คุณแม่เอ็ดดี้ หนึ่งในสมาชิกเพจเฟสบุ๊คได้แชร์เรื่องราวกับทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ถึงความรักของแม่ที่มีต่อลูก
ก่อนหน้านี้คุณแม่เอ็ดดี้เคยเป็นไกด์อยู่เกาหลี แต่ด้วยความที่อายุเยอะ พอท้องก็หยุดรับงาน จึงกลับบ้านเพื่อจะได้หันมาดูแลตัวเองและลูกในครรภ์ได้อย่างเต็มที่ … “ย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน ตอนนั้นพี่ท้องและทำงานหนักมากในช่วงของหน้าหนาว อุณหภูมิที่เกาหลีในตอนนั้นถึงขั้นติดลบ พี่ต้องคอยเดินดูลูกลูกค้าในลานสกี จนลืมที่จะดูแลตัวเอง และนั่นทำให้การตั้งครรภ์ไปไม่รอด ต้องยุติการตั้งครรภ์ในที่สุด โดยมีสาเหตุมาจากครรภ์เป็นพิษ”
ท้องนี้ดีใจมาก จึงตั้งใจอยากที่จะดูแลเขาอย่างเต็มที่ แต่ด้วยความที่เป็นคนมีโรคความดันเป็นโรคประจำตัวอยู่แล้ว ความเสี่ยงของการเกิดครรภ์เป็นพิษนั้นก็สามารถเกิดขึ้นได้อีก แต่โชคดีที่มีเพื่อนเป็นหมอสูตินารีเวชจึงช่วยให้คำแนะนำและดูแลเป็นอย่างดี แต่จนถึงสัปดาห์ที่ 31 ความดันเกิดคุมไม่อยู่ เกล็ดเลือดต่ำมากเหลือ 42,000 เท่านั้น ทำให้ต้องผ่าคลอดโดยด่วน!
น้องเก้า คลอดออกมาด้วยน้ำหนักตัวเพียง 1,050 กรัมเท่านั้น โชคดีมาก ๆ ที่น้องสุขภาพแข็งแรง คุณแม่ตั้งใจที่จะให้นมน้องเก้ามาก โดยเริ่มปั๊มนมตั้งแต่แรกคลอด และมีเป้าหมายที่จะให้นมลูกให้ได้จนถึงน้องอายุสองขวบ แต่ด้วยเป็นคนที่มีโรคความดันเป็นโรคประจำตัว ต้องทานยาความดันตลอด จึงเกิดความกังวลเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพของน้ำนมลูก จึงหยุดยาความดันทันที
แต่แล้วเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา จู่ ๆ คุณแม่ก็เกิดอาการปวดหัวขั้นรุนแรง ในขณะที่กำลังปั๊มนมอยู่ พอปั๊มนมเสร็จก็ลุกขึ้นเพื่อจะเอานมไปเก็บ แต่จู่ ๆ ของในมือกลับหล่นลงพื้นทั้งหมด มือไม้ไร้เรี่ยวแรง จึงตะโกนเรียกสามี ผลปรากฏว่า พูดไม่ชัด สามีจึงรีบนำตัวไปส่งโรงพยาบาล จึงทำให้สามารถไปหาหมอได้ทันเวลา แต่สมองก็เสียหายเยอะ เนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้ร่างกายซีกซ้ายยังชาอยู่ มือซ้ายไม่มีแรง ปากเบี้ยว และลิ้นแข็ง หมอบอกว่าต้องใช้เวลาสักพักถึงจะหายเป็นปกติได้
หลังจากที่เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ก็ต้องใช้ยาปฏิชีวนะหลายตัวในการรักษา แต่หมอก็บอกว่าปลอดภัยสามารถให้นมน้องได้ตามปกติ จนครั้งนึงในขณะที่กำลังปั๊นมนมอยู่นั้น กรวยนมก็หลุดออกจากเต้านานนับชั่วโมงโดยที่คุณแม่ไม่รู้สึกตัว และนั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณแม่ต้องหยุดปั๊ม และให้น้องเก้าทานนมในสต็อคแทน
แต่ถึงแม้ว่าร่างกายของคุณแม่ท่านนี้จะไม่แข็งแรง แต่จิดใจของเธอแข็งแรงยิ่งกว่า “เมื่อก่อนพี่มักจะคิดว่า เกิดมาทั้งทีต้องเต็มที่กับการใช้ชีวิต ทำงาน กิน เที่ยว ไม่เคยสนใจเรื่องของสุขภาพ แต่พอผ่านวิกฤตนั้นมา รู้สึกเลยว่า ชีวิตคนต้องไม่ประมาท ต้องคุมสติไม่ให้หลุด จากคนที่ไม่เคยห่วงชีวิตของตัวเอง มาจนถึงตอนนี้รู้แล้วว่า เราใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่ามากพอแล้ว และตอนนี้สิ่งที่รู้และคำนึงถึงมากที่สุดนั่นก็คือ ลูก … เพราะลูกของฉันยังเล็กมาก ฉันยังจะตายไม่ได้” คุณแม่กล่าว
ทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ทุกคน ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่เอ็ดดี้ ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ และมีสุขภาพที่แข็งแรงไว ๆ นะคะ
คลิกเพื่ออ่านรายละเอียดเกี่ยวกับความดันโลหิตสูงของคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
สาเหตุที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงในคุณแม่ตั้งครรภ์
การเกิดความดันโลหิตสูงในคุณแม่ตั้งครรภ์ ยังไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน แต่ก็มีข้อสังเกตว่า จะพบมากในคุณแม่ตั้งครรภ์บางกลุ่ม เช่น ในกลุ่มที่ตั้งครรภ์อายุน้อย หรือในกลุ่มที่ตั้งครรภ์อายุมาก ซึ่งสองกลุ่มนี้มีปัญหาเกี่ยวกับความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นได้เท่าๆ กัน โดยที่จะพบอาการในการตั้งครรภ์ครั้งแรก และสาเหตุที่มักจะพบ คือใน คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด หรือกรณีที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเคยเป็นความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ อาการความดันโลหิตสูงในคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น ส่วนมากจะหายไปหลังจากที่คลอดลูกแล้ว ซึ่งคุณแม่จะค่อยๆ กลับมาหายเป็นปกติ แต่นี้ควรได้รับการตรวจเช็กร่างกายจากคุณหมอโดยละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีปัญหาสุขภาพใดๆ ตามมาหลังการคลอดค่ะ
การรักษาอาการความดันโลหิตสูงในคุณแม่ตั้งครรภ์
ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการความดันโลหิตสูงนั้น ซึ่งโดยปกติจะสามารถรักษาบรรเทาอาการได้ตลอดการตั้งครรภ์ โดยที่คุณหมอจะตรวจอาการให้อย่างละเอียด และให้ทานยาป้องกันการชัก ยาลดความดัน ที่จะช่วยให้ประคับประคองทารกในครรภ์มีพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรงจนกระทั่ง ถึงช่วงคลอดออกมาได้อย่างปลอดภัย ข้อสำคัญสำหรับคุณแม่ที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ควรไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาลในการฝากครรภ์ตั้งแต่ช่วงแรก ซึ่งคุณหมอจะตรวจร่างกาย อายุครรภ์ รวมทั้งภาวะเสี่ยงสุขภาพให้ได้โดยละเอียด ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการตั้งครรภ์คุณภาพตลอด 40 สัปดาห์ของคุณแม่ และพัฒนาการที่ดีของทารกน้อยในครรภ์ค่ะ
ที่มา: Eddy Atittaya
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ความดันต่ำขณะตั้งครรภ์ อันตรายหรือไม่?
ตั้งครรภ์ แต่เป็นความดันโลหิตสูง ลูกอาจตัวเล็กกว่าปกตื!!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!