*** กับดัก(ทางใจ)…ของแม่ที่มี “ลูกกินยาก” ***
บ้านไหน ลูกกินอาหารได้ดี แม่ทำอะไร ป้อนแล้ว กินเกลี้ยง กินเก่ง มันดีต่อใจของแม่มากเลยนะคะ
แต่แม่อีกจำนวนมากต้อง”ทุกข์” กับเรื่องการกินของลูกมากๆ หมอเข้าใจ…และเคยผ่านภาวะนี้มาก่อนค่ะ
เรื่อง ความทุกข์ของแม่ที่ลูกกินยาก
ดีกรีของความทุกข์ ขึ้นอยู่กับ “ความคาดหวัง” ของแม่เลยค่ะ เพราะสมการความทุกข์
ความทุกข์ = ความคาดหวัง – ความจริง
บางบ้านทุกข์มาก เพราะความคาดหวังกับความจริง ห่างไกลกันมาก
บางบ้านทุกข์น้อย เพราะยอมรับความจริงได้เร็วกว่า
ตอนนั้นหมอเป็นแม่ที่ทุกข์มากๆ แน่นอน เพราะความคาดหวังสูงมากกกก เอาเป็นว่า ต้องหลั่งน้ำตาหลายครั้ง และมีอารมณ์ ไม่อยากตื่นเช้ามาเจอกับเวลาป้อนข้าวลูก เป็นถึงขั้นนั้นเลย
ดังนั้น หมอรู้ดี ว่าแม่ๆที่ส่งข้อความมาปรึกษาด้วยเรื่องนี้ มีความรู้สึกยังไง หมอรู้กระทั่งว่า แม่ที่มาปรึกษานี้จะเริ่มต้นด้วยอะไร เอาเป็นว่าจะเล่าประสบการณ์ ของกับดักทางใจที่ว่า ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ได้ตรงจุด เพื่อให้เพื่อนๆเทียบเคียงกับตัวเองดูนะคะ
1.วัตถุดิบชั้นเลิศ
สำหรับลูก ทุกอย่างต้องดีที่สุด อโวคาโด ตัวเองไม่เคยได้กินหรอก เอาน่า…ตำราบอก web ดังๆ ที่เหมือนคัมภีร์ แม่ลูกอ่อนก็แนะนำ จัดมา ลูกละหลักร้อย ก็ซื้อ อยากให้ลูกฉลาด ได้กรดไขมันจำเป็น เนื้อสัตว์ ไข่ ผัก ต้อง organic ทำอาหารที…ก็พิถีพิถัน ลูกไม่กิน…น้ำตาจะไหล
ถามว่า เด็กรู้มั้ยว่าอะไรมีประโยชน์ทางโภชนาการมาก อะไรแพง อะไรคือ organic ลูกรู้แต่ว่า มีความสุขมั้ยตอนได้กิน…แค่นั้น
2.อุปกรณ์ต้องครบครัน
ถามว่าลูกไม่กินอาหารเกี่ยวกับ ถ้วยชามรามไหมั้ย? คิดตามหลักตรรกะ…มันก็ไม่เกี่ยว แต่ตอนนั้น(ตัวเอง)ก็ทำไปได้ ถ้วยอาหารเด็ก ขนซื้อมา อันนี้ใช้สะดวกมี 2 ช่อง อันนี้ลายการ์ตูนลูกน่าจะชอบ อันนี้คุณภาพสูงของประเทศญี่ปุ่น หรือที่ลูกไม่กิน อาจจะเกี่ยวกับช้อน ? …ช้อนพอดีปาก ช้อนแสตนเลส ช้อนปลายซิลิโคนนิ่มแสนแพง
เอาเข้าจริง ถ้าเด็กเค้าจะกิน ถ้วยชามสังกะสี…ก็กินค่ะ ที่เขียนไม่ใช่ว่าห้ามเพื่อนๆ ซื้อนะคะ แค่ชี้ให้เห็นประเด็นว่าอุปกรณ์ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา
3.ตำราอาหาร..ต้องมา
ซื้อทุกเล่มเลยค่ะ วัตถุดิบ ตามคำแนะนำเป๊ะ เคี่ยวน้ำซุปกันข้ามวันข้ามคืน ห้ามปรุง ให้รสธรรมชาติ ในตำราบอกต้องปั่น…จัดไป เครื่องปั่น เพื่อความสะดวก ทำเสร็จ ในช่องแช่แข็ง เอาออกมาละลายให้ลูกกินทีละก้อน สุดยอด…คุณแม่ยุคใหม่ แล้วไง..ไม่กินค่ะ
4.ตำราเลี้ยงลูก
พอเริ่มมีปัญหา แม่สายข้อมูลอย่างหมอ ก็ต้องหาประสบการณ์ของผู้รู้ หาตำรา ซื้อตำราเลี้ยงลูกเกือบทุกเล่ม จำได้ว่ามีหมอจิตแพทย์ชื่อดังท่านหนึ่ง แต่งตำรา ชื่อหนังสือ…รับมือลูกกินยาก
แม่เจ้า!!! นี่แต่งมาเพื่อฉันรึเปล่า เรียกได้ว่า ซื้อวันแรกที่วางแผงเลยค่ะ เอามาอ่าน…เครียดหนักกว่าเดิม ไม่ใช่อาจารย์เขียนไม่ดีนะคะ อาจารย์ให้คำแนะนำดีมากๆ แต่…ตอนนั้นคุณภาพใจเราไม่ดีเอง ทำให้เราอ่านเข้าใจ..แต่ไม่แตกฉาน ในหนังสือกล่าวว่า การที่ลูกไม่กิน…ต้องย้อนกลับไปดู ว่าเรามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับลูกเพียงพอรึยัง
อ่านไป…อ่าว นี่เราเป็นแม่ที่ไม่ดีพอรึนี่ ซึ่งเราก็รู้สึกว่าเราทุ่มเทให้ลูกมากกก (เกินไป) พออ่านประโยคแบบนั้น…ด้วยคุณภาพใจตอนนั้น หดหู่มาก
แล้วผ่านมาได้อย่างไร? อ่านต่อหน้าถัดไป
*** แล้วผ่านมาได้อย่างไร? ***
ไอน์สไตน์ กล่าวไว้ว่า “We can NOT solve our problems with the same thinking we use when we created them.” นี่เป็นความจริงของจักรวาลนะคะ พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสเช่นนี้ ก็คือ อริยสัจ 4
ตอนนั้นปัญหาเลยเถิดถึงขั้นว่า ลูกกลัวช้อน เพราะมีบางครั้ง หมอใช้ช้อนงัดปากเค้า บังคับให้เค้ากิน
จึงถอยกลับมาคิด…ว่าที่เราทุกข์มาก เพราะอะไร? เรากลัวอะไรมากที่สุด จากการที่ลูกกินยาก
>>เรากลัวลูกขาดสารอาหาร…แล้วจะทำให้การทำงานของสมองไม่สมบูรณ์
ณ ตอนนั้น ลูกก็น้ำหนักขึ้นดีตามเกณฑ์ ใครมาพบลูกเรา…ทุกคนคงคิด เด็กคนนี้ห่างไกลคำว่า ขาดสารอาหารแน่นอน แต่คนเป็นแม่ชอบ ขยายปัญหาให้ใหญ่ ดังนั้น กลับมาอยู่กับปัจจุบันค่ะ ไม่ต้องไปเครียดอนาคตที่ยังไม่เกิด
>>แล้วสารอาหารชนิดไหนล่ะที่กลัวขาด
ตอนนี้ลูกกินนมได้ปกติ ลูกไม่ขาดสารอาหารให้พลังงานแน่นอน (โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต) เพราะในนมมีครบถ้วน ที่กลัวที่สุดคือธาตุเหล็ก…แล้วมีวิธีแก้อื่นมั้ย ในระหว่างที่ลูกยังกินอาหารได้ไม่ดีนัก ก็ให้ธาตุเหล็กเสริม (จริงๆเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ทุกคน WHO แนะนำเสริมธาตุเหล็ก 12.5mg/สัปดาห์ อยู่แล้วนะคะ)
>>สาเหตุที่ลูกกินยากเป็นเพราะอะไร?
เพราะเค้าไม่ได้อยากกินในเวลาที่เราให้กิน…ต้องปรับเวลามื้อนมให้เหมาะสม
ให้เวลาการกินอาหาร เป็นเวลาที่เค้ารู้สึกหิว เพราะเค้าไม่มีความสุขในการกิน เนื่องจากถูกบังคับ และบรรยากาศการกินอาหารไม่มีความสุข ข้อนี้สำคัญมากๆๆ เลยนะคะ เพราะเด็กจำความสุขได้
แม่บางคนบอก ไม่ได้กดดันเลย
เอาจริงๆแค่*นั่งจ้อง นั่งลุ้น ว่ากินไม่กิน* ก็กดดันกันแล้วค่ะ อย่าคิดว่าเด็กไม่รู้สึกนะคะ เด็กปฐมวัย ไวต่อความรู้สึกมากกว่าผู้ใหญ่อย่างเราอีกค่ะ เพราะการทำงานของสมองในส่วนตรรกะและเหตุผลยังไม่เจริญเต็มที่ (สมองส่วนหน้า) สมองที่เด็กใช้หลักๆคือส่วนที่เป็นสัญชาตญาณซะส่วนใหญ่ ถ้าเค้ารู้สึกว่า “ไม่มีความสุข” หรือรู้สึกว่า ถึงเวลาที่ต้อง”ต่อสู้”กับแม่อีกแล้ว เด็กก็จะต่อต้านการกินอาหารแน่นอนค่ะ
>>มีวิธีแก้ไขมั้ย
เริ่มที่ใจของแม่ก่อนค่ะ…อย่างที่บอก เอาระดับของใจที่เป็นทุกข์มาแก้ปัญหา มันแก้ไม่ได้..ก็จะแก้ปัญหาออกทะเล..เหมือนกรณีที่หมอทำค่ะ
ลูกกินยากช่วง 9 เดือน – 12 เดือน รู้สึกว่าปัญหามันใหญ่ และยาวนานมาก (ในตอนนั้น) แต่พอผ่านมันมาได้..ระดับจิตใจของเราก็ยกสูงขึ้น หันกลับไปมองอีกที ก็รู้สึกว่า…ทำไปได้นะเรา
*ปรับใจ*อย่างไร….ให้แม่ถอยออกมาจากปัญหาค่ะ
ถ้ามันเครียดมาก พักรบกับลูกเรื่องบังคับป้อนข้าวไปสักวันหนึ่ง เด็กไม่เดือดร้อน เค้าก็กินนมได้ดี มีความสุขค่ะ แล้วมานั่งวิเคราะห์อย่างที่หมอคิดเป็น step
ส่วนใหญ่…ปัญหาก็อยู่ที่แม่นั่นแหละค่ะ ลองนึกดู ถ้าเราไม่อยากกิน มีใครมาบังคับให้เรากิน เราก็จะยิ่งต่อต้าน พรุ่งนี้การต่อต้านนั้น ก็จะพอกพูนมากขึ้นๆ
“การกิน” เป็นสัญชาตญาณของสัตว์ทุกชนิด
เราเอง ที่ไปทำให้เป็นเรื่องยาก เด็กๆ เค้าก็ต้องการเติบโต ต้องการทำสิ่งต่างๆให้แม่รัก ให้แม่พอใจ แต่แม่ก็ต้องไม่”ท้ารบ”กับเค้าก่อน
ไม่ต้องบังคับค่ะ ถึงเวลากิน ให้เค้ากินไปตามหน้าที่ ให้เกียรติเค้า…เพราะเค้าก็ปัจเจกชนคนหนึ่ง เราก็กินของเราไป เค้าก็กินของเค้าไป กินได้เท่าไหร่ ก็เท่านั้น
สารอาหารที่จะกลัวขาด ในช่วงที่กินได้น้อย ก็เสริมค่ะ…เสริมธาตุเหล็กไปค่ะ
พอไม่มีความเครียด ไม่มีความกดดัน เค้ารับรู้ว่าการกิน มันสัมพันธ์กับความสุข สัมพันธ์กับประสบการณ์ใหม่ๆที่เค้าจะได้รับ มือได้สัมผัสสิ่งใหม่ๆ ลิ้นได้ลองรสชาติใหม่ๆ เดี๋ยวจะค่อยๆกินมากขึ้นๆเองค่ะ หน้าที่ของเรา ก็คือจัดหาอาหารที่เหมาะสมตามวัยให้เค้า และส่งเสริมให้เค้าหยิบจับอาหาร ใช้ช้อนให้เหมาะสมตามอายุค่ะ
ไม่เชื่อลองหันไปหาคนรอบๆ ตัว เพื่อนๆ พี่ๆน้องๆ ต้องเคยมีสักคนที่เป็นเด็กกินยากมาก่อน แต่เค้าเหล่านั้น ก็เติบโตมีคุณภาพได้ และปัจจุบัน ก็ไม่ได้ต้องบังคับให้กิน ไม่ใช่เหรอคะ
เป็นกำลังใจให้แม่ทุกคนนะคะ
หมอแพม
แม่ทุกคนก็ต้องการให้ลูกสุขภาพแข็งแรง ทานเก่ง เติบโตไวไว ลองนำข้อคิดจากหมอแพม เพจ Dr.Pam book club ไปปรับใช้ดูนะคะ
ที่มา : facebook.com/drpambookclub
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
คลิปสุดน่ารัก!! คุณพ่อปราบลูกกินยากด้วยเสียงเพลง
ทำยังไงเมื่อลูกกินยาก?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!