ทารกขาโก่ง สาเหตุเกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ทุกคนอยากให้ลูกเกิดมามีสุขภาพที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และมีร่างกายที่สมบูรณ์ แต่ว่าเด็กบางคนก็เกิดมาพร้อมกับภาวะขาโก่ง หรือขาโค้งผิดรูป ภาวะขาโก่งที่ว่านี้ ความจริงแล้วคืออะไรกันแน่ ลูกขาโก่งจะแก้ขาโก่งได้ไหม ภาวะนี้อันตรายหรือเปล่า รักษายังไง แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าลูกเราขาโก่งหรือไม่ วิธี แก้ขาโก่ง ทำยังไงได้บ้าง วันนี้เรามีคำตอบมาให้แล้ว
ขาโก่ง เป็นภาวะความผิดปกติที่มักเกิดขึ้นกับเด็กเล็กหรือทารกแรกเกิด ซึ่งเราอาจจะเริ่มมองเห็นการโค้งที่ผิดรูปของขาเด็กได้เมื่อเด็กมีอายุ 1 ปี ปัจจุบัน ภาวะขาโก่งแบบออกเป็น 2 ชนิด คือ ขาโก่งที่หายได้เองตามธรรมชาติ และขาโก่งที่เกิดจากโรค ซึ่งเด็กต้องได้รับการรักษาจึงจะหายเป็นปกติ โดยส่วนมากภาวะขาโก่งที่เกิดขึ้นกับเด็ก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามพัฒนาการเด็ก อาการของเด็กจะดีขึ้นและหายได้เองเมื่อเด็กเริ่มยืดขาได้และหัดเดิน ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่หากเด็กขาโก่งเพราะโรคใดโรคหนึ่ง อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะความผิดปกตินี้
โดยปกติ ภาวะขาโก่งในเด็กเกิดจากการที่เด็กขดตัวอยู่ในมดลูกแม่ จนเส้นเอ็นตึงและกล้ามเนื้อที่เข่าเกิดการดึงรั้ง เมื่อเด็กคลอดออกมาขาจึงอยู่ในลักษณะโค้งโก่ง และจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติเมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 2 ปี
วิธีสังเกตว่า ทารกขาโก่ง ดูยังไง
เด็กที่ขาโก่ง มักจะมีช่วงเข่าทั้ง 2 ข้างโค้งออกไปด้านนอก จนดูเหมือนว่าขาแยกออกจากกันแม้ว่าจะยืนเท้าชิดติดกันอยู่ก็ตาม รูปต่อไปนี้ จะแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของขาเด็กแรกเกิด ไปจนถึงเด็กที่อายุ 7 ขวบ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะขาโก่งที่เกิดโดยธรรมชาติ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เคล็ดลับกระตุ้นพัฒนาการลูก จากการอาบน้ำด้วยฝักบัวทารกและเด็กเล็ก PUREDOT ZERO WATER
ภาพแรก จะสังเกตเห็นว่า ลักษณะขาเด็กโก่งออกไปด้านนอก เข่าทั้งสองข้างจะแยกออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่เด็กยืนเท้าชิดติดกัน ซึ่งลักษณะนี้ จะเกิดขึ้นกับเด็กที่เพิ่งคลอดออกมา เนื่องจากเด็กต้องงอขาตอนที่อยู่ในท้องแม่ตลอดเวลา แต่อาการนี้จะสามารถหายได้เองตามธรรมชาติเมื่อเด็กโตขึ้น
ส่วนภาพที่ 2 เป็นช่วงที่เด็กเริ่มมีอายุได้ประมาณ 2 ขวบ จะสังเกตเห็นว่าขาของเด็กเริ่มตรงมากยิ่งขึ้น ถัดมาภาพที่ 3 จะเห็นว่าเข่าของเด็กจะโค้งเข้ามาชิดกัน ในขณะที่ขาส่วนล่างจะแยกออกไปด้านนอก ทั้งนี้ ขาของเด็กจะเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติเมื่อเด็กอายุได้ 7 ขวบ ดังภาพที่ 3 หากลูก ๆ ของคุณแม่มีพัฒนาการตามนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจอะไร
ลูกขาโก่ง แก้ไขอย่างไร ทำยังไงให้หาย วิธีรักษาขาโก่ง
หากเด็กเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกจนขาโก่ง และไม่สามารถหายเองได้ คุณหมออาจจะทำการรักษาเด็กโดยการผ่าตัด เพื่อตัดแต่งกระดูก และใส่เฝือก เพื่อให้กระดูกขากลับมาเป็นปกติ ซึ่งวิธีนี้ถือว่าได้ผลดีมากที่สุด ยิ่งพาเด็กไปรักษาไว ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อตัวเด็ก เพราะกระดูกจะต่อติดกันเร็ว นอกจากนี้ เด็กอาจต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อให้กระดูกกลับมาแข็งแรงด้วยเช่นกัน
วิธีรักษาภาวะขาโก่งอีกวิธีหนึ่ง คือ การดามขา คุณหมอจะให้เด็กใส่อุปกรณ์ดามตั้งแต่ต้นขาลงมาจนถึงเท้า เพื่อให้ขากลับเข้าสู่รูปปกติ ในช่วงนี้ เด็กจะใช้ชีวิตได้ค่อนข้างลำบากอยู่สักหน่อย แถมยังไม่มีอะไรที่บอกได้แน่ชัด ว่าขาจะเข้ารูปได้จริง ๆ หรือไม่ ดังนั้น วิธีนี้จึงไม่ได้รับความนิยมเท่าไรนัก
ขาโก่งอันตรายแค่ไหน แบบไหนต้องไปหาหมอ
ถ้าเด็กขาโก่งโดยธรรมชาติ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเป็นห่วงหรือกังวลใจอะไร แต่หากคุณแม่สังเกตว่าขาของเด็กยังโก่งอยู่ แม้จะอายุได้ 2 ขวบแล้วก็ตาม (ไม่เหยียดตรงเหมือนในรูปที่ 2 ด้านบน) แถมยังเดินผิดปกติ เดินกะเผลก หกล้มบ่อยจนผิดสังเกต ก็ให้คิดเอาไว้ก่อนเลยว่าอาจจะมีบางอย่างที่ผิดปกติ ไม่ใช่ภาวะขาโก่งที่เกิดโดยธรรมชาติ แต่อาจเกิดจากกระดูกขาเจริญเติบโตผิดปกติ โรคทางพันธุกรรม โรคกระดูกอ่อน หรือโรคข้อเข่าเสื่อม ควรพาเด็กเข้าพบหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยจะดีกว่า เพราะถ้าปล่อยไว้นาน และไม่รักษา กระดูกของเด็กอาจผิดรูป หรือเกิดการแตกหัก จนเด็กไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนอื่น ๆ
ทารกใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปทั้งวัน จะขาโก่งจริงหรือไม่
คุณแม่บางคน เคยได้ยินว่า หากเด็กใส่ผ้าอ้อมนาน จะทำให้ขาโก่ง ซึ่งรศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ก็ได้ออกมาอธิบายว่า ความเชื่อที่ว่านี้เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เพราะโดยปกติ ภาวะขาโก่งมักเกิดขึ้นโดยธรรมชาติอยู่แล้ว หากเด็กไม่ได้ป่วยเป็นโรคกระดูก ขาของเด็กก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติเองเมื่อเด็กโตขึ้น
ดัดขาลูก โตไปลูกจะได้ไม่ขาโก่ง จริงหรือไม่
ความเชื่อนี้ ก็ไม่เป็นความจริงเช่นเดียวกัน เพราะเด็กจะหายขาโก่งได้เองตามธรรมชาติ แต่ว่าเด็กที่ขาโก่งเพราะโรคใดโรคหนึ่งต้องเข้ารับการรักษาเท่านั้นจึงจะหาย ไม่ควรพยายามรักษาเองเพราะอาจทำให้อาการของเด็กแย่ลง การแก้ขาโก่งที่ดีที่สุด คือ การปรึกษาคุณหมอ เพื่อให้คุณหมอช่วยตรวจร่างกายของลูกอย่างละเอียด ไม่ใช่การดัดขา มัดขา หรือดึงขานะคะ
ภาวะทารกขาโก่ง เป็นเรื่องดีหากพ่อแม่ค้นพบได้เร็ว หากการที่ขาโก่งนั้นเป็นภาวะที่เกิดจากการเป็นโรค หมั่นสังเกตจากพฤติกรรมของลูกน้อยก็ได้ค่ะ ว่ามีอาการเข้าข่ายที่ควรจะไปพบแพทย์หรือไม่ แต่หากการที่ขาโก่งนั้นเป็นเพียงการเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเป็นห่วงหรือกังวลใจไปค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกอึแข็ง ถ่ายยาก อุจจาระไม่ออก ทารกอึแข็ง ลูกอุจจาระแข็ง ทำไงดี วิธีแก้ลูกท้องผูก ท้องแข็ง
ลูกคอเอียง แบบไหนปกติ แบบไหนไม่ปกติ
โรคชิคุนกุนยาระบาด โรคติดต่อที่มากับยุง เตือนพ่อแม่ให้ระวังลูกน้อยในช่วงนี้!!
ที่มา : Paolo Hospital , thairath , Bangkok Hospital Khon Kaen , Paolo Hospital , mamastory
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!