ความผูกพันทางอารมณ์
ไม่ใช่แค่การดูแลเอาใจใส่ลูกน้อยแค่เพียงร่างกาย พ่อแม่ต้องสร้าง ความผูกพันทางอารมณ์ ควบคู่ไปด้วย เริ่มได้ตั้งแต่ลูกแรกเกิด ความผูกพันทางอารมณ์จะช่วยเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ต่อยอดความฉลาดทางด้านสติปัญญา และอารมณ์ ทำให้เด็กปรับตัว และมีผลการเรียนที่ดี
สร้างความผูกพันทางอารมณ์ตั้งแต่แรกเกิด
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการทบทวนปัจจัยที่มี ผลต่อพัฒนาการ และความฉลาดทางสติปัญญาหรือไอคิวของเด็ก พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อไอคิวของเด็ก คือ ลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ซึ่งการเลี้ยงดูที่ดี จะต้องมีรากฐานมาจากการที่เด็กและพ่อแม่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่แน่นแฟ้นมั่นคงต่อกันมาตั้งแต่ก่อนปฐมวัย โดยเฉพาะขวบปีแรก
ความผูกพันทางอารมณ์จะส่งผลให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นใจ และรู้สึกปลอดภัยที่จะทำสิ่งต่าง ๆ กล้าเรียนรู้ ริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ และเมื่อเด็กมีอารมณ์กลัว โกรธ หรือวิตกกังวล ผิดหวัง คนที่เด็กมีความผูกพันทางอารมณ์ด้วยเท่านั้น ที่จะช่วยปลอบโยนเด็ก ทำให้เด็กคลายความโกรธ ความกลัว ความวิตกกังวลลงได้
- มีการศึกษาพบว่า เด็กช่วงอายุ 0-3 ปี แม้จะมีพัฒนาการที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากพ่อแม่ หรือผู้ดูแลมีปัญหาในการสร้างความผูกพันกับเด็ก จะส่งผลให้เด็กมีปัญหาแยกตัว ก้าวร้าว และสมาธิไม่ดีได้
- ผลการศึกษาวิจัยระยะยาว พบว่า เด็กทารกที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคง มีระดับพัฒนาการจากการทดสอบด้วยแบบทดสอบระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กเล็กต่ำกว่าเด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงกับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู
- ในเด็กวัยเรียน พบว่า ความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคง สัมพันธ์กับระดับสติปัญญา การปรับตัว และผลการเรียนของเด็ก โดยเด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงกับผู้เลี้ยงดูจะมีผลการเรียนดีกว่า และมีค่าไอคิวสูงกว่าเด็กที่มีความผูกพันทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคง
- ความผูกพันทางอารมณ์จะส่งผลต่อผลการเรียนของเด็กอย่างชัดเจนในช่วงอายุ 8-9 ปี
กรมสุขภาพจิต เชิญชวนให้ทุกครอบครัวช่วยกันสร้างความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงให้กับลูก ด้วยวิธีง่าย ๆ คือ “ใกล้ชิด เข้าใจ ไวในการรับรู้ และตอบสนองอย่างเหมาะสม” เพื่อให้เด็กที่เติบโตเป็นคนดี และคนเก่ง
วิธีสร้างความผูกพันทางอารมณ์
แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวถึงวิธีสร้างความผูกพันทางอารมณ์ว่า การสร้างความผูกพันทางอารมณ์จะเกิดจากความใกล้ชิดระหว่างลูกและพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดู โดยการใช้เวลาร่วมกัน พ่อแม่ต้องมีความไวในการรับรู้ถึงความรู้สึก ความต้องการของลูก และตอบสนองต่อลูกอย่างเหมาะสม คงเส้นคงวา และให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมี 8 วิธี ช่วยต่อยอดการเป็นคนดี และคนเก่งของลูก ประกอบด้วย
- พยายามสังเกตพฤติกรรม ท่าทาง การแสดงออกของลูกว่า ต้องการสื่อสารอะไรกับพ่อแม่ และพยายามแปลการแสดงออกนั้นให้ได้ โดยเฉพาะกับลูกเล็ก ๆ ที่ยังพูดไม่ได้ ต้องอาศัยการสังเกตสีหน้า ท่าทาง จดจำท่าทางเหล่านั้น แล้วตอบสนองทันทีอย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ
- เล่นกับลูก โดยให้ลูกเป็นผู้เลือก และนำเล่น โดยที่พ่อแม่ไม่ขัดจังหวะ วันละอย่างน้อย 15 นาทีต่อวัน
- กำหนดช่วงเวลาในการทำกิจวัตรประจำวัน ของลูกให้เป็นปกติ สม่ำเสมอในแต่ละวัน
- การสื่อสารด้วยภาษาท่าทาง โดยเฉพาะในขวบปีแรก เช่น การมอง การสบตาลูก การกอด การยิ้มให้ การอุ้มเดิน
- การสัมผัส การกอด การอุ้ม เป็นการให้ความอบอุ่นทางใจ โดยเฉพาะเวลาลูกร้องไห้ การอุ้มเป็นการช่วยจัดการอารมณ์ของลูกได้ดี ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย และสงบลงได้
- ในลูกวัยเตาะแตะ ช่วง 1-3 ขวบ ควรให้อิสระในการเล่น การออกสำรวจ ค้นหา และทดลองทำ ในสิ่งใหม่ ๆ โดยพ่อแม่ต้องอยู่ใกล้ ๆ เนื่องจากยังต้องการกำลังใจ เพื่อยืนยันว่า การกระทำนั้น สามารถกระทำได้ ปลอดภัย และมั่นใจในการกระทำ ทำให้ลูกกล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ได้ด้วยตนเอง
- ในช่วง 6 เดือนแรก ไม่ควรเปลี่ยนคนเลี้ยงบ่อย หรือมีคนเลี้ยงหลายคน ควรมีคนเลี้ยงหลัก เพียงคนเดียว
- ลูกควรมีความผูกพันทางอารมณ์แนบแน่นต่อเนื่องยาวนานกับผู้ใหญ่อย่างน้อย 1 คนในครอบครัว
เพื่อให้ลูกเติบโตไปอย่างฉลาด หัวไว เรียนดี พ่อแม่ต้องหมั่นสร้างความผูกพันทางอารมณ์นะคะ
ที่มา : https://www.thaihealth.or.th/
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เทคนิคเรียนเก่งอย่างอัจฉริยะ ความจำดี รักการอ่าน ฉลาดอย่างมีความสุข
คณิตศาสตร์สิงคโปร์ เป็นอย่างไร ดีอย่างไร ทำไมต้องให้ลูกเรียน
อันตรายจากแตงโม พ่อแม่ควรอ่านก่อนหยิบแตงโมให้ทารกได้กิน!
โรคที่เกิดขึ้นในวัยทารก โรคยอดฮิตในหมู่เด็กมีอะไรบ้าง พ่อแม่จะรู้ได้ไงว่าลูกป่วย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!