ความเสี่ยงที่แม่ตั้งครรภ์แฝดควรระวัง เพื่อคลอดลูกแฝดอย่างปลอดภัย

การตั้งครรภ์แฝดถือเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งของการตั้งครรภ์ ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาในแม่ท้อง 89 รายสามารถพบแฝดสอง 1 ราย ส่วนอัตราการตั้งครรภ์แฝดสามพบได้ในอัตรส่วน 1: 7,921 และพบแฝดสี่ในอัตราส่วน 1:704,969 แต่ในปัจจุบันพบครรภ์แฝดมากขึ้น เนื่องจากความก้าวทางเทคโนโลยีการแพทย์ที่สามารถผสมเทียม เด็กหลอดแก้ว ใส่ตัวอ่อน เพื่อให้ได้ครรภ์แฝดนั้นสามารถทำได้ง่ายขึ้นมาก
ครรภ์แฝดเกิดได้อย่างไร
การตั้งครรภ์แฝดมี 2 ประเภท
- แฝดเหมือน (Identical Twins) เกิดจากเชื้ออสุจิ 1 ตัว ผสมกับไข่ 1 ใบ ต่อมามีสิ่งผิดปกติมากระตุ้นให้เกิดการแบ่งเซลล์ตัวอ่อนภายใน 7-12 วันหลังปฏิสนธิ จึงเกิดเป็นทารก 2 คน ซึ่งจะมีความเหมือนกันทั้งเพศ หน้าตา หมู่เลือด แต่หากมีสิ่งผิดปกติมากระตุ้นหลังวันที่ 13 ของการปฏิสนธิไปแล้ว จะเกิดปัญหาในการแบ่งเซลล์ทำให้ฝาแฝดมีร่างกายติดกัน (Conjoined twins) ในส่วนของลำตัว หรือศีรษะ ติดกัน เป็นต้น
- แฝดต่างไข่ (Fraternal twins) เกิดจากเชื้ออสุจิ 2 ตัวหรือมากกว่า เข้าไปผสมกับไข่ 2 ใบ หรือมากกว่า ทำให้ได้ทารกแฝดที่อาจจะเหมือนหรือต่างเพศก็ได้ รวมทั้ง หน้าตา หรือหมู่เลือด อาจจะเหมือนหรือต่างกันก็ได้
ใครที่มีความเสี่ยงในการตั้งท้องลูกแฝด
- มีประวัติการตั้งครรภ์แฝดในครอบครัวมาก่อน
- ชนชาติแอฟริกันมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากกว่าคนผิดขาว
- ตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 35 ปีมีโอกาสตั้งท้องแฝดเพิ่มขึ้น
- ผู้ที่ผ่านมาทำเด็กหลอดแก้ว หรือการใช้ยากระตุ้นให้ไข่สุก และตกไข่ครั้งละหลายๆ ฟอง
จะรู้ได้อย่างไรว่าตั้งท้องลูกแฝด
นอกจากจะมีปัจจัยเสียงตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว คุณแม่สามารถสังเกตอาการต่างๆ ที่เป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์แฝดได้ ดังนี้
- ท้องใหญ่มาก ครรภ์โตเร็วกว่าปกติ อึดอัดแน่นท้อง
- แพ้ท้องมากกว่าปกติ
- ความดันโลหิตสูง หรือบวม ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ
ท้องแฝดต้องดูแลตัวเองอย่างไร
เมื่อคุณแม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์แฝด คุณแม่ต้องดูแลตนเองมากเป็นพิเศษกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว ทั้งในเรื่องอาหารการกิน การพักผ่อน และการมีเพศสัมพันธ์
อาหาร คุณแม่ที่ตั้งท้องแฝดต้องการอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุเพิ่มขึ้นประมาณ 600 กิโลแคลอรี่ต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกแฝดและตัวคุณแม่เอง
การพักผ่อน คุณแม่ควรพักผ่อนให้เพียงพอและมากกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เดี่ยว เพื่อลดอัตราการคลอดก่อนกำหนด และการพักผ่อนที่เพียงพอยังช่วยให้ลูกน้ำหนักขึ้นดีอีกด้วย
การตรวจครรภ์ คุณแม่ควรเข้ารับการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอตามที่หมอนัด โดยคุณหมอจะนัดบ่อยกว่าคุณแม่ที่ตั้ครรภ์เดี่ยว และจะทำการอัลตราซาวด์อย่างสม่ำเสมอ ทุก 1 เดือน เพื่อติดตามความเจริญเติบโตของทารก และค้นหาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับทารก
หากคุณแม่มีอาการผิดปกติ เช่น บวมมาก ปวดศีรษะ แน่นท้อง ท้องตึงมาก หรือท้องแข็งเป็นพักๆ บ่อยๆ ควรรีบไปหาหมอทันที
เพศสัมพันธ์ ในช่วง 2-3 เดือนแรก คุณแม่ควรงดมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงในการแท้งบุตรได้ ส่วนในช่วงไตรมาสสุดท้ายใกล้คลอด ก็ควรงดเช่นกัน เพื่อป้องกันความเสียงในการคลอดก่อนกำหนด หากการตั้งครรภ์แฝดของคุณแม่ดำเนินไปอย่างปกติ ไม่มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ในช่วงตั้งครรภ์ 4-5 เดือน
อ่านต่อ อันตรายจากการตั้งครรภ์แฝด คลิกหน้าถัดไป
อันตรายจากการตั้งครรภ์แฝด
หลายคนดีใจเมื่อรู้ว่าตัวเองได้ลูกแฝด เพราะไม่ต้องอุ้มท้องบ่อยๆ แต่ก็ไม่ควรมองข้ามอันตรายจากการตั้งครรภ์แฝด และโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นด้วย มาดูกันว่า การตั้งครรภ์แฝดคุณแม่มีความเสี่ยงอะไรบ้าง
- เลือดจาง การตั้งครรภ์แฝดจะให้แม่มีเลือดจากมากขึ้น เพราะปริมาณน้ำเลือดเพิ่มขึ้น และความต้องการธาตุเหล็กมีมากกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เดี่ยว
- ครรภ์เป็นพิษ หรือความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ โดยมีโอกาสเกิดขึ้นได้ถึงร้อยละ 20 ซึ่งมากกว่าผู้ที่ตั้งครรภ์ปกติถึง 3 เท่า
- รกเกาะต่ำ เนื่องจากรกมีขนาดใหญ่ หรือมีรก 2 อัน แผ่ขยายลงมาใกล้หรือปิดบริเวณปากมดลูก ทำให้ตกเลือดก่อนคลอด
- อึดอัด หายใจไม่ออก อาเจียนบ่อย เพราะมดลูกขนาดใหญ่ ไปกดอวัยวะต่างๆ ในช่องท้องและทรวงอก
- สายสะดือโผล่มากกว่าปกติ เมื่อเจ็บท้องและถุงน้ำคร่ำแตก เพราะสายสะดือถูกกด ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่พอ ลูกอาจเสียชีวิตได้
- อาจต้องใช้เครื่องมือช่วยในการคลอดมากกว่าปกติ เช่น ต้องดมยาสลบ หรือต้องได้รับการผ่าตัดมากกว่ารายปกติ เพราะท่าของทารกผิดปกติ หรือมีรกขวางทางคลอด
- ตกเลือดหลังคลอดมาก เพราะมดลูกใหญ่ การหดรัดตัวไม่ดี
- มักคลอดก่อนกำหนดและลูกมีน้ำหนักน้อย คุณแม่ที่ตั้งท้องแฝดมักจะคลอดก่อนกำหนดราว 3-4 สัปดาห์ ลูกก็จะตัวเล็ก ปอดยังไม่แข็งแรง รวมถึงมีปัญหาในการเลี้ยงดูแม้จะตั้งครรภ์ครบกำหนด โดยน้ำหนักเฉลี่ยของเด็กแฝดสองจะน้อยกว่าน้ำหนักเฉลี่ยของเด็กคนเดียวประมาณ 1,000 กรัม หากเป็นแฝดสาม แฝดสี่ น้ำหนักเฉลี่ยก็ยิ่งน้อยลง และอาจคลอดเร็วขึ้นด้วย
- อัตราการเสียชีวิตของทารกสูงเป็น 2-3 เท่าของทารกครรภ์เดี่ยว แฝดน้องมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าแฝดพี่ถึงร้อยละ 30 เพราะท่าของทารกมักจะผิดปกติ อาจขวางตัวหรือเอาก้นลง สายสะดือโผล่ หรือรกลอกตัวก่อนกำหนด
ท้องลูกแฝดคลอดเองอันตรายไหม
หากคุณแม่ตั้งท้องแฝดแต่อยากคลอดเอง ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นหลัก หากเป็นการตั้งครรภ์แฝดสอง และ ทารกอยู่ในท่าปกติทั้งสองคน คืออยู่ในท่าเอาศีรษะลงทั้งคู่ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ก็สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ โดยต้องมีทีมแพทย์และพยาบาลเตรียมพร้อมสำหรับการผ่าคลอดฉุกเฉินเสมอ เพราะอาจมีกรณีที่แฝดคนแรกคลอดแล้ว แต่แฝดคนที่สองหมุนเปลี่ยนท่ากลายเป็นท่าขวาง เป็นต้น แต่หากเป็นการตั้งครรภ์แฝดสาม แฝดสี่ คุณแม่ควรผ่าคลอดจะปลอดภัยต่อลูกมากกว่า
ที่มา : haamor.com, คู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด โดย ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ