ในช่วงเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจ ว่าลูกจะป่วยไข้ไหม จะไม่สบายหรือเปล่า นอกจากอาการป่วยทั่ว ๆ ไปแล้ว โรคประจำฤดูกาล ที่มักจะกลับเข้ามาแพร่ระบาดในทุก ๆ ฤดู ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะเฝ้าระวัง
โรคที่มากับฤดูต่าง ๆ
โรคประจำฤดูกาล เป็นโรคที่มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำในแต่ละฤดู เนื่องจากเชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศนั้น ๆ สำหรับประเทศไทย แบ่งสภาพภูมิอากาศออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว
ถึงแม้ว่าอุณหภูมิปกติตอนนี้ ของประเทศเราดูจะแปรปรวน จนไม่อาจแบ่งฤดูกาล จากพยากรณ์อากาศประจำวันได้ แต่เราก็สามารถแบ่งฤดูต่าง ๆ ในประเทศไทยจากการนับเดือนแต่ละเดือน โดย ฤดูร้อน จะเริ่มต้นประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ฤดูฝน เริ่มต้นที่ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม และฤดูหนาว เริ่มต้นประมาณกลางเดือนตุลาคม กลับมาบรรจบที่กลางเดือนกุมภาพันธ์
อากาศประเทศไทยปกติไหม ? อุณหภูมิปกติตอนนี้ ควรเป็นเท่าไหร่ ?
โดยปกติแล้ว อากาศร้อนในประเทศไทย จะมีอุณหภูมิอยู่ที่ 35 องศาเซลเซียสขึ้นไป ส่วนอากาศเย็นจะมีอุณหภูมิต่ำสุดที่ 8 องศาเซลเซียส และสูงสุดอยู่ที่ 22.9 องศาเซลเซียส
อ้างอิงจากข้อมูลสรุปลักษณะอากาศของประเทศไทยในปี 2563 จากเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา ในหน้าร้อน (ก.พ.-พ.ค.) มีอุณหภูมิเฉลี่ย 29.4 องศาเซลเซียส หน้าฝน (พ.ค.-ต.ค.) มีอุณหภูมิเฉลี่ย 28.6 องศาเซลเซียส และหน้าหนาว (ต.ค.-ก.พ.) มีอุณหภูมิเฉลี่ย 26.4 องศาเซลเซียส
ตัวเลขอาจจะดูไม่สูงมาก หากแต่ค่าเฉลี่ยของทั้งปี 2563 อุณหภูมิในประเทศไทย กลับสูงขึ้นจากเดิมในปี 2562 ราว ๆ 1 องศา อีกทั้งอุณหภูมิสูงที่สุด ที่วัดได้ในปี 2563 ก็ยังสูงมากถึง 43.5 องศา ไม่เพียงแค่เห็นตัวเลข ก็รู้สึกร้อน จนจะเป็นลมแล้ว แต่ท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงมากขนาดนี้ ก็เสี่ยงที่จะทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติได้
บทความที่เกี่ยวข้อง วิธีดูแลทารกหน้าร้อน แดดแรง อุณหภูมิรอบตัวสูงขนาดนี้ แม่ต้องทำอย่างไร
โรคที่มากับฤดูต่าง ๆ
โรคที่เกิดจากความร้อน และแสงแดด
โดยปกติแล้ว ร่างกายของคนเราจะสามารถรับได้ที่ 36 – 37 องศาเซลเซียส ท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงขึ้นมาก ร่างกายจะส่งสัญญาณไปยังสมอง เพื่อสั่งการให้เส้นเลือดขยายตัว โดยเฉพาะบริเวณผิวหนัง และมีการสร้างเหงื่อ เพื่อลดความร้อนภายใน และปรับตัวเข้ากับอากาศที่ร้อนขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่ร้อนจัด เสี่ยงต่อความเจ็บป่วยที่มาจากความร้อน และแสงแดดโดยเฉพาะ เช่น
- อาการบวมบริเวณข้อเท้า และส่วนของเท้า ซึ่งจะหายไปเมื่ออุณหภูมิร่างกายเป็นปกติ
- ผื่นจากความร้อน หรือผื่นแดด แก้ได้ด้วยการใส่เสื้อผ้าที่เบาบาง ไม่อับชื้น หรืออึดอัด
- ตะคริวแดด มักเกิดบริเวณน่อง เป็นผลมาจากการสูญเสียเกลือแร่ ในกรณีที่เป็นไม่เยอะ สามารถดื่มเกลือแร่เพื่อชดเชยส่วนที่ร่างกายขาดไปได้
- เพลียแดด อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เวียนศีรษะ ใจสั่น และมีความดันโลหิตสูง
- ลมแดด ภาวะที่ร่างกายร้อนเกิน 40 องศา อาจมีอาการเกี่ยวกับระบบประสาทร่วมด้วย เช่น รู้สึกซึม สับสน อาจชัก หรือหมดสติได้
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นของผู้ที่เป็นลมแดด
- คลายเสื้อผ้าเพื่อระบายความร้อน
- อยู่ในที่ที่อากาศเย็นลง พรมน้ำ หรือเอาพัดลมมาเป่า
- วางผ้าเย็น หรือน้ำแข็งไว้บางจุด เช่น หน้าผาก หรือ คอ
สภาพอากาศ กับอาการป่วยของลูก
สภาพอากาศ เกี่ยวข้องกับการป่วยของลูกอย่างไร ?
อากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ฤดูกาล ในบางครั้งก็ส่งผลต่อการเจริญเติบโต และการแพร่กระจายของเชื้อโรค เช่น การเพาะพันธุ์ของยุงลาย มักเกิดขึ้นในหน้าฝน ซึ่งมีแหล่งน้ำขังมาก จึงทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก การเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย โปรโตซัว ที่ทำให้อาหารเน่าเสีย และเป็นสาเหตุของอาการอาหารเป็นพิษ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำในฤดูร้อน หรือเชื้อไวรัสโรต้า ที่พบมากในฤดูหนาว และมักจะทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ
เชื้อโรคแพร่กระจายได้อย่างไร
มีปัจจัยหลายอย่างเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ทำให้เกิดโรค อย่างเช่น อุณหภูมิ ที่มักเป็นตัวเร่งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค บางชนิดชอบอากาศร้อน บางชนิดชอบอากาศเย็น ในขณะที่บางชนิดอยู่รอดได้ในสภาพอากาศที่ย้อนแย้ง เช่น ฤดูหนาว ที่อากาศไม่หนาว เป็นต้น
ความชื้น ก็เป็นอีกหนึ่งสภาวะทางอากาศที่ทำให้เชื้อโรคบางชนิด มีอายุอยู่ได้นานขึ้น เช่นเดียวกับการพัดพาของ ลม ซึ่งส่งผลต่อการกระจายของตัวนำเชื้อโรค อันเป็นพาหะของโรคติดต่อ รวมถึงโรคประจำฤดูกาลด้วย
โรคประจำฤดูกาล โรคอะไรบ้างที่มักเกิดในฤดูกาลต่าง ๆ
โรคที่มักเกิดในหน้าร้อน
- อุจจาระร่วงเฉียบพลัน
- อาหารเป็นพิษ
- โรคบิด
- อหิวาตกโรค
- ไข้รากสาดน้อย หรือไข้ไทฟอยด์
- โรคพิษสุนัขบ้า
โรคที่มักเกิดในหน้าฝน
- ไข้หวัดใหญ่
- ไข้หวัด
- โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
- โรคไข้เลือดออก
- โรคฉี่หนู
โรคที่มักเกิดในหน้าหนาว
- ไข้หวัด
- ไข้หวัดใหญ่
- โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า
ทำความรู้จัก โรคที่มากับฤดูฝน
มาทำความรู้จักกับโรคแต่ละชนิดกัน
โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน มีต้นเหตุมาจากการดื่ม หรือรับประทานอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส โปรโตซัว หรือพยาธิปะปนอยู่ ส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการไม่รุนแรงมาก และมักจะหายได้เอง
อาการ อุจจาระเหลว 3 ครั้งขึ้นไป ภายใน 1 วัน หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูก หรือมีเลือดออกมาด้วย แม้เพียงครั้งเดียว
การดูแลตัวเองเบื้องต้น ดื่มน้ำเกลือแร่ รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย และนอนหลับให้เพียงพอ ไม่ควรใช้ยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้ลำไส้กักเก็บเชื้อโรคเอาไว้นานกว่าเดิม
อาหารเป็นพิษ
สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ รวมทั้งอาหารที่ปรุงเอาไว้นาน เมื่อร่างกายได้รับเชื้ออาจจะทำให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหาร และลำไส้ ในทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ อาการอาจรุนแรงขนถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยร่างกาย อาจมีไข้ และมีอาการอุจจาระร่วงร่วมด้วย
การดูแลตัวเองเบื้องต้น ดื่มน้ำเกลือแร่ให้มากพอกับที่ถ่ายออกไป รับประทานอาหารอ่อน ๆ ถ้ามีไข้ สามารถใช้พาราเซตามอลเพื่อลดไข้ได้ แต่ไม่ควรรับประทานยาหยุดถ่าย หากอาการรุนแรง เป็นลม ชีพจรเต้นเร็ว หรือเรื้อรัง ควรพบแพทย์ทันที
บทความที่เกี่ยวข้อง อาการอ้วกในเด็ก ทำอย่างไรเมื่อลูกอ้วก สาเหตุเกิดจากอะไร
โรคบิด
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้ออะมีบา จากการรับประทานผักดิบ น้ำดื่ม หรืออาหารที่มีปนเปื้อนเชื้อโรคเหล่านี้
อาการ ปวดท้อง อุจจาระบ่อย อาจมีมูก หรือเลือดปน มีไข้กว่า 38 องศา
การดูแลตัวเองเบื้องต้น สำหรับโรคบิด ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา หากอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจจะให้น้ำเกลือ ให้ยา และแนะนำให้พักผ่อนมาก ๆ
ทำความรู้จัก โรคที่มากับฤดูร้อน
อหิวาตกโรค
เกิดจากการดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้ออหิวาตกโรคอยู่ ซึ่งหากติดเชื้อก็จะทำให้ถ่ายอุจจาระเหลว ทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรวดเร็ว อาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ อหิวาตกโรคพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบน้อยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี
อาการ ถ่ายเหลวครั้งละมาก ๆ กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ปัสสาวะน้อย ชีพจรเต้นเร็ว อาจช็อก หรือหมดสติได้
การดูแลรักษาเบื้องต้น ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์
ไข้รากสาดน้อย หรือโรคไทฟอยด์
เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดจากการดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด จนทำให้ร่างกายได้รับเชื้อโรค ซึ่งจะออกมาทางปัสสาวะ และอุจจาระ กลายเป็นพาหะอีกด้วย
อาการ มีไข้ต่ำ ๆ แล้วเพิ่มสูงอาจถึง 40.5 องศา ปวดหัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และอาจท้องผูก หรือท้องเสียได้
การดูแลรักษาเบื้องต้น ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา หากอาการไม่หนัก แพทย์อาจให้ยากลับไปรับประทาน ส่วนรายที่มีอาการหนัก ก็อาจจะต้องนอนโรงพยาบาล
โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ
สาเหตุจากการที่ร่างกายได้รับเชื้อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสุนัข และแมว อาจติดเชื้อจากการโดนกัด หรือน้ำลายของสัตว์จากการถูกเลียบริเวณแผล หรือน้ำลายจากสัตว์ไปสัมผัสดวงตา จมูก ปาก ก็ทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน
อาการ ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการทันที แต่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านั้น จนถึงเป็นปี ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ได้รับเชื้อ และภูมิต้านทานของร่างกายด้วย
การดูแลรักษาเบื้องต้น หากถูกกัดให้รีบล้างน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง ครั้งละ 15 นาที เช็ดให้แห้ง และใส่ยาฆ่าเชื้อ ควรสืบหาเจ้าของสัตว์ เพื่อดูประวัติการรับวัคซีน และบอกแพทย์ด้วย เพื่อทำการรักษาต่อไป
ไข้หวัด
ไข้หวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ จากการติดต่อทางสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือรับเชื้อที่ปะปนในละอองฝอย จากการไอ จาม เป็นต้น
อาการ มีไข้ต่ำ ๆ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม เจ็บคอ ปวดศีรษะ อาการของโรคมักเป็นไม่เกิน 2 – 5 วัน แต่อาจมีน้ำมูกไหลนาน 10 – 14 วัน
การดูแลรักษาเบื้องต้น พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำเยอะ ๆ และรับประทานยาลดไข้
ทำความรู้จัก โรคที่มักมากับหน้าฝน
ไข้หวัดใหญ่
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) หากเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล อาการมักจะไม่รุนแรงมาก แต่ในปัจจุบันมีการปะปนกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่าง ๆ เกิดเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
อาการ มีไข้สูงติดกันหลายวัน ปวดศีรษะ เมื่อยตัว ไอ จาม บางครั้งอาจมีน้ำมูก อาการของไข้หวัดใหญ่คล้ายกับโควิด -19 มาก แต่จะไม่มีอาการแน่นหน้าอก หรือหายใจลำบาก ซึ่งเป็นอาการของโรคโควิด-19
การดูแลรักษาเบื้องต้น ไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน และควรฉีดเป็นประจำทุกปี เนื่องจากมักมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ หากสงสัยว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
ไข้เลือดออก
โรคหน้าร้อนที่ทุกคนคงจะได้ยินกันบ่อย ๆ และเป็นหนึ่งในโรคประจำฤดูกาลของประเทศไทย เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ที่มียุงลายเป็นพาหะ
อาการ ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ หรือกระดูก มีผื่นขึ้นตามตัว ไข้สูงเฉียบพลัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และอาจมีภาวะเลือดออก
การดูแลรักษาเบื้องต้น ข้อห้ามสำหรับผู้ที่เป็นไข้เลือดออก คือรับประทานยาแอสไพรินเด็ดขาด
โรคฉี่หนู
ฉี่หนูเป็นโรคที่มักจะพบในหน้าฝน หรือช่วงที่มีน้ำขังมาก โดยการติดเชื้อจากสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู และ สัตว์อื่น ๆ เช่น สุนัข วัว ควาย ผ่านทางการสัมผัส หรือโดนสัตว์ที่มีเชื้อกัด
อาการ เยื่อบุตาบวมแดง เลือดออกที่ตาขาว กดเจ็บที่กล้ามเนื้อ มีผื่นขึ้น มีอาการตัวเหลือง
การดูแลรักษาเบื้องต้น หากสงสัยว่าจะได้รับเชื้อให้รีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายให้สะอาด แล้วไปพบแพทย์ทันที
โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า
ในช่วงอากาศเย็น เป็นช่วงเวลาที่ไวรัสโรต้าแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเชื้อโรคนี้ผ่านเข้าไปสู่ระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอุจจาระร่วงได้ การติดเชื้อไวรัสโรต้านี้มักพบในเด็กเล็ก และมีอาการรุนแรงกว่าเด็กโต
อาการ ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ อาเจียน มีไข้ อาจชัก หรือเกิดอาการช็อกได้
การดูแลรักษาเบื้องต้น ดื่มเกลือแร่เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เลี่ยงการให้ยาปฏิชีวนะ หากมีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูงมาก ซึม ถ่ายเป็นเลือด ต้องพบแพทย์ทันที
บทความที่เกี่ยวข้อง หยอดวัคซีนโรต้าแล้ว ทำไมลูกยังท้องเสียจากไวรัสโรต้าอีก
อ้างอิง : climate.tmd , rama.mahidol , cigna , paolohospital , thaihealth
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!