พ่อแม่ขี้บ่น ต้องอ่าน บ่นมากระวังลูกโง่ไม่รู้ตัว
หลายคนมักไม่เคยรู้ตัวว่าตัวเองเป็น พ่อแม่ขี้บ่น อย่างเช่นเวลาที่เราอยากให้ลูกทำอะไรซักอย่างแทนที่เราจะบอกให้ลูกทำเฉย ๆ เรากลับบ่นซะยืดยาว อย่างเช่นจะบอกให้ลูกเลิกเล่นแล้วไปอาบน้ำ แทนที่จะบอกแค่ “เลิกเล่นแล้วไปอาบน้ำได้แล้วนะคะ” เรากลับบ่นซะยืดยาวว่า “รีบ ๆ เลิกเล่นแล้วไปอาบน้ำได้แล้ว มัวแต่เล่นจนไม่ทำอะไรเลย แล้วดูสิทำไมของเล่นกระจายไปทั่วแบบนี้ บ้านรกไปหมดเลย รีบเก็บแล้วรีบไปอาบน้ำเลยนะ” และอีกยืดยาวเท่าที่เราจะสรรหาคำมาพูดไปได้เรื่อย ๆ พอลูกไม่ทำเราก็ยิ่งหงุดหงิดเข้าไปใหญ่และก็บ่นยิ่งกว่าเดิมว่าทำไมลูกพูดไม่รู้เรื่อง ทำไมสอนไม่ฟัง จนสุดท้ายอาจลงเอยด้วยการทะเลาะใช้อารมณ์ใส่กัน
ที่ลูกเป็นแบบนี้ไม่ใช่เพราะลูกโง่ พูดไม่รู้เรื่อง หรือสอนแล้วไม่ฟัง เพียงแต่เค้า “ไม่เข้าใจที่เราบ่น” ต่างหากล่ะคะ เพราะประโยคที่เราบ่นไปเสียยืดยาวนั้น “ยาวเกินไปสำหรับเด็ก” ยิ่งเราบ่นยาวเท่าไหร่ลูกยิ่งไม่เข้าใจมากเท่านั้น เพราะมันยาวเกินกว่าที่เค้าจะจับใจความได้ ทำให้ท้ายที่สุดแล้วลูกก็ไม่ทำอะไรเลย เพราะเค้าไม่เข้าใจว่าเรากำลังบอกอะไรกันแน่ ส่วนพ่อแม่ก็มองว่าลูกดื้อไปเสียแล้ว พอพ่อแม่เริ่มดุ หรือลงโทษเค้า เค้าก็จะยิ่งเกิดอาการต่อต้านเข้าไปใหญ่ จนกลายเป็นผลเสียต่อพัฒนาการของลูกในระยะยาว คือ อาละวาดบ่อย ขี้หงุดหงิด และกลายเป็นคนอารมณ์รุนแรงได้ค่ะ
แล้วทำอย่างไรไม่ให้เป็น พ่อแม่ขี้บ่น
- คิดก่อนพูด และพูดแค่สั้น ๆ ก่อนที่จะบอกให้ลูกทำอะไร ลองคิดและเรียบเรียงประโยคให้ดีก่อน เปลี่ยนจากการพูดยาว ๆ เป็นประโยคสั้น ๆ ได้ใจความ เช่น “กินข้าวได้แล้วค่ะ” “เล่นเสร็จแล้วเก็บของเล่นด้วยนะคะ”
- เสนอทางเลือกให้ เช่น “จะกินข้าวก่อนหรืออาบน้ำก่อนดีคะ” เพื่อลดการต่อต้านลง เพราะการที่เราเสนอทางเลือกให้จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ถูกพ่อแม่บังคับให้ทำอะไร แต่เป็นเขาที่ตัดสินใจด้วยตัวเอง
- เลือกใช้น้ำเสียงที่เหมาะสม เพราะน้ำเสียงที่ต่างกันส่งผลต่อความรู้สึกที่ต่างกัน เด็กสามารถรับรู้อารมณ์ของเราได้จากน้ำเสียง ยกตัวอย่างคำว่า “มากินข้าวได้แล้ว” ถ้าเราใช้น้ำเสียงหวาน ๆ ลูกก็จะรู้สึกว่าแม่ชวนให้มากินข้าว แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นเสียงดุก็จะทำให้เด็กรู้สึกว่าโดนบังคับให้ไปกินข้าว เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดกับลูกก็ควรระวังเรื่องการใช้น้ำเสียงด้วยค่ะ
- มองตาลูกแล้วพูดช้า ๆ ชัด ๆ เด็กมักะเสียสมาธิได้ง่าย ๆ หรือบางครั้งก็อาจจะมีอาการเหม่อลอยบ้างทำให้ไม่ได้ฟังที่พ่อแม่พูด ถ้าเป็นเช่นนั้น เวลาพูดกับลูกคุณพ่อคุณแม่ต้องอย่าพูดลอย ๆ แต่ให้คุยกันต่อหน้าโดยจ้องตาลูกไปด้วยขณะพูด เพื่อให้ลูกมีสมาธิในการฟัง รวมถึงพูดช้า ๆ ชัด ๆ ค่ะ
- ทำเป็นตัวอย่างให้ดู พูดอย่างเดียวอาจจะไม่พอ พ่อแม่ต้องลงมือทำเพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกด้วยค่ะ บอกให้ลูกเก็บของเล่นพ่อแม่ก็อาจจะเริ่มเก็บก่อนแล้วชวนให้ลูกทำตาม หรืออาจจะตั้งข้อตกลงสร้างแรงจูงใจเช่น เก็บเสร็จแล้วเดี๋ยวไปกินขนมกัน เป็นต้น
- พูดจริงทำจริง ถ้าพ่อแม่ไม่หนักแน่นลูกก็จะไม่เชื่อฟัง เพราะฉะนั้นพูดอะไรแล้วต้องทำอย่างนั้นจริง ๆ เช่นกำหนดไว้ว่าให้ลูกเข้านอนตอนสามทุ่มถ้าไม่ทำตามจะไม่ซื้อขนมให้ ถ้าลูกทำผิดจากที่ตกลงก็ต้องไม่ซื้อให้จริง ๆ หรือถ้าสัญญาว่าถ้าเก็บของเล่นเสร็จจะให้รางวัลก็ต้องให้จริง ๆ ไม่เช่นนั้นลูกจะเรียนรู้ว่าคำพูดของพ่อแม่ไม่จริงไม่ต้องเชื่อฟังก็ได้ค่ะ
การเลี้ยงเด็กนั้นมีอะไรที่ต้องอาศัยความเข้าใจและใจเย็นมาก ๆ ไม่เช่นนั้นเรื่องที่เรามองว่าเป็นเรื่องเล็ก แค่การบ่น อาจจะกลายเป็นผลเสียต่อลูกในระยะยาวได้ ถ้าไม่อยากให้ลูกของเรามีปัญหาทางด้านพัฒนาการล่ะก็ มาเริ่มปรับกันตั้งแต่วันนี้ดีกว่าค่ะ
ภาพและข้อมูลมีลิขสิทธิ์เจ้าของโดย บริษัท ทิคเกิ้ลมีเดีย จำกัด ไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อมูล และรูปภาพนำไปเผยแพร่ต่อ ไม่ว่าวิธีใดๆ ถ้าฝ่าฝืนทางบริษัทฯจะดำเนินการตามกฎหมาย เว้นแต่ได้มีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรกับทางบริษัทฯเรียบร้อยแล้ว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ความผูกพันทางอารมณ์ สิ่งที่พ่อแม่ควรสร้างกับลูกตั้งแต่เล็ก เพื่อต่อยอดความฉลาด
10 อาหารบำรุงสมองในขวบปีแรก กินอะไรลูกแล้วลูกฉลาด โตไปไม่โง่
วิธีสอนลูกให้ฉลาด เลี้ยงลูกให้ฉลาด อารมณ์ดี มีความฉลาดทางอารมณ์ ตั้งแต่แรกเกิด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!