เมื่อลูกเป็นไข้ หมายความว่า ระบบภูมิคุ้มกันของเจ้าตัวน้อยกำลังทำงานเพื่อต่อสู้กับความผิดปกติในร่างกายค่ะ แต่ร่างกายของเจ้าตัวเล็ก ไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ค่ะ แต่การดูแลลูกระหว่างเป็นไข้ ก็มีทั้งสิ่งที่สามารถทำได้ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยนั้น และ สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อลูกเป็นไข้ อย่างแรกเลย คุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกมีไข้สูงเกินไป (มากกว่า 40-41 องศา) ค่ะ เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงที่ลูกน้อยจะมีอาการชักจากไข้สูงได้
มีอะไรอีกบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำ และ สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อลูกเป็นไข้ ไปดูกันค่ะ
สิ่งที่ควรทำ เมื่อลูกเป็นไข้
- ให้ยาพาราเซตามอลชนิดน้ำ โดยคำนวณปริมาณยาตามน้ำหนักตัวของลูก แนะนำให้ไซรินจ์จะช่วยให้คุณแม่ตวงปริมาณยาได้แม่นยำที่สุด หลีกเลียงการตวงยาด้วยช้อนที่ใช้ในครัวเรือน เพราะอาจเสี่ยงต่อการได้รับยาเกินขนาดหรือปริมาณยาน้อยเกินไป
- ควรให้ลูกดื่มน้ำเยอะๆ เพราะความร้อนทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว หากเจ้าตัวน้อยอายุต่ำกว่า 6 เดือน ควรให้ลูกดูดนมแม่บ่อยๆ นมแม่เป็นยาปฏิชีวนะที่จะช่วยต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างดีเยี่ยม
- ควรเช็ดตัวลดไข้ โดยพักผ้าที่ใต้รักแร้ บนหน้าผาก และบริเวณขาหนีบทั้งสองข้าง
- ให้ลูกสวมเสื้อผ้าเนื้อบาง เนื้อผ้าฝ้าย และห่มผ้าห่มบางๆ จะช่วยระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ หรือห่มผ้าหนาๆ เพราะจะยิ่งเพิ่มความร้อนให้ร่างกาย
สิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อลูกเป็นไข้
- ไม่ควรให้ลูกกินยาไอบูโพรเฟน จนกว่าคุณจะมั่นใจว่าอาการไข้ของลูกไม่ได้เกิดจากไวรัสเดงกี่ที่เป็นต้นเหตุของโรคไข้เลือดออก เพราะไอบูโพรเฟนจะทำให้เกล็ดเลือดไม่แข็งตัว และทำให้อาการแย่ลงได้
- ไม่ควรให้ลูกกินยาแอสไพริน นอกจากคุณหมอเป็นผู้แนะนำ เนื่องจากอาจเกิดอาการแพ้ยาแอสไพริน ที่เรียกว่า กลุ่มอาการราย (Reye’s syndrome)
- หากลูกอายุต่ำกว่า 2 เดือน ไม่ควรให้ลูกกินยาลดไข้พานาดอล หรือไอบูโพรเฟน นอกจากจะได้รับคำแนะนำจากกุมารแพทย์
- ไม่ควรใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็ง แต่ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดให้ทั่วร่างกายเพื่อให้อุณหภูมิร่างกายลดลง
- หากไข้ยังไม่ลด ไม่ควรให้ยาซ้ำเร็วเกินไป ควรอ่านฉลากยาอย่างระมัดระวัง และทำตามอย่างเคร่งครัด
- ไม่ควรงดอาหาร หากเจ้าตัวน้อยถึงวัยกินอาหารเสริมได้นอกจากนมแม่ ควรให้ลูกได้กินอาหารเขาอยากกิน เพราะร่างกายลูกต้องการพลังงานเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค แต่หากลูกไม่ยอมกินอาหาร คุณแม่ไม่ต้องกังวลมากเกินไป หากลูกดื่มน้ำหรือนมอย่างเพียงพอ และปัสสาวะปกติ
- ไม่ควรให้ลูกไปโรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็กในระหว่างที่ลูกเป็นไข้ ควรรอให้ลูกหายไข้ครบ 24 ชั่วโมงก่อน
ลูกชักจากไข้สูง ควรทำอย่างไรดี
บทความ : ลูกชักจากไข้สูง อาการชักจากไข้สูงในเด็กอันตรายแค่ไหน? พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร
ลูกชักจากไข้สูง ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก แต่เมื่อเกิดขึ้น โดยเฉพาะครั้งแรก คุณพ่อคุณแม่มักจะมีความเครียด วิตกกังวลสูง และทำอะไรไม่ถูก เรามาทำความรู้จักกับภาวะนี้ และเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดขึ้น กันดีกว่าค่ะ
อาการชักจากไข้สูงเกิดจากการที่สมองของเด็กเล็กยังพัฒนาเติบโตไม่เต็มที่ เมื่อถูกกระตุ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น มีอุณหภูมิร่างกายสูงมาก อาจทำให้เกิดอาการชักได้ จึงมักเกิดในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี อาการนี้สามารถพบได้ในเด็กเล็ก คืออายุตั้งแต่ 6 เดือน ไปจนกระทั่ง 5 ปี ช่วงอายุที่พบบ่อยที่สุดคืออายุ 1-2 ปี
อาการชักจะเกิดขึ้นหลังจากมีไข้สูง (อุณหภูมิสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส) ภายในไม่เกิน 24-48 ชั่วโมง หลังจากที่มีไข้สูง ลักษณะอาการชักจะเป็นชักแบบเกร็ง กระตุกทั้งตัว เป็นทั้งข้างซ้ายและขวาเท่าๆ กัน ระยะเวลาที่ชักมักเป็นช่วงสั้นๆ ไม่นานกว่า 15 นาที อาการชักมักจะหยุดได้เองภายในเวลา 3-5 นาที หลังจากชักเด็กจะรู้สึกตัวดี
อาการชักจากไข้สูงในเด็กอันตรายแค่ไหน?
โดยทั่วไปภาวะนี้จะไม่มีอันตรายร้ายแรง ไม่ส่งผลต่อระดับสติปัญญา พัฒนาการหรือการเรียนรู้ของเด็ก ยกเว้นในบางรายที่มีอาการชักติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะชักต่อเนื่องกันนานมากกว่า 30 นาที จนมีภาวะตัวเขียวเนื่องจากขาดออกซิเจน กรณีนี้อาจส่งผลต่อสมองได้
*** ข้อควรระวังคือเด็กที่เคยชักจากไข้สูงจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการชักซ้ำ ประมาณ 30% หากมีไข้สูงอีก จนกว่าจะอายุมากกว่า 5 ปี ก็มักจะหายไปหากไม่ได้เป็นโรคลมชัก
*** สิ่งที่หมอมักจะย้ำเตือนกับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกมีอาการชักจากไข้สูงก็คือเมื่อลูกมีไข้สูงควรรีบเช็ดตัวลดไข้และให้ยาลดไข้พาราเซตามอลทันที อย่าปล่อยให้ไข้สูงนาน เพราะลูกอาจเกิดอาการชักขึ้นมาอีกได้***
เด็กที่มีอาการชักจากไข้สูงไม่ได้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคลมชักในอนาคตสูงกว่าเด็กปกติทั่วไป ยกเว้นมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้คือ มีอาการชักนานกว่า 15 นาที มีอาการชักซ้ำมากกว่า 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง มีความผิดปกติทางสมองและพัฒนาการก่อนมีอาการชัก หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคลมชัก ก็จะมีโอกาสเป็นโรคลมชักสูงกว่าเด็กปกติได้
วิธีดูแลลูกหากมีอาการชักจากไข้สูงควรทำอย่างไร?
สิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นอันดับแรกหากมีอาการชักจากไข้สูงคือ “ควบคุมสติ” อย่าตกใจ แล้วรีบจับให้ลูกนอนท่าตะแคงหัวต่ำ เพื่อป้องกันการสำลัก ห้ามใช้นิ้วหรือวัสดุใดๆ เช่น ช้อน ไปล้วงหรืองัดปากลูกโดยเด็ดขาด และควรรีบพาลูกโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาในทันทีหากมีอาการชักนานมากกว่า 5 นาที หรือรอบปากมีรอยเขียวคล้ำ
*** ทั้งนี้หากลูกมีอาการชักเป็นครั้งแรก ไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด ไม่ว่าจะมีไข้หรือไม่ ก็ควรพาลูกไปโรงพยาบาลเพื่อจะได้สาเหตุของอาการชักให้ชัดเจนและได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไปนะคะ
หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพของลูกน้อยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาการไข้ หรือเรื่องอื่นๆ ควรปรึกษากุมารแพทย์โดยเร็วค่ะ
ที่มา : sg.theasianparent.com
คุณแม่รู้ไว้ วิธีเช็ดตัวลดไข้ที่ถูกต้อง ทำอย่างไร?
8 เรื่องเกี่ยวกับ การใช้ยาในเด็ก ที่แม่มักทำพลาด
ลูกมีไข้สูง ตัวร้อน จะชักหรือไม่ ทำอย่างไรดี