ป้อนกล้วยลูก 2 เดือน ป้อนกล้วยลูกครั้งแรก ก่อน 6 เดือน
แม่ขอโทษที่เชื่อคำคนอื่น ป้อนกล้วยลูก 2 เดือน จนลูกร้องไห้อย่างทรมาน แม่เห็นก็ได้แต่โทษตัวเอง ไม่น่าเลย ป้อนกล้วยลูกครั้งแรก ก่อน 6 เดือน เสี่ยงอันตราย เชื่อหมอเถอะแม่ ๆ
คุณแม่ท่านหนึ่ง ได้แชร์เรื่องราว การป้อนกล้วยลูก 2 เดือน เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่แม่ ๆ ท่านอื่น ไว้ว่า
#อย่าเพิ่งให้ลูกกินกล้วย
ณ สนามเด็กเล่น เรามาเดินเล่นกับเพื่อนบ้านกับลูกเรา เนื่องจากลูกเราเป็นเด็กอายุ 2 เดือน เพื่อนบ้านก็หวังดี บอกให้เราป้อนกล้วยให้ลูก
เขาว่า “ลูกเขาป้อนกล้วยตั้งแต่ 1 เดือน”
ซึ่งเราก็ปฏิเสธไปด้วยความสุภาพ เราเลยกลับบ้านเอามาเล่าให้แม่สามีฟังเกี่ยวกับเพื่อนบ้านคนนี้ ที่มาแนะนำเรื่องป้อนกล้วย แม่สามีก็บอกให้เริ่ม ๆ ป้อนได้แล้ว แล้วบอกว่า “ผัวเองก็ป้อนตั้งแต่เดือนนึง” สามีก็เออ..ออ ตามเขา…..
เราจึงคิดว่า แค่ช้อนเดียวคงไม่เป็นอะไรมั้ง เราจึงเริ่มขูดกล้วยให้ลูกกิน 1 ช้อนโต๊ะใส่ลงถ้วยละเติมน้ำลงไป 1 ช้อนโต้ะ เช่นกัน คน ๆ แล้วค่อย ๆ ป้อน
ไม่ถึง 30 นาทีลูกเราร้อง…ไอเราก็คิกว่า ลูกคงไม่สบายตัวเลยจับอาบน้ำ ก็พาอุ้มเดินเขาหยุด หลังจากนั้นประมาณ 1-2 ชม. ก็ร้องไม่หยุดอาการเหมือนโคลิก (เขามักเป็นโคลิกช่วงเย็น) เราเลยคิดว่า ปกติไม่น่าจะมีอะไร 3 ชม.เดี๋ยวก็หาย แต่ผ่านไป 6 ชม.ก็ไม่หายคือร้องแล้วก็หยุดหลายครั้ง จนหนักขึ้นเรื่อย ๆ คือไม่มีทีท่าว่าจะหยุดร้องเลย แม่ก็รู้สึกเหมือนจะขาดใจเพราะร้องแบบทรมานมากขึ้นเรื่อย ๆ ร้องผิดปกติ แบบมาราธอน เราเครียดมากเราพยายามนึกหาสาเหตุ เราคิดว่าต้องเป็นเพราะกล้วยนั่นแน่ ๆ นึกขึ้นได้เรารีบคว้ากะเป๋าและรีบให้แฟนขับรถไป รพ.เราไปแบบไม่ห่วงสวยไม่แต่งตัวแต่งหน้าไม่อะไรทั้งนั้น
ไปถึง รพ. หมอให้ไปเอ็กซเรย์ หมอบอกว่า เอ็กซเรย์แล้วเด็กมีปัญหาเรื่องลำไส้น้องยังไม่สามารถย่อยอาหารได้ ห้ามเด็กกินกล้วยอีก ตอนนี้หยุดทุกอย่าง ให้กินแต่นมแม่อย่างเดียว แล้วพยายามทำให้น้องเรอหรืออ๊อก ออกมาให้มากที่สุด เราโดนพยาบาลด่าด้วย ว่าเตือนแล้วไม่ฟัง
สุดท้ายนี้ อยากเตือนเพื่อน ๆ ว่า อย่าเพิ่งให้น้องกินกล้วยเลยค่ะ เชื่อคำเตือนจากหมอเถอะ อย่าไปเชื่อคนอื่น เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ตอนนี้ลูกปลอดภัยแล้ว
ป้อนกล้วยลูกครั้งแรก ก่อน 6 เดือน ทารกเสี่ยงเสียชีวิต
รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ย้ำเตือนถึงอันตรายการป้อนกล้วยลูกครั้งแรก ก่อน 6 เดือน ว่า วัฒนธรรมดั้งเดิมในประเทศไทยนิยมป้อนกล้วยเด็กตั้งแต่อายุ 1-3 เดือน ซึ่งอันตรายมากค่ะเพราะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เพราะร่างกายของทารกจะมีระบบทางเดินอาหารที่มีข้อจํากัดในการทำงานย่อยอาหารต่าง ๆ ทําให้การย่อยการดูดซึมอาหารไม่มีประสิทธิภาพมากเท่ากับผู้ใหญ่ ช่วงแรกเกิดจึงต้องทานแต่นมเท่านั้น
อย่าป้อนกล้วยลูกเร็วเกินไป
ระบบย่อยอาหารของเด็กๆ จะสามารถรับอาหารอื่น ๆ นอกจากนมเมื่ออายุประมาณ 4 เดือนขึ้นไป แต่เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดและมีสารอาหารครบถ้วน สําหรับทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน ชมรมโภชนาการเด็ก ประเทศไทย จึงแนะนําให้เริ่มอาหารเสริมตามวัยเมื่อเด็กอายุครบ 6 เดือนขึ้นไป
หากป้อนกล้วยให้แก่ทารกเร็วเกินไปส่งผลอะไรบ้าง?
แม้ว่าผู้ใหญ่รุ่นเก่าๆ จะบอกว่าเลี้ยงลูกหลานมาก็ ป้อนกล้วยตั้งแต่เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนทั้งนั้น ซึ่งก็จัดว่าที่โชคดีเด็กเหล่านั้นไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่ถ้าหากลูกของเราโชคไม่ดีขึ้นมา จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มาดูกันค่ะ
1. ลําไส้อุดตัน เนื่องจากกล้วยที่ทานเข้าไปไม่สามารถย่อยและดูดซึมในกระเพาะอาหารและลําไส้ของทารกได้ จึงไปขัดขวางการทำงานของลำไส้ ทำให้ลําไส้อุดตัน ซึ่งถ้ารุนแรงมากอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดลําไส้ หากรักษาไม่ทันอาจเกิดลำไส้แตกทะลัก เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
2. ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ เกิดจากเด็กทารกอายุน้อยยังไม่พร้อมในการทาน และการกลืนอาหารเสริม ทำให้สำลักกล้วยที่ป้อน ทำให้เกิดภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ สมองขาดออกซิเจน อาจทำให้ถึงแก่ชีวิต กลายเป็นเจ้าหญิง หรือเจ้าชายนิทรา หรือเป็นปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรงได้
3. ขาดสารอาหารที่จำเป็น เนื่องจากเด็กวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรจะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจากนมแม่เป็นหลัก หากให้ทานกล้วยจนอิ่มมากเกินไป จะทำให้เด็กทานนมได้น้อย และขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตได้นะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ฉีดวัคซีน ลูกแรกเกิด-6 เดือนแรก วัคซีนทารกแรกเกิด จำเป็นต้องฉีดวัคซีนตัวไหนบ้าง
เดี๋ยวก็ให้ป้อนน้ำ เดี๋ยวก็ให้ป้อนกล้วย! รับมือปู่ย่าตายายเรื่องป้อนอาหารอย่างไรดี
แม่แชร์ ญาติแอบป้อนน้ำองุ่นทารก คิดว่าจะหายตัวเหลือง สุดท้ายลูกเกือบตาย
วิธีไล่ลมในท้องทารก แก้อาการท้องอืดแบบง่าย ๆ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!