บน้ำนมแม่ให้คงคุณภาพมากที่สุด
- ก่อนปั๊มนม คุณแม่ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องความสะอาด และสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ต้องล้างมือให้พร้อม โดยช่วงเวลาก่อนปั๊มนม แนะนำให้คุณแม่ดื่มน้ำอุ่นและเปิดเพลงเบา ๆ เพื่อทำให้อารมณ์ดี ที่สำคัญ ต้องหามุมสงบเป็นส่วนตัวเพื่อไม่ให้รู้สึกเครียด
- หากคุณแม่อยู่นอกบ้าน ไม่สะดวกที่จะล้างมือด้วยน้ำ แนะนำให้ใช้เจลแอลกอฮอล์สูตรมาตรฐานที่มีระดับแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย 64-69% เช็ดถูที่มือจนมั่นใจว่าสะอาดแล้วจึงค่อยปั๊มนม
- กระตุ้นเต้านมให้พร้อมด้วยการใช้มือนวดคลึง หากมีผ้าขนหนูแนะนำชุบกับน้ำอุ่น นำมาประคบด้วยจะทำให้การหลั่งน้ำนม ได้ปริมาณมากขึ้นและน้ำนมไหลดีขึ้น
- ปั๊มให้พอดีกับการดื่มของลูกแต่ละครั้งใน 1 ภาชนะ แล้วปิดซิปล็อค ถุงเก็บนมแม่ ให้สนิท หรือปิดฝาขวดให้แน่นหนาไม่ให้หกเลอะเทอะได้ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมเขียนวัน เวลาที่ปั๊มนมด้วย เพื่อให้ดูวันหมดอายุของนมได้ง่ายขึ้น และหยิบใช้ได้ตามลำดับจากเก่าไปใหม่ ตามหลักการที่เรียกว่า First in First out คือน้ำนมที่ปั๊มจากเต้าก่อนให้นำมาให้ลูกดื่มก่อน
- หลังการปั๊มนมแต่ละครั้ง คุณแม่ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ปั๊มนมทันทีด้วยน้ำร้อนผสมน้ำสบู่ฆ่าเชื้อ และล้างให้สะอาด ก่อนนำไปผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อ แล้วคว่ำให้แห้ง เพื่อให้มั่นใจได้เสมอว่าไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคตกค้างและพร้อมต่อการหยิบใช้งานครั้งต่อไปตลอดเวลา
ระยะเวลาในการเก็บน้ำนมแม่
- หากวางไว้ในอุณหภูมิห้องปกติสามารถเก็บได้ 4 ถึง 6 ชั่วโมง
- เก็บในกระติกน้ำแข็งสามารถเก็บได้ 1 วัน
- เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดาสามารถเก็บได้ 1 ถึง 2 วัน
- เก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็นประตูเดียวเก็บได้นาน 2 อาทิตย์
- เก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็นสองประตูเก็บได้นาน 3 เดือน
- เก็บในตู้เย็นชนิดตู้แช่แข็งที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 6 ถึง 12 เดือน
- ปั๊มนมแล้ววางไว้ที่อุณหภูมิห้องปกติไม่ใช่ห้องแอร์ อุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 37 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้ ภายใน 1 ชั่วโมง หากอุณหภูมิสูงกว่านั้น หรือปล่อยให้เกินเวลาจะทำให้เกิดเชื้อโรคปนเปื้อนในนมได้
- ปั๊มนมวางไว้ในห้องแอร์ ที่มีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส น้ำนมเหล่านี้จะสามารถอยู่ได้ประมาณ 4 ชั่วโมง
- สำหรับคุณแม่ที่ปั๊มจากที่ทำงาน หรือปั๊มนมจากนอกบ้าน การแช่นมในกระติกน้ำแข็ง ควรวัดให้มีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสามารถเก็บน้ำนมไว้ได้ 24 ชั่วโมง
เคล็ดลับ การเก็บน้ำนมแม่ ให้มีอายุนานที่สุด
วิธีเก็บน้ำนม
- ถ้าไม่ได้ใส่น้ำนมที่ปั๊มแล้วไว้ในตู้เย็น ให้ปั๊มนมใส่ถุงหรือขวดนมตั้งไว้บนโต๊ะ อุณหภูมิต้องไม่เกิน 25 องศา คุณแม่สามารถดูอุณหภูมิจากแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือก็ได้ เพื่อคาดคะเนอุณหภูมิในห้องที่คุณแม่อยู่ได้อย่างแม่นยำขึ้น โดยอายุน้ำนมหลังปั๊มจะเก็บได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง
- ถ้าเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดาที่อุณหภูมิ 2-4 องศา จะเก็บน้ำนมได้นานขึ้นเป็น 2 ถึง 5 วัน หลังจากปั๊มน้ำนม ขอให้คุณแม่ท่องไว้เลยว่า ยิ่งอุณหภูมิต่ำ ยิ่งเพิ่มอายุ การเก็บน้ำนมแม่ ให้ยาวนานยิ่งขึ้น
- ถ้าเก็บนมในช่องฟรีซหรือช่องแช่แข็ง หลังจากที่คุณแม่ปั๊มนมจากเต้าแล้ว ต้องรีบนำ ถุงเก็บนมแม่ เข้าตู้เย็นทันที จะเก็บได้นานกว่า 3 วันแน่นอน
- นอกจากเรื่องอุณหภูมิของสถานที่เก็บแล้ว วิธีเก็บรักษานมแม่ ให้ได้ยาวนาน ยังขึ้นกับความสะอาดของภาชนะด้วย คุณแม่ต้องใส่ใจความสะอาดใหม่ของถุงเก็บน้ำนม ถุงไม่บางเกินไป ไม่มีรอยปริรั่วซึม และมีซิปที่ปิดได้สนิท ทั้งนี้ควรดูวันที่ผลิตด้วยเพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าจะเก็บรักษาน้ำนมได้อย่างดี
- ลำดับในการหยิบใช้ถุงเก็บน้ำนม คุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำนมถุงไหนปั๊มไว้ก่อน เทคนิคคือต้องเขียนวันเวลาปั๊มนมไว้ข้างภาชนะให้ชัดเจน จะได้หยิบใช้จากนมที่ปั๊มไว้นานกว่า ทำให้ลูกได้ดื่มนมแม่ที่สดใหม่และไม่มีปัญหาลูกดื่มนมหมดอายุ
- สำหรับคุณแม่ที่ปั๊มนมใส่ขวดพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ก็ต้องมั่นใจว่าขวดนั้นผ่านการต้มนึ่งฆ่าเชื้ออย่างถูกสุขอนามัย แห้งสนิทก่อนนำมาใช้ เพื่อการันตีว่าไม่มีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนที่ทำให้ลูกท้องเสียและทำให้อายุของนมสั้นลง
- ปิดภาชนะไม่ว่าจะเป็นขวดหรือถุงเก็บนมให้สนิททุกครั้งก่อนเก็บในตู้เย็นหรือวางบนโต๊ะ จะได้ป้องกันไม่ให้มีเชื้อโรคปนเปื้อน
- ผู้เชี่ยวชาญไม่แนะนำให้คุณแม่ใช้ขวดนมที่ทำจากแก้วเก็บน้ำนม เพราะในน้ำนมแม่มีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีความสามารถพิเศษในการเกาะผิวแก้วจากด้านใน จึงทำให้เกิดการติดเชื้อปนเปื้อนในนม หากทำความสะอาดกำจัดคราบได้ไม่สะอาดเพียงพอ ส่งผลต่อคุณภาพและอายุของน้ำนมแม่หลังจากปั๊มได้
การทำสต็อกน้ำนม
การเก็บน้ำนมแม่
การทำ stockน้ำนม ขอแนะนำให้เริ่มเก็บน้ำนมตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังคลอดเลยนะคะ ยิ่งเริ่มต้นเร็วเท่าไรยิ่งง่ายเท่านั้น (โดยเฉพาะภายใน 1-2 สัปดาห์แรกหลังคลอด) เพราะนอกจากจะช่วยให้เราไม่ต้องกังวลในช่วงใกล้ๆ จะกลับไปทำงาน แล้วยังเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมด้วยค่ะ แต่ถ้าคุณพลาดช่วงเวลานั้นมาแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล เริ่มต้นได้เลยตั้งแต่วันพรุ่งนี้
- เริ่มจากมื้อเช้า (ตี 5-6 โมง) ร่างกายแม่จะผลิตน้ำนมได้มากที่สุดในช่วงนี้
ถ้าตื่นก่อนลูก ให้ปั๊มหรือบีบน้ำนมออกก่อน 1 ข้าง (สมมุติว่าเป็นข้างขวา) ประมาณ 15 นาที ได้เท่าไหร่ (แรกๆ อาจจะไม่ถึงออนซ์ ก็ไม่ต้องกังวล ทำทุกวัน น้ำนมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) เก็บเอาไว้ เมื่อลูกตื่นให้ลูกดูดข้างซ้าย นานจนกว่าลูกจะพอใจ ถอนปากออกจากเต้าแม่เอง ถ้าไม่หลับ ก็ให้ลูกมาดูดต่อข้างขวาที่เราปั๊มไปแล้ว เมื่อลูกดูดเสร็จ ให้กลับมาปั๊มข้างซ้าย (ที่ลูกดูดตอนแรก) ต่ออีก 2-3 นาทีเพื่อกระตุ้น
ถ้าลูกตื่นก่อนก็ให้ลูกดูดก่อนหนึ่งข้าง (สมมุติว่าข้างซ้าย) ให้ลูกดูดนานเท่าที่ลูกต้องการ เมื่อลูกถอนปากออกจากเต้า ให้ปั๊มอีกข้างที่เหลือ (ขวา) ประมาณ 15 นาที แล้วปั๊มข้างซ้าย (ที่ลูกดูดไปแล้ว) อีก 2-3 นาที ทั้งสองข้างได้นมเท่าไหร่ ก็เก็บไว้ ถ้าลูกไม่หลับ อาจจะให้ลูกมาดูดต่อข้างขวา (ที่ปั๊มไปแล้ว) ซ้ำอีกก็ได้
ที่มา :
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
ถุงเก็บน้ำนม แม่คืออะไร ทำไมถึงต้องให้ความสำคัญ
ทำสต๊อกน้ำนมอย่างไร ไม่ให้ลำบากเมื่อแม่ต้องกลับไปทำงาน
วิธีปั๊มนม เทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้า เอาใจคุณแม่นักปั๊ม บ้านไหน ลูกไม่ดูดเต้า ปั๊มอย่างเดียว ยิ่งต้องรู้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!