อาการป่วยของลูก ที่ไม่ควรมองข้าม
-
มีไข้สูง
ในเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือนหากมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ถือว่ามีความผิดปกติ อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปทั่วร่างกายได้อย่างรวดเร็ว คุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยให้ชัดเจน แม้อาจจะพบว่าเป็นเพียงไข้ไวรัสทั่วไปก็ตาม
-
ไข้ไม่ลด หรือมีไข้นานกว่า 5 วัน
หากคุณป้อนยาลดไข้ไปแล้ว 4-6 ชั่วโมงแต่ไข้ก็ยังไม่ลด ควรพาลูกไปพบแพทย์ เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อที่อาจมีความรุนแรง และคุณหมอจำเป็นต้องวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัด อาการไข้จากเชื้อไวรัสมักจะหายภายใน 5 วัน แต่หากลูกน้อยเป็นไข้ยาวนานกว่านั้น แม้จะเป็นไข้ต่ำๆ ก็ตาม อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เป็นโรคปอดบวม ปอดอักเสบ ซึ่งต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
-
มีไข้ร่วมกับปวดศีรษะ
อาการไข้ร่วมกับอาการคอแข็งหรือปวดศีรษะ หรือมีผื่นขึ้น เป็นจุดแดงเล็กๆ หรือเป็นคล้ายรอยช้ำ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งต้องได้รับการรักษาทันที
-
มีไฝผิดปกติ
หากคุณสังเกตว่าลูกมีไฝเกิดขึ้นใหม่ หรือไฝมีการเปลี่ยนแปลงควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ เพราะอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นมะเร็ง ควรหมั่นตรวจสอบผิวลูกระหว่างอาบน้ำทุกเดือน และแจ้งแพทย์เมื่อคุณสังเกตเห็นไฝมีรูปร่างผิดปกติ ไม่มีขอบ ไม่เป็นสีเดียวกัน หรือใหญ่ขึ้น เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของโรงมะเร็งผิวหนัง
-
ปวดท้องเฉียบพลัน
อาการปวดท้องที่อยู่บนด้านขวาล่างอาจเป็นสัญญาณของโรคไส้ติ่งอักเสบ บางครั้งอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย หรือ อาเจียน และมีไข้ แม้ว่าอาการจะคล้ายกับไวรัสกระเพาะอาหารปกติซึ่งจะมีไข้ และอาเจียน ปวดท้องและท้องเสีย แต่ไม่ควรมองข้ามโรคไส้ติ่งอักเสบ จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว
หากลูกของคุณอายุน้อยกว่า 4 ปี และมีอาการปวดเกร็งท้องอย่างรุนแรงเป็นพักๆ ประมาณ 20-60 นาที ร้องไห้งอแงกระสับกระส่าย อาเจียน ถ่ายมีเลือดปนออกมากับมูก มีไข้และอาการซึมลง อาจเป็นสัญญาณของโรคลำไส้กลืนกัน ควรรีบพาไปพบแพทย์ด่วน
-
ปวดศีรษะและอาเจียน
หากลูกมีอาการปวดศีรษะในตอนเช้าหรือปวดจนต้องตื่นขึ้นมากลางดึก ร่วมกับอาเจียน อาจเป็นสัญญาณของอาการไมเกรน ซึ่งควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม แม้ว่าไมเกรนในเด็กจะไม่เป็นอันตราย แต่อาการปวดศีรษะตอนเช้า และตอนกลางดึกอาจเป็นสัญญาณบางอย่างที่รุนแรงกว่านั้น จึงควรรีบไปพบแพทย์ทันที
-
ปัสสาวะน้อยลง
อาการปากแห้ง ปัสสาวะน้อยลง และกระหม่อมบุ๋มในทารก ผิวแห้ง อาเจียนหรือท้องเสียอย่างหนัก เป็นสัญญาณของภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการช็อคได้ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์
-
ริมฝีปากม่วง
หากลูกปากม่วง หรือเขียวคล้ำ และมีปัญหาการหายใจ มีเสียงจากบริเวณอกและปอด อาจเกิดจากการสำลัก อาการภูมิแพ้ ปอดอักเสบ ไอกรน และครูป ควรโทรเรียกหน่วยฉุกเฉิน 1669 แต่หากไม่มีอาการรุนแรง ให้นับอัตราการหายใจของลูกภายใน 30 วินาทีแล้วคูณด้วยสอง อัตราปกติสำหรับเด็กแรกเกิดควรน้อยกว่า 60 ครั้ง สำหรับทารกอายุน้อยกว่า 1 ปีควรหายใจน้อยกว่า 40 ครั้ง สำหรับเด็ก 1-3 ปีควรน้อยกว่า 30 ครั้ง และสำหรับเด็ก 4-10 ปีควรน้อยกว่า 24 ครั้ง
-
ใบหน้าบวม
อาการลิ้นบวม ริมฝีปากบวม หรือตาบวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาพร้อมกับอาเจียนหรืออาการคัน มักเป็นสัญญาณการเกิดปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรง (ภูมิแพ้) หากลูกมีอาการบวมร่วมกับปัญหาการหายใจ และลมพิษรุนแรง ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
-
อาเจียนหลังตกจากที่สูง
ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนที่อยู่ในวัยพลิกคว่ำอาจตกจากเตียงหรือที่สูง และหมดสติ หรืออาเจียน หรือกระดูกหัก ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
หากพบว่าลูกน้อยของคุณมีอาการตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว หากปล่อยไว้อาจรุนแรงถึงชีวิตได้ค่ะ
ที่มา www.parents.com
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
5 อาการป่วยของลูกที่ยังไม่ต้องรีบไปพบคุณหมอ