คนท้องกินพาราได้ไหม เมื่อมีอาการปวดหัว ตัวร้อน หรือมีไข้ขณะตั้งครรภ์ ซึ่งคุณแม่หลายท่านเป็นกังวลว่า หากกินยาพาราเซตามอลอาจจะส่งผลอันตรายต่อลูกในท้อง ซึ่งความจริงแล้ว ยาพารานั้นมีทั้งคุณและโทษหากเรารับประทานยาไม่ถูกวิธีหรือเกินขนาด ไม่ว่าจะท้องหรือไม่ก็ตาม แต่แม่ท้องอาจจะต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ซึ่งสามารถปฏิบัติตามและหาความรู้ได้จากบทความนี้
คนท้องกินพาราได้ไหม คำถามนี้แพทย์มีคำตอบ
นพ. วรณัฐ ปกณ์รัตน์ แพทย์อายุรกรรม ได้ไขข้อสงสัยสำหรับคำถามที่มักจะพบบ่อย คือ คนท้องกินพาราได้ไหม ซึ่งคุณหมออธิบายว่า จากการศึกษา ไม่พบความผิดปกติกับทารกในครรภ์ เมื่อแม่ท้องรับประทานยาพาราเซตามอล คนท้องสามารถกินยาพาราได้ โดยตระหนักถึงข้อควรระวัง เช่น
- โดยปกติ ยาพาราเซตามอล จะช่วยบรรเทาอาการปวด และช่วยลดไข้ ปริมาณยาที่แนะนำคือ ครั้งละ 1 เม็ด (500 มิลลิกรัม) ทุก 6 ชั่วโมง เฉพาะเวลามีอาการ หากไม่มีอาการ ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานต่อ
- ในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาพาราเซตามอล กับ โรคสมาธิสั้น มีเพียงการคาดเดา จากสถิติ ซึ่งยังมิอาจยืนยันเหตุและผลของทั้งสองอย่างนี้ได้ ดังนั้น จึงถือว่ายาพาราเซตามอล ยังสามารถใช้กับหญิงตั้งครรภ์ได้อยู่
- ในการรับประทานยาพาราเซตามอล ควรดื่มกับน้ำเปล่าเท่านั้น เพราะเครื่องดื่มชนิดอื่นอาจมีกรดที่ทำให้ฤทธิ์ยาน้อยลง เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ กระนั้น ก็ไม่ได้มีข้อห้ามเรื่องอาหาร แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง ผงชูรส สีผสมอาหาร ในช่วงที่ตั้งครรภ์นี้
- สำหรับยาแก้ปวดประเภทอื่นในกลุ่มเอ็นเซด (NSAIDS) เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ต้องหลีกเลี่ยงในช่วงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ เพราะจะส่งผลให้คลอดบุตรก่อนกำหนด และอาจทำให้เลือดออกง่ายกว่าปกติ[2] ส่วนยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนในกลุ่มเออร์กอตทามีน (Ergotamine) ห้ามใช้ในทุกช่วงของการตั้งครรภ์ เพราะจะก่อให้เกิดการสร้างอวัยวะผิดปกติในทารก กล่าวโดยสรุป หากมีอาการปวด ยาพาราเซตามอลจะปลอดภัยที่สุด
ทั้งนี้ คุณหมอวรณัฐ เสริมว่า “หญิงตั้งครรภ์สามารถใช้ยาพาราเซตามอล เหมือนคนปกติ ปริมาณยาที่แนะนำคือ ครั้งละ 1 เม็ด (500 มิลลิกรัม) ทุก 6 ชั่วโมง เฉพาะเวลามีอาการ หากไม่มีอาการ ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานต่อ แต่หากมีอาการปวดที่ไม่ทุเลา หรือ ปวดตลอด ก็ควรพบแพทย์รับการตรวจรักษาต่อไป”
*** ที่มาของข้อมูล : นพ. วรณัฐ ปกณ์รัตน์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
คนท้องกินยาพาราได้วันละกี่เม็ด
หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาพาราเซตามอลระหว่างตั้งครรภ์ คนท้องกินยาพาราได้วันละกี่เม็ด ทั้งนี้ คนท้องกินยาพาราได้ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง หากยังมีอาการปวดหรือไข้ แต่ไม่ควรเกิน 8 เม็ดหรือ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อย
คนท้องปวดฟันกินยาพาราได้ไหม
ช่วงตั้งครรภ์ควรดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี โดยแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟัน และไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ คนท้องปวดฟันกินยาพาราได้ไหม คนท้องปวดฟันกินยาพาราได้ค่ะ โดยคุณแม่สามารถทานยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้ชั่วคราว แต่ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมโดยทั่วไปแล้ว การรักษาช่องปากที่ซับซ้อนจะเลื่อนไปทำหลังคลอด เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อย เนื่องจาก ยาชาบางชนิดอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ค่ะ
คุณแม่ลูกอ่อน หรือเด็ก ควรใช้ยาอย่างไร
หากคุณแม่ลูกอ่อนหรือ ท่านที่กำลังให้นมบุตร เมื่อรู้สึกปวดหัว หรือมีไข้ ยาสามัญประจำบ้านชนิดแรกที่เรานึกถึงก็คือ “ยาพาราเซตามอล” ซึ่งเป็นยาที่มีผลข้างเคียงน้อย หากใช้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม สำหรับเด็กเวลามีไข้ ควรกิน 10-15 มิลลิกรัม ของยา ต่อน้ำหนักตัวของเด็กหนึ่งกิโลกรัม ใช้ได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่วันหนึ่งไม่ควรเกิน 5 ครั้ง และไม่ควรทาน ติดต่อกันเกิน 3-5 วัน ส่วนในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ยานี้ก็จะมีข้อจำกัดในการใช้มากขึ้น และ สำหรับผู้ใหญ่เมื่อมีอาการปวดหรือมีไข้ มีข้อแนะนำว่า ไม่ควรรับประทานเกิน 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งยาพาราเซตามอล 1 เม็ด เท่ากับ 500 มิลลิกรัม ดังนั้นใน 1 วัน ไม่ควรทานเกิน 8 เม็ด หรือติดต่อกันนานเกิน 10 วัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ยาเด็ก เก็บอย่างไร ใช้ได้นานแค่ไหน ถึงปลอดภัยกับลูกรัก
คนท้องกินยาพารา ควรตระหนักถึงการใช้ยาอย่างปลอดภัย
โดยทั่วไป ยาพาราเซตามอลถือเป็นยาที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์เมื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อย หรือไข้ได้ การใช้ยาพาราอย่างเหมาะสมยังอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนบางอย่างในระหว่างตั้งครรภ์ได้ เช่น การลดไข้สูงในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ แต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีโรคประจำตัวหรือตั้งครรภ์ในกลุ่มเสี่ยง
แม้จะมีวิจัยของ Oxford University Press ตีพิมพ์ใน International Journal of Epidemiology เผยการค้นพบน่าตกใจว่า คนท้องที่ได้รับยาพาราเซตามอลมากเกินไปขณะตั้งครรภ์ มีความเสี่ยง ที่ลูกในครรภ์ จะเกิดปัญหาสมาธิสั้น และ ออทิสติกมากกว่า เด็กที่ไม่ได้รับยาขณะที่แม่ตั้งครรภ์ถึง 30% แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาพาราเซตามอล กับ โรคสมาธิสั้น
คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาพาราไหม?
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่จำเป็นต้องใช้ยาพาราเซตามอล ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้ยาก่อน ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง และควรศึกษาข้อควรระวังดังนี้
- ผู้ที่แพ้ยาพารา หรือมีโรคตับ ควรหลีกเลี่ยง หากคุณแม่มีประวัติแพ้ยาพารา หรือมีโรคตับ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ หรือโรคตับแข็ง การใช้ยาพาราอาจทำให้อาการแย่ลงได้
- ใช้ในปริมาณน้อยและระยะเวลาสั้น ควรใช้ยาพาราในปริมาณที่น้อยที่สุด และเป็นระยะเวลาอันสั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ ซึ่งหากไม่จำเป็นจริง ๆ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกประเภท โดยเฉพาะในระหว่าง 8-10 สัปดาห์แรก ของการตั้งครรภ์เพราะเป็นช่วงที่สมอง ปอด และหัวใจของลูกในท้องกำลังพัฒนา การใช้ยา บางชนิดอาจทำให้อวัยวะ และพัฒนาการของทารกไม่สมบูรณ์อีกด้วย
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาต่อเนื่อง การใช้ยาพาราต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ โดยเฉพาะระบบประสาท ควรใช้ยาพาราเฉพาะเมื่อจำเป็น เช่น มีไข้สูง หรือปวดศีรษะรุนแรง”
บทความที่เกี่ยวข้อง: คนท้องกินยาแก้เมารถได้ไหม แม่ท้องควรทำอย่างไรไม่ให้เมารถ เมาเรือ
อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ท้องรู้สึกมีอาการปวดหัว ปวดหลัง หรือกล้ามเนื้อเป็นตะคริว มีอาการนิด ๆ หน่อย ๆ ที่เกิดขึ้น สามารถเลือกวิธีรักษาหรือบำบัดอาการต่าง ๆ ด้วยวิธีทางธรรมชาติจะดีที่สุด ถ้ามีอาการปวดเมื่อยธรรมดาไม่ร้ายแรง การใช้ยาชนิดครีมนวดที่เป็นยาใช้ภายนอก เพื่อบรรเทาอาการจะปลอดภัยและไม่เกิดผลข้างเคียงกับทารกในครรภ์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อได้ดีขึ้น ควรพักผ่อนให้มากขึ้น หาอะไรทำเพื่อผ่อนคลายเพื่อไม่ให้เกิดความเครียด ที่สำคัญควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ ก่อนหยิบยามารับประทาน
บทความที่น่าสนใจ :
ยา 10 ชนิดที่เป็นอันตรายต่อลูกน้อย มีอะไรบ้าง คุณแม่ต้องระวัง
คนท้องไม่ควรกินยาอะไร ยาแก้ปวดที่คนท้องห้ามกิน มีผลต่อหัวใจและหลอดเลือดลูกในท้อง
คนท้องมือชา อันตรายไหม มีวิธีแก้อาการมือชาตอนท้องอย่างไร
ที่มา : sukkaphap-d, aafp , ncbi , pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!