วัดท่าการ้อง มักเป็น 1 ใน 9 วัดที่ถูกจัดอยู่ใน เส้นทางไหว้พระ 9 วัดอยู่เสมอ ๆ วัดแห่งนี้เกิดจากการรวมวัด 2 แห่งเข้าด้วยกัน คือวัดท่า และวัดการ้อง คาดว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2076 ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชา ปัจจุบันวัดท่าการ้อง มีอายุ 469 ปี
ในปี 2309 วัดท่าการ้องได้เคยเป็นที่ตั้งค่ายของพม่า ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา จนมีคำกล่าวว่า “.. นกกาจากวัดการ้อง บินไปเสียบอก ณ ยอดพระปรางค์วัดพระศรีมหาธาตุ ใจกลางกรุงศรีอยุธยา น้ำตาหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง ไหลนองพระเนตร อันเป็นลางบอกเหตุสิ้นแล้ว แผ่นดินกรุงศรีอยุธยา“
วัดท่าการ้อง1
และในสมัย สงครามโลกครั้งที่ 2 วัดท่าการ้องได้ถูกจัดให้เป็น โรงเรียนนายร้อยฝ่ายช่างเทคนิค รุ่น 10 – 12 เป็นการชั่วคราว โดยใช้ศาลาการเปรียญเป็นห้องเรียน และเป็นที่พักอาศัย ก่อนที่จะถูกปล่อยทิ้งขาดการเอาใจใส่ดูแลเป็นเวลานานจนทำให้ทรุดโทรมลงในที่สุด ซึ่งขณะนี้กำลังทำการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานและโบราณวัตถุภายในวัด เพื่อให้เป็นที่ศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา
มาถึงปัจจุบัน ได้มีการปรับปรุงวัดท่าการ้องให้เป็นเส้นทางทำบุญ มีพระให้ไหว้หลากหลาย รวมถึงการไหว้พระจีน อย่างเจ้าแม่กวนอิม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ หรือจะเดินไปชมตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้องก็ได้
พระอุโบสถ
ประวัติวัดท่าการ้อง
วัดไทยหนึ่งเดียว ท่ามกลางมัสยิดถึง 5 หลัง วัดแห่งนี้เกิดจากการที่วัดท่า และวัดการ้อง ยุบรวมกันเป็นวัดเดียว คาดว่าจะสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2076 เป็นสถานที่สำคัญในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์หลายครั้ง เช่น เป็นที่ประทับ ของคณะผู้เผยแพร่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์
อีกทั้งไปปรากฎในพงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ได้ยกทัพมาตั้งที่วัดท่าการ้อง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2106 ตรงกับ รัชสมัยพระมหาจักรพรรดิในสงครามช้างเผือก และเนเมียวสีหบดี แม่ทัพพม่ายกทัพมาใน พ.ศ. 2310 ในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ หรือสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชธานีอยุธยา
ซึ่งหลังจากนั้นมา วัดท่าการ้อง ก็แปรสภาพเป็นวัดร้าง แต่สังเกตจากรูปแบบการก่อสร้าง เม็ดมะยมรอบกำแพงพระอุโบสถจึงสันนิฐานได้ว่า วัดท่าการ้องจะได้รับการบูรณะในสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศิลป์สมัยกรุงศรีอยุธยา ผสมผสานกับศิลปะแบบกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ยังหลงเหลือในสภาพสมบูรณ์ เช่น พระอุโบสถ ที่มีหน้าบันไม้แต่งลายจำหลัก ซุ้มประตูและหน้าต่างแต่งลายปูนปั้น แต่ด้านหน้าประดับงานกระจกสีสไตล์โบสถ์ฝรั่งดูแปลกตา
หลวงพ่อยิ้ม
พุทธศาสนิกชนนิยม มากราบไหว้หลวงพ่อยิ้ม หรือพระพุทธรัตนมงคล พระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนต้นที่พระพักตร์เปี่ยมเมตตา และงดงามตามศิลปะอันโดดเด่นในยุคนั้น ส่วนหอระฆังสร้างสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก่ออิฐถือปูนเป็นรูปแปดเหลี่ยม และศาลาการเปรียญหลังเก่าด้านหลังพระอุโบสถ ซึ่งสร้างเป็นเรือนไทยไม้สักทรงคุณค่า
วัดท่าการ้องยังเป็นที่ฝึกฝน ศิลปะแม่ไม้มวยไทย ของนักมวยไทย ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งคือ นายขนมต้ม อีกทั้งในเสภา ขุนช้างขุนแผน ยังมีการบันทึกไว้ว่า ขุนไกร และสามเณรพลายแก้ว ได้มาอุปสมบทที่วัดท่าการ้อง ตอนที่ขุนแผนถูกจองจำ ณ กรุงศรีอยุธยา ณ วันอังคาร ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน เวลาบ่าย 4 โมง พม่ายิงปืนสูงวัดการ้องระดมเข้ามา ณ กรุงศรีอยุธยาแล้วเอาเพลิงจุดเชื้อที่รากกำแพงทรุดลง
สิ่งแต่งเติมวัดในปัจจุบันคือพรรณไม้ต่าง ๆ ตลอดจนรูปปั้นดินเผาพระยิ้มสวมแว่นสวยตา บ้างก็สวมแว่นตาดำ ดึงดูดคนยุคใหม่ให้เข้าวัดได้ดีนัก ส่วนบริเวณหลังวัดก็จัดเป็นตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง ลักษณะเป็นตลาดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขายอาหาร และเครื่องดื่ม อิ่มบุญและอิ่มท้องในคราวเดียว
นอกจากนี้ ที่วัดนี้ยังเคยได้รับรางวัลสุดยอดสุขาแห่งปี 2549 ประเภทวัดและศาสนสถานจากการตกแต่งสวยงามจุดเด่นอีกจุดที่หลายคนรู้ดี คือ ที่วัดท่าการ้องนี้ เป็นวัดที่มีห้องน้ำสะอาด แถมติดมีแอร์ เย็น ๆ ดังนั้น วัดนี้ จึงเป็นที่เหมาะสำหรับปลดทุกข์ ทั้งทางกาย และทางใจจริง ๆ
ตลาดน้ำวัดท่าการ้อง
การเดินทาง
- รถยนต์ส่วนตัว : เส้นทางที่ 1 จากดอนเมือง, รังสิต วิ่ง ถ.พหลโยธิน มาเข้าถนนสายเอเชีย (หมายเลข 32) เลี้ยวซ้ายเข้าถนน 309 เพื่อเข้าตัวเมืองอยุธยา ผ่านศาลากลางจังหวัด พอเลยโรงพยาบาลอยุธยา ราว 2 ก.ม. ให้ขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จะพบวัดท่าการ้องตั้งอยู่. เส้นทางที่ 2 จากทางด่วนแจ้งวัฒนะฯ (อุดรรัถยา) มาลงสุดสายที่บางปะอิน แล้ววิ่งตามถนน 347 จนพบสี่แยกวัดวรเชษฐ์ ให้เลี้ยวขวาเข้าถนน 3263 จากนั้นก่อนขึ้นสะพานให้เลี้ยวซ้ายเข้าวัดท่าการ้อง.
- รถไฟ : นั่งรถไฟนั่งจากหัวลำโพง, สามเสน, บางซื่อ, หลักสี่, บางเขน, ดอนเมือง ฯลฯ มาลงสถานีรถไฟอยุธยา จากนั้นนั่งเรือข้ามแม่น้ำป่าสัก-ลพบุรี มายังฝั่งตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา แล้วเดินไปยังตลาดเจ้าพรหม ต่อรถสายอยุธยา-บางบาล (สายเก่า) มาลงหน้าวัดท่าการ้อง.
- รถประจำทาง : นั่งรถจากหมอชิตหรือฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต มาลงอยุธยา บริเวณตลาดเจ้าพรหม แล้วต่อรถสายอยุธยา-บางบาล (สายเก่า) มาลงหน้าวัดท่าการ้อง.
- รถตู้ : นั่งรถตู้จากทั้งอนุสาวรีย์ชัยฯ, ปิ่นเกล้า, หมอชิตและฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต มาลงอยุธยาบริเวณตลาดเจ้าพรหม แล้วต่อรถสายอยุธยา-บางบาล (สายเก่า) มาลงหน้าวัดท่าการ้อง
สามารถเข้าไหว้พระทำบุญได้ทุกวัน ไม่เสียค่าเข้าชม
เวลาเข้าชม 08.00 – 16.00 น.
ที่มา : (tourismthailand) (dooasia)
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พาไหว้พระ 9 วัด เสริมมงคงรับปีใหม่ วัดที่ 5 วัดพระศรีสรรเพชญ์
เสริมมงคลรับปีใหม่ ไหว้พระ 9 วัด อยุธยา วัดที่ 4 วัดหน้าพระเมรุ
พาเที่ยวอยุธยา ไหว้พระ 9 วัด เสริมมงคลรับปีใหม่ วัดที่ 3 วัดใหญ่ชัยมงคล
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!