ลูกฟันผุง่าย ผิวเคลือบฟันไม่แข็งแรง ลักษณะฟันผุ
เพจชมรมทันตกรรมสำหรับเด็กแห่งประเทศไทย โพสต์ภาพทารกวัย 1 ขวบ ผิวฟันไม่แข็งแรง เสี่ยงฟันผุได้ง่าย พร้อมคำแนะนำ การปกป้องฟันลูกที่พ่อแม่ต้องเข้มงวด
ผิวฟันไม่แข็งแรง ลักษณะฟันผุ
ฟันในรูป เป็นของเด็กอายุ 1 ขวบ โผล่ขึ้นมาในช่องปาก ก็มีลักษณะแบบนี้ คือ ผิวชั้นนอกตรงปลายฟันกร่อนหายไป เป็นเนื้อฟันสีเหลือง และมีลายขุ่นขาวเป็นเส้นขวางบนฟัน ฟันหน้าคู่ล่างมีเส้นขาวขุ่นพาดขวางบนฟันเช่นกัน และเป็นทั้งซ้ายขวา symmetry ลักษณะแบบนี้ เรียกว่า enamel hypoplasia เป็นลักษณะผิวเคลือบฟันที่สร้างไม่สมบูรณ์
ผิวเคลือบฟันคืออะไร
มาดูที่โครงสร้างของตัวฟันก่อนค่ะ ถ้าเราผ่าตัวฟันออกดูจะพบว่า มี 3 ชั้น ชั้นนอกสุดที่เป็นฟันสีขาว ๆ ที่เรามองเห็น คือ ชั้นผิวเคลือบฟัน (enamel) เป็นส่วนที่มีแร่ธาตุสะสมมากที่สุด แช็งแรงที่สุด เป็นด่านแรกที่ป้องกันไม่ให้ฟันผุได้ง่ายๆ ชั้นถัดไป คือชั้นเนื้อฟัน (dentine) มีสีเหลือง และไม่แข็งแรงเท่าชั้น enamel หากฟันผุทะลุชั้น enamel ลงมาถึงชั้น dentin แล้ว จะลุกลามได้เร็วขึ้นมาก ชั้นในสุด คือโพรงประสาทฟัน มีเส้นเลือดเส้นประสาทมาเลี้ยงฟันซี่นั้น หากรูผุมาถึงชั้นนี้ จะมีอาการปวดฟัน
ผิวเคลือบฟันที่สร้างไม่สมบูรณ์ (enamel hypoplasia )
เกิดจาก มีการรบกวนการสร้างผิวฟันในขณะที่ฟันซี่นั้นตำแหน่งนั้นกำลังสร้างตัวอยู่ (ซึ่งถ้าเป็นฟันน้ำนมซี่หน้า สร้างช่วงไตรมาสแรกในครรภ์) มีหลายสาเหตุ เช่น คุณแม่มีอาการแพ้ท้องอย่างหนัก หรือป่วยติดเชื้อ หรือขาดวิตามินบางอย่าง รวมทั้งไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
ถ้าเป็นที่ฟันแท้ ก็เป็นเนื่องจากตัวลูกเอง อาจป่วย หรือคลอดก่อนกำหนด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่แพ้ท้อง หรือลูกคลอดก่อนกำหนด จะทำให้ลูกมีผิวฟันลักษณะนี้ หลายๆคนก็มีผิวฟันที่ปกติ
การเกิด enamel hypoplasia มีทั้งเป็นกับฟันเพียงไม่กี่ซี่ที่สร้างในเวลาใกล้ๆกัน หรือเป็นเกือบทุกซี่ หรือเป็นเพียงซี่เดียวก็ได้ ถ้าซี่เดียวมักเกิดเพราะเหตุเฉพาะกับซี่นั้น ไม่ใช่เหตุจากสุขภาพของลูกหรือของแม่ ผิวฟันที่เป็น enamel hypoplasia มีหลายลักษณะ เป็นสีขุ่นขาว สีเหลืองเข้ม ๆ จนเป็นสีน้ำตาล ผิวอาจเรียบ หรืออาจขรุขระก็ได้
*ฟันลักษณะนี้ มีความเสี่ยงที่จะเกิดฟันผุได้ง่ายกว่าปกติ แต่”ไม่จำเป็น” ว่าจะต้องผุเสมอไป*
- *เมื่อเราเห็นฟันลูกที่ขึ้นมามีลักษณะผิวเคลือบฟันไม่แข็งแรง แปลว่า คุณพ่อคุณแม่จะต้องช่วยปกป้องฟันของลูกมากกว่า คนที่มีผิวเคลือบฟันแข็งแรง*
- *เราจะไม่เอา ผิวฟันลูกที่ไม่แข็งแรง เป็นข้ออ้าง เมื่อลูกมีฟันผุ*
- *เราเป็นพ่อแม่ที่จะไม่ยอมจำนน เพียงเพราะธรรมชาติให้ฟันที่ไม่แข็งแรงมา แล้วเราจะต้องปล่อยตามยถากรรมให้ฟันลูกผุไป โดยไม่พยายามช่วยลูกอย่างถึงที่สุด … ลูกตัวน้อยยังไม่รู้ว่า ฟันลูกไม่แข็งแรง ลูกอาจร้องไห้ไม่อยากแปรงฟัน ลูกอาจอยากดูดนมขวดจนหลับไป แต่แม่รู้ว่า การแปรงฟัน หรือการไม่ดูดนมขวดจนหลับไป เป็นเรื่องที่ต้องทำและลูกจะทำได้ มันดีกว่าที่ลูกจะต้องโดนบังคับให้หมอรักษาฟันที่ผุตั้งแต่ยังเล็กมากๆแน่นอน*
หมอมีเด็กน้อยคนหนึ่ง ที่มีฟันลักษณะแบบนี้ดูแลกันอยู่
ฟันน้ำนมของน้องเกือบทุกซี่เป็นสีเหลือง บางตำแหน่งเรียบ บางตำแหน่งขรุขระ แต่เขี่ยดูก็แข็ง ๆ ไม่ยุ่ยไม่กร่อน หมอไม่แน่ใจว่าน้องเสียวฟันหรือเปล่า เพราะตอนหมอตรวจ น้องร้องไห้จ้าตลอด (ฟันที่ผิวเคลือบฟันหายไป อาจมีอาการเสียวฟัน ถ้าเสียวฟัน หมอควรต้องใช้วัสดุอุดปิดบริเวณที่เสียวฟันให้ จะได้ทานอาหารและแปรงฟันได้) เลยให้คุณแม่ไปสังเกตตอนแปรงฟัน และการรับประทานอาหาร คุณแม่ไม่ได้ให้น้องทานน้ำเย็น และน้องทานอาหารได้ปกติ จึงให้สังเกตอาการต่อไป
เราเจอกันวันแรกเมื่อน้องอายุประมาณ 1.5 ปี น้องยังเล็ก ไม่สามารถให้ความร่วมมือในการทำฟัน และคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่อยากให้น้องต้องรักษาโดยการดมยาสลบทำฟัน เราคุยกันถึงวิธีการป้องกันฟันผุที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำ ซึ่งถ้าฟันไม่ผุก็ยังไม่ต้องรักษา และได้นัดตรวจดูแลใกล้ชิดทุกๆ 2-3 เดือน… ผ่านมา 1 ปีแล้ว ฟันน้องยังมีสภาพเหมือนเมื่อพบกันครั้งแรก ดูเป็นสีเหลืองๆขรุขระบ้าง แต่แข็งๆไม่ยุ่ยไม่ผุ เพราะคุณแม่ดูแลด้วยมาตรการป้องกันฟันผุอย่างเข้มจริง ๆ
มาตรการเข้ม ที่หมอแนะนำให้คุณแม่ทำนั้นเป็นอย่างไร (ผู้ที่มีฟันแข็งแรงตามปกติก็นำไปปฏิบัติด้วยได้ เพื่อฟันที่สะอาดสวยงามของลูก)
- แม่ต้องแปรงฟันให้ลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แปรงทั่วถึงทุกซี่ ด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์ … การแปรงฟันอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่เอาแปรงแหย่ ๆ เข้าไปแน่ ๆ แม่ต้องมองเห็นฟันทุกซี่และตำแหน่งที่แปรง ว่าแปรงฟันได้ทั่วจริง ๆ
- ไม่ดูดนมขวดจนหลับไป ทันทีตั้งแต่วันแรกที่เราเจอกัน ไม่ดูดนมมื้อดึกด้วย แปรงฟันเสร็จเข้านอนแบบปากสะอาดจริง ๆ แม่ต้องเด็ดเดี่ยว ทำทันที
- เด็กที่ดูดนมแม่จากเต้า หมอขอให้เลิกดูดนมแม่กลางดึก ที่ตื่นมาดูดนมกันนะคะ แต่ดูดก่อนนอนได้โดยขอแปรงฟันอย่างสะอาดจริงก่อนมาดูดนมแม่ หากลูกหลับไปแล้วสักพักรอให้หลับลึก จะใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดฟันหน้าบนให้ลูกได้ด้วยก็จะดีมาก (เด็กที่ผิวฟันแข็งแรง ไม่ผุง่าย อาจไม่กังวลมากเท่านี้ อาจไม่ใช้ผ้าเช็ดซ้ำหลังดูดนมแม่ได้ แต่ก่อนดูดนมแม่ขอแปรงฟันสะอาดจริง ๆ เช่นกัน และเลิกมื้อกลางดึกเมื่ออายุ 1.5 ปีค่ะ)
- ไม่อมข้าว ทานข้าวมื้อหนึ่ง ๆ ห้ามเกิน 30 นาที
- งดขนมหวาน ๆ น้ำหวานต่าง ๆ
- ผู้ที่ดูแลลูกทุกคน ควรรับการตรวจฟันเป็นประจำไม่ให้มีฟันผุ เพราะถ้ามีฟันผุที่ยังไม่ได้รักษา และกัดอาหารให้ชิ้นเล็กลง หรือเป่าอาหารก่อนป้อนน้อง ก็เป็นการส่งต่อเชื้อโรคฟันผุให้น้องได้ สำหรับคนนอกครอบครัว เช่นพี่เลี้ยง ห้ามเป่าอาหาร ให้ใช้พัดลมค่ะ
- พาลูกพบทันตแพทย์ให้ตรวจฟันและเคลือบฟลูออไรด์สม่ำเสมอทุก 2-3 เดือน (ความถี่มากกว่าปกติ เพราะต้องเฝ้าระวังมากกว่าปกติ)
เมื่อน้องโตขึ้น เป้าหมายคืออุดฟันหรือครอบฟัน
โดยเฉพาะฟันกราม ซึ่งจะอยู่ถึง 11-12 ปีจึงจะหลุดไปให้ฟันแท้มาแทน หากมีลักษณะผิวฟันเป็นแบบนี้ หมอควรทำครอบฟันให้ทันทีที่น้องพร้อมทำ ซึ่งเด็ก ๆ เมื่อมาพบหมอฟันเป็นประจำ จะคุ้นเคยเร็วขึ้น และให้ความร่วมมือได้ ส่วนใหญ่อายุ 4-5 ปีขึ้นไป เมื่อหมอครอบฟันให้น้องแล้ว การดูแลฟันน้องสำหรับคุณพ่อคุณแม่ก็ง่ายขึ้นค่ะ
แต่ก็มีหลายคน ที่คุณแม่ไม่ทันทราบ ฟันขึ้นมาแบบนี้ปุ๊บ ก็ผุกร่อนๆปั๊บ คุณแม่เผลอปล่อยไปอีกแป๊บ ถึงโพรงประสาทฟัน ปวด! …ถ้าปวด ก็หมดเวลายื้อ จะซื้อเวลารอน้องพร้อมให้ก็ทำไม่ไหว หลาย ๆ คนต้องรักษารากฟันทำครอบฟันตั้งแต่อายุเพียง 1 ขวบกว่า ๆ ก็มีไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม เด็กส่วนใหญ่มีฟันที่สร้างมาแข็งแรงตามปกตินะคะ มีส่วนน้อยที่พบฟันลักษณะนี้ การเลี้ยงดูและพฤติกรรมการรับประทานเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเล็ก ๆ มีฟันผุ ไม่ใช่ผิวฟันที่ไม่แข็งแรงค่ะ
สู้ ๆ นะคะ ไม่มีอะไรที่แม่ทำให้ลูกไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพที่ดีของลูก สุขภาพฟันเป็นด่านแรกที่จะใช้ทานอาหารเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
หมอมดแดง
ขอบคุณภาพจากคุณแม่แฟนเพจท่านหนึ่งที่ส่งภาพมาให้ค่ะ
www.facebook.com/452215124942310/photos/a.452617651568724.1073741828.452215124942310/967262513437566/?type=3&theater
ที่มา : https://www.tspdwebsite.org/
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกฟันผุ ไม่ใช่เรื่องเล็ก รวมคลินิกทำฟันเด็ก โรงพยาบาล กทม.-ตจว.
ลำดับเวลาฟันน้ำนมหลุดของเด็ก และวิธีดูแลฟันไม่ให้หลุดเร็วกว่าปกติ
โรคไหลตายในทารก SIDS ลูกจากไปไม่ทันเตรียมใจ ไม่มีอาการใดเป็นสัญญาณเตือน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!