ภาวะครรภ์เสี่ยง เป็นภาวะความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้กับแม่ท้องทุกคน ที่คาดว่าอาจมีโอกาสทำให้เกิดความผิดปกติต่อสุขภาพทั้งแม่และลูกในท้อง ในท้องแรกอาจเกิดได้จากการไม่มีประสบการณ์ แต่ในท้องถัดไปอาจเสี่ยงได้จากหลายปัจจัย เช่น อายุที่มากขึ้น มีโรคประจำตัว หรือมีประวัติจากท้องการท้องก่อนหน้า พ่อแม่ที่วางแผนจะมีลูกในอนาคตหรือแม่ท้องควรรู้ไว้ ก่อนเสี่ยงแท้งหรือเกิดอันตรายต่อตัวเองและทารกในครรภ์จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้
แม่แบบไหนที่มีปัจจัย ภาวะครรภ์เสี่ยง
1.คุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุน้อยกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 40 ปี
2.การตั้งครรภ์เป็นการตั้งครรภ์แฝด
3.มีหมู่เลือด Rh เป็นลบ
4.มีก้อนในอุ้งเชิงกรานระหว่างตั้งครรภ์
5.มีความดันโลหิตสูง โดยความดันมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มม.ปรอท
6.เป็นโรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง มีภาวะโลหิตจาง ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะภูมิคุ้มกันไวเกิน (SLE) โรคธาลัสซีเมีย โรคลมชัก วัณโรค และมะเร็ง เป็นต้น
7.เป็นโรคติดเชื้อ HIV (โรคเอดส์) กามโรค หรือพาหะตับอักเสบบี
8.ทารกในครรภ์ตั้งแต่ 34 สัปดาห์ขึ้นไปอยู่ในท่าที่ผิดปกติ เช่น ท่าก้น หรือท่าขวาง
9.มีเลือดออกทางช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์
10.มีประวัติเคยคลอดและแท้งลูก (โดยเฉพาะการแท้งในสามครั้งติดกัน)
ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะครรภ์เสี่ยงได้ และวิธีช่วยตรวจหาความผิดปกติของทารกที่จะช่วยให้แม่ท้องคลายกังวล อ่านหน้าถัดไป>>
11.มีประวัติทารกคลอดก่อนหรือหลังกำหนด คือ คลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์หรือคลอดเมื่ออายุครรภ์เกิน 42 สัปดาห์เต็มขึ้นไป และเคยคลอดทารกที่น้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือมากกว่า 4,000 กรัม
12.มีประวัติทารกโตช้าในครรภ์ เป็นดาวน์ซินโดรมหรือมีพิการทางด้านสมอง
13.มีประวัติครรภ์เป็นพิษในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
14.มีประวัติเคยได้รับการผ่าตัดทางหน้าท้อง เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ หรือที่มดลูก
15.มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ส่งผลต่อสุขภาพ เช่น การติดยาเสพติดหรือสุรา
แม่ท้องหรือก่อนท้องที่พบว่าตัวเองอยู่ในปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว หรือมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดหัวบ่อย จุกเสียดแน่นท้อง ตั้งครรภ์ได้ 5-6 เดือนแล้วลูกยังไม่ดิ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษา เพื่อได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง เหมาะสม และปลอดภัย โดยคุณหมอจะเป็นผู้ทำการวินิจฉัยและประเมินว่าคุณแม่มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์หรือไม่ ทั้งจากการซักประวัติ ร่วมกับการตรวจปัสสาวะ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิตตรวจดูยอดมดลูกเพื่อประมาณขนาดทารก และการตรวจอื่น ๆ ตามความเห็นของแพทย์
คุณแม่ที่ภาวะครรภ์เสี่ยงจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและพบแพทย์ให้บ่อยครั้งกว่าคุณแม่ที่มีภาวะครรภ์ปกติ ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ด้วยวิธี เช่น
- การอัลตราซาวนด์แบบละเอียดเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของทารกและรก รวมทั้งสามารถบอกรูปร่างความสมบูรณ์ของอวัยะทารกในครรภ์ รก สายสะดือและน้ำคร่ำ
- การเจาะน้ำคร่ำ ที่ควรตรวจในช่วงอายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์ เพื่อใช้ตรวจวิเคราะห์โรคต่าง ๆ ได้ เช่น โครโมโซมผิดปกติ ธาลัสซีเมีย หรือโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ
- การเจาะเลือดตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในทารกด้วยวิธีนิฟตี้เทสต์ (NIFTY test)
- การตรวจอื่น ๆ ตามความเห็นของแพทย์เช่น การตัดชิ้นเนื้อจากรก การเจาะเลือดจากสายสะดือทารกในครรภ์ การตรวจการทำงานของหัวใจทารก (non-stress test: NST) เป็นต้น
แม้ดูเหมือนว่าปัจจัยที่อาจเกิดความครรภ์เสี่ยงจะมีมากจนทำให้เกิดความกังวล แต่เป็นการเตือนเพื่อป้องกันให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้ดูแลตัวเองเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการวางแผนเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์เป็นอย่างดี ด้วยการใส่ใจในสุขภาพตั้งแต่การรักษาหรือควบคุมโรคก่อนที่จะวางแผนตั้งครรภ์ การตรวจร่างกายและตรวจเลือดเบื้องต้น และควรเข้ารับการฝากครรภ์ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ตลอดจนการดูแลในอาหารการกิน การออกกำลังกาย การได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย เปลี่ยนไลฟ์สไตล์แบบผิด ๆ งดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพติด ที่สำคัญควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิด ก็จะช่วยลดไม่ให้เกิดภาวะความเสี่ยงเหล่านี้และไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้
ที่มา : bumrungrad.com
ภาวะครรภ์เป็นพิษ อาการร้ายใกล้ตัวที่แม่ท้องควรรู้!
ภาวะซีดในหญิงตั้งครรภ์ ของแถมที่เกิดขึ้นได้กับแม่ท้อง(อายุน้อย)
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!