ระหว่างตั้งครรภ์ ถ้าอยากให้ลูกในท้องออกมาแข็งแรงเป็นที่รู้กันดีว่าอะไรที่คุณแม่กินเข้าไป ในระหว่างตั้งครรภ์ ก็เท่ากับลูกในท้องได้กินด้วย ทั้งอาหารการกินและเครื่องดื่ม แต่ก็ไม่เพียงแค่นี้ที่ส่งอันตรายถึงลูก พฤติกรรมบางอย่างที่แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงเพื่อให้ลูกได้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ปลอดภัย และมีพัฒนาการเจริญเติบโตที่ดีตลอดระยะตั้งครรภ์นั้นควร “กันไว้ดีกว่าแก้”
เผย 5 เรื่องไม่ลับ! ระหว่างตั้งครรภ์
#ย้อมสีผม ในระหว่างตั้งครรภ์ ได้มั้ย
เป็นที่เชื่อกันมาว่าการสูดดมกลิ่นหรือการดูดซึมของสารเคมีในสีย้อมผมอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่จากการศึกษานั้นก็ยังไม่พบหลักฐานที่แสดงได้ว่าสารเหล่านี้เป็นอันตรายต่อทารกที่ยังไม่คลอด และมีการพิสูจน์มาว่าสารเคมีจากสีย้อมผมนั้นมีการดูดซึมผ่านผิวหนังเป็นไปได้น้อยมาก แต่ถ้าคุณแม่ต้องการทำสีผมในช่วงนี้จริง ๆ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าควรหลีกเลี่ยงการทำสีผมช่วงไตรมาสแรก และควรแจ้งช่างทำผมว่ากำลังตั้งครรภ์ก่อนทำสีผมทุกครั้ง ช่างผมที่ชำนาญจะสามารถทำสีผมโดยให้สีผมสัมผัสกับหนังศีรษะได้น้อยที่สุด ตรวจสอบให้แน่ใจว่าร้านเสริมสวยมีการระบายอากาศที่ดีด้วย อย่างไรก็ตามการทำสีผมมีอันตรายเพียงอย่างเดียวคืออาการแพ้ ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง และอาจเกิดขึ้นได้กับแม่ท้องที่ไม่เคยแพ้น้ำยาทำสีผมก่อนท้องได้เช่นกัน
#ยาทาเล็บหรือน้ำยาล้างเล็บอาจเป็นอันตรายต่อลูกในท้อง
น้ำยาทาเล็บที่ขายกันอยู่ทั่วไปนั้นประกอบไปด้วยฟอร์มาดีไฮด์และโทลูอีน ซึ่งอาจก่อให้เกิออาการระคายเคืองตา จมูก หรือลำคอได้หากต้องสัมผัสอยู่เป็นประจำ อย่างไรก็ตามส่วนประกอบเหล่านี้จะไม่ส่งผลต่อลูกน้อยที่ยังไม่คลอด ถึงแม้ว่าส่วนประกอบดังกล่าวนี้จะสามารถถูกดูดซึมผ่านทางโคนเล็บได้ แต่ร่างกายก็จะกำจัดมันออกไปก่อนที่จะไปถึงตัวอ่อนในครรภ์ เช่นเดียวกันกับน้ำยาล้างเล็บแบบปกติทั่วไม่จะไม่ค่อยมีความเสี่ยงนัก แต่การสูดดมบ่อย ๆ ก็ไม่เป็นผลดีต่อร่างกายของคุณแม่และลูกน้อยในท้อง หากใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
#ไม่ควรที่จะกินปลาดิบในระหว่างที่ตั้งครรภ์
ปลาดิบหน้าต่าง ๆ หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแซลมอน ปลาหมึก ปลาทูน่า ๆ ฯลฯ แน่นอนว่าอาหารดิบ ๆ แบบนี้เป็นสิ่งที่คุณแม่ท้องควรหลีกเลี่ยงที่จะรับประทานไว้ก่อน เนื่องจากอาหารดิบ อย่างเช่นในเนื้อปลาดิบอาจมีหนอนพยาธิเล็ก ๆ หากกินเข้าไปแล้วติดเชื้อ จะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้และอาเจียน ท้องเสียท้องร่วง ซึ่งโรคเหล่านี้นั้นกระทบกับลูกในครรภ์โดยตรง เพราะการที่ร่างกายของคุณแม่ขาดน้ำอย่างเฉียบพลันนั้น จะทำให้ตัวอ่อนในท้องขาดออกซิเจนไปด้วย
แต่ปลานั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 และ 6 ซึ่งมีคุณประโยชน์อย่างมากในระหว่างการตั้งครรภ์ ดังนั้นละวางปลาดิบในช่วงนี้ก่อนเพื่อระวังไม่ให้เกิดปัญหา รับประทานเนื้อปลาที่ปรุงสุกและหลีกเลี่ยงเนื้อปลาที่อาจปนเปื้อนสารตะกั่วในระดับสูงอย่างปลาดาบหรือปลาแมคเคอเรล
#กาแฟอาจเป็นสาเหตุทำให้แท้งลูกได้
ยังคงมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันว่าการบริโภคคาเฟอีนในระหว่างตั้งครรภ์นั้นปลอดภัยต่อทารกในครรภ์หรือไม่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการดื่มกาแฟถือเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ปัจจุบันไปแล้ว คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะตัดมันออกไปจากชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดกาแฟได้มีผลการวิจัยพบว่า การบริโภคคาเฟอีนนั้นควรจำกัดไว้ที่ 200 มก. (หรือประมาณ 95 มก. ในแก้วกาแฟขนาด 240 มล.) ต่อวัน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการแท้งลูกและส่งผลกระทบต่อลูกในท้องค่อนข้างน้อย ดังนั้นถ้าจำเป็นที่จะต้องดื่มประจำทุกวัน ความพอดีคือหัวใจสำคัญ หรือถ้าเลี่ยงได้อดใจที่จะไม่ดื่มเครื่องดื่มที่คาเฟอีนในช่วงท้องก็จะดีต่อสุขภาพและความปลอดภับของแม่และลูกน้อยในท้องนะคะ
#กินถั่วขณะที่ตั้งครรภ์จะทำให้ลูกน้อยเป็นภูมิแพ้ถั่ว
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีประวัติตัวเองหรือครอบครัวเกี่ยวกับการแพ้อาหารอย่างรุนแรงนั้นจะได้รับคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการบริโภคถั่วลิสงในขณะที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจทำให้ลูกเกิดมาพร้อมกับภูมิแพ้ถั่วลิสง แต่ถ้าหากคุณแม่หรือคนในครอบครัวนั้นไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้หรือแพ้ถั่ว สามารถบริโภคถั่วได้ปกติในช่วงตั้งครรภ์ หรือปริมาณ 1 กำมือในแต่ละมื้ออาหาร และอาจบริโภคควบคู่กับอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์อย่างผักผลไม้ ก็จะส่งผลให้ลูกน้อยมีสุขภาพดี และมีผลต่อความเสี่ยงที่ลูกจะแพ้ถั่วน้อยมาก แต่ถ้าแม่แพ้ถั่วอยู่แล้ว ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ควรทานถั่วอยู่ดี ที่สำคัญต้องอย่าลืมว่าแม่ตั้งครรภ์แต่ละคนนั้นต่างกัน ถ้าคุณแม่ไม่แน่ว่าใจตัวเองแพ้อะไร หรืออาหารอะไรที่รับประทานได้และอะไรที่ควรหลีกเลี่ยงสามารถปรึกษากับแพทย์ที่ฝากครรภ์ได้นะคะ.
อยากมีครรภ์คุณภาพลูกในท้องแข็งแรง ต้องดูแลแบบนี้
1. ฝากครรภ์ และไปพบคุณหมอตามนัดทุกครั้ง
การจะดูแลลูกในครรภ์ตลอด 9 เดือน ให้พร้อมที่จะออกมาสู่โลกภายนอกอย่างแข็งแรงนั้น จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคุณหมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร
คุณแม่ควรไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด ทันทีที่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์นะครับ อย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปเป็นอันขาด การเลือกสถานที่ฝากครรภ์นั้น ควรเลือกโรงพยาบาล หรือคลินิกที่สะดวกที่สุด หากเป็นสถานพยาบาลที่คุณแม่มีประวัติการรักษาโรคประจำตัวมาก่อนยิ่งดีใหญ่ เพราะคุณหมอจะมีประวัติว่าคุณแม่เคยเป็นโรคอะไร ใช้ยาอะไร และจะมีผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์หรือไม่
ที่สำคัญคือต้องไปพบคุณหมอตามนัด เพื่อตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ แต่อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาการผิดปกติ ก่อนที่คุณหมอนัด เช่น มีเลือดออก หรือมีความรู้สึกว่า ลูกไม่ดิ้น ก็สามารถไปพบคุณหมอก่อนนัดได้นะครับ เรียกว่า เป็นกรณีฉุกเฉินอย่าใจเย็น หรือรอให้ถึงวันนัด เพราะอาจจะไม่ทันเวลา ทำให้ลูกในท้องเป็นอันตรายได้
2. รับประทานอาหารให้เหมาะสม
โภชนาการระหว่างตั้งครรภ์นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆสำหรับแม่ท้อง เพราะนอกจากแม่ท้องต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพของคุณแม่เองแล้ว ร่ายกายของแม่ท้องยังต้องเตรียมพร้อม สำหรับการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์อีกด้วย
แม่ท้องควรรับประทานอาหารที่หลากหลาย ครบ 5 หมู่ โดยเคล็ดลับการเลือกทานอาหารตอนท้องนั้น มีดังนี้ครับ
เนื้อสัตว์ : แม่ท้องสามารถเลือกทานเนื้อสัตว์ชนิดใดก็ได้ แต่ไม่ควรติดหนัง
นมสด : หากแม่ท้องไม่สามารถดื่มนมได้เพราะมีอาการแพ้หรือเพราะสาเหตุอื่นๆ ก็อาจดื่มนมถั่วเหลืองแทนได้ แต่ควรทานเนื้อสัตว์ ไข่ หรือถั่วเมล็ดเสริมให้มากขึ้น
ไข่ : ระหว่างตั้งครรภ์ควรรับประทานทุกวัน วันละประมาณ 1 ฟอง จะเป็นไข่เป็ดหรือไข่ไก่ก็ได้
ข้าวและผลิตภัณฑ์จากแป้ง : หากแม่ท้องเลือกทานข้าวซ้อมมือ ก็จะทำให้ได้รับวิตามินบี1 เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งในข้าวซ้อมมือนั้นมีกากใยซึ่งช่วยป้องกันอาการเหน็บชาตอนท้องได้อีกด้วย
ผักและผลไม้ : แม่ท้องควรทานผักและผลไม้ให้หลากหลายตามฤดูกาล ควรทานผลไม้หลังอาหารทุกมื้อหรือทานเป็นอาหารว่างก็ได้
ถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง : ควรรับประทานเต้าหู้สลับกับเนื้อสัตว์และควรทานถั่วเป็นประจำ
ไขมัน : ควรเลือกใช้น้ำมันที่ได้จากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง เพราะไม่มีคอเรสเตอรอล และยังมีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายอีกด้วย
นอกจากนี้แล้ว แม่ท้องไม่ควรใช้วิธีอดอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก หรือเพื่อลดน้ำหนักนะครับ เพราะนั่นจะทำให้ทารกในครรภ์ไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นในการเจริญเติบโต และสร้างอวัยวะ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้
3. อย่าลืมรับประทานโฟลิก
โฟลิก มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนท้องและทารกในครรภ์ การรับประทาน โฟเลต หรือ กรดโฟลิก จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงของความพิการแต่กำเนิดได้ร้อยละ 20 – 50 นอกจากนั้นยังช่วยลดการเกิดภาวะทารกในครรภ์โตช้าและโรคออทิสติก (autism) ได้อีกด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าผู้หญิงก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์ ควรเตรียมความพร้อมของร่างกายด้วยการกินอาหารที่มีโฟลิก เป็นเวลาอย่างน้อย 1 – 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์
สำหรับคุณแม่ท้องปกติทั่วไป แนะนำให้รับประทานโฟเลต หรือกรดโฟลิกในปริมาณ 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน ก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 – 3 เดือน และทานต่อเนื่องตลอดการตั้งครรภ์ แต่สำหรับคุณแม่ท้องที่มีความเสี่ยงสูงบางราย อาจต้องการโฟลิกในปริมาณที่มากขึ้นตามคำแนะนำของคุณหมอครับ
นอกจาก กรดโฟลิก ที่คุณหมอให้แล้ว ในบ้านเรามีอาหารที่มีกรดโฟลิก หรือ โฟเลต ให้เลือกกินมากมาย เพราะ กรดโฟลิก หรือโฟเลต นั้น มีอยู่ในผักใบเขียวเกือบทุกชนิด เช่น คะน้า ปวยเล้ง กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง บล็อกโคลี่ ถั่วลันเตา นอกจากนั้นยังมีแหล่งอาหาร ที่อุดมไปด้วย กรดโฟลิก หรือ โฟเลต อีกมากมายอย่างเช่น ปลา นมสด ธัญพืชที่ไม่ขัดสี ข้าวซ้อมมือ และผลไม้ตระกูลส้ม เป็นต้น
>> โฟลิก ต่างกับโฟเลตอย่างไร <<
4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่คุณหมอไม่ได้สั่ง
ในแต่ละปี จะมีเด็กทารกจำนวนไม่น้อย ที่ต้องเกิดมาพร้อมความผิดปกติ อันเนื่องมาจากการใช้ยาไม่ถูกต้องระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ดังนั้น แม่ท้องจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกชนิดที่คุณหมอไม่ได้สั่งหากไม่จำเป็นจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง สัปดาห์ที่ 8 – 10 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นระยะที่ลูกน้อยของคุณกำลังพัฒนาสมอง หัวใจและปอด
หากก่อนหน้าที่จะตั้งครรภ์นั้น แม่ท้องกินยาเช่น ยาแก้สิว ยาแก้ปวดท้อง หรืออาหารเสริมต่างๆ คุณแม่ควรนำยาที่กินไปปรึกษาคุณหมอว่ายังกินต่อไปได้หรือไม่ เพื่อจะได้ไม่ส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อลูกในท้องนะครับ
credit content : www.health24.com
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
10 สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในระหว่างตั้งครรภ์
ทําไมคนท้องชอบกินของเปรี้ยว แค่มโนก็น้ำลายสอ ถ้ากินเปรี้ยวมากไปอันตรายมั้ย?