ผ่าคลอด อย่าเครียด!
ผ่าคลอด อย่าเครียด!นี่เลย! วิธีเตรียมตัวก่อนผ่าและดูแลแผลผ่าคลอดให้หายไวไม่นูนแดง
ผ่าคลอด กังวลจัง กำหนดคลอดก็รู้แล้ว วันคลอดก็ใกล้เข้ามาทุกที ยิ่งผ่าคลอดด้วย ลูกจะปลอดภัยไหม ตัวเองจะปลอดภัยไหม สารพัดคำถามที่ผุดขึ้นมากมายในหัว เป็นเรื่องธรรมดาของคุณแม่ ที่กำลังจะผ่าคลอด(อันที่จริงคลอดธรรมชาติก็เป็น) ความตื่นเต้นและกังวลมาแบบปนๆ กัน แต่เอาละเรามีข้อมูลดีๆ มาช่วยคลายความกังวลเรื่องผ่าคลอดค่ะ
ผ่าคลอดแนวตั้ง
ปกติการผ่าคลอด จะต้องผ่าลงไปถึง 7 ชั้น โดยผ่าตัดเนื้อผ่านชั้นผิวหนัง จากนั้นก็ลงไปเจอไขมันใต้ผิวหนัง ตามด้วยเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อ เยื่อหุ้มช่องท้อง ผนังเยื่อหุ้มมดลูก และกล้ามเนื้อมดลูกซึ่งเป็นชั้นสุดท้าย การผ่าตัดแนวตั้งจะผ่าจากใต้สะดือลงมาถึงช่วงกลางหัวหน่าว ความยาวแผลประมาณ 10 เซนติเมตร การลงแผลแนวนี้จะผ่านเนื้อเยื่อหลายชั้น จนสามารถเข้าช่องท้องได้ง่าย การลงแผลแนวตั้งจะช่วยแหวกกล้ามเนื้อได้โดยไม่ฉีกขาด
ผ่าคลอดแนวตั้ง ดีอย่างไร
- เป็นแนวแผลมาตรฐานสามารถผ่าตัดอวัยวะอื่นในช่องท้องได้ด้วย
- ใช้เวลาในการผ่าตัดเพื่อเข้าสู่ช่องท้องได้เร็วกว่า เหมาะสมในรายที่ต้องการความเร่งด่วนในการคลอด
- สามารถขยายแผลได้ง่ายหากมีกรณีจำเป็น
- ผ่าตัดได้ง่ายสะดวกกว่า
- สามารถช่วยคลอดทารกได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะกรณีที่ทารกอยู่ผิดท่าหรือตัวใหญ่กว่าปกติ
- มีภาวะแทรกซ้อนจากแผลผ่าตัดน้อยกว่าเช่นก้อนเลือดในผนังหน้าท้อง
ผ่าคลอดแนวตั้ง เสียอย่างไร
- เจ็บแผลผ่าตัดมากกว่าเนื่องจากมีบาดแผลในแนวตั้ง ทำให้เวลาลุกขยับตัวยาก
- ฟื้นตัวช้ากว่า
- มีแผลเป็นมากกว่า
- เห็นรอยแผลได้ชัดเจนไม่สามารถใส่เสื้อเปิดพุงได้
ผ่าคลอดแนวนอนหรือบิกินีไลน์
เมื่อเทียบกับแบบแรกแล้วจะดีกว่าตรงที่ แผลเป็นน้อยกว่า เจ็บน้อยกว่า เนื่องจาก หน้าท้องของแม่ท้องจะมีความหย่อนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น แพทย์ก็จะลงแผลแนวนอนเพื่อเปิดผิวหนังเข้าไปข้างใน เมื่อถึงบริเวณชั้นของกล้ามเนื้อ ก็จะเปลี่ยนไปลงแนวตั้งเหมือนปกติ วิธีนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อไม่ช้ำ และแผลบริเวณผิวหนังสวยกว่าแบบแนวตั้ง
ผ่าคลอดแนวนอน ดีอย่างไร
- เจ็บแผลผ่าตัดน้อยกว่าเนื่องจากมีบาดแผลแนวนอนตามรอยพับของหน้าท้อง ทำให้เจ็บแผลน้อยกว่าเวลาขยับลุก
- มีแผลเป็นน้อยกว่าเพราะลงมีดตามแนวของรอยพับผิวหนัง
- สามารถปิดบังแผลได้ดีในกรณีที่ใส่เสื้อเปิดพุง
ผ่าคลอดแนวนอน เสียอย่างไร
- ใช้เวลาในการผ่าตัดเข้าสู่ช่องท้องนานกว่า เหมาะสมกับการผ่าตัดคลอดที่ไม่เร่งด่วนมาก
- ผ่าตัดได้ยากกว่าโดยเฉพาะกรณีที่มีพังผืดในช่องท้องร่วมด้วย
- ช่วยคลอดทารกได้ยากกว่า เนื่องจากรอยแผลอยู่ต่ำ เพิ่มการใช้อุปกรณ์ช่วยคลอดศีรษะทารก
- หากมีการผ่าตัดอื่นในช่องท้องร่วมด้วยจะทำได้ยากกว่า
แผลผ่าคลอดจะเจ็บนานไหม
หลังผ่าตัดคลอด วันที่ 1 – 2 จะมีอาการเจ็บแผลและปวดมดลูกที่มีการหดรัดตัว และอาจจะรู้สึกปวดมากหน่อย เวลาที่ปวดมากถ้าให้แจ้งพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่เพื่อขอยาระงับปวด พอวันที่ 3 ส่วนใหญ่ก็จะเริ่มเคลื่อนไหวตัวได้เหมือนกับคุณแม่ที่คลอดทางช่องคลอดปกติ ส่วนอาการปวดจะต่อเนื่องไปถึงเมื่อไรนั้นมีความแตกต่างของแต่ละคน
แผลผ่าคลอดจะหายเมื่อไหร่
คุณแม่ที่ผ่าตัดคลอดโดยส่วนใหญ่ จะฟื้นตัวได้ภายใน 24 ชั่วโมง และออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน 3 วัน แต่ใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์เพื่อให้รอยแผลจากการผ่าตัดคลอดหายดี ดังนั้น คุณแม่จะต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษเมื่อกลับไปพักฟื้นที่บ้านเพื่อที่จะได้พักผ่อนและใช้เวลาอยู่กับลูกน้อยได้อย่างเต็มที่จะใช้เวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ แผลที่เย็บไว้จึงจะสมานเข้าด้วยกัน แต่ก็อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน
แผลผ่าคลอดดูแลอย่างไรให้ถูกวิธี
แผลผ่าคลอดสามารถถูกน้ำได้หลังผ่าตัดประมาณ 7 วัน รักษาความสะอาดและคอยดูแลให้แผลแห้ง ต้องระวังอย่าให้ผ้าอนามัยไปขูดสีกับแผลที่เย็บไว้ และควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ เพื่อรักษาความสะอาดแผลผ่าคลอด และป้องกันการติดเชื้อ ไม่ยกของหนักหรือทำกิจกรรมที่เป็นการเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องมากจนเกินไป และควรอยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพราะอากาศร้อนจะทำให้เหงื่อออกมากและเกิดการอับชื้นได้ การขยับตัวมากๆ จะไม่ส่งผลกระทบกับแผลหากการขยับนั้นไม่ทำให้แผลมีการยืดขยาย สังเกตง่าย ๆ คือ ขยับตัวได้เท่าที่ไม่รู้สึกเจ็บ หากเจ็บหรือรู้สึกตึง ๆ แสดงว่า แผลมีการยืดขยายออกแล้ว การทาครีมซึ่งมีส่วนผสมของเสตียรอยด์อ่อน ๆ หรือครีมที่มีส่วนผสมของวิตามินอี ก็สามารถช่วยลดการเกิดแผลเป็นได้ สำหรับคุณแม่ท่านไหนที่ให้นมลูกอยู่ก็ไม่ต้องกังวลใจไปว่าครีมที่ทาจะส่งผลต่อน้ำนม เพราะการทายาเป็นเพียงการใช้ยาภายนอก และเฉพาะที่ ไม่เหมือนการกินที่ตัวยาจะแทรกซึมไปทั่วร่างกาย
บทความเกี่ยวข้อง
อาหารสําหรับแม่หลังคลอด เริ่มตั้งแต่มื้อแรกควรกินอะไร?
ร่างกายแม่หลังคลอดจะเปลี่ยนไปมากขนาดไหน ลองเช็คดู!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!