แม่เครียดทำให้น้ำนมไม่ไหล จริงหรือ?
แม่เครียดทำให้น้ำนมไม่ไหล จริงหรือ? …เพจนมแม่แฮปปี้ ได้ไขความกระจ่างเรื่องนี้ว่า ความเครียดไม่ทำให้น้ำนมลด แต่สามารถกดฮอร์โมนออกซิโทซิน (ที่ช่วยให้น้ำนมไหล) ทำให้น้ำนมไหลช้าลงได้ค่ะ ดังนั้นที่คนชอบพูดว่า “อย่าเครียด เดี๋ยวนมไม่ไหล” ก็มีส่วนจริงนะคะ ความเครียด ความกังวล จะทำให้จี๊ดยากขึ้น ใครที่เร่งและกดดันตัวเองจะพบว่าปั๊มนมไม่ออก หรือปั๊มได้น้อยลง (จี๊ด = ความรู้สึกจี๊ดๆ ที่เต้า เวลาน้ำนมเริ่มไหล)
วิธีลดความเครียด ทางเพจนมแม่แฮปปี้ ให้คำแนะนำว่า
- แยกตัวออกจากความเครียด เท่าที่จะทำได้ ฟังเพลง นั่งสมาธิ พูดคุยกับเพื่อนที่เข้าใจและสามารถให้คำแนะนำดีๆ เกี่ยวกับนมแม่ ทำใจสบายๆ หายใจลึกๆ นะคะ
- ถ้าแยกตัวเราออกมาไม่ได้ ต้องปรับตัวและทำความเข้าใจค่ะ ทำไมลูกถึงร้อง ไม่ใช่เพราะนมแม่ไม่พอ แต่การร้องไห้ของลูก คือการสื่อสารต่างหาก แม่ต้องพยายามเรียนรู้เสียงร้องของลูก ลองฟังดูว่าลูกพยายามจะบอกอะไร
- อุ้มลูก กอดลูก ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและทำให้น้ำนมหลั่งได้ดีขึ้นค่ะ
- ทำไมลูกต้องร้องให้อุ้มนอน ทำไมเด็กทารกจึงติดมือ ก็เพราะลูกไม่ชอบเตียงเย็นๆ หรือไม่ชอบความ “โล่ง” ที่ต่างไปจากภายในครรภ์ของแม่ ต้องค่อยๆ ปรับตัวทั้งแม่และลูก
- หากไม่ไหวก็ขอให้ใครมาช่วยอุ้มหรือใช้เป้อุ้มเด็ก คุณแม่จะได้พักบ้าง สามารถทำอะไรบ้างค่ะ
- บางคนสงสัยว่าทำไมลูกจึงดูดนมตลอดเวลา น้ำนมไม่พอใช่ไหม? จะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำนมพอ? (ลูกฉี่ 6 ครั้งใน 24 ชม. แสดงว่าน้ำนมพอค่ะ)
- ลดความเครียดของความ “ไม่รู้” ด้วยการหาข้อมูลคำอธิบาย เมื่อเราเข้าใจ เราจะเครียดน้อยลง และจะมีทัศนคติที่ดีขึ้นกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ค่ะ
ฮอร์โมนออกซิโทซิน (oxytocin) คืออะไร
ฮอร์โมนออกซิโทซิน เป็นฮอร์โมนที่เรียกกันว่า ฮอร์โมนแห่งความผูกพัน ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นปลอดภัย เช่น ความรักของพ่อแม่ลูก หรือแม้แต่คู่รักที่มีเพศสัมพันธ์กัน
สำหรับหน้าที่ของฮอร์โมนออกซิโทซิน (oxytocin) ที่สำคัญๆ เกี่ยวข้องกับคุณแม่ ดังนี้
เริ่มกันตั้งแต่แม่ท้องแก่ใกล้คลอด ฮอร์โมนออกซิโทซิน จะกระตุ้นการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อเรียบของมดลูก และจะทำให้มีการหดรัดตัว ของมดลูกถี่ขึ้นในระยะใกล้คลอดและระยะคลอด ในขณะคลอดถ้ามีการกระตุ้นการถ่ายขยายของปากมดลูก ก็ยิ่งจะทำให้มีการหลั่งของออกซิโทซินเพิ่มขึ้น
อ่านฮอร์โมนออกซิโทซิน กระตุ้นการหลั่งน้ำนม หน้าถัดไป
ออกซิโทซิน (oxytocin) กระตุ้นการหลั่งน้ำนม
หลังจากคลอดลูกออกมาแล้ว ฮอร์โมนออกซิโทซิน (oxytocin) ยังกระตุ้นการหลั่งน้ำนม (milk ejection) ส่งผลให้กล้ามเนื้อของต่อมน้ำนม บีบตัว หลั่งน้ำนมออกมา แล้วน้ำนมจะไปเก็บไว้ในถุงน้ำนมเพื่อเตรียมไว้ให้ทารก เรียกว่า alveoli ซึ่งถูกล้อมรอบด้วยด้วยกล้ามเนื้อเรียบ myoepithelial cell เซลล์เป้าหมาย (target cell) ของออกซิโทซิน แล้วฮอร์โมนตัวนี้ก็จะกระตุ้นให้มีการหดรัดตัว ของกล้ามเนื้อเรียบนี้ ทำให้น้ำนมที่สร้างไว้แล้วไหลเข้าไปสู่ท่อน้ำนมเมื่อทารกดูด
ขณะที่ทารกดูดนม จะส่งกระแสประสาทผ่านไขสันหลังไปยังเซลล์ประสาท ที่สร้างฮอร์โมน ในไฮโพทาลามัสทำให้มีการสร้างออกซิโทซิน และมาเก็บไว้ที่ต่อมใต้สมองส่วนหลัง แพร่เข้าไปในกระแสเลือด ไปทำงานโดยกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบที่ต่อมน้ำนม ให้บีบตัวให้น้ำนมที่สร้างไว้แล้วให้ไหลออกมาตามท่อน้ำนมไปที่หัวนมแล้วเข้าปากทารก
ทั้งนี้ การกระตุ้นที่หัวนม หรือการดูดนมมารดาของทารกเป็นสิ่งเร้าที่จะกระตุ้นสัญญาณประสาทผ่านไขสันหลังไปที่สมอง กระตุ้นไฮโพทาลามัสให้สังเคราะห์ฮอร์โมนออกซิโทซิน หลั่งที่ปลายประสาทในต่อมใต้สมองส่วนหลังเข้ากระแสเลือด ไปมีผลที่เต้านม นอกจากการดูดนมของทารกแล้ว เสียงและภาพของทารกหรือการนึกถึงทารกก็สามารถกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนออกซิโทซินได้
ออกซิโทซิน ฮอร์โมนแห่งความรัก
นอกจากนี้ ออกซิโทซิน ยังเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก กระตุ้นให้แม่พฤติกรรมในการเลี้ยงลูก โดยหลังจากการคลอดพบว่ามีออกซิโทซินที่ในสมองและที่ไขสันหลังเพิ่มมากขึ้น และเชื่อว่าฮอร์โมนนี้เป็นตัวกระตุ้นให้แม่มีความต้องการในการเลี้ยงดูทารก ส่วนแม่ที่ให้นมลูกก็จะมีความรักความผูกพันกับลูกมากขึ้นด้วย
แม้ว่าอาการเครียดของแม่หลังคลอด หรือแม่ให้นม จะไม่ได้ส่งผลโดยตรงให้น้ำนมไม่ไหล แต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้น้ำนมไหลช้า ไหลได้น้อยลง เนื่องจากฮอร์โมนออกซิโทซิน (oxytocin) ดังนั้น แม่ๆ ต้องหาวิธีผ่อนคลายความเครียด ไม่ให้ความวิตกกังวลเข้าครอบงำ เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย หลั่งฮอร์โมนมาช่วยให้มีน้ำนมคุณภาพ เลี้ยงดูลูกรักได้อย่างเพียงพอ
ที่มา : facebook.com/HappyBreastfeeding, vcharkarn.com/varticle และ il.mahidol.ac.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
แม่น้ำนมน้อย จะเพิ่มน้ำนมแม่ได้อย่างไร
จะรู้ได้อย่างไร ว่าลูกได้รับนมแม่เพียงพอ?
เทรนใหม่! กับภาพสวยงามของนมแม่ รากฐานแห่งสายใยรักของชีวิต
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!