โรคหน้าฝน โรคที่มากับฤดูฝน
โรคหน้าฝน โรคที่มากับฤดูฝน พ่อแม่ต้องระวังลูกป่วย โรคหน้าฝนในเด็ก อันตรายที่อย่ามองข้าม
โรคหน้าฝนในเด็ก
กลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มผู้สูงอายุ คือกลุ่มเสี่ยงต่อโรคหน้าฝน เพราะเมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลง นอกจากท้องฟ้าที่เปลี่ยนไปแล้ว เจ้าฝนก็นำพาโรคร้ายมาพร้อม ๆ กันด้วย โดยกรมควบคุมโรคได้เตือน เรื่องการป้องกันโรคภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2562
กลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง
5 กลุ่มโรคหน้าฝน โรคที่มากับฤดูฝน
กลุ่มที่ 1 กลุ่มโรคติดต่อทางระบบหายใจ ได้แก่
- โรคไข้หวัดใหญ่
- โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ เกิดจากเชื้อไวรัส
การติดต่อของโรคที่มากับฤดูฝน กลุ่มที่ 1 ติดต่อทางการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายหรือไอจามรดกัน
วิธีป้องกันกลุ่มโรคติดต่อทางระบบหายใจ
- ป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิด
- ทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน ควรกินนมแม่ สำหรับลูกที่อายุมากกว่า 6 เดือน ควรได้รับสารอาหารที่หลากหลาย
- พักผ่อนให้เพียงพอ พาลูกนอนหลับ เข้านอนเป็นเวลา
- ทำร่างกายให้อบอุ่น ไม่ควรให้ลูกอยู่สถานที่ร้อนหรือเย็นเกินไป
- หมั่นล้างมือ พ่อแม่ต้องหมั่นล้างมือก่อนจับหรืออุ้มลูก และคอยเช็ดทำความสะอาดมือลูกอยู่เสมอ
- ผู้ใหญ่ไม่ควรใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
- เด็กเล็กไม่ควรไปในสถานที่คนพลุกพล่านบ่อย ๆ
กลุ่มที่ 2 โรคที่มียุงเป็นพาหะ ได้แก่
- โรคไข้เลือดออก
- โรคไข้สมองอักเสบ
- โรคมาลาเรีย
- โรคไข้ปวดข้อยุงลาย
- โรคติดเชื้อไวรัสซิกา
วิธีป้องกันกลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ
- ป้องกันได้ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด
- สำหรับทารกหรือเด็กเล็ก ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ
กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่
- โรคอหิวาตกโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม หรือจากแมลงวันที่เป็นพาหะนำโรค
- โรคไวรัสตับอักเสบเอ ติดต่อจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่ง น้ำลาย เลือดจากผู้ป่วย
วิธีป้องกันกลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ
- สำหรับเด็กเล็ก ควรให้ลูกรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม
- อาหารค้างมื้อควรอุ่นให้ร้อนจัดก่อนรับประทาน แต่เด็กควรทานอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่ จะได้ประโยชน์กับลูกมากกว่า และทำให้ร่างกายของลูกแข็งแรง มีภูมิต้านทาน
- หลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ และดื่มน้ำสะอาด
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรค
กลุ่มที่ 4 โรคติดต่ออื่น ๆ ได้แก่
- โรคมือ เท้า ปาก พบบ่อยในเด็ก ระบาดทุกปีช่วงฤดูฝนหรือเปิดเทอม ติดต่อจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วย
- โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู เชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือไชเข้าผิวหนังที่แช่น้ำนานจนอ่อนนุ่ม
หากลูกมีอาการผิดปกติ เจ็บป่วย ไม่สบาย ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะโรคบางอย่างต้องตรวจละเอียดถึงจะเจอ และถ้าลูกในวัยเรียนเริ่มไม่สบาย ควรให้หยุดอยู่บ้าน จะได้ไม่ไปแพร่เชื้อให้เพื่อนที่โรงเรียน
กลุ่มที่ 5 ภัยสุขภาพในฤดูฝน ได้แก่
- เห็ดพิษ ไม่ควรรับประทานเห็ดที่ไม่รู้จัก
- อันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ป้องกันโดยจัดบ้านให้สะอาด ระมัดระวังเมื่อต้องเข้าไปในที่รก ควรตรวจพื้นที่ที่ลูกนอน จัดให้ทุกอย่างเป็นระเบียบ สัตว์ร้ายจะได้ไม่สามารถซ่อนตัวได้ โดยเฉพาะหมอนและผ้าห่ม ที่ต้องคอยตรวจเช็คบ่อย ๆ
นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ต้องระวังภัยจากฟ้าผ่าเมื่อฝนตกฟ้าคะนอง ให้หลบในที่ปลอดภัย เช่น อาคารขนาดใหญ่ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้งเพราะจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในโทรศัพท์มือถือได้ และขอให้ขับรถด้วยความระมัดระวัง เพราะฝนตกถนนลื่นทำให้ระยะการหยุดรถยาวกว่าปกติ การมองเห็นลดลง
โรคหน้าฝนในเด็กหรือโรคที่มากับฤดูฝนนั้นอันตราย พ่อแม่ควรดูแลเรื่องอาหาร ให้ลูกทานสิ่งที่มีประโยชน์ร่างกายจะได้แข็งแรง เน้นผักผลไม้ที่มีวิตามินและเกลือแร่ ส่วนทารกก็ควรให้กินนมแม่ นอกจากนี้ อย่าลืมที่จะพาลูกไปฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโรคร้าย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
วิธีดูเห็ดพิษ เห็ดกินได้ เห็ดพิษ ต่างกันตรงไหน เเละวิธีแก้พิษเบื้องต้น
โรคmds Myelodysplastic syndrome ลูกเป็นโรคร้าย เลือดออก จุดจ้ำเลือดทั่วตัว
ระวัง! โรคไข้เลือดออกระบาด อธิบดีกรมควบคุมโรคประกาศเตือน