คุณแม่เคยสงสัยไหมคะ ว่าลูกที่เป็นเด็กร่าเริง แข็งแรง แต่ทำไมมักจะมีอาการท้องอืด อยู่เป็นประจำ นั่นอาจจะเป็นผลจากการชงนมผงที่ไม่ถูกวิธีนั่นเองค่ะ วันนี้เราจึงจะมาแนะนำ วิธีชงนมให้ลูก ชงอย่างไรให้ถูกวิธี เพื่อลดอาการอาหารไม่ย่อย จนทำให้ลูกน้อยไม่สบายตัวกันนะคะ
ลูกน้อยของคุณแม่มีสุขภาพแข็งแรงมาโดยตลอด แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ลูกน้อยกลับมีอาการอาหารไม่ย่อย ท้องบวม และความอยากอาหารลดน้อยลงบ้างหรือไม่ วิธีชงนมให้ลูก ชงอย่างไรให้ถูกวิธี คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะการชงนมผง ที่ดูเหมือนง่าย ๆ นั้น กลับมีข้อควรระวังเยอะแยะมากมายทีเดียวค่ะ
4 วิธีชงนมผงที่ถูกต้อง ไม่มีฟอง ช่วยป้องกันทารกท้องอืดได้
การชงนมผง เป็นขั้นตอนพื้นฐานในการเลี้ยงลูก ที่ถือว่าเบสิคสำหรับคุณแม่มาก และแม่ ๆ ทุกคน น่าจะรู้วิธีการชงนมกันดีอยู่แล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า สิ่งที่คิดว่าง่าย และทำตามแบบที่ใคร ๆ เขาก็ทำกันมานั้น อาจจะเป็นวิธีชงนม ที่ตัวคุณแม่เอง อาจจะเข้าใจผิดมาโดยตลอดก็เป็นไปได้ค่ะ
การชงนมให้กับทารกอายุ 0 – 3 เดือน ที่ระบบย่อยยังไม่สมบูรณ์นั้น การชงนมที่ไม่ถูกวิธี อาจจะทำให้เด็ก เกิดอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง บิดตัวไปมาบ่อย ๆ และร้องไห้งอแงไม่หยุดเลยก็ได้ ดังนั้น ก่อนที่จะชงนมให้ลูกของคุณ ลองมาอ่านบทความนี้ก่อนดีกว่าค่ะ ว่าได้ทำสิ่งเหล่านี้ไปบ้าง หรือไม่
1. ใส่นมผงเข้าไปในขวดนม ก่อนใส่น้ำต้มสุก
คุณแม่หลายท่าน มักจะคุ้นเคยกับการตักนมผงใส่ขวดนมก่อน แล้วจึงค่อยเติมน้ำตามลงไป ซึ่งการทำอย่างนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการที่คุณแม่ใส่นมผงลงไปก่อนนั้น จะทำให้ปริมาณน้ำที่ใส่ไป น้อยกว่าความเป็นจริง ทำให้ลูกน้อยได้รับนม ในปริมาณที่เข้มข้นเกินไป ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดอาการท้องอืด หรือท้องผูกได้
2. การใช้น้ำร้อนชงนม
การที่คุณแม่ใช้น้ำร้อนชงนมให้ลูกเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำค่ะ นั่นเป็นเพราะน้ำร้อน จะทำให้ผงนมจับตัวเป็นก้อน และทำลายสารอาหารบางตัวที่ใส่มาในนม ทำให้เด็ก ไม่สามารถรับสารอาหารได้ครบถ้วน ตามข้อมูลกล่าวอ้างในสลากข้อมูลสารอาหาร น้ำที่เหมาะกับการชงนมให้กับลูกก็คือ น้ำต้มสุก ที่ถูกพักทิ้งไว้จนมีอุณหภูมิเท่ากันกับอุณหภูมิห้องนั่นเอง
โดยการเก็บน้ำต้มสุก ที่ปลอดภัยนั้น ควรที่จะใส่ในภาชนะที่ทำจากแก้ว ไม่ใช่พลาสติก นั่นเป็นเพราะตัวพลาสติก สามารถทำปฏิกิริยากับน้ำร้อน และส่งผลให้เกิดสารปนเปื้อน ออกมาปะปนกับน้ำต้มสุกนั่นเอง หรือหากคุณแม่จะชงนมด้วยน้ำร้อน ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ก็ควรผสมกับน้ำต้มสุก ในอัตรา 1 : 3 คือ น้ำร้อน 1 ส่วน น้ำต้มสุก 3 ส่วน ก็จะได้น้ำสำหรับชงนมลูกที่อุ่นกำลังพอดี (ดูปริมาณน้ำ กับการตวงนมผงได้จากฉลากข้างกระป๋อง)
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 2021 คุณแม่ต้องรู้ รีวิวเจาะลึกสารอาหารหลักนมกล่อง UHT ให้ลูกมีพัฒนาการดีที่สุดตามช่วงวัย
3. เขย่าขึ้นลงแรง ๆ จนน้ำนมพุ่งปรี๊ดออกจากจุกนม
การเขย่าขึ้น – ลงแบบแรง ๆ เป็นวิธีปกติที่แม่ ๆ ชอบทำกัน แต่ทว่ามันกลับเป็นวิธี ที่ทำให้เกิดฟองอากาศมากที่สุด ซึ่งการที่ลูกดูดฟองอากาศเข้าไป ก็จะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุ ที่ทำให้ลูกท้องอืด ไม่สบายท้อง
วิธีลดอาการท้องอืดของลูกก็คือ จับลูกเรอหลังกินนม และไม่เขย่าขวดนมขึ้นลงแรง ๆ แต่ควรใช้วิธีหมุนวนขวดนมไปรอบ ๆ แทน จะทำให้นมผงกับน้ำผสมกันได้โดยที่ไม่เกิดฟอง
4. ชงนมมากเกินไปจนลูกกินไม่หมด จริง ๆ แล้ว ควรชงนมพอดีกับที่ลูกกิน
ชงนมพอดีกับที่ลูกกินก็พอ หรือหากลูกกินนมไม่หมด นมที่เหลือสามารถเก็บในอุณหภูมิปกติได้ แต่ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงหลังจากชง ซึ่งหากนานเกิน 1 ชั่วโมงไปแล้ว ไม่ควรให้ลูกกินต่อ เพราะอาจทำให้ลูกท้องอืด หรือหนักสุดก็อาจทำให้ลูกท้องเสียได้
นอกจากนี้ การชงนมให้ลูกกินมากเกินไป อาจทำเกิดภาวะโอเวอร์ฟีดดิ้ง(overfeeding) หรือได้รับนมเกินความจำเป็นของร่างกาย ฉะนั้น ชงนมให้พอดีกับที่ลูกต้องการกินก็พอ โดยคุณแม่เองสามารถคำนวณปริมาณนม ที่ลูกน้อยต้องการในแต่ละมื้อ จากการดื่มในแต่ละวัน ก็จะช่วยลดอาการแหวะนม อ้วกพุ่งในทารกที่มีอายุ 0 – 3 เดือนได้
มีหลายปัจจัยที่ทำให้แม่จำเป็นที่จะต้องชงนมผงให้ลูกกิน ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ผ่าคลอด น้ำนมมาช้า หรือคุณแม่ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ แต่อย่าลืมนะคะว่า “นมแม่” คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกวัย 0 – 6 เดือน ดังนั้น ให้นมผงเป็นแค่นมเสริม และนมแม่เป็นมื้อหลัก จะดีต่อลูกมากที่สุด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : แนะนำการให้นมผงสำหรับเด็ก 3 เดือน เด็กคนไหนกินนมไม่ได้ต้องทำไง?
ความเชื่อผิด ๆ ในการชงนมผง
- ต้องเข้มข้นสิถึงจะดี โดยทั่วไปปริมาณนมผงที่เติมลงในขวดเพื่อชง จะถูกระบุในฉลากไว้ข้างกระป๋องนมผงยี่ห้อนั้น ๆ อยู่แล้วอย่างชัดเจน แต่เรามักจะใช้ความรู้สึกส่วนตัวว่า หากชงให้เข้มข้มขึ้นซักนิด ก็จะช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับลูกสิ
ซึ่งการเพิ่มปริมาณนมผงเกินอัตราส่วนนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเลยค่ะ เพราะนอกจากจะไปเพิ่มภาระการย่อยในกระเพาะอาหารของทารกแล้ว ยังทำให้ปริมาณแคลอรี่ที่ทารกได้รับในแต่ละมื้อนั้น เกินความจำเป็น ส่งผลให้สุขภาพของทารกไม่สมดุลอีกด้วยค่ะ
- ขวดนมแค่ล้างน้ำก็เพียงพอแล้ว อุ้ยตายว้ายกรี๊ด… อย่าปล่อยให้เกิดความคิดแบบนี้เชียวค่ะคุณพ่อคุณแม่ขา การล้างขวดนมนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับการชงนมผงเลยค่ะ รวมถึงการเลือกสรรอาหารเสริมให้ลูกก็เหมือนกัน
อาการอาหารไม่ย่อย หรืออาการท้องร่วงในเด็กส่วนมาก มักจะเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อแบคทีเรีย แล้วแบคทีเรียที่ว่า ก็มักจะพบเจอจากขวดนม ที่ไม่ได้ถูกทำความสะอาดได้ดีพอ การล้างออกด้วยน้ำเปล่าเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ค่ะ สิ่งที่คุณแม่ควรทำก็คือ นำขวดนมไปต้มในน้ำร้อน หรือเข้าเครื่องนึ่งขวดนมนั่นเองค่ะ
การชงนมผงให้ลูกน้อย ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย ๆ หากคุณพ่อคุณแม่ หรือพี่เลี้ยงเด็ก จะหันมาใส่ใจในรายละเอียด เล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ ก็จะส่งผลให้ สุขภาพของลูกน้อย เติบโตได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีร่างกายที่สมบูรณ์ พร้อมเผชิญโลกกว้าง และเรียนรู้สิ่งรอบข้างได้อย่างดีในอนาคตเลยค่ะ
ที่มา : ballyabio , happymom
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
น้ำที่ใช้ชงนมให้ลูก เรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจคุณแม่ควรใช้น้ำแบบไหนเพื่อให้ลูกปลอดภัย ได้ประโยชน์
วิธีชงนมไม่ให้เกิดฟองอากาศ เทคนิคชงนมลดอาการท้องอืดของทารก
ขวดนมสำหรับเด็ก ขวดนมแบบไหนเหมาะกับลูกน้อย ขวดนมแบบไหนถึงจะดี
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!