บางคนก็กลัวว่า สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขจะมีเชื้อโรคที่ทำให้คุณแม่ท้องเป็นอันตรายหรือเปล่า แม่ท้องเลี้ยงหมาได้มั้ย แล้วจะฝึกน้องหมาอย่างไรให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบ
แม่ท้องเลี้ยงหมาได้มั้ย ?
คำตอบก็คือ ถึงแม้จะท้อง ก็ยังคงเลี้ยงน้องหมาต่อไปได้ เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง และเพิ่มความใส่ใจเรื่องของความสะอาด ให้มากขึ้น กว่าตอนยังไม่ท้อง เรามีขั้นตอนในการเตรียมความพร้อมมาฝาก ให้คุณแม่ได้แฮปปี้ อยู่ร่วมกับน้องหมาได้อย่างมีความสุข โดยไม่ต้องยกน้องหมาให้ใคร จนต้องเหงา หรือปวดใจค่ะ
แม่ท้องกับน้องหมา อยู่ร่วมกันได้
1. เริ่มต้นที่ฝึกน้องหมา
หากคุณแม่เลี้ยงน้องหมาไซส์เล็กอย่าง ชิสุ ชิวาวา ปอมเปอร์เรเนีย หรือพุดเดิ้ล ก็คงไม่มีอะไรน่ากังวล นอกจากเรื่องการเห่าเสียงดังบ้าง แต่หากคุณแม่เลี้ยงน้องหมาไซส์พี่เบิ้ม ขี้เล่น แรงมหาศาลอย่างลาบราดอร์ โกลเด้นท์ ไซบีเรียน ฮัสกี้ ฯลฯ ที่ชอบแสดงความรักด้วยการกระโจนเข้าหา แบบนี้ไม่ดีแน่ เพราะช่วงอายุครรภ์เพิ่มขึ้นท้องใหญ่ขึ้น คุณแม่ต้องแบกรับน้ำหนักมากอยู่แล้ว การทรงตัวที่ไม่มั่นคงนัก อาจทำให้เป็นอันตรายได้นะคะ
ยิ่งหากถูกน้องหมาไซส์น้อง ๆ ยักษ์กระโจนเข้า ใส่อาจทำให้เสียหลัก หกล้มกระทบกระเทือน จนเป็นอันตรายต่อลูกในท้องได้ คุณแม่จึงควรเริ่มฝึกให้น้องหมาเชื่อฟังคำสั่ง โดยเฉพาะการบอกให้หยุด หรืออยู่นิ่ง ๆ โดยอย่าใช้เสียงร่าเริงเรียกชื่อหมา พยายามทำตัวเองให้สงบ วางตัวเป็นจ่าฝูงที่มั่นคง
ออกคำสั่งให้หยุดด้วยน้ำเสียจริงจัง เข้มแข็ง หากน้องหมาชอบกระโจนใส่ ให้หันหลังเดินหนีทำเป็นไม่สนใจรอจนน้องหมาอยู่ในอาการนิ่ง สงบลงจึงค่อยเข้าไปลูบหัว เอ่ยชม แสดงความรักเป็นการให้รางวัล และให้น้องหมาเรียนรู้ที่จะต้องเชื่อฟังคำสั่ง และอยู่นิ่ง ๆ เพื่อให้ได้รับความสนใจจากคุณแม่ ฝึกไปเรื่อยอย่าท้อนะคะ คุณก็จะได้ลูกหมาที่น่ารักอ่อนโยน เชื่อฟังคำสั่งมากขึ้นไปด้วย
2. ดูแลเรื่องความสะอาด
อันดับต่อมาเป็นสิ่งสำคํญมาก สำหรับแม่ท้องคือ การดูแลเรื่องความสะอาดในบ้าน เพราะเรื่องความสะอาด ถือเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันระหว่างคุณแม่ท้อง และลูกขนปุย ควรทำความสะอาดบ้านทุกวัน กำจัดเศษขนน้องหมา ที่หลุดร่วงลงมา เพราะอาจมีรังแคหลุดติดมาด้วยเป็นสาเหตุให้คุณแม่เกิดอาการภูมิแพ้ได้
ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคลงในน้ำ ที่ใช้ถูทำความสะอาดบ้านทุกครั้ง เพื่อเป็นการป้องกัน และกำจัดเชื้อโรคที่น้องหมาอาจไปเหยียบ นำติดตัวมาจากนอกบ้าน และควรหมั่นทำความสะอาดที่ตัวน้องหมาด้วย ควรอาบน้ำให้น้องหมาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หมั่นแปรงขนเ พื่อกำจัดขนเก่าให้หลุดออก เร่งขั้นตอนการผลัดขนของน้องหมา
ระวังอย่าให้เลียหน้า ปาก หรือมือ และควรล้างมือบ่อย ๆ การรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้แม่ท้องลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคต่าง ๆ ทั้งจากสัตว์เลี้ยง และเชื้อโรคแหล่งอื่น ๆได้เป็นอย่างดี และหากให้น้องหมานอนห้องเดียวกับคุณแม่ ก็ควรจำกัดพื้นที่ไม่ให้ขึ้นมานอนบนเตียงเดียวกัน เพื่อกันการเกิดอาการแพ้เป็นผื่นคัน หรือได้รับเชื้อแบคที่เรียบางอย่างจากนอนหมา
3. ดูแลสุขภาพของน้องหมาให้ดี
ควรพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน หากพบความผิดปรกติ จะได้รีบรักษา และหาทางรับมือ ควรพาน้องหมาไปฉีดวัคซีนให้ครบ และถ่ายพยาธิเพื่อลดความเสี่ยง ไม่ให้เป็นพาหะนำเชื้อโรคอย่างโรคพิษสุนัขบ้า โรคพยาธิท็อกโซพลาสโมซิตที่มักพบในอึของน้องหมา และน้องแมวซึ่งอาจติดมาสู่คุณแม่ท้อง ผ่านการสัมผัส อาจทำให้เด็กในท้องพิการ หรือทำให้แท้งได้
4. ดูแลกำจัดเห็บหมัดที่ตัวน้องหมา บริเวณนอกบ้านและในบ้าน
ช่วงหน้าฝนเห็บหมัดยิ่งบุก แม้จะเลี้ยงน้องหมาไว้ในบ้านก็หนีไม่พ้น ครอบครัวที่มีน้องหมา จึงเป็นต้องกำจัดเห็บหมัดบริเวณนอกบ้าน และบนตัวสุนัขอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะเป็นการป้องกันโรคพยาธิเม็ดเลือดโดยมีเห็บเป็นพาหะในน้องหมาแล้ว ยังต้องกำจัดเห็บหมัดในตัวบ้านด้วยโดยเฉพาะตามซอกหลีบต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มากัดแม่ท้อง
หลายคนอาจกลัวว่าเห็บหมัดสุนัข และแมวจะมากัดกินสูบเลือดคน เหมือนที่ทำกับสุนัข โดยเฉพาะครอบครัวที่มีแม่ท้อง และกำลังจะมีสมาชิกใหม่เพิ่ม แต่ในความเป็นจริงเห็บหมัดทำได้แค่กัดคน อาจทำให้มีอาการแพ้คัน เป็นผื่นบวมแดงได้เท่านั้น แต่ไม่อาจเกาะกินสูบเลือดคนได้นานจนป่วย เหมือนที่ทำกับน้องหมาได้ค่ะ ดังนั้นเลิกกังวลใจได้เลย แล้วเปลี่ยนมาใส่ใจกับการกำจัดเห็บหมัดบนตัวน้องหมา และบริเวณบ้านให้มากขึ้นดีกว่า
5. อย่าเก็บอึน้องหมาเอง
เพราะอาจมีโอกาสรับเชื้อโรค หรือพยาธิในอึน้องหมาได้ ให้สามี หรือสมาชิกคนอื่นในบ้านทำแทนจะดีกว่า และหากคุณแม่ชอบทำงานบ้าน หรือทำสวนควรสวมถุงมือทุกครั้ง เพราะอาจไปสัมผัสกับฉี่ หรืออึน้องหมาโดยอังเอิญ ทำให้สัมผัสเชื้อโรคได้เหมือนกัน
6. เพิ่มความระมัดระวังขณะเล่นกับน้องหมา
หากคุณแม่เลี้ยงน้องหมาไซส์เล็ก ก็สามารถทำกิจกรรมแบบเดิม เหมือนก่อนตั้งท้อง พาไปเดินเล่นได้ตามปรกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการอุ้มน้องหมาในช่วงที่ท้องโตมาก ๆ เพราะอาจทำให้ปวดหลังได้ แต่สำหรับหมาใหญ่ ควรให้สมาชิกคนอื่นพาออกไปเดินเล่นแทน และคุณแม่อย่าเล่นแรง ๆ กับน้องหมา เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ และควรล้างมือทุกครั้งที่เล่น หรือสัมผัสตัวน้องหมา
ทำได้ตาม 6 ข้อนี้ก็ช่วยให้คุณแม่ท้องที่มีลูกสี่ขาอยู่แล้ว พอจะคลายกังวลใจ และหาหนทางปรับเปลี่ยน และนำไปใช้กับครอบครัวตัวเองได้ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ควรปรึกษาสมาชิกในครอบครัว ทำความเข้าใจให้ตรงกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติตัวกับน้องหมาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันได้ ก็จะยิ่งเป็นผลดีเพียงเท่านี้ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข คุณแม่แฮปปี้ ไม่ต้องทิ้งขว้างลูกหมาสุดที่รักให้เป็นภาระของสังคมแล้วล่ะค่ะ
แหล่งข้อมูล
www.dogilike.com
www.thelist.com
www.thaihealth.or.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
บ้านไหนเลี้ยงสัตว์ ระวังกระทบเพื่อนบ้าน
5 สัตว์เลี้ยงตัวจิ๋ว ที่น่าให้ลูกเลี้ยง ฝึกความรับผิดชอบและความรักสัตว์
10 วิธีในการสอนลูกของคุณให้มี ความซื่อสัตย์และมีน้ำใจ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!